ผ่านมา 7 ปีสึนามิ ถึงน้ำท่วม’54 ชาวบ้านช่วยกันเอง แล้วรัฐไทยทำอะไรบ้าง?
“ชุมชนเข้มแข็ง” อาจถูกมองเป็นเพียงวาทกรรมสวยหรู แต่บทเรียนจากหลายพื้นที่กำลังบอกสังคมว่า พลังชุมชนมีอยู่จริง และนาทีนี้กำลังยืดหยัดต่อสู้กับมหันตภัยทั้งด้านปากท้อง และย่อมรวมถึงภัยพิบัติ
……………
รูปธรรมของ “ชุมชนเข้มแข็ง” ถูกตอกย้ำอีกครั้งในเวที “พลังชุมชนกับการจัดการภัยพิบัติ” โดยสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ
จาก“น้ำเค็มโมเดล” สู่เครือข่ายช่วยเหลือกันเองของผู้ประสบภัยพิบัติ
ไมตรี จงไกรจักร ศูนย์ประสานงานชุมชนบ้านน้ำเค็ม จ.พังงา ถอดบทเรียนภัยพิบัติคลี่นยักษ์สึนามิของชุมชนในปี 2547 เปรียบเทียบกับเหตุการณ์น้ำเมืองของคนกรุงปี 2554 ว่าในเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิในภาคใต้นั้นพวกเขามีโอกาสรู้ตัวล่วงหน้าเพียง 45 นาที จีงเป็นความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ที่เตรียมตัวไม่ทัน ขณะที่น้ำท่วมกรุงเทพฯสามารถคาดคะเนล่วงหน้าได้อย่างน้อย 1-3 เดือน แต่ทำไมกลับมีผู้เสียชีวิตกว่า 600 ราย?
บทเรียนหนึ่งของชาวบ้านน้ำเค็มจากเหตุการณ์สึนามิ คือต้องรวบรวมผู้ประสบภัยให้มารวมกันที่ใดที่หนึ่งที่ปลอดภัยให้เร็วที่สุดเพื่อง่ายต่อการดูแลกันและกัน มีการรวมเอาคนที่รู้จักหรือมีวัฒนธรรมเดียวกันมาอยู่รวมกัน จากนั้นจัดระบบบริหารจัดการตัวเอง ให้ 10 ครอบครัวรวมกันเป็น 1 กลุ่ม และส่งตัวแทนมาทำงานส่วนร่วม เช่น กลุ่มละ 1 คนมาทำครัว อีก 1 คนจัดการของบริจาค ขณะที่เขามองเหตุการณ์น้ำท่วมที่ผ่านมาว่าแม้จะมีการรวมกลุ่มผู้ประสบภัย แต่เอาคนทุกภาคมากระจุกกันอยู่ที่เดียวรวมๆกันไป ซึ่งยากต่อการบริหารจัดการ
ไมตรี สะท้อนว่าผู้ประสบภัยในศูนย์พักพิงยังศูนย์ชั่วคราวมีหลากหลายลักษณะ แต่ส่วนใหญ่หนีไม่พ้นสภาวะเครียด เมื่อครั้งสึนามิชาวบ้านน้ำเค็มได้พยายามจัดทำกลุ่มอาชีพขึ้นมาเพื่อไม่ให้คนว่างจนคิดฟุ้งซ่าน กิจกรรมจะช่วยเติมเต็มความรู้สึกเศร้าสลด ขณะที่ศูนย์พักพิงน้ำท่วมใน กทม. ที่มีแพทย์จากกรมสุขภาพจิตมาป่าวประกาศว่าใครเครียด ให้มาพบแพทย์ อยากถามว่าใครมันจะมา
และในศูนย์พักพิงชุมชนบ้านน้ำเค็ม กิจกรรมหนึ่งที่ทุกคนทำร่วมกันคือเข้าโรงครัวหุงหาอาหารทำกับข้าว ในขณะที่การบริหารจัดการของ กทม.ไม่มีเรื่องพวกนี้ ผู้ประสบภัยไม่มีสิทธิก่อไฟทำกับข้าวเอง มีเจ้าหน้าที่หรือคนที่ได้รับการจ้างมาทำให้หมด อาจเป็นเหตุผลที่อ้างว่ากลัวพื้นที่สกปรก หรืออาจเป็นเรื่องของผลประโยชน์ เงินงบประมาณ สุดท้ายก็ให้นอนรอกินข้าวกล่องไปเรื่อยๆ
เอ็นจีโอลูกน้ำเค็มยังถอดบทเรียนว่า สิ่งที่ชุมชนควรจะเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติคือ เบื้องต้นต้องรู้ก่อนว่าภายในชุมชนตัวเองมีผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ พักอาศัยอยู่ในบ้านหลังใดบ้าง อาทิ ผู้หญิงคนตั้งครรภ์ เด็กเล็ก คนชรา ผู้พิการ จากนั้นก็ทำแผนที่ชุมชน เมื่อเกิดภัยพิบัติจะได้ช่วยเหลือได้ทันการณ์
