ล้วงแผนสอบ สตง. ปี60 ล็อคเป้าโครงสร้างพื้นฐาน-เงินกระตุ้นศก.รากหญ้าแสนล.
"..นับตั้งแต่ปีงบประมาณ 2559 เป็นต้นมา รัฐบาลพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากโดยจัดสรรงบประมาณไปแล้วทั้งสิ้น 130,035 ล้านบาท โดยปีงบประมาณ 2559 รัฐบาลออกมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยและดำเนินโครงการยกระดับศักยภาพเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 111,275 ล้านบาท และในปีงบประมาณ 2560 รัฐบาลดำเนินโครงการเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐต่อ (ระยะที่ 2) โดยจัดสรรงบประมาณลงหมู่บ้านละ 250,000 บาท จำนวน 74,655 หมู่บ้าน รวมวงเงินจัดสรรโครงการนี้ 18,760 ล้านบาท.."
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : เป็นรายละเอียดแผนยุทธศาสตร์การตรวจสอบเงินแผ่นดิน ในปี 2560 ของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ภายใต้การบริหารงานของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)
--------------------------
งบประมาณแผ่นดินปี 2560 จำนวน 2.733 ล้านล้านบาท รัฐบาลได้จัดสรรเม็ดเงินดังกล่าวไปยังยุทธศาสตร์สำคัญ 6 ด้าน โดยหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญ คือ ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งงบประมาณที่ได้จัดสรรจำนวนทั้งสิ้น 323,656.4076 ล้านบาท หรือ คิดเป็น 11.84% ของงบประมาณแผ่นดินทั้งหมด
ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ประกอบด้วย 15 แผนงาน จำแนกแผนงาน ออกเป็น 3 ประเภทหลัก ได้แก่ แผนงานบูรณาการ แผนงานยุทธศาสตร์และแผนงานพื้นฐาน ทั้งนี้จุดเน้นของยุทธศาสตร์นี้มี 7 แผนงาน ซึ่งเป็นแผนงานบูรณาการ ได้แก่ แผนงานบูรณาการพัฒนาอุตสาหกรรมศักยภาพ แผนงานบูรณาการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลาง
และขนาดย่อม แผนบูรณาการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ แผนงานบูรณาการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ แผนงานบูรณาการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา และแผนงานบูรณาการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวและบริการ
แผนงานบูรณาการทั้ง 7 แผนนี้ ได้รับจัดสรรงบประมาณรวมกันทั้งสิ้น 136,467.3405 ล้านบาท คิดเป็น 42.16% ของยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยแผนงานที่ได้รับจัดสรรงบประมาณสูงสุด คือ แผนงานบูรณาการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ ได้รับจัดสรร 101,501.9015 ล้านบาท หรือคิดเป็น 74 % ของงบแผนงานบูรณาการในยุทธศาสตร์ด้านนี้
นอกจากนี้ แผนงานบูรณาการสำคัญอีกแผนงาน คือ แผนงานการส่งเสริมวิจัยและพัฒนา ซึ่งในปีงบประมาณ 2560 รัฐจัดสรรงบประมาณสูงถึง 16,358.8063 ล้านบาท คิดเป็น 5.05% ของงบประมาณยุทธศาสตร์ดังกล่าว ขณะที่แผนงานพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล เป็นแผนงานพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล เป็นแผนงานบูรณาการสำคัญในอนาคตที่จัดสรรเพื่อรองรับการเข้าสู่ Thailand 4.0 โดยแผนงานบูรณาการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลได้รับงบประมาณจัดสรร 4,973.2685 ล้านบาท คิดเป็น 1.54% ของงบประมาณในการแข่งขันของประเทศ
อย่างไรก็ดี ในปี 2560 โครงการรัฐที่น่าจับตาโดยใช้เกณฑ์วัดมูลค่าโครงการมากกว่า 1,000 ล้านบาท พบว่า มีโครงการใหญ่ 18 โครงการในแผนงานบูรณาการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์และโครงการในแผนบูรณาการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล (รายละเอียดปรากฏตามตาราง)
