ซุกอยู่ใต้พรม ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว เมื่อนิยาม ค้ำคอ ต้องมีครบ พ่อ-แม่-ลูก
คนที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมยังไม่เข้าใจเรื่องพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 มากนัก เมื่อผู้หญิงกระทำความรุนแรงจนสามีถึงแก่ชีวิตก็มักเจอคำถามว่า "ฆ่าเขาใช่หรือไม่ ผู้หญิงก็ยอมรับว่าใช่" แต่เบื้องหลังมีอะไรอีกตั้งหลายอย่าง
ทำไม ‘หญิงไทย’ เจ็บแต่ยังทน (สามี )?
ฤานิยาม ‘สถาบันครอบครัว’ ค้ำคอ ต้องมีครบ พ่อ-แม่-ลูก
เพื่อปะติดปะต่อเรื่องราวความรักที่จบลงด้วยโศกนาฏกรรม และทำความเข้าใจปัญหาความรุนแรงในครอบครัว มีเวทีเสวนาเรื่อง 'การรักษาสถาบันครอบครัว กับสิทธิมนุษยชนของผู้หญิงที่ถูกกระทำความรุนแรง' จัดช่วงปลายปี 2559 ที่ผ่านมา เปิดเผยเหลี่ยมมุมของปัญหา และแนวทางกฎหมายเพื่อยุติความรุนแรงหน่วยเล็กๆ ของสังคม สถาบันครอบครัว
"อังคณา นีละไพจิตร" ประธานอนุกรรมการด้านสิทธิสตรี กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เริ่มต้นบทสนทนาด้วยการทำความเข้าใจก่อนว่า การพูดถึงเรื่องนี้ไม่ใช่ต้องการจับผิดใคร หรือองค์กรใด แต่เพื่อต้องการมองไปข้างหน้า
ก่อนจะเล่าถึงการทำงานในฐานะประธานอนุกรรมการด้านสิทธิสตรีที่ได้รับเรื่องร้องเรียน และพูดคุยกับผู้หญิงจำนวนมาก พบว่า ปัญหาส่วนใหญ่ที่ผู้หญิงต้องเผชิญในเรื่องของการละเมิดหรือความรุนแรงในครอบครัวก็คือ ทัศนคติของสังคมไทยที่มองว่า ปัญหาความสัมพันธ์ของสามีภรรยาในเรื่องการใช้ความรุนแรงนั้น เป็นเรื่องลิ้นกับฟัน และผู้หญิงที่ดี ควรจะต้องรู้จักซื่อสัตย์ต่อสามี รักษาความลับ ไม่ควรที่จะนำเรื่องภายในบ้านออกไปเล่า
ที่น่าสนใจคือ ผู้หญิงหลายคน เมื่อนำเรื่องไปแจ้งต่อพนักงานสอบสวน ส่วนใหญ่เรื่องจะถูกยุติ ไม่เห็นความสำคัญ
"สังคมไทยมีทัศนคติที่ว่า 'สถาบันครอบครัว' ต้องประกอบด้วย พ่อ แม่ ลูก แต่ปัจจุบันต้องยอมรับความจริงว่า นิยามสถาบันครอบครัวเปลี่ยนไปแล้ว เพราะเรามีพ่อเลี้ยงเดี่ยว แม่เลี้ยงเดี่ยวจำนวนมาก และเด็กสามารถอยู่กับพ่อหรือแม่ได้อย่างมีความสุข แม้ทั้งคู่จะไม่ได้อยู่ด้วยกัน แต่ก็สามารถจะเลี้ยงลูกให้เติบโตเป็นคนดีได้"
กรรมการสิทธิ์ฯ เปรียบเทียบระหว่างเด็กที่เติบโตในครอบครัวที่มีทั้งพ่อและแม่ แต่ต้องเผชิญกับความรุนแรงในบ้านไม่เว้นแต่ละวัน กับเด็กที่เติบโตมาในครอบครัวที่มีพ่อหรือแม่เพียงคนเดียว แต่เด็กกลับรู้สึกอบอุ่นปลอดภัย ฉะนั้น า สังคมไทยอาจต้องกลับมาทบทวนในเรื่องคำจำกัดความของคำว่า 'สถาบันครอบครัว' เสียใหม่
ทนเจ็บ รักษาหน้าตา-ไม่มีรายได้?