ถัดมาต้องพิจารณาเส้นทางสัญจร จัดระเบียบการสัญจรรองรับช่วงวิกฤต ว่าถนนสายหลักวิ่งไปไหนได้บ้าง ขนาดถนนรองรับรถได้อย่างไร เช่น วิเคราะห์ว่าเฉลี่ยถนนรองรับรถได้เพียงบ้านละ 2 คน ก็ต้องแจ้งและทำข้อตกลงร่วมกันให้ชัดเจน เมื่อเกิดภัยพิบัติจะได้หนีเอาตัวรอดโดยไม่สร้างความเดือดร้อนกับผู้อื่น
“ต่อมาคือวิธีการเตือนภัยและสัญญาณเตือน มั่นใจว่าคน กทม.ไม่มีใครเคยได้ยินหรือรู้ว่าเวลารัฐเตือนภัยด้วยสัญญาณเป็นอย่างไร ในอดีตเราเคยเชื่อมั่นประสิทธิภาพการเตือนภัยจากภาครัฐ แต่เหตุการณ์น้ำท่วมที่ผ่านมา บอกชัดเจนว่ามันช่วยอะไรไม่ได้ ชุมชนก็ต้องหาทางเอาตัวรอดเอง” ไมตรีกล่าว
บทเรียนจากการเตือนภัยสึนามินั้น ภาครัฐจะรู้ก็ต่อเมื่อคลื่นจะซัดชายฝั่งในอีก 45 นาที ระหว่างนั้นมีขั้นตอนการบังคับบัญชาที่ยุ่งยาก ใช้เวลาร่วม 25 นาทีถึงจะตัดสินใจได้ว่าจะเปิดสัญญาณหรือไม่ หมายความว่าหากรอรัฐเตือนภัยก็มีเวลาเอาตัวรอดเพียง 20 นาทีเท่านั้น
“ชาวบ้านจึงต้องตื่นตัวและหาทางแก้ปัญหาเองด้วย เช่น ที่บ้านน้ำเค็มเรารู้ว่าต้องมีการส่งข้อความทางโทรศัพท์มือถือเป็นทอดๆก่อนสารจะไปถึงผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจสูงสุด เราก็แก้ปัญหาด้วยการขอรับข้อความทางโทรศัพท์ไปพร้อมๆกับสายบังคับบัญชานั้นด้วย เท่ากับว่าเรารู้ตั้งแต่ 45 นาทีแรก” ไมตรีอธิบาย
นอกจากจะสร้างแผนที่หมู่บ้าน เส้นทางคมนาคม จำเป็นต้องกำหนดจุดรวมพลของชุมาชนและจัดตั้งจุดอพยพให้เข้าใจร่วมกัน ปัญหาเรื่องความโกลาหลก็จะเบาบางลงเมื่อเกิดเหตุ พร้อมกันนี้จำเป็นต้องสร้างระบบสื่อสารที่ภาคประชาชนร่วมมือกับสื่อมวลชนเองด้วย
ไมตรี บอกว่าภายหลังที่เครือข่ายผู้ประสบภัยสึนามิพ้นจากฝันร้ายมาได้ และเกิดการเรียนรู้สั่งสมจากการสูญเสียและการช่วยเหลือตัวเองจนสรุปเป็นบทเรียนว่าชุมชนต้องช่วยกันเอง จะรอควาช่วยเหลือรัฐไม่ได้ พวกเขาตั้งเป้าว่าต้องออกไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างน้อย 1 หมู่บ้านให้ได้ในทุกภัยพิบัติ
เครือข่ายฯตั้งเป้า 3 ประการ หนึ่งคือชุมชนที่ประสบภัยต้องช่วยเหลือตัวเองได้ สองเมื่อพวกเขาผ่านพ้นภัยพิบัติไปแล้วจะต้องสามารถไปช่วยคนอื่นได้ในอนาคต สุดท้ายคือเขาจะต้องอยู่ในพื้นที่ภัยพิบัติได้อย่างรู้เท่าทันและปลอดภัย” ลูกน้ำเค็มผู้ประสบภัย ประกาศเจตนารมย์ของเครือข่ายผู้ประสบภัยสึนามิ
บทเรียนจากน่าน “ไม่ปฏิเสธรัฐ แต่ช่วยตัวเองก่อน”
ศิรินันท์ สารมณฐี เครือข่ายชุมชนบ้านภูมินทร์-ท่า ลี่ จ.น่าน ซึ่งอยู่ในพื้นที่อุทกภัยซ้ำซากทุกปี ถอดบทเรียนจากประสบการณ์ว่า เมื่อไม่สามารถหลีกเลี่ยงอุทกภัยได้ ชุมชนจึงคิดหาทางอยู่ร่วมกับมันอย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดี เริ่มจากจัดตั้งกองทุนกลาง ระดมเงินจากชาวบ้านกว่า 300 หลังคาเรือน ปีละ 120 บาท นำไปซื้อสิ่งของจำเป็น เช่น ยา น้ำดื่ม วิทยุสื่อสาร เรือพายขนาดเล็ก
