แง้มโรดแมพ "ครม.ส่วนหน้า" เปิดงบพัฒนา 3 เมืองต้นแบบ
คณะผู้แทนพิเศษของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือที่รู้จักกันในนาม “ครม.ส่วนหน้า” ได้ประชุมกันอย่างเป็นทางการครั้งที่ 4 เมื่อวันศุกร์ที่ 23 ธ.ค.59 และได้คลอด “โรดแมพ” การทำงานออกมา เตรียมเสนอรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงและนำเข้าคณะรัฐมนตรีในเร็วๆ นี้
การประชุมจัดขึ้นที่กระทรวงกลาโหม มี พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนพิเศษฯ เป็นประธาน
ไฮไลท์สำคัญอยู่ที่การพิจารณา “โรดแมพ” ของ ครม.ส่วนหน้า เพื่อให้แผนงาน 7 ภารกิจบรรลุเป้าหมายตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี
สำหรับโรดแมพที่จัดทำขึ้นนี้ เป็นการบูรณาการจาก 7 แผนงาน นำมาสู่ 3 เป้าหมายหลัก คือ ความมั่นคง การพัฒนา และการสร้างความเข้าใจ เชื่อว่าทุกอย่างจะเป็นรูปธรรมมากขึ้นในไตรมาส 2 ปีหน้า โดยเฉพาะแผนพัฒนาตามโครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ ที่ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี อ.เบตง จ.ยะลา และ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส
นอกจากนั้น ในที่ประชุมยังมีการพูดถึงความสำเร็จในภารกิจด้านรักษาความปลอดภัยชีวิตและทรัพย์สิน จากการทำงานของชุดคุ้มครองประจำตำบล หรือ ชคต. ซึ่งก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2556 ปรากฏว่าได้รับการยอมรับจากพี่น้องประชาชนอย่างมาก และการทำงานมีประสิทธิภาพฉะนั้นในอนาคตจะมีการลดกำลังพล โดยการถ่ายโอนภารกิจของทหารไปยังประชาชน หรืออาจจะใช้กำลังพลกึ่งทหาร ขณะนี้จัดตั้ง ชคต.ได้แล้ว 109 ตำบล คงเหลืออีก 177 ตำบล
เปิดโรดแมพ ครม.ส่วนหน้า
สำหรับโรดแมพการทำงานของ ครม.ส่วนหน้า เพื่อแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ล่าสุดดำเนินการเสร็จแล้ว โดยแบ่งการทำงานเป็น 3 ระยะ คือ บูรณาการฐานการขับเคลื่อน, ขับเคลื่อนอย่างบูรณาการสู่เป้าหมาย และเสริมแรงหนุนให้ต่อเนื่อง
ทั้งนี้เป้าหมายที่กำหนดไว้ในปี 2560 คือ ประชาชนต้องมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน, มีรายได้เพิ่มขึ้น คุณภาพชีวิตดีขึ้น, มีโอกาสทางการศึกษา, ประชาชนมีความเข้าใจและร่วมมือแก้ปัญหาความขัดแย้งโดยสันติวิธี
โดยในปี 2560 ตั้งเป้าเพิ่ม “ตำบลต้นแบบ ขยายพื้นที่ปลอดภัย” ซึ่งต่อยอดจากโครงการพัฒนาเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ด้วย
ผ่างบพัฒนา 3 เมืองต้นแบบ
สำหรับโครงการเมืองต้นแบบสามเหลี่ยมเศรษฐกิจ มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนนั้น เมืองต้นแบบของนราธิวาส คือ อ.สุไหงโก-ลก
ทั้งนี้ จังหวัดนราธิวาสได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลในการเดินหน้าโครงการพัฒนาในปี 2560 จำนวน 3 โครงการ งบประมาณรวม 532 ล้านบาท ได้แก่ โครงการปรับปรุงสถานีรถไฟสุไหงโก-ลก และส่งเสริมการจัดตั้งสถานีขนส่งสินค้า ใช้งบ 185 ล้านบาท, โครงการพัฒนาโครงข่ายเชื่อมโยงคมนาคมขนส่ง 327 ล้านบาท มีทั้งการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำสุไหงโก-ลก สู่เมืองลันตาปันยัง ฝั่งมาเลเซีย สร้างถนนเลี่ยงเมือง และพัฒนาท่าเทียบเรือชุมชน และสุดท้ายคือโครงการจัดตั้งเมืองการค้าปลอดภาษี ใช้งบ 20 ล้านบาท
ส่วนเมืองต้นแบบของยะลา คือ อ.เบตง ได้รับงบประมาณสนับสนุนการพัฒนา 4 โครงการ จำนวน 4,995 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นโครงการก่อสร้างและปรับปรุงถนนหนทาง โดยเฉพาะเส้นทางเชื่อมระหว่างเมืองยะลากับ อ.เบตง รวมทั้งโครงการก่อสร้างอุโมงค์ลอดใต้ภูเขาบนทางหลวงหมายเลข 410 ยะลา – เบตง ด้วย
ปัตตานีมีเมืองต้นแบบคือ อ.หนองจิก มุ่งเน้นการขยายพื้นที่เพาะปลูกในพื้นที่รกร้างว่างเปล่า 24,000 ไร่ ให้เป็นพื้นที่เพาะปลูกปาล์มน้ำมันเพื่อส่งจำหน่ายแก่ผู้ประกอบการในพื้นที่ ซึ่งมีความต้องการสูงถึง 350,000 ตัน หรือ ประมาณ 90,000 ไร่ คาดว่าจะสามารถสร้างอาชีพให้กับเกษตรกรได้ 6,000 ราย