อังคณา ให้ข้อมูลและรายงานที่ยืนยันว่า เด็กที่เกิดในครอบครัวที่ได้รับความรุนแรง มักมีแนวโน้มที่จะใช้ความรุนแรงเมื่อเติบโตขึ้น ส่วนผู้หญิงที่ได้รับความรุนแรง พบว่า กลุ่มผู้หญิงที่มีการศึกษา มีเกียรติ มีหน้าที่การงานที่ดี จะไม่ค่อยบอกเล่าเรื่องราวกับใคร และมักไม่กล้าไปแจ้งความ เพราะต้องการรักษาหน้าตาของตัวเองและครอบครัวเอาไว้ ผู้หญิงกลุ่มนี้จึงไม่ค่อยมีทางเลือกอื่น นอกจากอดทนอยู่กับความรุนแรงนั้น
อีกกลุ่มคือ ผู้หญิงที่ไม่มีรายได้ ทำหน้าที่เป็นแม่บ้านเลี้ยงดูบุตร กลุ่มนี้จะไม่มีทางออกมากนัก เมื่อถูกไล่ออกจากบ้าน ก็ไม่รู้จะไปอยู่ที่ไหน ลูกๆ จะทำอย่างไร ดังนั้น จึงต้องทนอยู่กับความรุนแรงต่อไป
"ดูสถิติความรุนแรงทางเพศ ความรุนแรงในครอบครัว เมื่อเร็วๆ นี้ คณะกรรมการว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ องค์การสหประชาชาติ มีคำถามถึงรัฐบาลไทยเกี่ยวกับสถิติความรุนแรงในครอบครัวของประเทศไทยว่า มีมากน้อยขนาดไหน ซึ่งหากย้อนไปดูสถิติที่ได้จากโรงพักจะพบว่า มีจำนวนน้อยมาก เมื่อเทียบกับจำนวนผู้หญิงที่ได้รับความรุนแรงและไปรับการรักษาที่โรงพยาบาล จุดนี้เองสะท้อนว่า เป็นเพราะผู้หญิงเลือกไปรักษาตัวกับแพทย์ แต่ไม่มั่นใจในกระบวนการยุติธรรม ทำให้สถิติของผู้หญิงที่ไปร้องเรียนมีน้อยกว่าตัวเลขที่พบในโรงพยาบาล"
ขณะเดียวกัน ปัจจุบันประเทศไทยลงนามในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรีของสหประชาชาติ และเมื่อปี 2557 ประเทศไทยได้ไปนำเสนอรายงานเรื่องการซ้อมทรมานของไทย ปรากฏว่า มีข้อเสนอของคณะกรรมการต่อต้านการทรมานในเรื่องความรุนแรงอันมีเหตุจากเพศสภาพ กรรมการสิทธิ์ฯ บอกว่า ในรายงานของบ้านเราไม่ได้พูดถึงเรื่องนี้ คณะกรรมการฯ จึงมีข้อเสนอ โดยเห็นว่า เรื่องความรุนแรงต่อเพศสภาพเป็นเรื่องสำคัญและร่วมอยู่ในอนุสัญญาฯ นี้ด้วย
พร้อมกันคณะกรรมการฯ มีข้อกังวลต่อประเทศไทย ข้อแรกคือ ความรุนแรงอันมีเหตุจากเพศสภาพ โดยเฉพาะความรุนแรงทางเพศและความรุนแรงในครอบครัวของประเทศไทย และเห็นว่าระดับการดำเนินคดีในเรื่องนี้ของบ้านเรายังอยู่ในระดับต่ำ สาเหตุส่วนใหญ่มาจากอุปสรรคในเรื่องกรอบกฎหมาย ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ตุลาการ ที่มีทัศนคติไม่ตอบสนองต่อการใช้ความรุนแรง
คณะกรรมการฯ ยังมีความกังวลอีกว่า ความรุนแรงในครอบครัวเป็นความผิดที่ยอมความได้ เหยื่อจะต้องยื่นคำร้องเพื่อดำเนินคดีอาญาตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 ในมาตรา 4 ซึ่งสามารถประนีประนอมเรื่องความรุนแรงในครอบครัวได้
