ตรวจการบ้าน‘รบ.บิ๊กตู่’อยู่มา 3 ปีปราบโกงถึงไหน-สองมาตรฐานหรือเปล่า?
“…ในฉากหน้าอาจเห็นได้ว่า รัฐบาลชุดนี้บูรณาการองค์กรปราบโกงไว้ด้วยกัน คือ ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) และยังมี ‘ดาบ’ ของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่อาศัยอำนาจตามมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ในการโยกย้าย-พักงาน นักการเมืองท้องถิ่น-ข้าราชการ ที่ถูกกล่าวหามีส่วนพัวพันกับการทุจริต ปัจจุบันออกมานับสิบฉบับ สั่งพักงาน-โยกย้ายไปแล้วหลายร้อยคน แต่ในข้อเท็จจริงคือ บุคคลที่ถูก ศอตช. รวมถึงถูกมาตรา 44 พักงาน-โยกย้าย แทบไม่มีบุคคลที่เกี่ยวข้องกับ คสช. โดนบ้างเลย ทั้งที่ถูกกล่าวหาว่าอาจมีส่วนพัวพันกับความไม่ชอบมาพากลเหมือนอีกหลายคนที่โดน ?...”
ในรอบปี 2559 ที่ผ่านมา นอกเหนือจากเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงผลงานของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะไม่เข้าเป้า โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจที่ยักแย่ยักยัน แม้ว่าจะวางแผนตามนโยบาย ‘ประชารัฐ’ ออกมากระตุ้นก็ตาม แต่สิ่งที่ยังคงมีอยู่ และเริ่มถูกพูดถึงมากขึ้นคือ ‘ความไม่ชอบมาพากล-ทุจริตคอร์รัปชั่น’ ที่โชยกลิ่นแรงขึ้นเรื่อย ๆ
โดยเฉพาะหลายโครงการของรัฐบาลชุดนี้ ถูกสื่อมวลชน รวมถึงองค์กรอิสระอย่าง สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เข้าไปขุดคุ้ยอย่างต่อเนื่อง
ไม่ว่าจะเป็นโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ มาตรการตำบลละ 5 ล้านบาท ที่มีกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยเป็นแม่งาน เบิกจ่ายแล้วเกือบทั้งประเทศ 7 พันกว่าตำบล จำนวน 120,791 โครงการ รวมวงเงิน 36,103,998,978 บาท (ประมาณ 3.6 หมื่นล้านบาท) แบ่งเป็น โครงการเกี่ยวกับการซ่อมแซมหรือบูรณะทรัพย์สินที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ 101,500 โครงการ โครงการส่งเสริมการพัฒนาชุมชนตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง 6,621 โครงการ โครงการด้านเศรษฐกิจสังคม 12,670 โครงการ
ทว่ากลับมีเสียงตอบรับมาในทางที่ไม่ค่อยจะสู้ดีนัก เช่น ไม่ได้นำเงินดังกล่าวไปใช้จริง อาจมีการตั้งเบิกงบประมาณกินเปล่าหรือไม่ กระทั่ง ป.ป.ช. ได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงตรวจสอบพร้อมกับ สตง. เพื่อแสวงหาข้อเท็จจริง รวมถึงมีหนังสือสั่งกำชับไปยังกรมการปกครองให้ติดตามผลตรวจสอบด้วย
(อ่านประกอบ : เอาจริง! ป.ป.ช.จับมือ มท.ลุยสุ่มตรวจโครงการงบตำบล 5 ล.ปรามโกง, 6 โครงการ 3 จว.ส่อทุจริตงบตำบล 5 ล.! ป.ป.ช.ลุยสอบ-เตือน มท.กวดขัน)
นอกจากนี้ยังมีโครงการเงินกู้เพื่อการพัฒนาระบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและระบบขนส่งทางถนน ระยะเร่งด่วน ในกรอบวงเงินทั้งสิ้น 78,294.85 ล้านบาท (ประมาณ 7.8 หมื่นล้านบาท) เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการน้ำ และการคมนาคม ที่ยังคาราคาซังในห้วงหลายปีที่ผ่านมา
หากโฟกัสเฉพาะโครงการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณการ ที่มีอย่างน้อย 9 หน่วยงาน รวม 3,200 โครงการ วงเงินรวมประมาณ 15,093 ล้านบาท
มีเบื้องต้น 5 หน่วยงานได้รับการอนุมัติแล้ว โดยใช้งบประมาณกลาง (รายการเงินสำรอง หรือฉุกเฉิน) ได้แก่ กองบัญชาการกองทัพไทย 105 โครงการ วงเงิน 157,942,300 บาท กองทัพบก 921 โครงการ วงเงิน 1,142,362,800 บาท และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย วงเงิน 1,454,092,300 บาท กรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วงเงิน 6,239.20 ล้านบาท และกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ วงเงิน 22,449.97 ล้านบาท
โดยต้องดำเนินการใน 3 ประเด็นคือ แก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำ การป้องกันและบรรเทาอุทกภัย และการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำ อย่างไรก็ดีเบื้องต้นเกิดปัญหาขึ้นมาแล้วอย่างน้อย 3 โครงการ จาก 2 หน่วยงานดังกล่าว รวมวงเงินประมาณ 25 ล้านบาท เป็นของกรมทรัพยากรน้ำ 1 โครงการ 1.8 ล้านบาท ของกรมชลประทาน 2 โครงการ 23.6 ล้านบาท เนื่องจากพบว่า บางโครงการดำเนินการซ้ำซ้อนกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และบางโครงการจ้างเอกชนที่วัสดุอุปกรณ์ไม่เพียงพอต่อการจ้างงาน เป็นต้น
(อ่านประกอบ : ล้วงงบกรมชลฯบริหารจัดการน้ำยุค ‘บิ๊กตู่’ 2.2 หมื่นล.-เลิกแล้ว 2 โครงการ 23 ล.)
