ความรุนแรงในครอบครัว อาการป่วยทางจิต กดดันจนต้องฆ่า เปิดกฎหมายไทยไปถึงไหน
หลายกรณีผมว่าเป็นแนวทางที่ถูกต้อง หากครอบครัวนั้นมีลูกเล็กๆ ที่บริสุทธิ์ พ่อเสียชีวิต ส่วนแม่ไม่ถึงกับต้องประหารแค่ติดคุก ใครจะรับผิดชอบชีวิตลูก มันเป็นเหตุการณ์ที่น่าสมเพชมาก และไม่ควรจะใช้กฎหมายไปซ้ำเติมครอบครัวนั้นอีก
หมายเหตุ : นายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวในงานเสวนาเรื่อง ‘การรักษาสถาบันครอบครัวกับสิทธิมนุษยชนของผู้หญิงที่ถูกกระทำความรุนแรง’ ณ ห้อง สค.208 คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 26 ธันวาคมที่ผ่านมา
นายจรัญ เริ่มต้นการเสวนาโดยย้อนกลับไปในช่วงที่มีส่วนช่วยทำพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 ซึ่งคิดไม่ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันคือ ปัญหาที่ผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงต้องตกอยู่ในสภาพคล้ายหรือเสมือนผู้ป่วยทางจิต และมีปฏิกิริยาตอบโต้กลับต่อคนที่กดขี่ข่มเหงตัวเองมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง โดยประเด็นดังกล่าวไม่ได้ถูกหยิบขึ้นมาเป็นตัวตั้งในตอนจัดทำร่างพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว ฉะนั้นเมื่อมาเกิดปัญหาเช่นในปัจจุบัน กฎหมายฉบับนี้จึงไม่สามารถช่วยคนที่อยู่ในสภาพดังกล่าวได้
"คนกลุ่มนี้ เป็นคนที่อยู่ในกลุ่มเฉพาะกลุ่มหนึ่งของผู้ที่มีอาการทางจิต หลังจากที่ถูกกระทำด้วยความรุนแรงมาระยะหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็น post traumatic syndrome disorder และก็ลงมาที่ Battered Wife Syndrome หรือ Battered Woman Syndrome หรือ Battered Person Syndrome (ภาวะกดดันจนต้องฆ่า) เพราะฉะนั้นเราจึงมองว่า คนในครอบครัวที่ตกอยู่ในสภาพนี้และใช้ความรุนแรงตอบกลับ ก็คือผู้ที่กระทำด้วยความรุนแรงและเป็นตัวปัญหาของกฎหมายนี้ ซึ่งนอกจากไม่ได้ช่วยแล้ว ยังถือว่าผิดต่อกฎหมายฉบับนี้ไปด้วย และเมื่อเป็นการกระทำที่ไปเข้าลักษณะความผิดทางอาญา ไม่ว่าจะทำร้ายร่างกาย หรือฆ่า กฎหมายฉบับนี้ก็ช่วยอะไรไม่ได้เลย"
นายจรัญ กล่าวอีกว่า เมื่อกลับไปดูกฎหมายอาญาของบ้านเรา จะพบว่า เป็นกฎหมายอาญาโบราณที่ออกแบบไว้ สำหรับป้องกันปราบปรามปัญหาอาชญากรปกติ ฉะนั้นพฤติกรรมที่เป็นอาชญากรรมรูปแบบใหม่ๆ จึงไม่สามารถใช้กฎหมายอาญารูปแบบดั้งเดิมเข้าไปแก้ปัญหาได้ ที่ผ่านมาจึงจำเป็นต้องค่อยๆ เติมกฎหมายอาญา เพื่อให้รองรับ ตอบสนอง แก้ปัญหาพฤติกรรมที่เป็นอันตรายต่อสังคมรูปแบบใหม่ๆ ขึ้นทีละเรื่องทีละเรื่อง เช่นเรื่องการฟอกเงิน การฮั้วประมูลงานจากรัฐบาล เรื่องคอมพิวเตอร์ หรือแม้กระทั่งเรื่องบัตรอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
