ชนักติดหลัง‘อภิสิทธิ์’ในชั้น ป.ป.ช. รอดแล้ว 2 ลุ้นคดีประกันข้าว-ขายมันจีทูจีเก๊?
เปิดแฟ้มคดี ‘อภิสิทธิ์’ ในชั้น ป.ป.ช. ตีตกไปแล้ว 2 ‘ระบายข้าวจีทูจี’ เหตุไม่ได้เอื้อเอกชน-ทำด้วยความระมัดระวัง ‘สลายการชุมนุม’ ชี้ทำตามหลักสากล ปรับเปลี่ยนแนวทางไม่ใช้กำลังผลักดันม็อบ เหลือ 2 คดี ‘ประกันราคาข้าว’ แทรกแซงตลาดข้าวปี’52/53 ‘ระบายมันจีทูจี’ ไม่ได้ทำจริง เวียนขายต่อในประเทศ
มีความชัดเจนขึ้นแล้ว สำหรับคดีประกันราคาข้าวที่กล่าวหานายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น เกี่ยวกับการแทรกแซงตลาดข้าว โดยวิธีการประกันราคาข้าวเปลือก (ดำเนินมาตรการข้าวปี 2552/53 โดยการประกันราคาข้าวเปลือกแก่เกษตรกรเป็นการทั่วไป หรือดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2552/53 ทำให้เกิดความเสียหายต่องบประมาณแผ่นดิน ต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
ที่ล่าสุดมีการเผยแพร่ข้อกล่าวหาทางการในชั้นคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ตั้งองค์คณะไต่สวนขึ้น โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐาน
(อ่านประกอบ : เปิดข้อหาทางการ! ป.ป.ช.ตั้งองค์คณะไต่สวน‘อภิสิทธิ์’คดีประกันราคาข้าว)
หลังจากก่อนหน้านี้ ยังไม่มีการเปิดเผยข้อกล่าวหาอย่างชัดเจนว่า มีใครถูกกล่าวหาบ้าง และกระทำผิดในข้อกล่าวหาอะไร มีเพียงการออกมาให้สัมภาษณ์ของกรรมการ ป.ป.ช. เท่านั้น
สำหรับคดีนี้ นายวิชา มหาคุณ เมื่อครั้งนั่งเก้าอี้กรรมการ ป.ป.ช. เคยแถลงผ่านที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ถึงความคืบหน้าในคดีดังกล่าว โดยยืนยันว่าโครงการนี้อาจมีการทุจริตขึ้น และต้องล่าตัวคนผิดมาลงโทษให้ได้ด้วย !
(อ่านประกอบ : “วิชา”ยันประกันข้าวยุค“มาร์ค”ก็ทุจริต! จี้คนรับผิดชอบ-จ่อแจ้งข้อกล่าวหา)
ไม่ว่าข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไร แต่มีอย่างน้อย 4 คดีที่นายอภิสิทธิ์ถูกกล่าวหาต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้แก่ คดีประกันราคาข้าว คดีระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) โดยมิชอบ คดีระบายมันสำปะหลังแบบจีทูจีโดยมิชอบ และคดีสั่งสลายการชุมนุมทางการเมืองเมื่อปี 2553
โดยใน 4 คดีดังกล่าว มี 2 คดี คือ คดีระบายข้าวแบบจีทูจี และคดีสั่งสลายการชุมนุมทางการเมืองเมื่อปี 2553 ถูกตีตกไปแล้ว โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้เหตุผลไว้ ดังนี้
คดีระบายข้าวแบบจีทูจี (ถูกกล่าวหาร่วมกับนายไตรรงค์ สุวรรณคีรี อดีตรองนายกรัฐมนตรี นางพรทิวา นาคาศัย อดีต รมว.พาณิชย์ และนายมนัส สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ) แบ่งย่อยเป็น 2 ข้อกล่าวหา ได้แก่
ข้อกล่าวหาที่ 1 กรณีผู้ถูกกล่าวหาที่ 1-4 ร่วมกันกระทำการให้มีการปรับเปลี่ยนวิธีการระบายข้าวสารให้ผู้ส่งออกที่มีคำสั่งซื้อข้าวจากต่างประเทศในปริมาณมากเสนอซื้อข้าวในสต็อกของรัฐบาล โดยไม่มีการออกประกาศเชิญชวน เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการบางราย และกีดกันผู้ประกอบการรายอื่นไม่ให้มีการเสนอราคาอย่างเป็นธรรม
คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่า การเลือกใช้วิธีระบายข้าวสารโดยให้ผู้ส่งออกที่มีคำสั่งซื้อข้าวจากต่างประเทศในปริมาณมากเสนอซ้อข้าวในสต็อกของรัฐบาล ไม่ได้เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการบางราย หรือกีดกันผู้ประกอบการรายอื่นไม่ให้มีการเสนอราคาอย่างเป็นธรรม แต่เป็นการเลือกวิธีการระบายจำหน่ายข้าวสารของรัฐบาลเท่านั้น ซึ่งเป็นวิธีระบายข้าวสารที่อยู่ในกรอบของยุทธศาสตร์การระบายข้าวสารที่ได้กำหนดแนวทางไว้ให้สามารถทำได้
ข้อกล่าวหาที่ 2 ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1-4 อนุมัติให้ความเห็นชอบจำหน่ายข้าวสารในสต็อกของรัฐบาลในราคาต่ำกว่าราคาตลาด ทำให้รัฐได้รับความเสียหาย
คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่า การจำหน่ายข้าวสารในครั้งนี้ได้มีการเจรจาต่อรองราคากับบริษัทที่เสนอราคาซื้อที่อยู่ในเกณฑ์ราคาเท่านั้น และเมื่อพิจารณาราคาขายหลังการเจรจาต่อรองกับผู้เสนอราคาซื้อทุกรายแล้ว ล้วนมีการกำหนดราคาขายที่สูงกว่าเกณฑ์ราคาที่ตั้งไว้ทั้งสิ้น
ทั้งนี้ในการพิจารณาอนุมัติและให้ความเห็นชอบจำหน่ายข้าวสารนั้น นางพรทิวา ในฐานะประธานอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าวสาร และนายไตรรงค์ ในฐานะรองประธานกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ก็มิได้อนุมัติและให้ความเห็นชอบจำหน่ายข้าวสารตามความเห็นที่คณะทำงานดำเนินการระบายข้าวสารเสนอมาทั้งหมด กรณีการอนุมัติและให้ความเห็นชอบจำหน่ายข้าวสารดังกล่าว
จึงเป็นการพิจารณาดำเนินการโดยใช้หลักเกณฑ์ตามกรอบยุทธศาสตร์การระบายข้าวที่ กขช. ได้ให้ความเห็นชอบ และจำหน่ายข้าวสารด้วยความระมัดระวัง โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อภาวะราคาตลาด อันเป็นการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 2553 และวันที่ 29 มิ.ย. 2553 ที่กำหนดไว้แล้ว
(อ่านประกอบ : ชัด ๆ ป.ป.ช.แจงยิบไฉนตีตกสารพัดคดีข้าวยุค‘อภิสิทธิ์’-รอลุ้นคดีมันจีทูจีส่อเก๊?)
คดีสั่งสลายการชุมนุมทางการเมืองเมื่อปี 2553 (ถูกกล่าวหาร่วมกับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา อดีตผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ปัจจุบันเป็น รมว.มหาดไทย)
จากการไต่สวนปรากฏข้อเท็จจริงว่า ภายหลังจากเกิดเหตุการณ์การขอคืนพื้นที่ชุมนุมเมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2553 แล้ว ศูนย์อำนวยการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ได้ทบทวนปรับเปลี่ยนรูปแบบวิธีการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ โดยไม่ใช้กำลังเจ้าหน้าที่เข้ามาผลักดันผู้ชุมนุมอีกต่อไป แต่ใช้มาตรการตั้งด่านตรวจ หรือจุดสกัดปิดล้อมวงนอกไว้โดยรอบ เพื่อให้ผู้ชุมนุมยุติการชุมนุมไปเอง โดยการปฏิบัติในวันที่ 14 พ.ค. 2553 เป็นการตั้งด่านอยู่กับที่ทุกแห่ง
แต่ในวันที่ 19 พ.ค. 2553 เจ้าหน้าที่ได้เคลื่อนกำลังเข้าไปควบคุมพื้นที่บริเวณสวนลุมพินี โดยไม่ได้มีการผลักดันต่อผู้ชุมนุมที่แยกราชประสงค์โดยตรง แต่เป็นการกดดันต่อกองกำลังติดอาวุธที่ยึดสวนลุมพินีอยู่ ซึ่งการปฏิบัติในการกระชับพื้นที่สวนลุมพินี เจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการตามขั้นตอน โดยประกาศให้ผู้ชุมนุมออกไปจากพื้นที่ก่อน หลังจากประกาศแล้ว เจ้าหน้าที่จึงเข้าไป
ดังนั้น ข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่ได้จากการไต่สวนยังรับฟังไม่ได้ว่า ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสาม กับพวก ได้ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ในการดำเนินการในเรื่องดังกล่าว โดยมีเจตนาเพื่อให้เกิดความเสียหายกับประชาชนผู้บริสุทธิ์ หรือผู้ก่อหรือใช้ให้มีการฆ่าคนอื่นโดยเจตนาเล็งเห็นผลแต่อย่างใด คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีมติให้ข้อกล่าวหาตกไป
(อ่านประกอบ : 'มาร์ค-สุเทพ-บิ๊กป๊อก'รอด! คดีสลายแดง ป.ป.ช.ยันทำตามหลักสากล)
ส่วนอีก 2 คดีที่เหลืออยู่ ได้แก่
คดีแทรกแซงตลาดข้าวโดยวิธีประกันราคาข้าวเมื่อปี 2552/53 (กล่าวหานายอภิสิทธิ์รายเดียว)
กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น เกี่ยวกับการแทรกแซงตลาดข้าว โดยวิธีการประกันราคาข้าวเปลือก (ดำเนินมาตรการข้าวปี 2552/53 โดยการประกันราคาข้าวเปลือกแก่เกษตรกรเป็นการทั่วไป หรือดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2552/53 ทำให้เกิดความเสียหายต่องบประมาณแผ่นดิน
ปัจจุบันมีการแต่งตั้งองค์คณะไต่สวนขึ้นใหม่ เนื่องจากนายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. เกษียณจากตำแหน่ง และ น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช. เข้ามารับผิดชอบคดีแทน โดยมีการแจ้งให้ผู้ถูกกล่าวหารับทราบถึงการตั้งองค์คณะไต่สวนแล้ว
คดีขายมันสำปะหลังแบบจีทูจี (กล่าวหายกคณะรัฐมนตรีนายอภิสิทธิ์ 32 ราย และข้าราชการ รวม 43 ราย)
กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น กรณีซื้อขายมันสำปะหลังแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) กับ China Marine Shipping Agency Lianyungang Co., Ltd
โดยบริษัทดังกล่าวไม่มีการมอบอำนาจจากรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน และวัตถุประสงค์ในใบอนุญาตประกอบธุรกิจของบริษัทไม่ใช่การซื้อขายผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ดังนั้น China Marine จึงไม่ใช่ผู้แทนรัฐบาลจากต่างประเทศในการเจรจาและมิใช่ผู้ลงนามในสัญญาในนามของรัฐบาลจีนแต่อย่างใด
และก่อนที่ China Marine ได้ทำสัญญาซื้อขายแป้งมันสำปะหลังกับกรมการค้าต่างประเทศ China Marine ได้มีการทำสัญญาซื้อขายและโอนสิทธิในแป้งมันสำปะหลังให้แก่บริษัทซึ่งจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายในไทย ซึ่งเป็นราคาเดียวกับที่กรมการค้าต่างประเทศได้ทำสัญญาซื้อขายแป้งมันสำปะหลังแบบจีทูจี กับ China Marine โดยได้ทำสัญญาที่กรมการค้าต่างประเทศ โดยมีนายบุญยฤทธิ์ กัลยาณมิตร เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองอธิบดี กรมการค้าต่างประเทศ และเจ้าหน้าที่กรมการค้าต่างประเทศอยู่ด้วย
ดังนั้นการทำสัญญาซื้อขายแป้งมันสำปะหลังดังกล่าว จึงไม่ใช่การซื้อขายแบบจีทูจี แต่เป็นการกระทำที่กล่าวอ้างการดำเนินการซื้อขายแบบจีทูจี เพื่อเข้าทำสัญญากับรัฐ โดยไม่ต้องมีการประมูล โดยมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม เพื่อนำแป้งมันสำปะหลังตามสัญญาให้แก่ผู้ประกอบกิจการมันสำปะหลังในประเทศไทย ไม่มีเจตนาที่จะซื้อแป้งมนสำปะหลังไปยังประเทศจีน และเงินที่ใช้ในการชำระค่าแป้งมันสำปะหลังตามสัญญาดังกล่าว ก็มิได้เป็นเงินที่นำมาจากประเทศจีน เท่ากับว่าการทำสัญญาซื้อขายแป้งมันสำปะหลังครั้งนี้ เป็นการกระทำที่ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์และขัดต่อมติคณะรัฐมนตรี
(อ่านประกอบ : ป.ป.ช.ตั้งอนุฯลุยสอบยก ครม.อภิสิทธิ์ ปมขายมันจีทูจีให้ บ.จีนมิชอบ, เปิดชื่อครบ! “ครม.อภิสิทธิ์-ขรก.ระดับสูง”ป.ป.ช.ลุยสอบขายมันจีทูจีส่อเก๊?, ย้อนหลักฐาน "สตง."มัดระบายแป้งมันฯ จีทูจีเก๊? ยุคครม."อภิสิทธิ์" 1.4 พันล.)
นี่คือ 2 คดีที่ยังเป็น ‘ชนัก’ ติดหลังนายอภิสิทธิ์อยู่ ให้รอลุ้นต่อไปว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาไต่สวนเสร็จสิ้นเมื่อไหร่ และจะมีมติออกมาในรูปแบบใด ?
อ่านประกอบ :