หรือแม้แต่โครงการกำจัดผักตบชวา ที่ปลายปี 2558 ‘บิ๊กตู่’ เคยสั่งการให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เป็นแม่งานแก้ปัญหา แต่ก็ ‘เหลว’ กระทั่งเดือน ก.ย. 2559 ได้สั่งการให้กระทรวงมหาดไทย เป็นแม่งานเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวอีก คราวนี้มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับผิดชอบ อย่างไรก็ดีจนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีความคืบหน้าว่า ตอนนี้ทำถึงไหนแล้ว
นอกจากนี้ยังถูก สตง. ตรวจสอบด้วยว่า การกำจัดผักตบชวาตั้งแต่ช่วงหลายรัฐบาลก่อน จนถึงรัฐบาลนี้ มีปัญหามากมาย ไม่ว่าจะเป็นวัสดุอุปกรณ์ไม่เพียงพอ การทำงานที่ทับซ้อนกันระหว่างหน่วยงานกลาง กับ อปท. เป็นต้น พร้อมกับเสนอความเห็นไปถึง พล.อ.ประยุทธ์ เพื่อติดตามตรวจสอบอย่างใกล้ชิดด้วย
(อ่านประกอบ : ชำแหละ 4 ปัญหากำจัดผักตบชวา! สตง. ชง‘บิ๊กตู่’เร่งแก้-ป้องใช้งบแผ่นดินไม่คุ้มค่า?, พบสารพัดปัญหากำจัดผักตบยุค'บิ๊กตู่'! สตง.จี้จับตาหน่วยงานรับผิดชอบใกล้ชิด)
นี่ยังไม่นับประเด็น ‘คนใกล้ชิด-เครือญาติ’ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ถูกขุดคุ้ยเรื่องราวความไม่ชอบมาพากล ไล่เรียงตั้งแต่ ‘บิ๊กติ๊ก’ พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม กรณีกรอกข้อมูลในบัญชีทรัพย์สิน แม้ ป.ป.ช. จะมีมติเอกฉันท์ตีตกไปแล้วก็ตาม แต่ยังเหลือประเด็นเงินไหลเวียนในบัญชีเงินฝากของนางผ่องพรรณ จันทร์โอชา คู่สมรส ช่วงปี 2557 ทั้งที่แจ้งว่าไม่มีรายได้ และไม่ได้ทำธุรกิจ แล้วเงินดังกล่าวมาจากไหน ?
ยังไม่นับกรณี หจก.คอนเทมโพรารี คอนสตรัคชั่น ที่มีนายปฐมพล จันทร์โอชา บุตรชาย พล.อ.ปรีชา เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ เข้าไปรับงานจากภาครัฐ โดยเฉพาะกองทัพภาคที่ 3 ในสมัยที่ พล.อ.ปรีชา ดำรงตำแหน่งเป็นแม่ทัพภาคที่ 3 ด้วย วงเงินกว่า 97 ล้านบาท นอกจากนี้ที่ตั้งของ หจก.คอนเทมโพรารีฯ ยังอยู่ในค่ายสมเด็จพระเอกาทศรถ จ.พิษณุโลก อีกด้วย
(อ่านประกอบ : เปิดโปง หจก.ลูกอดีตปลัด ก.กลาโหม ข่าวเจาะแห่งปี ‘อิศรา’)
หรือแม้แต่กรณี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี บินไปประชุมด้านความมั่นคงกับ รมว.กลาโหม ที่ฮาวาย สหรัฐอเมริกา โดยใช้งบประมาณ 20 ล้านบาท ที่ สตง. การันตีแล้วว่า ทริปนี้เบิกจ่ายงบประมาณโปร่งใส ถูกต้อง แม้จะค้านสายตาสังคมก็ตาม แต่อีกประเด็นคือ การบินไปประชุมด้านความมั่นคง ได้พา ‘ใครบางคน’ ที่ไม่เกี่ยวข้องไปด้วยหรือไม่ อย่างไรก็ดีทริปนี้มีหลายคนออกมายืนยันว่า ไม่มีคนไม่เกี่ยวข้องไปก็ตาม แต่ทริปก่อนหน้านี้หลายครั้ง มีการนำคนที่ไม่เกี่ยวข้องไปหรือไม่ สตง. ตรวจสอบหรือเปล่า ?
(อ่านประกอบ : ไม่มีอะไรทุจริต!สตง.การันตี 'บิ๊กป้อม' ประชุมฮาวาย20ล.-'ไข่คาเวียร์'แค่เครื่องเคียง!)
นี่ยังไม่นับกรณีขุดลอกแหล่งน้ำขององค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก (อผศ.) ในช่วงปีที่แล้ว ที่ถูกกล่าวหาฉาวโฉ่ว่า อผศ. จ้างเอกชนให้เข้าไปดำเนินการ ทั้งที่อาจขัดกับการได้รับสิทธิพิเศษในการเข้าไปทำ รวมถึงมีประเด็นเอกชนปล่อยช่วงต่อให้รายใหญ่ มีการหักหัวคิวกันอีก เป็นต้น แม้ว่ากลางปี 2559 อผศ. ได้สรุปผลสอบข้อเท็จจริงแล้ว แต่ก็ไม่มีการระบุว่า ‘คนใน’ ของ อผศ. เกี่ยวข้อง ทั้งที่ผู้รับเหมารายย่อยที่รับช่วงงาน ยืนยันว่า ก่อนได้งานต้องนำเงินไปให้ ‘บิ๊ก อผศ.’ รายหนึ่ง และมี ‘บิ๊ก’ ของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เป็นคนดีลงานในการจ้าง อผศ. เข้าไปขุดลอกแหล่งน้ำด้วย ปัจจุบันอยู่ระหว่างการตรวจสอบของ สตง. และ ป.ป.ท. แต่จนถึงตอนนี้เรื่องก็ยังเงียบ และไม่มีความคืบหน้าอะไรออกมา
(อ่านประกอบ : ขมวดพิรุธ อผศ.ขุดคลองก่อนสรุป 'คนใน'ไม่ผิด! 'อิศรา'คุ้ย-กก.สอบไม่เจอ?)
ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลชุดนี้ โดยเฉพาะ ‘บิ๊กตู่’ ที่เคยลั่นวาจาไว้หลายครั้งว่า สาเหตุที่ยึดอำนาจเข้ามา เพื่อต้องการล้างบางการทุจริตคอร์รัปชั่น ?
ในฉากหน้าอาจเห็นได้ว่า รัฐบาลชุดนี้บูรณาการองค์กรปราบโกงไว้ด้วยกัน คือ ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) และยังมี ‘ดาบ’ ของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่อาศัยอำนาจตามมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ในการโยกย้าย-พักงาน นักการเมืองท้องถิ่น-ข้าราชการ ที่ถูกกล่าวหามีส่วนพัวพันกับการทุจริต ปัจจุบันออกมานับสิบฉบับ สั่งพักงาน-โยกย้ายไปแล้วหลายร้อยคน
แต่ในข้อเท็จจริงคือ บุคคลที่ถูก ศอตช. รวมถึงถูกมาตรา 44 พักงาน-โยกย้าย แทบไม่มีบุคคลที่เกี่ยวข้องกับ คสช. โดนบ้างเลย ทั้งที่ถูกกล่าวหาว่าอาจมีส่วนพัวพันกับความไม่ชอบมาพากลเหมือนอีกหลายคนที่โดน ?
หรือแม้แต่องค์กรอิสระอย่าง ป.ป.ช. ที่ก่อนหน้านี้มีผู้ร้องเรียนให้ตรวจสอบนายทหารระดับสูง เกี่ยวกับความไม่ชอบมาพากลในการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ ล่าสุด ก็มีมติเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 เสียง ตีตกข้อกล่าวหาดังกล่าว ค้านสายตาประชาชน ไม่นับหน่วยงานอื่นอย่าง กองทัพบก กระทรวงกลาโหม หรือ ศอตช. ที่เข้าไปตรวจสอบ ต่างสรุปผลว่า โครงการนี้โปร่งใส ไร้ทุจริต
ไม่ใช่แค่กรณีก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์เท่านั้น แต่ยังมีกรณี พล.อ.ปรีชา แต่งตั้ง ‘บุตรชาย’ ตัวเองเข้าไปรับราชการทหาร ทั้งที่อาจเข้าข่ายผลประโยชน์ทับซ้อนได้ ป.ป.ช. ก็มีมติตีตกข้อกล่าวหาเช่นกัน ทำได้แค่ส่งหนังสือถึงกระทรวงกลาโหมให้กำชับไม่ให้เกิดเรื่องราวอย่างนี้ขึ้นอีก ?
ดังนั้นไม่น่าแปลกใจเท่าไหร่ ที่ผลงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตของรัฐบาลนี้ จะถูกครหาว่า ‘สองมาตรฐาน’ หรือไม่
เป็นคำถามที่พุ่งตรงไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ ที่จำเป็นต้องกลับไปคิดทบทวนว่า ผลงานด้านปราบโกงที่ผ่านมา ทำเต็มที่แล้วหรือยัง ?
หมายเหตุ : ภาพประกอบ พล.อ.ประยุทธ์ จาก bangkokbiznews