ส่วนอีกข้อคือ คณะกรรมการฯ กังวลเรื่องกฎการพิจารณา พยานหลักฐานในกระบวนการทางกฎหมายของประเทศไทย กรณีข่มขืน ส่งผลให้เกิดความเป็นเหยื่อซ้ำ และสร้างตราบาป ไม่มีการพิจารณาที่แยกเฉพาะ ทำให้ผู้เสียหายเมื่อไปให้การก็เหมือนเป็นการตอกย้ำความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับตัวเองซ้ำแล้วซ้ำเล่า ตั้งแต่ชั้นพนักงานสอบสวน กระทั่งถึงชั้นศาล
อีกทั้งคณะกรรมการฯ ยังมีความกังวลด้วยว่า การดำเนินคดีตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องล้มเหลวในเรื่องการรับฟังพยานหลักฐานของผู้หญิง
เรื่องอุปสรรคในการคุ้มครองทางกฎหมาย สำหรับผู้หญิงกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้หญิงชายขอบ กลุ่มชาติพันธุ์ ที่มีกฎระเบียบจารีตของตนเอง เช่น ผู้หญิงมาลายู มุสลิมในจังหวัดชายแดนใต้ ภายใต้กฎหมายอิสลาม หรือกรณีผู้หญิงพิการ ซึ่งเมื่อได้รับความรุนแรงทางเพศ เธอเห็นว่า ไม่สามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้
อังคณา บอกว่า นอกจากเสียงสะท้อนความกังวล คณะกรรมการฯ ยังมีข้อเสนอต่อประเทศไทยให้แก้ไขบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับประมวลกฎหมายอาญา ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และพ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 ให้มีมุมมองในการอำนวยความสะดวก คุ้มครองผู้เสียหาย แจ้งให้ผู้เสียหายทราบในขั้นตอนปฏิบัติต่างๆ รวมทั้งส่งเสริมระบบให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย ที่สำคัญคือการคุ้มครองทางจิตใจผู้เสียหายที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ หรือความรุนแรงในครอบครัว ข้อกังวลและข้อเสนอของคณะกรรมการต่อต้านการทรมานทั้งหมดนี้ ประเทศไทยมีหน้าที่ต้องดำเนินการต่อไป
และหากจะพูดถึงเรื่องการทรมาน อังคณา ชี้ว่า มีกลุ่มอาการที่เกิดขึ้นภายหลังการถูกทรมาน ที่เรียกว่า Post Psychosomatic Stress Disorder ที่ถูกพูดถึงบ่อย คนเหล่านี้จะมีอาการทางจิตใจ เช่น หวาดกลัว แต่เรากลับไม่ค่อยได้ยินกลุ่มอาการเฉพาะ Battered Wife Syndrome หรือ Battered Woman Syndrome ซึ่งเป็นกลุ่มอาการของผู้หญิงที่ได้รับความรุนแรงในครอบครัว ความรุนแรงทางเพศอย่างต่อเนื่องยาวนาน จนกระทั่งวันหนึ่งลุกขึ้นมาเป็นผู้ที่ใช้ความรุนแรงต่อสามีของตัวเอง
"จากประสบการณ์ทำงานของอนุกรรมการสตรีฯ พบว่า ผู้หญิงที่ใช้ความรุนแรงถึงขั้นฆ่าสามีมีไม่มากนัก และปัญหาของผู้หญิงกลุ่มนี้คือ ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรถึงจะหยุดพฤติกรรมเหล่านั้นของสามีได้ ผู้หญิงหลายคนถูกนำเข้าสู่กระบวนการประนีประนอมซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยไม่มีทางเลือก และหากติดตามข่าวจะพบว่า บางครั้งผู้หญิงมีทางเลือกแค่ 2 ทางคือ ฆ่าตัวเอง และบางรายอาจตัดสินใจฆ่าลูกด้วย เพราะความเป็นห่วง