กฎหมายอาญาดั้งเดิม แก้ปัญหาไม่ได้
นายจรัญ กล่าวถึงกรณีของผู้ที่ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวและมีอาการผิดปกติทางจิต จนกระทั่งฟางเส้นสุดท้าย ทำให้ต้องปฏิบัติการรุนแรงตอบกลับไปก็เช่นกัน ไม่มีทางได้รับการเหลียวแลจากกฎหมายอาญาดั้งเดิมของไทย ถึงวันนี้ก็ยังไม่มีการปรับปรุงแก้ไข
"เราจึงพบกับครอบครัวที่น่าสงสาร ตกเป็นเหยื่อของพฤติกรรมเช่นนี้"
พร้อมกันนี้เขาได้ยกตัวอย่าง ทนายความของจำเลยคดีหนึ่งที่ได้รับความเข้าใจจากศาลสูงสุดของสหรัฐอเมริกา ที่เข้าใจถึงปัญหาในเรื่องนี้ เป็นเหตุให้จำเลยพ้นภัย พ้นมลทินจากโทษทัณฑ์ของกฎหมายอาญาแบบดั้งเดิม ซึ่งทุกคนก็ยินดี ดีใจ ยกย่องคำพิพากษาของศาลสูงสุดในคดีนั้น เมื่อปี 1998
ทนายความของจำเลยบอกว่า ถึงแม้จะดีใจและโล่งอกที่ศาลสูงสุดสามารถให้ความเป็นธรรมในเรื่องนี้ได้จริง แต่นั่นไม่ใช่เป็นสิ่งที่น่ายินดีอะไรเลย เพราะไม่สามารถช่วยให้ครอบครัวที่โชคร้ายครอบครัวนี้กลับคืนมาได้ สิ่งที่เดียวที่จะทำให้ยินดีคือ ต้องย้อนกลับไปก่อนวันที่จะใช้ความรุนแรงเป็นครั้งแรกคือเมื่อ 10 กว่าปีก่อน ซึ่งก็เป็นไปไม่ได้แล้ว เพราะหากไม่มีครั้งแรกสัมพันธภาพของคนในครอบครัวนี้ก็จะเป็นไปตามปกติเหมือนครอบครัวทั่วๆไป แต่ทันทีที่มีพฤติกรรมรุนแรงครั้งแรก ก็เป็นการเริ่มต้นกระบวนการของวงจรอุบาทว์ คือเริ่มจากมีการไกล่เกลี่ยประนีประนอม ขอโทษ ให้อภัย แต่ไม่มีการสำนึก ซึ่งหลังจากขอโทษ ให้อภัยจะเกิดช่วงเวลาที่เรียกว่า "ฮันนีมูนพีเรียด หรือฮันนีมูนโมเมนต์" คนที่ผ่านประสบการณ์จะเข้าใจและทันทีที่ผ่านช่วงฮันนีมูนโมเมนต์ไป ผู้ที่ถูกกระทำด้วยความรุนแรงก็จะลืม ขณะที่ความรุนแรงจะเกิดขึ้นอีก บ่อยขึ้นและรุนแรงขึ้น จนกระทั่งคนที่ถูกกระทำเชื่อว่า ตัวเองต้องยอมรับและมีหน้าที่ต้องป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรงขึ้น สุดท้ายถูกเชื่อมโยงกับความกลัว
แม้ในทางจิตเวชจะบอกว่าไม่มีอะไรน่ากลัว แต่เขากลับรู้สึกกลัวว่าจะสูญเสียครอบครัวที่ทะนุถนอมมากว่า 10-20 ปี ไหนจะลูกและการเริ่มต้นชีวิตใหม่ ซึ่งดูเหมือนจะมืดบอด และสภาวะเช่นนี้เรียกว่า Learned Helplessness หมดหนทาง โดยการที่ถูกระบบถูกกระบวนการทำให้เกิดสภาวะจิตเช่นนี้ หรือจะเรียกอีกคำหนึ่งว่า Psychological Paralysis เป็นอัมพาตทางจิต และนั่นคืออาการทางจิตของ Battered Wife Syndrome หรือ Battered Woman Syndrome
