วช. ลุยวิจัย 32 พืช 23 เทคโนโลยี “สร้างรายได้-เพิ่มมูลค่าผลผลิต”
สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ แถลงข่าวเปิดตัว “โครงการสร้างรายได้และมูลค่าเพิ่มผลผลิตเกษตรไทย” บูรณาการ 32 กลุ่มพืช 23 เทคโนโลยี แก้ปัญหางานวิจัยขึ้นหิ้ง สร้างดอกผลให้เกษตรกร
โดย ศ.นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ เลขาธิการ วช. เปิดเผยว่าโครงการดังกล่าวว่าเป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรรมการวิจัยแห่งชาติ(วช.) หน่วยงานด้านการจัดการวิจัย หน่วยงานด้านการเกษตรและสถาบันการศึกษา โดยการสนับสนุนจากคณะอนุกรรมาธิการศึกษาการจัดหารายได้เข้าประเทศ ในคณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร โดยมีเป้าหมายร่วมเพื่อบูรณาการงานวิจัยที่มีจำนวนมากแต่ต่างคนต่างทำมาถ่ายทอดให้เกษตรกรนำไปใช้ประโยชน์จริง พร้อมกระตุ้นฝ่ายการเมืองให้สนใจงานวิจัย
นายวรวัจน์ เอื้ออภิญกุล ประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษาการจัดหารายได้เข้าประเทศ กล่าวว่าการของบวิจัยที่ผ่านมา มักขอจากนักวิจัยที่กระจัดกระจายและผลงานที่ได้ก็แทบไม่ได้นำไปใช้ประโยชน์ งบที่ใส่ลงไปก็หาย แต่โครงการความร่วมมือครั้งนี้ป็นการทำแบบบูรณาการ มี 32 กลุ่มพืช 23 กลุ่มเทคโนโลยี ศึกษาและนำมาเชื่อมร้อยเพื่อจัดทำเป็นแผนปฏิบัติการ ทำให้เห็นภาพการผลิต แปรรูป ส่งออกที่ชัดเจน หน่วยงานปฏิบัติและเกษตรกรสามารถหยิบมาใช้เพื่อสร้างรายได้ เพิ่มมูลค่าผลผลิต เกิดเป็นดอกผลมีตัวเงินย้อนกลับมาชัดเจน ไม่ใช่การวิจัยที่สูญเปล่า และจะเป็นตัวแปรให้ฝ่ายการเมืองหันมาสนับสนุนงบประมาณเพิ่มขึ้น
“ต่อไปจะมีศูนย์กลางบูรณาการเกษตรที่รวบรวมงานวิจัยถ่ายทอดให้เกษตรกรอย่างเป็นระบบ เป็นองค์ความรู้ทางวิชาการที่เกิดจากศักยภาพของแผ่นดิน เพื่อทะยานสู่การเป็นผู้ป้อนอาหารโลก” นายวรวัจน์ กล่าว
ศ.ดร.ธีระ สูตะบุตร ประธานกรรมการบริหารสภาวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่าหากมีงบประมาณสนับสนุนก็จะสร้างแรงจูงใจให้นักวิจัยตื่นตัวมากขึ้น แก้ปัญหาการขาดแคลนนักวิจัย และผลที่ตามมาคือผลงานคุณภาพที่สุดท้ายเป็นประโยชน์กับเกษตรกร
“จริงๆไม่เพียงแต่งานวิจัยภาคเกษตรกรรมที่ขาดแคลน แต่มิติอื่นๆด้วย เพียงแต่ที่เลือกพัฒนาภาคเกษตรก่อน เพราะเป็นอาชีพหลักและประสบกับความผันผวนของธรรมชาติมากที่สุด นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่อาศัยการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและการตลาดร่วมด้วย” ศ.ดร.ธีระ กล่าว
นายจิรากร โกศัยเสวี อธิบดีกรมการข้าว กล่าวว่า การทำงานวิจัยของทุกหน่วยงานแยกส่วนมาโดยตลอด การทำให้เกิดการร้อยเรียงโดยมีเป้าหมายร่วมเช่นนี้ ผลประโยชน์สุดท้ายจะตกอยู่ที่เกษตรกร ขณะที่ผลทางอ้อมอยู่ที่หน่วยงานผู้ปฏิบัติ เพราะทำให้ทราบปัญหาและทำงานได้ตรงเป้าประสงค์มากขึ้น
ทั้งนี้โครงการสร้างรายได้และมูลค่าเพิ่มผลผลิตเกษตรไทย 32 กลุ่มพืช 23 กลุ่มเทคโนโลยี ประกอบไปด้วย 32 กลุ่มพืช คือ ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง อ้อย ข้าวโพด ลำไย ลิ้นจี่ หน่อไม้ฝรั่ง ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วลิสง ผักต่างๆ พริก กระเจี๊ยบ กล้วย มะละกอ มังคุด ทุเรียน มะพร้าว มะม่วง ลองกอง ลางสาด พุทรา มะยงชิด ฝรั่ง ส้ม ส้มโอ มันฝรั่ง ปาล์มน้ำมัน ไม้ดอกไม้ประดับ เห็ด เงาะ สัปปะรด พืชตัดแต่งพันธุกรรม (จีเอ็มโอ)
และ 23 เทคโนโลยี ได้แก่ พันธุ์พืช/การผลิตพันธุ์พืช, ความเหมาะสมของดินในแต่ละพื้นที่และในแต่ละพืช, การปรับปรุงคุณภาพของดินปลูกพืช, การใช้ปุ๋ยเคมีในพืช, เทคโนโลยีการให้น้ำ, ขั้นตอนการเพาะปลูกที่เหมาะสมกับศักยภาพของพื้นที่, การจัดการแมลงศัตรูพืช, การจัดการการปลูก, เทคโนโลยีการเก็บเกี่ยว, การแปรรูปผลผลิตเกษตร, การควบคุมคุณภาพผลผลิต, พืชอินทรีย์, พืชนอกฤดู, การขนส่ง, บรรจุภัณฑ์, การตลาด, ระบบบัญชี, พัฒนาสื่อ, การศึกษาและพัฒนาระบบการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่กระบวนการผลิต, ภูมิสารสนเทศ และผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ.