ตัวแทนลุ่มน้ำ เผยสร้างเขื่อนก่อปัญหายาว ขาดการมีส่วนร่วม เน้นใช้ธรรมชาติป้องกัน
ตัวแทนลุ่มน้ำกลอง ชี้การสร้างเขื่อนคอนกรีตริมแม่น้ำก่อปัญหาระยะยาว เน้นใช้ธรรมชาติป้องกันธรรมชาติ ด้านตัวแทนลุ่มน้ำท่าจีนแจงโครงการเกี่ยวกับน้ำหลายโครงการใช้การไม่ได้จริง แนะรัฐควรให้คนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นในนโยบาย
เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ จัดงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 9 ณ ศูนย์การประชุมอิมแพคฟอรั่ม เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี โดยภายในงานมีเวทีย่อยให้ข้อมูลสาธารณะ ‘ชักแม่น้ำทั้ง 5 เจ้าพระยา / บางปะกง / ท่าจีน / แม่กลอง / เพชรบุรี ’ ณ ห้องประชุม 6 (Shpphire 102 )
ช่วงหนึ่งในเวที นายสุรจิต ชิรเวทย์ ตัวแทนลุ่มแม่น้ำกลอง กล่าวถึงปัญหาอุทกภัยที่ประเทศไทยได้พบเจอ ส่งผลให้หน่วยงานรัฐต้องเร่งแก้ปัญหาโดยการสร้างพนังกั้นน้ำคอนกรีตบริเวณริมชายฝั่งแม่น้ำ แต่การกระทำดังกล่าวถือเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุและมีค่าใช้จ่ายที่สูง นอกจากนี้ยังถือเป็นการทำลายระบบนิเวศของสัตว์น้ำและละเมิดสิทธิของคนที่อาศัยอยู่ริมน้ำอีกด้วย
“ป้องกันน้ำท่วมแค่เดือนสองเดือน สร้างพนังกั้นน้ำเป็นกำแพงเมือง ด้วยงบประมาณสร้างกำแพงเมตรละ 2 แสนบาท แต่ไม่กล้าเอาเงินตรงนั้นไปดีดบ้านชาวบ้านขึ้น แบบนี้ถูกหรือไม่ ซึ่งการกั้นเขื่อนริมตลิ่ง ไม่ให้น้ำหมุนเวียนกลายเป็นการทำลายระบบนิเวศสัตว์น้ำ แก้ 1 ปัญหาไปสร้างอีก 300 ปัญหา”
นายสุรจิต กล่าวต่ออีกว่า ธรรมชาติต้องแก้ด้วยธรรมชาติ ป่าชายเลนที่เหลืออยู่ตอนนี้ถือว่ามีปริมาณที่น้อย หากประเทศไทยมีป่าชายเลนหนา จะช่วยป้องกันภัยพิบัติต่างๆ ได้
“ถ้าเรามีป่าชายเลนหนาสัก 300 เมตร คุณจะนอนหลับได้อย่างสบาย ถึงแม้จะมีพายุ สึนามิ อะไรก็แล้วแต่ เราต้องใช้ธรรมชาติแก้ธรรมชาติ”
ด้านนายประเชิญ คนเทศ ตัวแทนลุ่มน้ำท่าจีน กล่าวว่า ในอดีตแม่น้ำท่าจีนเป็นแม่น้ำที่อุดมสมบูรณ์ แต่เมื่อมีการสร้างโครงการหลายๆ อย่างของรัฐ ส่งผลให้แม่น้ำเริ่มเน่าเสีย และโครงการหลายอย่างสร้างขึ้นมาแล้วใช้ไม่ได้
“ปี 2545 มีสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำท่าจีนปิดหัวปิดท้าย จากสมุทรสาครกับนครปฐม 70 กว่ากิโลเมตร ปรากฏว่า ความล้มเหลวอยู่ที่แม่บางประกง คือเขื่อนตัวนั้นจะมาสร้างเป็นแบบเดียวกันกับเขื่อนนครปฐม แต่สร้างแล้วใช้ไม่ได้เพราะมันเป็นพื้นที่ที่แตกต่างกัน สร้าง 8 พันล้านบาท ซ่อมอีก หมื่นสองพันล้านบาท”
นายประเชิญ กล่าวถึงนโยบายของรัฐเมื่อจะทำอะไร มักไม่ถามความเห็นของประชาชนในพื้นที่ หรือหากมีการจัดงานประชาสัมพันธ์จริง แต่ข้อมูลที่นำมาเสนอต่อประชาชนจะเป็นข้อมูลที่ไม่เป็นความจริง และจะใช้ภาษาที่ยากต่อความเข้าใจของชาวบ้านทั่วไป
“เวทีรับฟังของรัฐ ไม่เคยให้ข้อมูลอะไรกับประชาชน มีคนบอกกับผมเลยนะว่าถูกเชิญให้มาพูดให้ความรู้ในข้อมูลที่เป็นเท็จกับประชาชน นี่คือกระบวนการ แล้วข้อความที่ไปสร้างกระบวนการการมีส่วนร่วมนั้น ใช้ภาษายากมากเพื่อจะได้ไม่ต้องตอบ ส่งประดาษเปล่าๆ เพราะฉะนั้นการมีส่วนร่วมของภาครัฐเราเชื่อไม่ได้เลย เพราะว่าโครงการของรัฐมีธงไว้แล้ว”
นายประเชิญ กล่าวด้วยว่า วันนี้ประชาชนต้องตั้งคำถามแล้วว่าใครเป็นผู้ได้ประโยชน์จากสิ่งก่อสร้างต่างๆ เหล่านี้