นักวิจัยโชว์รูปธรรมผลิตพืชนอกฤดูด้วยเทคโนโลยี
สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ จัดอภิปราย “การผลิตพืชนอกฤดูกาลและเพิ่มคุณภาพผลผลิตด้วยเทคโนโลยีจากงานวิจัย” โชว์ผลงานพริก กล้วยไม้ ลำไย มะม่วง ถั่วลิสง พัฒนาคุณภาพทั้งตลาดภายในและส่งออก
โดย รศ.ดร.สุชีลา เตชะวงศ์เสถียร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่าพริกเป็นสินค้าส่งออกติดอันดับ 1 ใน 10 โดยจากการศึกษาพบว่าบริษัทต่างประเทศมีความต้องการเพื่อแปรรูปสูงมาก แต่ปัญหาคือพริกสวนและพริกไร่มีช่วงเวลาเก็บเกี่ยวต่างกัน ประกอบกับปัจจุบันพริกเป็นสินค้าประเภทอ่อนไหวที่จะนำเข้าหรือส่งออกต้องผ่านการวิเคราะห์ความเสี่ยง
ทั้งนี้สาเหตุหลักที่ผู้นำเข้าไม่ซื้อพริกจากประเทศไทย เพราะผลผลิตไม่ได้มาตรฐาน GAP และ GMP บ้างก็มีศัตรูพืชที่ประเทศผู้นำเข้าไม่มี หลายประเทศถึงขั้นทำลายสินค้าเพราะพบสิ่งเจือปน เช่น สีย้อม หรือมีสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐาน หรือมีจุลินทรีย์ที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคปนเปื้อน จึงจำเป็นต้องมีเทคโนโลยีจากงานวิจัยรองรับอย่างเหมาะสม
ด้าน รศ.ดร.ครรชิต ธรรมศิริ จากมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า สำหรับกล้วยไม้มีความจำเป็นที่ต้องพัฒนาเทคโนโลยีให้สามารถผลิตได้ในทุกฤดูกาล เนื่องจากเป็นไม้ดอกไม้ประดับที่ทำรายได้สูงสุดให้ประเทศ แม้จะมีคุณสมบัติไม่ต้องอาศัยน้ำมากและผสมข้ามสายพันธุ์ได้ง่าย แต่สภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนก็มีผลทำให้ผลผลิตลดลงเป็นปัญหากับเกษตรกรอย่างมากในปัจจุบัน
การผลิตกล้วยไม้นอกฤดูกาล นอกจากเกษตรกรต้องเข้าใจธรรมชาติและปรับวิธีเพราะเลี้ยงให้สอดคล้องกับปัจจัยปกติ ได้แก่ แสงแดด ความชื้น อุณหภูมิ ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่ควบคุมลำบากแต่ทำได้โดยการจัดโรงเรือนและให้ปุ๋ยอย่างเหมาะสม เช่น เพิ่มความเข้มข้นของปุ๋ยในช่วงฝนตกเพราะดินเจือจางเร็ว และลดปุ๋ยในฤดูหนาว แต่เพิ่มไนโตรเจนให้กล้วยไม้ได้พัก แต่ส่วนสำคัญที่ต้องเน้นเพิ่มเติมคือการปรับปรุงพันธุ์ให้ทนต่อสภาพอากาศและเหมาะสมกับแต่ละพื้นที่
ดร.นิพนธ์ สุขวิบูลย์ จากกรมวิชาการเกษตร กล่าวถึงการผลิตลำไยโดยสารโซเดียมคลอเรตและโพแทสเซียมคลอเรต ขณะนี้มีเกษตรกรนำมาปรับใช้มากถึงร้อยละ 70 (พันธุ์ดอก) จนเกิดปัญหาผลผลิตล้นตลาด ทำให้ต้องหาทางแก้ไขโดยปรับปรุงสารดังกล่าวนำไปใช้ผลิตลำไยนอกฤดูกาล เพื่อกระจายผลผลิต
“ทางภาคเหนือกำลังได้ผลดี และได้ขยายไปที่จันทบุรีและสระแก้วแล้ว แต่ก็ยังถือว่าเป็นการแก้ปัญหาระยะสั้นอยู่ ที่กำลังเร่งวิจัยพัฒนาคือการปรับปรุงพันธุ์จากฐานพันธุ์เดิมที่มี เช่น ลำไยเวียดนามหรือศรีสาคร เบื้องต้นก้าวหน้าไประยะหนึ่งต้องยอมรับว่าต้องใช้เวลาอีกพอสมควร” ดร.นิพนธ์ กล่าว
