ล้วงเหตุผล ปภ.ของบฉุกเฉินจัดการน้ำร่วม ทบ. -กองทัพไทย ยอดรวม 2.7 พันล.
“…สิ่งที่รัฐบาลชุดนี้ต้องทำคือ ตามความเห็นของคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่ให้ติดตามประเมินผลการดำเนินโครงการอย่างใกล้ชิด เพราะมีเส้นตายทำให้เสร็จภายใน 7 เดือน ซึ่งอาจเกิดปัญหาการทำงานซ้ำซ้อนขึ้นได้ เหมือนกับโครงการบริหารจัดการน้ำของกรมทรัพยากรน้ำ และกรมชลประทาน ที่มีการยกเลิกไปแล้วอย่างน้อย 3 โครงการ รวมวงเงินกว่า 26 ล้านบาท…”
โครงการบริหารจัดการน้ำในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ถูกจัดสรรให้หลายหน่วยงาน และหลายโครงการ ใช้งบประมาณรวมหลายหมื่นล้านบาท ซึ่งหลายโครงการกำลังถูกสังคมจับตามอง เนื่องจากเห็นว่า อาจมีความไม่ชอบมาพากลในการดำเนินงาน ?
โดยเฉพาะ 5 หน่วยงานหลักที่ร่วมบูรณาการในโครงการบริหารจัดการน้ำ ได้แก่ กองบัญชาการกองทัพไทย กองทัพบก กรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย
อย่างไรก็ดีหากโฟกัสเฉพาะโครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างเป็นระบบ เบื้องต้นมีอย่างน้อย 9 หน่วยงาน ที่ร่วมกันเสนอโครงการรวม 3,200 โครงการ วงเงินรวมประมาณ 15,093 ล้านบาท
ขณะนี้ มีอยู่อย่างน้อย 3 หน่วยงานด้วยกัน ที่ได้รับอนุมัติงบประมาณกลาง (รายงานเงินสำรอง หรือฉุกเฉิน) ได้แก่ กองบัญชาการกองทัพไทย เสนอจำนวน 105 โครงการ วงเงิน 157,942,300 บาท กองทัพบก 921 โครงการ วงเงิน 1,142,362,800 บาท
และล่าสุด กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย ได้รับอนุมัติงบประมาณทั้งสิ้น 1,454,092,300 บาท เพื่อไปร่วมบูรณาการทำงานกับกองบัญชาการกองทัพไทย และกองทัพบกแล้ว
เหตุผลคืออะไร ?
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org มีคำตอบ ดังนี้
พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ทำหนังสือถึงคณะรัฐมนตรี ขอเสนอการดำเนินโครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างเป็นระบบ ในการเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยที่อาจจะเกิดขึ้นในช่วงฤดูฝน เพื่อสามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ประโยชน์ในการอุปโภค บริโภค และการเกษตร สำหรับช่วงปลายฤดูฝน จำนวน 467 โครงการ วงเงิน 1,454,092,300 บาท
เบื้องต้นกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสำรวจพื้นที่ดำเนินการจัดทำรายละเอียด แบบรูปรายการ และประมาณค่าใช้จ่ายให้สอดคล้องกับสถานที่ดำเนินการ เสนอสำนักงบประมาณเพื่อขออนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2559 งบกลาง (รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉิน) ตามแผนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำปี 2559 จำนวน 467 โครงการ วงเงิน 1,668,207,100 บาท
ต่อมาสำนักงบประมาณได้นำเสนอนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประยุทธ์) เพื่อพิจารณาการขอรับการสนับสนุนงบประมาณดังกล่าว โดยนายกรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบในหลักการ และสำนักงบประมาณขอให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ประสานไปยังจังหวัดเพื่อจัดทำรายละเอียด แบบรูปรายการ และประมาณราคาค่าใช้จ่ายให้สอดคล้องกับสถานที่ดำเนินการจริง จัดทำแผนการปฏิบัติงาน แผนการใช้จ่ายงบประมาณ เพื่อขอทำความตกลงในรายละเอียดกับสำนักงบประมาณ
ทั้งนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ดำเนินการตามข้อเสนอของสำนักงบประมาณแล้ว มีโครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างเป็นระบบที่จะดำเนินการทั้งสิ้น 467 โครงการ วงเงินรวม 1,454,092,300 บาท (ลดลง 214,114,800 บาท) ก่อนนำเสนอกระทรวงมหาดไทย
กระทรวงมหาดไทย พิจารณาแล้วเห็นว่า การดำเนินโครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างเป็นระบบดังกล่าว เป็นการดำเนินการตามบัญชาของนายกรัฐมนตรี ในการเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยที่อาจจะเกิดขึ้นในช่วงฤดูฝน รวมทั้งยังสามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ประโยชน์ในการอุปโภค บริโภค และการเกษตรสำหรับช่วงปลายฤดูฝน ซึ่งกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ดำเนินการตามข้อเสนอของสำนักงบประมาณเสร็จสิ้นแล้ว (ดูเอกสารประกอบ)
ล่าสุด คณะรัฐมนตรี มีมติอนุมัติตามความเห็นของกระทรวงมหาดไทย (กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย) แล้ว และให้นำความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่ทำหนังถึงคณะรัฐมนตรี ระบุว่า ขอให้ติดตามประเมินผลโครงการดังกล่าว เนื่องจากใช้ระยะเวลาเพียง 7 เดือน อาจเกิดปัญหา และเกิดความซ้ำซ้อนขึ้นได้ ไปพิจารณาดำเนินการด้วย
(อ่านประกอบ : เตือน รบ.ติดตามงบบริหารจัดการน้ำ ปภ. 1.4 พันล.รีบทำใน 7 เดือน อาจซ้ำซ้อน)
นี่คือเหตุผลของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย ที่โดดร่วมวงแก้ไขปัญหาบริหารจัดการน้ำพร้อมกับกองบัญชาการกองทัพไทย และกองทัพบก รวมวงเงินทั้ง 3 แห่ง กว่า 2.7 พันล้านบาท
อย่างไรก็ดีสิ่งที่หลายฝ่ายยังคงกังวลคือ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ก่อนหน้านี้เคยดำเนินโครงการขุดลอกแหล่งน้ำทั่วประเทศ โดยจ้างองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก (อผศ.) ซึ่งได้รับสิทธิพิเศษให้ดำเนินโครงการดังกล่าว เข้ามาเป็นคู่สัญญาทั่วประเทศ หลายร้อยสัญญา รวมวงเงินหลายพันล้านบาท แต่กลับถูกตรวจสอบพบว่า ผู้บริหารระดับสูงใน อผศ. เป็นคนดีลกับ ‘บิ๊ก ปภ.’ เพื่อดำเนินโครงการดังกล่าว และโครงการนี้ถูกกล่าวหาว่า อผศ. ปล่อยสัญญาให้เอกชนทำแทน รวมถึงการกล่าวหาเรื่องหักหัวคิวด้วย ปัจจุบันอยู่ระหว่างการตรวจสอบของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)
(อ่านประกอบ : ขมวดพิรุธ อผศ.ขุดคลองก่อนสรุป 'คนใน'ไม่ผิด! 'อิศรา'คุ้ย-กก.สอบไม่เจอ?)
ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลชุดนี้ต้องทำคือ ตามความเห็นของคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่ให้ติดตามประเมินผลการดำเนินโครงการ เพราะมีเส้นตายทำให้เสร็จภายใน 7 เดือน ซึ่งอาจเกิดปัญหาการทำงานซ้ำซ้อนขึ้นได้ เหมือนกับโครงการบริหารจัดการน้ำของกรมทรัพยากรน้ำ และกรมชลประทาน ที่มีการยกเลิกไปแล้วอย่างน้อย 3 โครงการ รวมวงเงินกว่า 26 ล้านบาท
ท้ายสุดโครงการนี้จะ ‘ลิ่ว’ หรือ ‘ร่วง’ ต้องติดตามกันต่อไปอย่างใกล้ชิด !
อ่านประกอบ :
เตือน รบ.ติดตามงบบริหารจัดการน้ำ ปภ. 1.4 พันล.รีบทำใน 7 เดือน อาจซ้ำซ้อน
เปิดอีก 3 โครงการ-ล้วงเบื้องหลังไฉนกรมชลฯตั้งราคากลางสูงกว่าประมูลจริงร้อยล.
เป็น ปย.ต่อราชการ! กรมชลฯแจงปมเอกชนประมูลต่ำกว่าราคากลางร้อยล.
เปิด 4 โครงการกรมชลฯตั้งราคากลางสูงกว่าราคาเอกชนประมูลหลายร้อยล.?
เจาะโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำ 350 ล.กรมชลฯ-เอกชนฟันต่ำกว่าราคากลางร้อยล.
เปิดมติ ครม.หลักเกณฑ์ราคากลาง! กรมชลฯตั้งสูงกว่าประมูลจริงร้อยล. ทำได้หรือ?
เบื้องหลังกรมชลฯเลิก 2 โครงการ 23 ล.-สะท้อนผลงานจัดการน้ำยุค‘บิ๊กตู่’?
โชว์คำเตือน ก.คลัง-เบื้องหลัง! กรมทรัพยากรน้ำเลิกโครงการกำจัดผักตบ?
ล้วงงบกรมชลฯบริหารจัดการน้ำยุค ‘บิ๊กตู่’ 2.2 หมื่นล.-เลิกแล้ว 2 โครงการ 23 ล.