10 คดีทรัพย์สินแห่งปี’59 ลุ้น รมต. พันจำนำข้าว-เมียปรีชา-ศานิตย์-เฉลิม
เปิด 10 คดีบัญชีทรัพย์สินแห่งปี 2559 สำนักข่าวอิศรา ลุ้นความคืบหน้าควานหาคนถือกระเป๋าเงิน 5 อดีต รมต.พันจำนำข้าว ปมปริศนาเงินไหลเวียนบัญชีเงินฝาก ‘ภรรยา พล.อ.ปรีชา’ รับเงินค่าที่ปรึกษาเครือไทยเบฟฯ ‘พล.ต.ท.ศานิตย์’ ลุยสอบรวยผิดปกติ ‘เฉลิม อยู่บำรุง’
ในรอบปี 2559 ที่ผ่านมา สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยเฉพาะในสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จำนวนหลายราย ซึ่งเป็นการทำหน้าที่ ‘ปกติ’ ของสื่อมวลชน
ใครมีทรัพย์สินน่าสนใจ ใครยังมีประเด็นเคลือบแคลงน่าสงสัย แต่ยังไม่ ‘เคลียร์’ ให้สาธารณชนหายข้องใจบ้าง ?
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รวบรวมไว้ ดังนี้
หนึ่ง พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม ปัจจุบันเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)
แม้ว่าประเด็นความคลุมเครือในการกรอกบัญชีทรัพย์สินฯ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง สนช. จะจบลงไปแล้วก็ตาม เนื่องจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติเป็นเอกฉันท์ว่า ‘น้องนายกฯ’ ไม่จงใจปกปิดบัญชีทรัพย์สินฯก็ตาม
(อ่านประกอบ : ป.ป.ช.ยัน“ปรีชา”ยื่นทรัพย์สินถูกต้อง! ปมใส่เงินฝาก“เมีย-กองทัพภาค 3”)
แต่เหลือประเด็นที่ยังไม่มีคำตอบจาก พล.อ.ปรีชา และนางผ่องพรรณ จันทร์โอชา คู่สมรส คือ กรณีเงินที่ไหลเวียนเข้าออกในบัญชีเงินฝากของนางผ่องพรรณ ในช่วงปี 2557 จำนวนหลายสิบล้านบาท ทั้งที่แจ้งว่า ไม่มีรายได้ และไม่ได้ประกอบธุรกิจ ซึ่งตรงนี้ถูกหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า เงินดังกล่าวมาจากไหน และคณะกรรมการ ป.ป.ช. จำเป็นต้องเข้าไปตรวจสอบกรณีร่ำรวยผิดปกติหรือไม่ ?
โดยจำเป็นต้องไล่ตรวจสอบตั้งแต่ช่วง พล.อ.ปรีชา ยังดำรงตำแหน่งเป็นแม่ทัพภาคที่ 3 และผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก ไล่เรื่อยมาว่า ก่อนหน้านี้เคยทำธุรกิจมาก่อน หรือได้รับเงินจากใครหรือไม่ ถ้าไม่มี แล้วเงินดังกล่าวไหลเวียนในบัญชีเงินฝากได้ไง อย่างไรก็ดี พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยืนยันว่า เรื่องดังกล่าวถ้าไม่มีใครร้องเรียนมา ก็ยังไม่มีเหตุอันควรสงสัยเข้าไปตรวจสอบ
(อ่านประกอบ : ไร้หลักฐานใหม่! ปธ.ป.ป.ช.ยันไม่รื้อคดีทรัพย์สิน‘ปรีชา’ปมบัญชีเงินฝาก ‘เมีย’)
นอกจากนี้ยังมีประเด็นใหม่เกิดขึ้น กรณี พล.อ.ปรีชา สร้างบ้านที่ จ.พิษณุโลก ระหว่างดำรงตำแหน่ง สนช. ซึ่งยังไม่ได้แจ้งต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ทำให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนาหูว่าทำได้หรือไม่ อย่างไรก็ดีแหล่งข่าวจากสำนักงาน ป.ป.ช. อธิบายว่า กรณีนี้สามารถทำได้ แต่ต้องรอดูช่วงพ้นตำแหน่ง สนช. อีกครั้งว่า แจ้งมูลค่าทรัพย์สินบ้านดังกล่าวเท่าไหร่ และใช้เงินจากไหนในการสร้าง
(อ่านประกอบ : ยลโฉมที่ดินพิษณุโลก‘ปรีชา-เมีย’ได้มาปี’57 ทั้งหมด-ใช้เงินจากไหนปลูกบ้าน?)
