"Post – Truth/Surreal/Xenophobia" 3 คำแห่งปีสะท้อนโลก
นักวิชาการทีดีอาร์ไอ กระเทาะความหมาย 3 คำแห่งปี โยงกรณีBrexit UK – ทรัมป์ชนะเลือกตั้ง หวั่นแนวคิดกระจายหลายประเทศ เสี่ยงกระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ - กีดกันทางค้า
เป็นประจำทุกปีที่พจนานุกรม และเว็บไซต์ออนไลน์ชื่อดัง จะคัดเลือก “คำแห่งปี” (Word of the Year) เพื่อสะท้อนปรากฏการณ์สังคมในปีนั้นๆ เช่นเดียวกันกับในปีนี้ ที่เว็บไซต์ออนไลน์ 3 ค่ายดังอย่าง
Dictionary.com ได้คัดเลือกคำว่า Xenophobia
ขณะที่ Oxforddictionaries.com ได้คัดเลือกคำว่า Post – Truth
และ Merriam-webster.com ได้คัดเลือกคำว่า Surreal
นับว่าเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ ที่ทั้ง 3 เว็บไซต์ดังได้คัดเลือก 3 คำ ที่มีความหมายเชื่อมโยงและสะท้อนความเป็นไปของสังคมได้หลายประการ
ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) วิเคราะห์เบื้องหลังของคำเหล่านั้น โดยได้ให้นิยามของทั้ง 3 คำแห่งปีไว้ว่า
- Xenophobia หมายถึง การเกลียดชาวต่างชาติอย่างไร้เหตุผล
- Surreal หมายถึง การยึดเอาความหวังมากกว่าสิ่งที่เป็นไปได้จริง
- Post – Truth หมายถึง การติดสินใจโดยยึดเอาอารมณ์มากกว่าเหตุผลและหลักฐาน ข้อเท็จจริง
ดร.นณริฏ กล่าวว่า Word of the year เป็นสิ่งที่กล่าวถึงสถานการณ์ที่มีคนพูดถึงอย่างมาก แต่ละสำนักจะเลือกดูว่า คำไหนจะสะท้อนภาพสังคม ประเด็นที่น่าสนใจ คือ โดยปกติ 3 องค์กรก็มักจะเลือกคำที่สื่อแตกต่างกันไปแต่ละมิติ บางปีเลือกคำที่สะท้อนถึงความผันผวนทางเศรษฐกิจ บางปีสะท้อนนโยบายยุโรป เยอรมัน
“คำแห่งปีของปีนี้ที่น่าสนใจ เพราะทั้ง 3 คำ ของ 3 เว็บไซต์ เป็นการเลือกคำที่สะท้อนภาพเดียวกันออกมา อย่าง Xenophobia หมายถึง ความกลัวในต่างชาติอย่างไรเหตุผล ซึ่งตรงกับทั้งกรณีBrexit ของอังกฤษ ที่มองว่า การที่มีคนต่างชาติย้ายเข้ามาในประเทศ ไปก่อให้เกิดการแย่งงานคนดั้งเดิม ทำให้คนอังกฤษกลัวการมาอยู่ของคนต่างชาติ เช่นเดียวกันกับที่คนสหรัฐฯ มองว่าคนพื้นถิ่นเดิมหรือคนผิวขาวถูกคนผิวขาว เช่น เม็กซิโก เข้ามาแย่งงาน และตรงกับกรณีที่ทรัมป์ถูกเลือกเข้ามาด้วย”
ดร.นณริฏ กล่าวถึงคำว่า Surreal เป็นเรื่องความเชื่อที่ไม่จริง เช่นเดียวกับ Post – Truth ที่เป็นเรื่องความเชื่อโดยอารมณ์ ไร้เหตุผล จะเห็นว่า ทั้ง 3 คำ จะสอดคล้องกันถึงภาพคนกลุ่มใหญ่ของประเทศสหรัฐฯ และอังกฤษ และอาจกระจายไปยังประเทศอื่นๆ ในยุโรป ที่เริ่มมีทัศนคติเปลี่ยนไปสู่ความเชื่อในสิ่งที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงมากขึ้น อย่างกรณีที่ทรัมป์พยายามจะบอกว่า ต้องมีการกีดกันทางค้า ทางแรงงาน จะทำให้ประเทศดีขึ้น และการที่อังกฤษกีดกันคนต่างชาติ ถามว่าทำไม Surreal เพราะไม่คำนึงถึง 2 ประการ ได้แก่
1. ไม่ได้คำนึงว่า หากทุกประเทศส่งออกมากขึ้น เปิดการเคลื่อนย้ายแรงงานมากขึ้นจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมของโลก
2. มิติของการตอบโต้ การที่ทรัมป์ออกมาพูด หรือการBrexitของอังกฤษ ไม่ได้คำนึงผลกระทบว่า หากสหรัฐฯ พยายามจะกีดกันคนเม็กซิโก หรือกีดกันสินค้าของจีนแล้วเจอกับสงครามการกีดกันจริงแล้ว ท้ายที่สุดทั้งสองประเทศจะแย่ลงทั้งคู่
“ผมว่าทั้ง Surreal และ Post – Truth สะท้อนภาพที่ไม่พยายามซึมซับเอาข้อเท็จจริงในลักษณะนี้เข้าไปในการวิเคราะห์ แต่ไปรับเอาความรู้สึก ความเชื่อว่าทรัมป์ จะสามารถ Make America Great Again ได้ ซึ่ง 2 คำนี้แม้จะสะท้อนสถานการณ์ อังกฤษ และสหรัฐฯ จริง แต่มีความเป็นไปได้ว่า ความรู้สึกนี้จะกระจายไปยังการเลือกตั้งอื่นๆ ด้วย ใน 2 – 3 ปีข้างหน้า จะเริ่มมีการเลือกตั้งในประเทศต่างๆ มากขึ้น เช่น ฝรั่งเศส และไทยเองก็ตาม คำถามคือ ท้ายที่สุดความเชื่อแบบนี้จะกระจายไปยังประเทศอื่นๆ หรือไม่ เพราะถ้าใช่ จะเกิดผลกระทบอย่างมากทั้งในด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและนโยบายกีดกันทางค้า”
เมื่อถามว่ามีความเชื่อมโยง หรือสะท้อนภาพถึงไทยอย่างไรบ้าง ดร.นณริฏ มองว่า จะ Surreal หรือไม่ คงสุ่มเสี่ยงที่จะพูด เพราะเราก็มี Make Thailand Great Again by Military เช่น ทำให้นักการเมืองปลอดคอรัปชั่น ซึ่งจะประยุกต์ใช้กับไทยได้แค่ไหนต้องขึ้นอยู่กับว่าผลการดำเนินงานของรัฐบาลจะตอบโจทย์ได้มากน้อยแค่ไหนในการทำให้การเลือกตั้งโปร่งใส และขจัดปัญหาคอร์รัปชั่นไปในด้านที่ดีขึ้นหรือไม่
“สำหรับบ้านเราผมว่าคำตอบคงไม่ใช่แก้ได้ทั้งหมด หรือไม่ได้แก้เลย แต่ต้องดูว่าดีพอหรือไม่ ที่จะไม่ถูกเรียกว่า Surreal”
|
|
|