จากตารางข้างต้น แสดงโครงการสำคัญที่น่าจับตา ภายใต้แผนงานบูรณาการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ และแผนงานบูรณาการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล ทั้งนี้โครงการทั้งหมดได้รับจัดสรรงบประมาณเกิน 1,000 ล้านบาท เฉพาะ 2 แผนงานนี้ มีโครงการที่ได้รับจัดสรรงบประมาณปี 2560 ทั้งหมด 18 โครงการ งบประมาณรวมกัน 93,064.6120 ล้านบาท โดยกรมทางหลวง มีโครงการเกินหนึ่งพันล้านบาท จำนวน 5 โครงการ เช่น โครงการก่อสร้างโครงข่ายทางหลวงแผ่นดินที่ได้รับจัดสรรถึง 24,620.9378 ล้านบาท โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ที่ได้รับจัดสรรงบประมาณสูงถึง 17,927.8610 ล้านบาท
ขณะที่โครงการสำคัญในแผนงานบูรณาการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล ที่ได้รับจัดสรรงบประมาณเกินหนึ่งพันล้านบาท มี 2 โครงการ คือโครงการยกระดับโครางสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ (ได้รับจัดสรร 2,000 ล้านบาท) โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและยกระดับบริการ Electronic ของสำนักงานรัฐบาล อิเล็กทรอนิกส์ หรือ สรอ.ได้รับการจัดสรร 1,210.6127 ล้านบาท
สำหรับโครงการยกระดับศักยภาพหมู่บ้านเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐ ปีงบประมาณ 2560 นั้น
นับตั้งแต่ปีงบประมาณ 2559 รัฐบาลจัดสรรงบประมาณเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากภายใต้แนวทางประชารัฐ (กลุ่มเป้าหมายคือกองทุนหมู่บ้าน ชุมชนเมือง ตำบล และหมู่บ้าน) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความเป็นอยู่ของประชาชนผู้มีรายได้น้อย ฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานราก ก่อให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และกระจายเม็ดเงินงบประมาณลงไปให้ทั่วถึงทุกพื้นที่ (ดูตาราง)
จากตาราง นับตั้งแต่ปีงบประมาณ 2559 เป็นต้นมา รัฐบาลพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากโดยจัดสรรงบประมาณไปแล้วทั้งสิ้น 130,035 ล้านบาท โดยปีงบประมาณ 2559 รัฐบาลออกมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยและดำเนินโครงการยกระดับศักยภาพเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 111,275 ล้านบาท และในปีงบประมาณ 2560 รัฐบาลดำเนินโครงการเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐต่อ (ระยะที่ 2) โดยจัดสรรงบประมาณลงหมู่บ้านละ 250,000 บาท จำนวน 74,655 หมู่บ้าน รวมวงเงินจัดสรรโครงการนี้ 18,760 ล้านบาท
ทั้งนี้ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน เน้นการตรวจสอบเชิงรุก (Proactive audit) โดยมุ่งหวังให้การตรวจสอบสามารถป้องปรามความเสียหายได้อย่างทันกาล (Preventive approach) แนวทางดังกล่าวนำไปสู่การ บูรณาการปฏิบัติงานตรวจสอบในแต่ละลักษณะงาน เพื่อให้การตรวจสอบรวดเร็ว ได้มาตรฐานและมีคุณภาพตลอดจนส่งเสริมให้เกิดธรรมาภิบาลในการใช้จ่ายเงินแผ่นดิน
สำหรับการจัดสรรงบประมาณปี 2560 มีจุดมุ่งหมายเพื่อยกระดับความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ โดยเฉพาะยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศที่รัฐพยายามเน้นแผนงานบูรณาการหลัก คือ แผนงานบูรณาการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์และแผนงานบูรณาการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล (ทั้ง2 แผนงานนี้มีโครงการ 18 โครงการที่ได้รับจัดสรรวงเงินงบประมาณ เกิน 1,000 ล้านบาท)
ขณะเดียวกันภายใต้ปรัชญาการพัฒนาที่จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังนั้น รัฐจัดสรรงบประมาณเพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยตลอดจนฟื้นฟูเศรษฐกิจระดับฐานรากให้กลับมาเติบโต
ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมต่อสถานการณ์การใช้จ่ายเงินแผ่นดินให้เกิด ธรรมาภิบาล ผู้ตรวจสอบ ควรจับตา ติดตามโครงการสำคัญโดยพิจารณาจากมุมมองเชิงวิชาการประกอบการตรวจสอบ ดังนี้
1. การให้ความสำคัญกับยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งเป็นการลงทุนครั้งใหญ่เพื่อยกระดับสถานะประเทศให้ก้าวสู่ Thailand 4.0 ทั้งนี้ ลักษณะการตรวจสอบสำคัญที่จะเข้ามาช่วยชี้ให้เห็นภาพรวมความสำเร็จของการใช้เงินงบประมาณลงทุน คือ การตรวจสอบการดำเนินงาน ที่ผู้ตรวจสอบอาจขยายมุมมองไปสู่เรื่องการเข้าถึงการใช้ทรัพยากรภาครัฐอย่างเสมอภาคเท่าเทียม (Equity) เช่น โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและยกระดับบริการทาง Electronic ของ สรอ. ที่ผู้ตรวจสอบสามารถวิเคราะห์ความสำเร็จ ความคุ้มค่าของโครงการว่า โครงการดังกล่าวสามารถเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันของประเทศได้หรือไม่ การกำหนดตัวชี้วัดความสำเร็จโครงการนี้ชัดเจนหรือไม่ โครงการกระจายโอกาสอย่างเท่าเทียมให้ประชาชนได้จริงหรือไม่ ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงข้อมูล (Digital Divide) ได้อย่างไรประเด็นเหล่านี้ผู้ตรวจสอบควรให้ความสำคัญเพื่อพัฒนาเป็นเกณฑ์การตรวจสอบต่อไปในอนาคต
2.โครงการรัฐขนาดใหญ่ของแผนงานบูรณาการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์นั้น ผู้ตรวจสอบ ลักษณะการตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างและการตรวจสอบเชิงรุกที่เน้นการป้องปรามความเสียหายสามารถจับตา ติดตามขั้นตอนการดำเนินโครงการขนาดใหญ่ดังกล่าว ตั้งแต่
(ก) ขั้นตอนการศึกษาความเป็นไปได้โครงการ Feasibility study
(ข) ขั้นตอนการจัดหาผู้รับจ้าง ผู้ขาย หรือแม้แต่ผู้ร่วมทุนในโครงการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) โดยพิจารณาในเรื่องการแข่งขัน ความโปร่งใส
(ค) ขั้นตอนการบริหารสัญญา ทั้งในเรื่องการส่งมอบงานแต่ละงวด การตรวจรับงานตลอดจนการขอขยายระยะเวลาสัญญาที่หน่วยงานรัฐต้องรักษาประโยชน์ทางราชการเป็นสำคัญ การติดตามตรวจสอบโครงการขนาดใหญ่ในแต่ละขั้นตอนอย่างใกล้ชิด เป็นแนวคิดการตรวจสอบที่ National Audit Office Of China (CNAO) หรือ สตง.จีน เรียกว่า Real time Audit ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อติดตามโครงการขนาดใหญ่ที่สำคัญ และจะรีบรายงานผลการตรวจสอบหากพบเรื่องผิดปกติในแต่ละขั้นตอน ทั้งนี้เป็นการช่วยระงับยับยั้งไม่ให้โครงการเหล่านั้นเกิดความเสียหาย
3.ผู้ตรวจสอบในระดับภูมิภาค และระดับจังหวัดอาจให้ความสำคัญกับโครงการและมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ซึ่งตั้งแต่ปีงบประมาณ 2559 รัฐจัดสรรงบประมาณสูงถึง 111,275 ล้านบาท ใน 2 มาตรการสำคัญ (ให้สินเชื่อกองทุนหมู่บ้านและตำบลละ 5 ล้านบาท รวมทั้งโครงการประชารัฐ หมู่บ้านละ 2 แสนบาท) ขณะที่ปีงบประมาณ 2560 รัฐจัดสรรงบประมาณสำหรับโครงการประชารัฐหมู่บ้านละ 2.5 แสนบาท จำนวน 74,655 หมู่บ้าน งบประมาณ 18,760 ล้านบาท เปิดโอกาสให้ชุมชนหมู่บ้านมีส่วนร่วมในการจัดการตนเอง
ทั้งนี้ ข้อสังเกตประการหนึ่งคือ การให้ความสำคัญกับหมู่บ้านโดยเฉพาะการทำงานของคณะกรรมการหมู่บ้าน ผ่านการกำกับดูแลของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ซึ่งแตกต่างกับการใช้นโยบายประชานิยมของหลายรัฐบาลที่ผ่านมา ที่มักจะจัดสรรเงินงบประมาณรูปแบบเงินอุดหนุนผ่านองค์กรปกครองส่วนถิ่น ซึ่งการเปลี่ยน “ผู้รับเงิน”
ลักษณะนี้ ผู้ตรวจสอบควรให้ความสำคัญในเรื่องที่จะเกิดการรั่วไหล การควบคุมกำกับการใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดินอย่างรัดกุม