สอง พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) และสมาชิก สนช.
กลายเป็นกระแสช่วงต้นเดือน ธ.ค. 2559 เมื่อสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า พล.ต.ท.ศานิตย์ แจ้งในบัญชีทรัพย์สินฯช่วงนั่งเก้าอี้ สนช. ว่า ได้รับเงินค่าที่ปรึกษาจากบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) จำนวน 5 หมื่นบาท/เดือน ตั้งแต่ปี 2558
ส่งผลให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า เงินค่าที่ปรึกษาดังกล่าว ปรึกษาเรื่องอะไร และได้ให้คำปรึกษาจริงหรือไม่ แม้ พล.ต.ท.ศานิตย์ จะเป็นข้าราชการตำรวจมานาน มีความรู้เรื่องกฎหมายเป็นอย่างดี แต่เครือ ‘ไทยเบฟ’ ซึ่งเป็นเอกชนใหญ่ระดับต้น ๆ ของประเทศนี้ สามารถจ้างนักกฎหมายอื่น ๆ มาให้คำปรึกษาได้อยู่แล้ว โดยไม่ต้องถูกตั้งข้อครหาดังกล่าว ที่สำคัญ พล.ต.ท.ศานิตย์ เป็นถึงนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ รวมถึงเป็นผู้บังคับบัญชากองตำรวจนครบาล ซึ่งต้องมีตัวแทนไปนั่งในกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กทม. ขณะที่เครือ ‘ไทยเบฟ’ อย่างที่หลายคนทราบกันดีว่า เป็นธุรกิจน้ำเมารายใหญ่ ตรงนี้จะเหมาะสมหรือไม่
อีกประเด็นหนึ่งคือ พล.ต.ท.ศานิตย์ แจ้งการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา รูปแบบ ภ.ง.ด.91 ซึ่งหมายความว่า มีรายได้จากเงินเดือนต้นสังกัดอย่างเดียว ทั้งที่หากได้รับเงินค่าที่ปรึกษาจะต้องเข้าข่ายยื่นตามรูปแบบ ภ.ง.ด.90 ที่มีรายได้จากหลายทาง ล่าสุดมีผู้ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้ตรวจสอบแล้ว ดังนั้นต้องรอดูว่า ป.ป.ช. รวมถึงกรมสรรพากรด้วยว่า จะเข้าไปตรวจสอบหรือไม่
(อ่านประกอบ : เจาะปมเสียภาษี‘ศานิตย์’รับเงินหลายทาง ไฉนแจ้งได้เงินเดือนอย่างเดียว?)