อีกทางคือ ฆ่าสามี ซึ่งเรื่องนี้กลายเป็นโศกนาฏกรรมที่ผู้หญิงต้องเผชิญ อาจเพราะบ้านเรายังไม่มีกระบวนการปรึกษาหารือ ให้คำแนะนำแก่ผู้หญิง มีแต่พยายามไกล่เกลี่ย ประนีประนอม โดยเฉพาะกลุ่มผู้หญิงที่ไม่มีเงินทอง หรือมีการงานที่ดี”
ทั้งนี้ เธอยังฉายภาพต่อไปถึงปัญหาความรุนแรงในครอบครัว โดยเฉพาะประเทศในแถบชมพูทวีปว่า มีจำนวนมาก และพบว่า เป็นดั่งคำกล่าวที่ว่า คนที่จนที่สุดในหมู่คนจนคือ ผู้หญิง เพราะประเทศในแถบนั้น เมื่อผู้หญิงแต่งงานแล้วต้องเป็นของผู้ชาย ทุกครั้งที่ผู้หญิงถูกทำร้ายและถูกไล่ออกจากบ้าน จึงไม่รู้จะไปไหน ไม่มีเงิน ไม่มีอะไรเลย ในประเทศเหล่านั้นจึงมีการตั้งหน่วยงานขึ้นมา เพื่อเสริมสร้างศักยภาพ สร้างความเข้มแข็งให้กับผู้หญิง โดยทำให้ผู้หญิงรู้สึกว่า บ้านที่อยู่อาศัยคือ ‘บ้านของผู้หญิง’ ไม่มีใครมีสิทธิจะไล่ออกไปได้ และทำอย่างไรให้ผู้หญิงมีอำนาจต่อรอง ซึ่งก็ต้องใช้หลายๆ วิธีช่วยกันทำให้ผู้หญิงอยู่ในสังคมนี้ได้ โดยไม่ถูกกระทำใดๆ ที่เป็นการลดทอนศักดิ์ศรีและสิทธิมนุษยชน
ชี้ใช้ข้อโต้แย้งวิกลจริต ทำสถานภาพผู้หญิงเสียหาย
"ศิริพร สะโครบาเนค" ประธานมูลนิธิผู้หญิง ขยายความกรณี Battered Wife Syndrome เพิ่มเติมว่า ในบางรัฐของสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และออสเตรเลีย สามารถยกเรื่อง Battered Wife Syndrome ขึ้นมาเป็นข้อโต้แย้งในศาลได้ เพื่อลดโทษให้กับผู้หญิงที่กระทำความผิด อันเนื่องมาจากความทุกข์ทรมานนี้ได้
แต่ในวงการของคนทำงานเรื่องผู้หญิง กระทั่งปัจจุบันก็ยังมีข้อโต้แย้งในเรื่องนี้ เนื่องจากการต้องไปพิสูจน์ว่าผู้หญิงวิกลจริต จะทำให้สถานภาพความเป็นปกติของผู้หญิงเสียหายไปด้วย และปัจจุบันก็ยังไม่มีข้อยุติ อีกทั้งในบางประเทศก็กำลังทบทวนเกี่ยวกับเรื่องนี้เช่นกัน
สำหรับบ้านเรา เธอมองว่า คงต้องมีการถกเถียงกันต่อไปว่าจะเป็นประโยชน์ในระยะยาวหรือไม่
ประธานมูลนิธิผู้หญิง เล่าถึงบทบาทของมูลนิธิที่เคยให้ความช่วยเหลือ คดีที่ผู้หญิงต้องโทษ เพราะทำร้ายสามีจนเสียชีวิต และมี 3 คดีที่สิ้นสุดในกระบวนการยุติธรรมแล้ว โดยในแต่ละคดีใช้เวลาในการพิจารณาตั้งแต่ 7 เดือนถึง 2 ปีครึ่ง
- คดีแรก สิ้นสุดถึงศาลฎีกา และคดีนี้เข้าลักษณะ Battered Wife Syndrome มากที่สุด เพราะภรรยาถูกสามีทุบตีมาโดยตลอด และหากเล่าย้อนไปครั้งนั้น กล่าวคือ ภรรยารู้ว่าสามีต้องไปฉลอง และรู้ว่าต้องถูกสามีทุบตีอีก เธอจึงคิดว่า อยากจะทำอย่างไรก็ได้ให้สามีไม่ออกไปข้างนอกและกลับมาทุบตีเธอ ระหว่างที่สามีดื่มกาแฟเธอจึงทุบหัวสามี โดยคิดว่าจะให้เขาไม่ต้องตื่นขึ้นมาและไปร่วมฉลอง โดยที่ไม่ได้ต้องการให้ถึงแก่ชีวิต แต่ปรากฏว่า สามีกลับเสียชีวิต
