สปสช.หนุน ร่าง พ.ร.บ.คุมตลาดนมผง ทารกได้รับนมแม่เต็มที่ ลดป่วย ลดค่ารักษา
นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา รักษาการเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า สปสช.สนับสนุน ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ. ... ซึ่งเป็นความสำเร็จจากการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 3 พ.ศ.2553 เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคีเครือข่ายสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สามารถเกิดขึ้นได้ในประเทศไทยอย่างแท้จริง แม้ว่าประเทศไทยจะได้รับการยอมรับและยกย่องให้เป็นต้นแบบของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่ในส่วนการควบคุมการทำตลาดนมผงกลับยังไม่คืบหน้ามากนัก ส่งผลให้อัตราการได้รับนมแม่ของทารกใน 6 เดือนแรกนั้นต่ำมาก ข้อมูลจากกรมอนามัยระบุว่า มีทารกเพียงร้อยละ 46 ที่ได้รับนมแม่ตั้งแต่ชั่วโมงแรกของชีวิต ทารกเพียงร้อยละ 12 ได้รับนมแม่อย่างเดียว 6 เดือน และเด็กเพียงร้อยละ 18 ได้รับนมแม่จนอายุ 2 ปี
รักษาการเลขาธิการ สปสช. กล่าวต่อว่า ขณะที่ข้อมูลจาก The Lancet Breastfeeding Series 2016 เรื่อง “ผลของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ต่อสุขภาพ พัฒนาการเด็กและการพัฒนาประเทศ” พบว่า สำหรับในประเทศไทย มีการวิเคราะห์ว่าหากเด็กทุกคนได้รับนมแม่อย่างเต็มที่ ประเทศไทยจะสามารถป้องกันการสูญเสียรายได้ถึง 192.6 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี จากความสามารถของสมองที่เพิ่มขึ้น และยังประหยัดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลเด็กที่ป่วยด้วยโรคอุจจาระร่วงและปอดบวมถึง 7.6 ล้านเหรียญสหรัฐด้วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นหลักการสำคัญของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคเพื่อลดการเจ็บป่วยของประชาชน
นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า ในส่วนของบริการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติสำหรับประชาชนทุกคนในทุกสิทธิสุขภาพนั้น คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้กำหนดให้มีบริการส่งเสริมการให้นมแม่ในสถานที่ทำงานด้วย เพื่อส่งเสริมการให้นมแม่ โดยเป็นบริการส่งเสริมการให้นมแม่ของหญิงหลังคลอดบุตรเมื่อต้องกลับไปทำงานเป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือน ประสานกับเจ้าของสถานประกอบการหรือสถานที่ทำงานจัดให้มีช่วงเวลาพักระหว่างงานสำหรับการให้นมหรือปั๊มเก็บน้ำนม รวมถึงการอำนวยความสะดวกสถานที่และอุปกรณ์