สาม การตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินฯเชิงลึกอดีตรัฐมนตรีเกี่ยวข้องกับโครงการรับจำนำข้าว
กรณีนี้ถูกตั้งเรื่องไต่สวนบัญชีทรัพย์สินฯตั้งแต่ช่วงปี 2556 ได้แก่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ นายภูมิ สาระผล อดีต รมช.พาณิชย์ นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล อดีต รมว.พาณิชย์ และนายยรรยง พวงราช อดีต รมช.พาณิชย์ เนื่องจากทั้งหมดมีส่วนพัวพันในการกำกับดูแลโครงการรับจำนำข้าว
ความคืบหน้าเรื่องนี้ในปี 2559 คณะอนุกรรมการไต่สวนฯกำลังไล่ล่า ‘คนหิ้วกระเป๋า’ ของบรรดาอดีตรัฐมนตรีเหล่านี้อยู่ว่า มีอยู่จริงหรือไม่ และหากมีอยู่จริงคือใคร ปัจจุบันเจอเพียงข้าราชการรายหนึ่งในกระทรวงพาณิชย์ซื้อรถหรูคันหนึ่ง โดยจากการตรวจสอบพบข้อมูลเบื้องต้นว่า อาจเป็นเงินของอดีตรัฐมนตรีรายหนึ่งในกระทรวงพาณิชย์ที่ซื้อโดยใช้ข้าราชการคนดังกล่าวเป็น ‘นอมินี’ ล่าสุด คณะอนุกรรมการไต่สวนฯ สั่งให้ข้าราชการรายดังกล่าวยื่นบัญชีทรัพย์สินฯเพื่อตรวจสอบแล้ว นอกจากนี้ได้เข้าไปตรวจสอบการครอบครองที่ดินของอดีตรัฐมนตรีรายหนึ่งด้วยว่า ใช้เงินจากไหนในการซื้อ
อย่างไรก็ดีแหล่งข่าวจากสำนักงาน ป.ป.ช. ยอมรับว่า กรณีนี้การติดตามทรัพย์สินเป็นไปค่อนข้างลำบาก เชื่อได้ว่ามีการนำเงินไปฝากไว้ที่ต่างประเทศแล้ว การติดตามคืนมาค่อนข้างยาก ตรวจสอบได้เฉพาะทรัพย์สินในประเทศ ซึ่งยังไม่พบความผิดปกติแต่อย่างใด
(อ่านประกอบ : เชื่อเส้นทางเงินไหลไปนอก! ป.ป.ช.รับสอบลำบากปมทรัพย์สิน 5 รมต.พันจำนำข้าว)
สี่ อดีตนักการเมือง-ข้าราชการระดับสูงในกระทรวงพาณิชย์ถูกกล่าวหาร่ำรวยผิดปกติ
กรณีนี้สืบเนื่องจากที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดนายมนัส สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ นายอัครพงศ์ ช่วยเกลี้ยง หรือทีปวัชระ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเลขานุการกรม และผู้อำนวยการ สำนักบริหารการค้าข้าว หรือผู้อำนวยการกองบริหารค้าข้าว กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ นายทิฆัมพร นาทวรทัต เมื่อครั้งดำรงผู้อำนวยการ สำนักบริหารการค้าข้าว และรองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ และ พ.ต.นพ.วีระวุฒิ วัจนะพุกกะ อดีตเลขานุการ รมว.พาณิชย์ ในคดีระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) โดยมิชอบ (ปัจจุบันอยู่ระหว่างการไต่สวนในชั้นศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง) ต่อมาคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนฯบุคคลทั้ง 4 รายดังกล่าว กรณีร่ำรวยผิดปกติด้วย โดยเฉพาะนายมนัส มีข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ก.ล.ต.) ว่า อาจมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติอีกด้วย
(อ่านประกอบ : เปิดชื่อครบ! 9 นักการเมือง-บิ๊ก ขรก. พันคดีข้าวถูก ป.ป.ช.สอบทรัพย์สิน)
ห้า นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล นักการเมืองชื่อดัง อดีตรัฐมนตรีหลายสมัย
กรณีนี้นายสมศักดิ์ ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษายึดบ้าน มูลค่า 16 ล้านบาท ที่ จ.อ่างทอง กรณีร่ำรวยผิดปกติ ซึ่งสืบเนื่องจากกรณีนายสมศักดิ์ จงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินเป็นเท็จ ที่ศาลฎีกาฯพิพากษาจำคุก 6 เดือน แต่รอลงอาญา โดยเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อช่วงดำรงตำแหน่ง รมว.ศึกษาธิการ ปี 2542
อย่างไรก็ดีประเด็นสำคัญในเรื่องนี้ นายสมศักดิ์ อ้างต่อศาลว่า เงินดังกล่าวที่ใช้สร้างบ้าน เป็นเงินที่ได้จากการระดมทุนหาเสียงเมื่อปี 2538-2539 จาก ‘ผู้ใหญ่’ ภายในพรรค รวมมูลค่ากว่า 54 ล้านบาท โดยเก็บไว้ในตู้เซฟที่บ้าน และฝากไว้ที่บุคคลอื่น ก่อนที่จะเอาคืนเพื่อมาสร้างบ้านหลังดังกล่าว
แต่ศาลฎีกาฯ พิจารณาแล้วเห็นว่า พยานหลักฐานของนายสมศักดิ์ในส่วนนี้ไม่มีน้ำหนักพอรับฟังได้ ที่สำคัญการอ้างว่ามีเงินสดดังกล่าวเก็บไว้ในตู้เซฟที่บ้าน แต่กลับไม่แจ้งต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงถือว่าเข้าข่ายปกปิด ซ่อนเร้น ไม่สุจริต
ต่อมา สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินฯของนายสมศักดิ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รมว.เกษตรและสหกรณ์ เมื่อปี 2552 พบว่า ไม่เคยแจ้งว่าเก็บเงินสดไว้แต่อย่างใด อย่างไรก็ดีอาจเป็นไปได้ว่า นายสมศักดิ์ ใช้เงินสดดังกล่าวหมดไปก่อนหน้านี้นานแล้ว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นแหล่งข่าวจากสำนักงาน ป.ป.ช. ยืนยันว่า นายสมศักดิ์ ไม่เคยมีเงินสดดังกล่าวอยู่จริง ศาลฎีกาฯไม่เชื่อคำกล่าวอ้างของนายสมศักดิ์ จึงพิพากษาให้ยึดบ้านหลังดังกล่าว
ปัจจุบันเรื่องการเก็บเงินสดของนายสมศักดิ์ กลายเป็นปริศนาต่อไปว่ามีอยู่จริงหรือไม่ แต่ประเด็นคือ ถ้ามีนักการเมืองบางคนเก็บเงินสดดังกล่าวไว้จริง แล้วไม่เคยแจ้งต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. เลย ตรงนี้จะเข้าไปตรวจสอบอย่างไร ?
หก นายวรสิทธิ์ กัลป์ตินันท์ อดีต ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย
นายวรสิทธิ์ บุตรชายของนายเกรียง กัลป์ตินันท์ อดีต ส.ส.อุบลราชธานี เช่นกัน และเคยเป็นรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เคยยื่นบัญชีทรัพย์สินฯ ช่วงดำรงตำแหน่ง ส.ส. ระหว่างปี 2551-2556 ไม่เคยแจ้งเงินลงทุนแม้แต่รายการเดียว และมีรายได้เฉลี่ยประมาณ 1 ล้านบาทเศษ แต่ช่วงพ้นตำแหน่ง ส.ส. ครบ 1 ปี กลับแจ้งว่า มีหุ้นในบริษัท กัลป์ตินันท์ จำกัด มูลค่า 30 ล้านบาท โผล่มา
ทั้งนี้ นายวรสิทธิ์ เคยถือครองหุ้นเกี่ยวกับธุรกิจตระกูล ‘กัลป์ตินันท์’ อย่างน้อย 2 แห่ง ได้แก่ หจก.อุบลวรสิทธิ์ และบริษัท กัลป์ตินันท์ โดยในส่วนของ หจก.อุบลวรสิทธิ์ฯ ได้เข้าไปถือหุ้นตั้งแต่ก่อตั้ง ก่อนชื่อจะหายไปในช่วงปี 2546 ส่วนบริษัท กัลป์ตินันท์ฯ เข้าไปถือหุ้นตั้งแต่ยังเป็น ‘ด.ช.วรสิทธิ์’ เมื่อปี 2534 จำนวน 10 ล้านบาท ต่อมาเมื่อวันที่ 15 มี.ค. 2549 ถือหุ้น 5 ล้านบาท และชื่อได้หายไปในช่วงปี 2554 ก่อนที่ปัจจุบันได้กลับมาเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท กัลป์ตินันท์ฯ อีกครั้ง เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2557 จำนวน 3 หมื่นหุ้น (30 ล้านบาท)