นายจรัญ กล่าวอีกว่า ก่อนหน้าปี 1994 ในวงการกฎหมาย ในวงการการแพทย์ทั่วโลกไม่มีการยอมรับว่านี่คือ อาการป่วยทางจิตชนิดหนึ่ง กระทั่งในปี 1994 สาขาแพทย์ทางด้านจิตเวชจึงมีมติยืนยันว่า Battered Wife Syndrome เป็นอาการเฉพาะชนิดหนึ่งของ post traumatic syndrome disorder คืออาการป่วยทางจิตที่ถูกกระทำมาระยะหนึ่ง พอวงการแพทย์มีมติเช่นนั้น ศาลสูงสุดของสหรัฐอเมริกาก็รับไปปรับใช้
ทั้งนี้ ได้ยกอีกตัวอย่างหนึ่ง กรณีภรรยาใช้อาวุธปืนยิงศีรษะสามีทางด้านหลังถึง 11 นัด หลังจากที่เกิดเหตุการณ์รุนแรงต่อจำเลยผ่านไปแล้ว 60 นาที โดยคำตัดสินของศาลในชั้นต้น ชั้นอุทธรณ์เห็นว่า ไม่ใช่บันดาลโทสะ เพราะกฎหมายอาญาดั้งเดิม (ซึ่งของต่างประเทศเหมือนกับบ้านเรา เพราะลอกกันมา) จะเป็นเหตุลดหย่อนโทษ อ้างบันดาลโทสะได้นั้น ต้องกระทำตอบกลับในขณะที่กำลังโมโหเดือด แต่หากภาวะของการขาดสติเพราะโกรธอย่างรุนแรงผ่านไปแล้ว ก็ไม่ใช่บันดาลโทสะ ฉะนั้นจึงไม่เข้าเหตุยกเว้นหรือลดหน่อยโทษ
แต่เนื่องจากศาลสูงสุดของสหรัฐในคดีนั้นเข้าใจว่า เป็นอาการป่วยทางจิตชนิดหนึ่ง ถึงแม้ไม่เข้าวิกลจริตที่ได้รับยกเว้นโทษ แต่เข้าลักษณะมีอาการทางจิตบางส่วนก็ลดหย่อนโทษให้ได้ โดยเรียกกันในภาษากฎหมายอาญาทั่วไปว่า diminished responsibility ความรับรู้ความสามารถบังคับใจตัวเองลดน้อยลงด้วยอาการทางจิต ซึ่งกฎหมายบ้านเราปัจจุบันก็กำหนดให้ศาลลงโทษจำเลยน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้เพียงใดก็ได้ อยู่ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 65 วรรคสอง
“เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ผสมกัน อยู่ตรงกลางระหว่างบันดาลโทสะ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 72 ที่ระบุว่าต้องกระทำตอบทันที ซึ่งไม่เข้า และครั้งจะไปเข้าเรื่องวิกลจริตก็ไม่เคยมีตำราทางการแพทย์เล่มใด ที่ยืนยันให้มั่นคงชัดเจนว่า นี่คืออาการป่วยทางจิต เราจึงพบว่า คดีพวกนี้ที่เกิดขึ้นในศาลไทย แทบไม่มีทนายจำเลยคนไหนต่อสู้เรื่องวิกลจริต”
นายจรัญ ยืนยันว่า ความไม่รู้ลักษณะที่กล่าวมานั้น เกิดทั่วกันไปหมด แม้แต่ในต่างประเทศ พบปัญหามาตั้งแต่ปี 1970 ศาลก็พยายามใช้กฎหมายอาญาดั้งเดิมเท่าที่มี เช่น ป้องกันตัว ก็ไม่เข้า บันดาลโทสะก็ใช้ไม่ได้ผล บวกกับในบรรดานักกฎหมายไทย นักกฎหมายอาญา รวมทั้งความเชื่อของผู้พิพากษาส่วนใหญ่ของไทยว่า ถ้าฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ไม่มีทางเป็นบันดาลโทสะ ซึ่งก็ไม่ผิด เพราะฆ่าโดยไตร่ตรอง มีเจตนาฆ่า วางแผนล่วงหน้า ไม่เข้าบันดาลโทสะ ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ไม่มีทางที่จะยกข้อต่อสู้ตามกฎหมายอาญาดั้งเดิมของบ้านเรา ทั้งป้องกันตัวโดยชอบ บันดาลโทสะ หรือวิกลจริตมาใช้ได้
"ฉะนั้นขอเถอะว่า วงการการแพทย์ไทย ราชวิทยาลัยทางจิตเวชของไทย น่าจะมีการประกาศยืนยันหรือมีมติวางหลักเกณฑ์ให้ชัดเจนเลยว่า นี่เป็นอาการป่วยทางจิตชนิดหนึ่ง ซึ่งเชื่อว่าศาลไทยจะรับไปใช้ประกอบการใช้กฎหมายอาญา"
ความคิดของคนไทยต้องบ้าอย่างเดียว
นายจรัญ ยกตัวอย่างในต่างประเทศ เช่น หลายมลรัฐในสหรัฐอเมริกา พบว่าเป็นเรื่องยากที่จะนำสืบพยานหลักฐานให้เห็นอาการป่วย และถึงขั้นยืนยันว่าเป็นอาการผิดปกติทางจิต ในต่างประเทศจึงใช้วิธีเขียนเป็นกฎหมายเฉพาะว่า ให้ผู้ที่ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวเป็นระยะเวลาหนึ่งและตกอยู่ในสภาพ Psychological Paralysis สามารถยกข้อต่อสู้เหล่านี้ เพื่อขอลดหย่อน ยกเว้นโทษได้ตามสมควรแก่กรณี
"เมื่อเขียนกฎหมายเฉพาะขึ้น ก็ไม่ต้องอาศัยเรื่องบันดาลโทสะ หรือวิกลจริต ซึ่งในความคิดของคนไทยคือต้องบ้าอย่างเดียว"
ทั้งนี้ เขาเชื่อว่า หากสามารถสร้างกฎหมายเฉพาะขึ้นมาได้ และเดินในแนวทางนี้ จะเกิดช่องทางใหม่ และจากการทดลองยกร่างขึ้นมา โดยเสนอว่าจะนำเนื้อหาไปเพิ่มเติมในกฎหมายคุ้มครองความรุนแรงในครอบครัว เพิ่มเป็นมาตรา 4/1 ว่า ในกรณีที่ผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวมีอาการผิดปกติทางจิต อันเนื่องมาจากถูกกระทำด้วยความรุนแรงซ้ำหลายครั้ง หรือถูกข่มขู่ให้กลัวว่าจะต้องถูกกระทำด้วยความรุนแรงมากขึ้นไปกว่าเดิมอีก หรือตกอยู่ในสภาพจำยอมไม่สามารถจะหลีกหนี ให้พ้นจากการถูกกระทำครั้งต่อไปได้ จึงได้กระทำผิดอาญาต่อผู้กระทำด้วยความรุนแรง ถ้าเป็นการกระทำที่พอสมควรแก่กรณี ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ แต่หากเป็นการกระทำที่เกินสมควรแก่กรณี ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้
ส่วนกรณีที่ผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวมีอาการผิดปกติทางจิตคือ 1.ต้องเคยถูกกระทำมาก่อน 2.ถูกกระทำจนเกิดอาการทางจิต ไม่ใช่เพียงครั้งเดียว หรือเฉพาะเพียงร่างกาย อาจเป็นถูกกระทำทางเพศ จิตวิทยา (psychological violence) ซึ่งมีตัวอย่างจำนวนมาก เช่นนำผู้หญิงเข้าบ้านบังคับให้ยอม ไม่เช่นนั้นจะเกิดเรื่อง บางกรณีถึงขั้นบังคับให้นอนห้องเดียวกันเตียงเดียวกันด้วย
