เมืองสองทวีปตกเป็นเป้าโจมตี ตุรกีเผชิญศึกใน-นอก
เหตุรุนแรงขนาดใหญ่ในตุรกีรวมๆ แล้วเกือบ 20 ครั้งตลอดปี 2559 รวมทั้งเหตุกราดยิงล่าสุดในไนท์คลับกลางกรุงอิสตันบูล เมืองหลวงของประเทศเมื่อคืนส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ 2560 สะท้อนว่าตุรกีกำลังเผชิญความขัดแย้งที่ซับซ้อน ทั้งปัญหาภายในเอง และวิกฤติการณ์ในซีเรีย ตลอดจนในตะวันออกกลางที่เป็นผลจากกลุ่มรัฐอิสลาม หรือไอเอส
เหตุรุนแรงในตุรกีตลอดปี 2559 เกิดขึ้นทั้งในอิสตันบูล และเมืองใหญ่อื่นๆ มีทั้งเหตุระเบิดฆ่าพลีชีพ, คาร์บอมบ์, Truck bomb โดยเป้าหมายของการโจมตีไม่ได้มีแค่สถานที่ราชการ ทหาร ตำรวจ แต่ยังรวมถึงในสนามบิน สนามกีฬา หรือแม้กระทั่งงานแต่งงาน
เหตุรุนแรงล่าสุดในคืนส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ก็เกิดขึ้นในไนท์คลับชื่อดังกลางกรุงอิสตันบูล โดยคนร้ายในชุดซานตาครอสใช้อาวุธปืนกราดยิงใส่ฝูงชน ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 35 คน บาดเจ็บกว่า 40 คน
นี่คือบางส่วนของเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นตลอดปีที่ผ่านมา
12 ม.ค. ระเบิดพลีชีพในอิสตันบูล ตาย 13 เจ็บ 16
17 ก.พ. Truck Bomb ในกรุงอังการา ตาย 28 เจ็บ 61
13 มี.ค. คาร์บอมบ์ในกรุงอังการา ตาย 37 เจ็บ 125
1 พ.ค. Truck Bomb สำนักงานตำรวจในเมืองกาซีอันเตป ตาย 2 เจ็บ 40
7 มิ.ย. คาร์บอมบ์ในอิสตันบูล ตาย 11 เจ็บ 36
11 มิ.ย. คาร์บอมบ์ในอิสตันบูล ตาย 11
28 มิ.ย. ระเบิดพลีชีพในสนามบินอาตาเติร์ก นครอิสตันบูล ตาย 35 เจ็บกว่าร้อย
20 ส.ค. ระเบิดพลีชีพในงานแต่งงาน ในเมืองกาซีอันเตป ตาย 51
4 พ.ย. คาร์บอมบ์สถานีตำรวจ ตาย 9 เจ็บนับร้อย
10 ธ.ค. คาร์บอมบ์ในอิสตันบูล ตาย 38 เจ็บ 155
31 ธ.ค. กราดยิงในไนท์คลับ ในอิสตันบูล ตาย 35 เจ็บ 40
ผู้ที่ออกมาอ้างความรับผิดชอบจากเหตุรุนแรงต่างๆ ในตุรกี มีทั้งกลุ่มไอเอส กลุ่มพีเคเค หรือพรรคแรงงานเคอร์ดิสถาน และกลุ่มทีเอเค หรือกลุ่มเหยี่ยวเสรีภาพเคิร์ด ซึ่งเป็นเครือข่ายของพีเคเค
ดร.ศราวุฒิ อารีย์ นักวิชาการจากศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่า ด้านหนึ่งตุรกีเผชิญปัญหาภายในจากปัญหาชนกลุ่มน้อยชาวเคิร์ด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดความรุนแรงตามเมืองใหญ่ๆ โดยเฉพาะอิสตันบูล
“ปัญหาชนกลุ่มน้อยชาวเคิร์ดเป็นปัญหาหนักหนาสาหัสของตุรกี และรัฐบาลตุรกีให้ความสำคัญมาก เนื่องจากชาวเคิร์ดแม้จะเป็นชนกลุ่มน้อย แต่มีจำนวนมาก เดิมคือรัฐเคอร์ดิสถาน มีดินแดนในอดีตกว่า 4 แสนตารางกิโลเมตร กระจายใน 4 ประเทศปัจจุบัน คือ ตุรกี อิหร่าน อิรัก และซีเรีย แต่ดินแดนราวๆ ครึ่งหนึ่งอยู่ในตุรกี”
“ที่ผ่านมามีสัญญาณหลายสัญญาณในหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในตะวันออกลางที่บ่งชี้ว่าชาวเคิร์ดกำลังขึ้นสู่อำนาจในหลายประเทศ เช่น อิรัก ชาวเคิร์ดสามารถปกครองตนเองมาได้นับตั้งแต่สงครามอ่าวเปอร์เซียรอบแรก เมื่อปี ค.ศ.1990 สหรัฐช่วยจัดตั้ง ‘โน ฟลาย โซน’ ส่วนในซีเรีย ชาวเคิร์ดก็ปกครองตนเองตั้งแต่เกิดสงครามกลางเมืองในซีเรีย วันนี้ชาวเคิร์ดค่อนข้างเข้มแข็ง มีความหวังที่จะฟื้นฟูรัฐเคอร์ดิสถานของตนเองได้ เพียงแต่แผ่นดินใหญ่ในประเทศตุรกียังไม่สามารถมีอำนาจได้”