นายวรวิทย์ สุขบุญ รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สั้น ๆ ถึงกรณีนี้ว่า กำลังอยู่ระหว่างตรวจสอบ และจะใช้ข้อมูลจากสำนักข่าวอิศราในการเข้าไปตรวจสอบกรณีนี้ โดยต้องดูรายละเอียดก่อนว่า การได้หุ้นมาดังกล่าวมีลักษณะได้มาด้วยความเสน่หา หรือว่าได้มาโดยการซื้อขาย
(อ่านประกอบ : ป.ป.ช.ลุยสอบ‘วรสิทธิ์’ปมหุ้น บ.รับเหมาฯ 30 ล.โผล่บัญชีทรัพย์สิน)
เจ็ด นายการุณ โหสกุล หรือ ‘เก่ง’ อดีต ส.ส.เขตดอนเมือง พรรคเพื่อไทย
ก่อนหน้านี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน ยกเหตุอันควรสงสัยว่านายการุณร่ำรวยผิดปกติ กรณีขายพระเครื่อง-นาฬิกา วงเงินกว่า 24 ล้านบาท ต่อมาสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบข้อมูลพบว่า นายการุณ ถือหุ้นบริษัท โปรเฟสชั่นแนล 2007 จำกัด โดยไม่เคยแจ้งข้อมูลต่อ ป.ป.ช. ด้วย ล่าสุดมีข้อมูลว่า คณะอนุกรรมการไต่สวนฯ ได้ไต่สวนเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน ปัจจุบันใกล้ได้ข้อสรุปแล้ว
แปด นายเกษม นิมลรัตน์ อดีต ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย และอดีตรองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เชียงใหม่
นายเกษม ถูกหลายฝ่ายกล่าวหาว่า เป็นคนสนิทของผู้มากบารมีในพรรคเพื่อไทยคนหนึ่ง เคยเป็นผู้เชี่ยวชาญประจำตัวของนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ (น้องสาวนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี) อดีต ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย และเคยเป็นผู้เชี่ยวชาญประจำตัว น.ส.ชินณิชา วงศ์สวัสดิ์ อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย บุตรสาวนางเยาวภาด้วย
อย่างไรก็ดีสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินฯ ตั้งแต่ช่วงปี 2555 พบข้อสังเกตอย่างน้อย 2 อย่างกรณี หนึ่ง กรณีนางดวงสุดา (ภรรยานายเกษม) บริจาคเงินให้พรรคเพื่อไทยเมื่อวันที่ 12 พ.ค. 2554 (ก่อนนายเกษมเป็น ส.ส.) 5 ล้านบาท ทั้งที่แจ้งในบัญชีทรัพย์สินว่ามีเงินในบัญชีเงินฝากเพียง 4 แสนบาท และมีรายได้ปีละประมาณ 6 แสนบาท และ สอง นางดวงสุดา (ภรรยานายเกษม) มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นกว่า 40 ล้านบาท ภายหลังสามีพ้นตำแหน่งเมื่อวันที่ 13 มี.ค. 2556
กระทั่งถูก คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดฐานจงใจปกปิดบัญชีทรัพย์สิน และแจ้งบัญชีทรัพย์สินอันเป็นเท็จ ช่วงพ้นจากตำแหน่ง และพ้นตำแหน่งครบ 1 ปี ส.ส. และรองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เชียงใหม่ รวมถึงร่ำรวยผิดปกติกว่า 186 ล้านบาท ซึ่งถูกตรวจสอบพบช่วงดำรงตำแหน่ง ส.ส. และที่ปรึกษานายก อบจ.เชียงใหม่
ล่าสุด อยู่ระหว่างการไต่สวนในชั้นศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
(อ่านประกอบ : ย้อนทรัพย์สิน'เกษม'คนสนิท‘เจ๊แดง’ ป.ป.ช.ฟันรวยผิดปกติ186 ล.-'อิศรา'คุ้ย 3 ปีก่อน)
เก้า อดีตข้าราชการระดับสูงกรมสรรพากร-ข้าราชการ ม.มหิดล ร่ำรวยผิดปกติ