“ในคดีแรกนี้ สามีภรรยาอยู่ด้วยกันมา 10 กว่าปี มีลูกด้วยกัน 4 คน ก่อนเกิดเหตุเธอไปหาทุกที่ทั้งหน่วยงานระดับท้องถิ่น ตำรวจก็ไม่สามารถยุติความรุนแรงที่สามีกระทำต่อเธอได้ จึงต้องสู้กลับเพื่อยุติความรุนแรงที่เกิดขึ้น” ศิริพร เล่า
ส่วนคดีที่สอง ผู้หญิงถูกทุบตีมาเป็นระยะเวลานาน และวันนั้นมีการทะเลาะกันและเกิดทำร้ายสามีเสียชีวิต แต่คดีนี้มีเรื่องนำศพไปซ้อนเข้ามาเกี่ยวข้อง เมื่อรับสารภาพ ศาลก็ตัดสินจำคุก 7 ปี 4 เดือน
คดีที่ 3 เป็นการขัดแย้งต่อสู้กันและสามีเสียชีวิต แต่ในคดีนี้อัยการทำสำนวนต่างจากคดีอื่นตรงที่นำกฎหมายคุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงมาใช้ ศาลตัดสินให้จำคุก 5 ปี แต่เนื่องจากมีลูกต้องดูแล จึงให้รอการลงโทษ 3 ปี และควบคุมประพฤติ 1 ปี
โจทย์ใหญ่ พ่อตาย-แม่ติดคุก ใครดูแลลูก ?
ศิริพร ยังหยิบยกกรณีศึกษาในต่างประเทศขึ้นมาเปรียบเทียบว่า บางคดี ไม่มีแม้แต่จะติดคุก เพราะเขาจะคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็ก
"กรณีบ้านเราก็พบเหตุการณ์พ่อตาย แม่ติดคุก ให้ลูกไปอยู่กับญาติ ซึ่งในช่วงที่แม่ติดคุก ลูกชาย 2 คนก็มาถูกข้อหาทำร้ายผู้อื่นจนเสียชีวิต ลูกสาวคนที่ 3ไม่ยอมไปโรงเรียน ส่วนคนเล็กขาดคนดูแล เพราะฉะนั้น จำเป็นจะต้องมีแนวปฏิบัติในการพิจารณาเรื่องเกี่ยวกับความรุนแรงในครอบครัว"
แต่ประเด็นปัญหาที่เธอรู้สึก คือ คนที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมยังไม่เข้าใจเรื่องพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 มากนัก เมื่อผู้หญิงกระทำความรุนแรงจนสามีถึงแก่ชีวิตก็มักเจอคำถามว่า "ฆ่าเขาใช่หรือไม่ ผู้หญิงก็ยอมรับว่าใช่" แต่เบื้องหลังมีอะไรอีกตั้งหลายอย่าง
ดังนั้นคำถามลักษณะนี้แล้วบอกว่า รับสารภาพ มันไม่ใช่ และหากไม่มีหน่วยงานใดเข้าไปแทรกแซง ช่วยเหลือในกรณีเหล่านี้ เชื่อว่าจะต้องมีผู้หญิงติดคุกอีกมาก
ประธานมูลนิธิผู้หญิง ยกตัวอย่างคดีที่เกิดขึ้นจริงในเมืองไทยอีกคดี มีผู้หญิงคนหนึ่งเกิดบันดาลโทสะคว้ามีดฟันสามีจนเสียชีวิต เพราะเห็นสามีกำลังหลับนอนอยู่กับผู้หญิงอื่น เธอบอกว่าไม่ได้ตั้งใจ แต่ปรากฏว่าสามีเสียชีวิต ส่วนผู้หญิงหนีไป และเธอก็บอกว่า สภาพของสามีไม่น่าดู ไม่ได้ใส่เสื้อผ้า จึงนำผ้าไปปิดบังเอาไว้ กลายมาเป็นประเด็นฟ้องร้องว่า เธอปิดบังอำพรางศพ ก็ทำอะไรไม่ได้ ต้องติดคุกไป
"ฉะนั้นจะต้องมีหน่วยงานที่รับเรื่องเหล่านี้ เข้าไปแทรกแซง ช่วยเหลือ ขณะเดียวกันกระทรวงยุติธรรมก็มีกองทุนที่สามารถเข้าไปช่วยเหลือประกันตัวในกรณีเหล่านี้ได้ ซึ่งจะช่วยให้ผู้หญิงไม่ต้องติดไปคุกในระหว่างรอการพิจารณา ดำเนินคดี"