ดร.นิพนธ์ กล่าวด้วยว่าแม้คลอเรตจะผลดี แต่เกษตรกรยังใช้ผิดวิธีอยู่มาก บางคนใช้เกินมาตรฐาน บ้างเติมสารกำมะถันผงเพิ่มเพื่อให้สีผิวดี ซึ่งต้องระวังเพราะถึงอย่างไรคลอเรตก็คือสารเคมีประเภทหนึ่ง อย่างไรก็ตามวันนี้แม้การผลิตลำไยนอกฤดูกาลจะทำได้มาก แต่กลับไม่กว้างขวางทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพ่อค้าไม่ค่อยรับซื้อเพราะขาดความมั่นใจ จึงเห็นว่าการทำคอนแทคฟาร์มมิ่ง(เกษตรพันธะสัญญา)มีความสำคัญ
ผศ.ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท จากภาควิชาวิทยาศาสตร์การเกษตร มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวถึงงานวิจัยเพื่อผลิตมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองนวลนอกฤดูกาลว่า ในอดีตเป็นพันธุ์ที่ไม่ได้รับความนิยม เนื่องจากหากเก็บผลก่อนถึงเวลาจะมีรสชาติเปรี้ยว แต่เมื่อญี่ปุ่นสั่งนำเข้า ทำให้เกิดความสนใจในประเทศด้วย ปัจจุบันมีราคาหน้าสวนสูงถึงกิโลกรัมละ 50-60 บาท ดังนั้นชาวสวนจึงต้องการผลิตให้ได้ตลอดทั้งปี
“เริ่มจากพ่นไทโอยูเรีย หรือโปตัสเซียมไนเตรท ภายหลังตัดแต่งกิ่งเพื่อดึงใบอ่อนหลังจากนั้น 7 วัน ให้อาหารเสริมทางใบ เช่น สาหร่ายสกัด นอกเหนือจากการให้ปุ๋ยทางดินตามปกติ ฉีดพ่นสารป้องกันกำจัดแมลงและโรคพืชชนิดดูดซึมร่วมกับการฉีดพ่นปุ๋ยทางใบสูตร 30–20-10 เพื่อขยายใบ ต่อมาอีก 14 วัน เมื่อมะม่วงมีใบอยู่ในระยะเพสลาด ให้ราดสารพาโคลบิวทราโซลลงดิน จากนั้น 2 เดือนจะเห็นมะม่วงเริ่มมีตาดอกให้พ่นไทโอยูเรียหรือโปตัสเซียมไนเตรท ร่วมกับสาหร่ายสกัดเพื่อบังคับให้ช่อดอกแทงออกมาภายใน 1 เดือนดอกจะบาน และสามารถเก็บเกี่ยวได้ภายใน 4 เดือน”
ผศ.ดร.พีระศักดิ์ ยังกล่าวว่าการเก็บเกี่ยวมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองเพื่อการส่งออกมีข้อควรระวังต่างจากการขายในประเทศเนื่องจากต้องเก็บหลังดอกบาน 110-115 วันเพื่อรสชาติที่ดีที่สุด ซึ่งควรจุ่มในน้ำเปล่าหรือน้ำผสมเกลือ 2% หากมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองจมน้ำแสดงว่ามีความแก่หรือบริบูรณ์ประมาณ 80% และต้องไม่พบสะดือบริเวณผล แต่ต้องมีไคลหรือไขนวลบริเวณเปลือกของผลเพื่อแสดงให้เห็นว่ามะม่วงแก่จัด
นางทักษิณา ศันสยะวิชัย นักวิชาการเกษตร ศูนย์วิจัยพืชไร่ขอนแก่น กรมวิชาการเกษตร กล่าวถึงสถานการณ์ถั่วลิสงปัจจุบันว่าเริ่มขาดตลาด ที่ใช้ในอุตสาหกรรมส่วนใหญ่เป็นการสั่งนำเข้าแล้ว เพราะเกษตรกรที่ปลูกนิยมนำไปแปรรูปจำหน่ายเอง เพราะปลูกเพียง 90-120 วัน ก็สามารถนำไปจำหน่ายได้
“ถั่วลิสงอยู่ในกลุ่มพืชปลูกง่าย ได้ทุกภูมิภาค แม้จะเป็นเกษตรกรรายย่อยก็สามารถทำได้ เพียงแต่ต้องแปรรูปให้พร้อมรับประทานโดยการนำไปคั่วหรือต้มขายในชุมชนบ้าง ที่สำคัญเมื่อต้มแล้วขายได้ราคามาก ราคาขายหน้าไร่กระป๋องละ 10 บาท เป็นถุง ถุงละ 20 บาท ชาวบ้าน-นักท่องเที่ยวจอดรถซื้อกันถึงที่”
นางทักษิณา กล่าวต่อว่า ถั่วลิสงที่มีการคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ที่แข็งแรง จะสามารถเก็บเกี่ยวได้ถึง 20,000 ต้น/ไร่ ขึ้นไป แต่ข้อควรระวังคือเป็นพืชที่ไม่ชอบน้ำขัง ดังนั้นดินควรระบายน้ำดี และต้องไม่มีวัชพืชรบกวน โดยเฉพาะในช่วง 40 วันแรก ถัวลิสงยังไม่ต้องการปุ๋ยมากนัก แต่ถ้าขาดน้ำในช่วงพัฒนาฝักจะมีปัญหาฝักไม่โต ซึ่งส่งผลต่อการจำหน่าย.