กรณีสืบเนื่องจากที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดนายสาธิต รังคสิริ อดีตอธิบดีกรมสรรพากร นายสุวัฒน์ จารุมณีโรจน์ อดีตข้าราชการสรรพากร และนายศุภกิจ ริยะการ อดีตข้าราชการสรรพากร กรณีละเว้นการปฏิบัติหน้าที่พัวพันกับการทุจริตการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม 4.3 พันล้านบาท ต่อมาคณะกรรมการ ป.ป.ช. แต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนฯ บุคคลทั้ง 3 ราย กรณีร่ำรวยผิดปกติด้วย และมีมติชี้มูลความผิดไปหมดแล้วทั้ง 3 ราย
โดยนายสาธิต มีทรัพย์สินมากผิดปกติ หรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมากผิดปกติที่อยู่ในชื่อของนายสาธิต คู่สมรส บุตร บริษัท สิริกาญจนา จำกัด และบุคคลภายนอก รวมมูลค่า 714,938,144 ล้านบาท โดยมีรายการสั่งซื้อทองคำแท่งในชื่อของนายสาธิต รวมมูลค่า 607,239,100 บาท ส่วนนายศุภกิจ มีทรัพย์สินมากผิดปกติ หรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมากผิดปกติ ทั้งในชื่อของนายสิริพงศ์ อดีตคู่สมรส บุตร และบุคคลที่เกี่ยวข้อง รวมมูลค่า 31,754,337.38 บาท และนายสุวัฒน์ ถูกชี้มูลร่ำรวยผิดปกติ 597,728,229 บาท
(อ่านประกอบ : ป.ป.ช.ฟัน‘สาธิต’รวยผิดปกติ 700 ล.ส่ง อสส.ฟ้องศาลฯให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน, โชว์ทรัพย์สิน‘สาธิต’ป.ป.ช.ชงยึดคืนแผ่นดิน 714 ล.-ทองคำแท่ง 607 ล. หุ้น-เงินฝากลูกเมีย)
ล่าสุด คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิด นางทิพาพัชร์ เมฆะอำนวยชัย นักวิชาการเงินและบัญชี 6 สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล กรณีร่ำรวยผิดปกติ วงเงิน 29,582,615 บาท เนื่องจากไม่สามารถชี้แจงที่มาที่ไปของทรัพย์สินดังกล่าวได้ โดยนางทิพาพัชร์ เป็นภรรยาของนายสุรพล เมฆะอำนวยชัย ผู้สอบบัญชีบริษัทของเครือข่ายนายวีรยุทธ แซ่หลก กับพวก ผู้ต้องหาตามหมายจับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ซึ่งเป็นตัวละครสำคัญในการทุจริตคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม 4.3 พันล้านบาท โดยการตั้งบริษัทปลอมเกี่ยวกับการส่งออกเหล็กไปต่างประเทศ และมาขอคืนภาษี
(อ่านประกอบ : ป.ป.ช.ฟัน‘ซี 6’มหิดลรวยผิดปกติ 29 ล.-สามีแจง'อิศรา'ปัดทุจริต ไม่รู้จัก‘วีรยุทธ’)
สิบ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง นักการเมืองชื่อดัง อดีตรองนายกรัฐมนตรี (รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์)
ก่อนหน้านี้สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบข้อมูล กระทรวงแรงงานช่วงที่ ร.ต.อ.เฉลิม เป็นรัฐมนตรี มีการเบิกจ่ายงบประมาณลับเป็นจำนวนหลายสิบล้านบาท โดยเฉพาะในช่วงการชุมนุมของกลุ่ม กปปส. เมื่อปี 2557 มีการเบิกจ่ายงบประมาณลับประมาณ 10 ล้านบาท
ต่อมาช่วงต้นปี 2559 คณะกรรมการ ป.ป.ช. ยกเหตุอันควรสงสัยกล่าวหา ร.ต.อ.เฉลิม ร่ำรวยผิดปกติด้วย โดยไม่ระบุว่า เป็นทรัพย์สินส่วนใด ปัจจุบันอยู่ระหว่างการไต่สวนข้อเท็จจริง
(อ่านประกอบ : ‘เฉลิม’งานเข้า! ป.ป.ช.สงสัยบัญชีทรัพย์สินล่าสุด-ลุยสอบเชิงลึกแล้ว)
ทั้งหมดคือ 10 กรณีบัญชีทรัพย์สินฯแห่งปี 2559 ของสำนักข่าวอิศรา
ส่วนในปี 2560 จะมีใครถูกชี้มูลความผิดกรณีจงใจปกปิดบัญชีทรัพย์สินฯ หรือร่ำรวยผิดปกติอีกหรือไม่ ต้องติดตามกันต่อไป !