คนไกล่เกลี่ย ไม่ใช่มืออาชีพ
ประธานมูลนิธิผู้หญิง กล่าวถึง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 ของไทยด้วยว่า เป็นกฎหมายที่ไม่เคารพความเป็นส่วนตัวของผู้เสียหาย หรือคนที่อยู่ในครอบครัวมากนัก อีกทั้งคนที่อยู่ในกระบวนการปรองดอง ยังพบว่าใช้คนจำนวนมาก แต่ไม่ใช่มืออาชีพ ต่างจากกฎหมายในเยอรมัน หรือบางรัฐในออสเตรเลีย ที่ระบุชัดเจนว่า การไกล่เกลี่ยปรองดองจะกระทำได้ เฉพาะคนที่มีประสบการณ์ เป็นมืออาชีพที่ผ่านการอบรมเท่านั้น ไม่ใช่ใครก็ได้
"อย่างในบ้านเรา 3 คดีที่เล่าให้ฟังพนักงานเจ้าหน้าที่ไม่ได้ทำอะไรเลย แม้คดีเหล่านั้นจะเกิดขึ้นหลังมี พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 แล้วก็ตาม ขณะเดียวกันกฎหมายในเยอรมัน หรือบางรัฐในออสเตรเลีย ยังบอกอีกว่า การไกล่เกลี่ยปรองดองจะต้องคำนึงถึงประโยชน์ของผู้เสียหายเป็นสำคัญ แต่บ้านเราจะบอกว่า ต้องคำนึงถึงการดำรงอยู่ของสถาบันครอบครัว ดังนั้นจะต้องปรับปรุงแนวคิดทำนองนี้"
ขณะที่ตัวแทนจากมูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคของสังคม "สุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง" เล่าประสบการณ์จากการพบเจอพูดคุยกับผู้หญิงที่ตกเป็นจำเลยคดีเจตนาฆ่าสามี พบข้อสังเกตว่า ผู้หญิงกลุ่มนี้มักถูกทำร้ายซ้ำแล้วซ้ำเล่า พอตัดสินใจจะออกจาก ‘ความเป็นเมีย’ หันไปหาหน่วยราชการที่เป็นกลไก ทั้งระดับอำเภอ จังหวัด หรือแม้กระทั่งระดับกระทรวง กลับไปเจอนิยาม ‘สถาบันครอบครัว’ ต้องอยู่กันครบพ่อแม่ลูก กระทั่งทำให้ผู้หญิงบางคนเชื่อเช่นนั้น และกลับไปอยู่เป็นครอบครัวตามเดิม
"ที่น่าสนใจคือ แนวคิดเช่นนี้ แม้แต่ผู้หญิงสถานะสูง บางรายอายุ 52 ปี จบแพทยศาสตร์บัณฑิตก็ยังคิดเช่นนี้
เธอจึงมองว่า ปัญหาส่วนหนึ่งที่เกิดขึ้น เป็นเพราะหน่วยงานหน่วยบริการที่ประกาศตนว่า จะป้องกันยุติปัญหาไม่สามารถเยียวยา และนำไปสู่การเข้าใจได้ว่า สิ่งที่เป็นความรุนแรงสามารถแก้ไขได้ ขณะเดียวกันการร่างกฎหมายการออกกฎหมาย คณะกรรมการยกร่างฯ อาจต้องเชิญผู้มีส่วนได้เสีย เชิญภรรยาที่ถูกกระทำ สามีที่ปรับพฤติกรรมได้มาให้ข้อมูลด้วย"
ท้ายที่สุดการต่อสู้คดีเกี่ยวกับกรณี Battered Wife Syndrome จะประสบความสำเร็จได้นั้น สุเพ็ญศรี ยืนยันว่า หัวใจสำคัญคือ ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรม จะต้องมีความเข้าใจในเรื่องเหล่านี้เป็นลำดับแรก...
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ความรุนแรงในครอบครัว อาการป่วยทางจิต กดดันจนต้องฆ่า เปิดกฎหมายไทยไปถึงไหน
ผอ.มูลนิธิหญิงชายก้าวไกลเปิดตัวเลขฆ่ากันในครอบครัว ปี' 56 พุ่งเกิน 200 ราย