จากนั้นก็พิจารณาดูว่าน้ำจะมาช่วงไหน โดยในพื้นที่พายุจะเข้าประมาณ พ.ค.ทุกปีปี ดังนั้นเมื่อถึงเดือน ก.พ.ก็จะเริ่มมีกรทำแผนชุมชนรับมือกับเหตุการณ์ เริ่มจากทำข้อมูลประชากร-แผนที่ชุมชน เช่นเดียวกับที่บ้านน้ำเค็ม จากนั้นจัดเตรียมอาสาสมัครชาวบ้านประมาณ 20 คน แบ่งหน้าที่ให้ชัดเจน
“เมื่อน้ำใกล้จะมา เราก็ประสานข้อมูลกับเทศบาล-กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเพื่อประเมินสถานการณ์ เมื่อน้ำมาประชิดก็จะเร่งเตือนภัยกันเองโดยไม่รอรัฐ จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการขึ้นมาทันที ระดมทีมงาน อุปกรณ์ สิ่งต่างๆที่เตรียมไว้ให้พร้อมใช้งาน” ศิรินันท์เล่า
เธอบอกว่า เวลาเกิดอุทกภัย สถานที่แรกที่หน่วยงานภาครัฐหรือเอกชนจะเข้ามาเพื่อประสานให้ความช่วยเหลือคือศูนย์ปฏิบัติการ-ศูนย์พักพิง ดังนั้นจำเป็นต้องตั้งในภูมิลำเนาที่ดี และมีการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ โดยบ้านภูมินทร์-ท่าลี่ตั้งศูนย์ตั้งแต่เกิดอุทกภัย แต่เริ่มให้ความช่วยเหลือวันที่ 4 ของสถานการณ์
“คนที่นี่จะไม่อพยพหนีน้ำ เพราะน้ำจะท่วมขังแค่ 7 วันแล้วก็แห้ง แต่ระดับน้ำจะสูงมากประมาณ 2 เมตร โดย 3 วันแรกเราให้ชาวบ้านช่วยตัวเองก่อน วันที่ 4 อาหารเริ่มหมด ศูนย์นี้ก็จะให้ความช่วยเหลือ”
เธอเล่าต่อว่า เมื่อน้ำลดแล้วชุมชนก็จะรวมพลังทำความสะอาดพื้นที่กันเอง รวมทั้งร่วมกันฟื้นฟูแหล่งอาหารที่ถูกทำลาย และคิดสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ของชุมชนเพื่อรับมือสถานการณ์น้ำในอนาคต
คนอีสานต้องการคำตอบ “จะให้แล้ง-หรือท่วม”
ด้านอกนิษฐ์ ป้องภัย เครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภาคอีสาน วิพากษ์ว่าหากต้องการแก้ไขปัญหาอุทกภัยจริง จำเป็นต้องทบทวนการบริหารจัดการน้ำของกรมชลประทานใหม่ทั้งหมด โดยในภาคอีสานถึงเวลาแล้วที่ต้องเลือกว่าควรจะอยู่กับภาวะแห้งแล้ง หรือจะอยู่กับน้ำท่วมต่อไป ถึงจะเสียหายน้อยที่สุด
“นโยบายมันครึ่งๆกลางๆ มีเขื่อนกักเก็บน้ำเพื่อชลประทาน ถึงเวลาน้ำก็ท่วมอีก ถึงเวลาแล้วที่ต้องเลือกข้างว่าจะอยู่กับอะไรที่สร้างความเดือดร้อนแก่เราน้อยที่สุด ผมเลือกแล้งมากกว่าถูกท่วมเช่นนี้”
เขากระตุ้นว่า ชาวบ้านจำเป็นต้องรวมตัวกันสร้างอำนาจต่อรองกับภาครัฐเพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิอันพึงได้ ขณะนี้การมีส่วนร่วมของชาวบ้าน-ชุมชนอย่างเดียวไม่พอ เพราะเมื่อชาวบ้านเกิดกระบวนการเรียนรู้ด้วยตัวเองแล้ว เมื่อต้องการอะไร รัฐก็ไม่สามารถตอบสนองให้ได้ ทำให้ต้องใช้การรวมตัวเพื่อกดดันรัฐ
……………
7 ปีสึนามิ เป็นความสูญเสียจากภัยพิบัติครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์คนไทย ชาวบ้านและภาคประชาชนได้สรุปบทเรียนเหล่านั้น และพลิกวิกฤตเป็นโอกาสเพื่อช่วยเหลือกันเองเท่าที่ทำได้
ผ่านมา 7 ปีที่รัฐบาลเคยประกาศ “ภัยพิบัติเป็นวาระแห่งชาติ” แต่เหตุการณ์น้ำท่วมหนักทั่วประเทศ และอ่วมถึงเมืองหลวงที่ผ่านมา คงจะตอบคนไทยได้ว่า รัฐบาลที่ผ่านๆมาจนถึงปัจจุบัน ได้สร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนกับการจัดการภัยพิบัติชาติ แค่ไหน? อย่างไร? .