“ปัญหาชาวเคิร์ดต้องการเรียกร้องเอกราชจึงเป็นปัญหาสำคัญ เป็นปัญหาที่ตุรกีไม่พยายามให้ชาวเคิร์ดขึ้นมามีอำนาจหรือมีพลังในประเทศได้ ในสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นนี้ ทำให้ตุรกีเกิดความหวาดระแวงว่า เคิร์ดมีการปกครองในอิรัก ซีเรีย ฉะนั้นรัฐบาลตุรกีจะทำอย่างไรเพื่อให้ชาวเคิร์ดในตุรกีอ่อนแรงมากที่สุด เพื่อไม่นำมาสู่การเรียกร้องเอกราชของชาวเคิร์ดในดินแดนของตุรกี”
“ปัจจุบันรัฐบาลตุรกีทำสงครามกับชาวเคิร์ดอีกรอบ ทั้งๆ ที่เคยมีการเจรจาสันติภาพกันมาระยะหนึ่งกับกลุ่มพีเคเค เข้าใจว่าช่วงปี 2012-2013 แต่กระบวนการเจรจาล้มเหลว และนำมาสู่การต่อสู้กันอีกครั้ง ในช่วงที่ผ่านมาจะเห็นว่าเกิดเหตุการณ์ระเบิดในตุรกีหลายครั้ง ส่วนหนึ่งอาจเป็นฝีมือของกลุ่มไอเอส แต่หลายๆ ครั้งเป็นการกระทำของชาวเคิร์ด”
ดร.ศราวุฒิ กล่าวต่อว่า ตุรกีมีปัญหาเยอะ นอกจากชนกลุ่มน้อยชาวเคิร์ดแล้ว ก็ยังมีภัยคุกคามที่เป็นผลมาจากสงครามในซีเรีย และภัยคุกคามจากการก่อการร้ายของไอเอสด้วย
“ในกระบวนการต่อสู้ของสหรัฐอเมริกากับกลุ่มก่อการร้ายอย่างไอเอส สหรัฐใช้ 2 วิธี คือ 1.การโจมตีทางอากาศ โดยไม่ได้ส่งกองกำลังเข้าไป กับ 2.การใช้ตัวแทนในพื้นที่เพื่อต่อสู้กับไอเอส และตัวแทนของสหรัฐก็คือกองกำลังชาวเคิร์ด โดยเฉพาะในซีเรีย”
“แต่ในมุมมองของตุรกีแล้ว ปัญหาชาวเคิร์ดเป็นปัญหาสำคัญ เป็นปัญหาความมั่นคงของตุรกี ตอนหลังประเด็นปัญหาชาวเคิร์ดจึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่เป็นตัวแปรสำหรับความสัมพันธ์ระหว่างตุรกีกับสหรัฐด้วย ถึงขั้นผู้นำหรือเจ้าหน้าที่รัฐบาลบางส่วนของตุรกีออกมาพูดในระยะหลังว่า ให้สหรัฐเลือกระหว่างความสัมพันธ์ที่มีมายาวนานกับตุรกี หรือจะเลือกกองกำลังชาวเคิร์ดที่เป็นผู้ก่อการร้าย”
กับจุดยืนของตุรกีที่ต้องการล้มระบอบอัสซาดในซีเรีย แต่เหตุใดจึงกลายเป็นศัตรูกับกลุ่มไอเอสไปด้วยนั้น ประเด็นนี้ ดร.ศราวุฒิ อธิบายว่า ไอเอสไม่ได้เข้าไปกับฝ่ายไหนเลย นอกจากไอเอสฟจะต่อสู้กับรัฐบาลอัสซาดแล้ว ไอเอสก็ยังต่อสู้กับฝ่ายอต้านรัฐบาลอัสซาดด้วย
“นโยบายของประเทศตุรกีต้องการล้มระบอบอัสซาดก็จริง แต่ตุรกี ไม่ได้สนับสนุนการจัดตั้งรัฐอิสลาม (แนวทางของไอเอส) ท่าทีของตุรกีในช่วงที่ผ่านมาให้การสนับสนุนฝ่ายต่อต้านอัสซาด สนับสนุนนักรบต่างชาติที่เข้าไปต่อสู้ในซีเรีย แต่ไม่ได้สนับสนุนไอเอส เพราะการกำเนิดของรัฐอิสลาม หรือ คอลีฟะฮ์ ถือเป็นภัยคุกคามของรัฐบาลต่อประเทศมุสลิมทั้งหมด เนื่องจากคอลีฟะห์หมายถึงผู้แทนทางการเมืองสูงสุดของโลกมุสลิมต่อจากท่านศาสดามูฮัมหมัด เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นผู้นำของประเทศไหน หน่วยงานหรือองค์กรส่วนใด ต้องเข้ามาสวามิภักดิ์ต่อคอลีฟะห์ ถือว่าเป็นการท้าทายทางการเมืองต่อรัฐบาลของประเทศมุสลิมทั้งหมด”
“นอกจากนั้นในสายตาของไอเอส ตุรกีเป็นรัฐบาลแนวโลกวิสัยนิยม และเป็นเครื่องมือของมหาอำนาจ ฉะนั้นเราจึงเห็นได้ว่า หลังจากตุรกีมีนโยบายปิดชายแดนไม่ให้นักรบต่างชาติเข้ามาต่อสู้ในซีเรีย รัฐบาลตุรกีจึงเป็นเป้าหมายการโจมตีของไอเอสด้วย” ดร.ศราวุฒิ กล่าว
ทั้งหมดนี้จึงเป็นเหตุผลให้ตุรกีในระยะหลังเต็มไปด้วยความรุนแรงและเหตุนองเลือด ซึ่งยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติ!
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 ธงประเทศตุรกี (ขอบคุณ ภาพจากอินเทอร์เน็ต)
2 ศราวุฒิ อารีย์ (แฟ้มภาพอิศรา)
ขอบคุณ : ข้อมูลเหตุนองเลือดในตุรกี โดยทีมต่างประเทศ สถานีโทรทัศน์ NOW26