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น อาการผิดปกติทางจิตจะต้องมัดไม่ให้กว้างเกินไป ซึ่งการจะเข้าลักษณะอาการผิดปกติทางจิตนั้น จะต้อง
1.ถูกกระทำด้วยความรุนแรงซ้ำหลายครั้ง
2.หรือถูกข่มขู่ให้กลัวว่าจะต้องถูกกระทำด้วยความรุนแรงมากขึ้นไปกว่าเดิมอีก ในกรณีต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จที่ศาลเข้ามาช่วยได้ มักจะปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้ตายข่มขู่ เช่น ห้ามหนี ห้ามแจ้งความ ไม่เช่นนั้นตายทั้งแม่ทั้งลูก เป็นต้น
หรือ 3.ทำให้ผู้ถูกกระทำตกอยู่ในสภาพจำยอม ไม่สามารถจะหลีกหนี ให้พ้นจากการถูกกระทำครั้งต่อไปได้ หนีไปอยู่ที่ไหน ทำอะไรกิน
ทั้งนี้ เมื่อตกอยู่ในสภาพ BWS แล้ว จึงได้กระทำผิดอาญาต่อผู้กระทำด้วยความรุนแรง ตอบโต้ไปไม่จำกัดเวลา รวมถึงไตร่ตรองไว้ก่อน ซึ่งข้อเท็จจริงพบว่า ในต่างประเทศกรณีเหล่านี้ ล้วนไตร่ตรองไว้ก่อนทั้งนั้น และยังจ้างคนมาฆ่าด้วย ฉะนั้น กรณีเหล่านี้หากจำเลยไปต่อสู้ด้วยวิธีอื่น โทษประหารสถานเดียว ส่วนในต่างประเทศก็ใช้วิธีจำคุกตลอดชีวิต
นายจรัญ ยังเสนอถึงทางออกคือ ถ้าเป็นการกระทำที่พอสมควรแก่กรณี ให้ยกเว้นโทษ ในต่างประเทศหลายคดีศาลก็พิพากษายกเว้นโทษ แต่หากเป็นการกระทำที่เกินสมควรแก่กรณี ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้ ทั้งนี้ โทษกรณีฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อนคือ ประหารชีวิตสถานเดียว ศาลอาจจะลงโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุก 20 ปีก็ได้ บางคดีในสหรัฐอเมริกาศาลสั่งจำคุก 4 ปี
"ถ้าเป็นอย่างนี้กฎหมายปัจจุบันของไทยเราก็เปิดช่องให้ศาลรอโทษจำคุกได้ และหลายกรณีผมว่าเป็นแนวทางที่ถูกต้อง หากครอบครัวนั้นมีลูกเล็กๆ ที่บริสุทธิ์ พ่อเสียชีวิต ส่วนแม่ไม่ถึงกับต้องประหารแค่ติดคุก ใครจะรับผิดชอบชีวิตลูก มันเป็นเหตุการณ์ที่น่าสมเพชมาก และไม่ควรจะใช้กฎหมายไปซ้ำเติมครอบครัวนั้นอีก"
ฉะนั้นนี่คือกฎหมายที่ออกแบบมาบนหลักคิดที่ว่า ทำอย่างไรที่กฎหมาย สังคม และระบบงานยุติธรรม ศาล อัยการ ทนาย ตำรวจ จะไม่ไปซ้ำเติม และโดยถูกต้องตามกฎหมาย ฉะนั้นสรุปว่า จะต้องมีการแก้กฎหมาย ทำกฎหมายขึ้นมา เพื่อคลี่คลายปัญหาเรื่องนี้อย่างถาวร ไม่ใช่ทำแก้ทุกครั้งที่เกิดเรื่อง
อย่างไรก็ตามในช่วงท้าย อาจารย์จรัญ เปิดให้มีการอภิปรายถึงแนวคิด ข้อกฎหมายดังกล่าว ซึ่งก็มีความคิดเห็นที่ท้วงติดตั้งข้อสังเกตในหลายประเด็น ซึ่งนายจรัญ ได้ชี้แจ้งและรับว่าจะนำข้อเสนอที่เป็นประโยชน์ไปปรับปรุงพัฒนาเนื้อหาต่อไป