ล้วงเหตุผล! กมธ.สนช.ชง รบ.ล้างระบอบอุปถัมภ์ใช้‘ประชารัฐ’แก้ได้จริงหรือ?
“…การแก้ไขปัญหาระบบอุปถัมภ์ยังจำเป็นต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน หรือที่เรียกว่า “ประชารัฐ” การแก้ไขปัญหาระบบอุปถัมภ์ยังจำเป็นต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของทุกภาคในสังคมไทย ไม่แยกฝ่ายและไม่กันบุคคลใดออกไป ทุกคนจะต้องร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหาทีเกิดขึ้น ร่วมกันพัฒนาชุมชนท้องถิ่นและประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้ามั่นคงและยั่งยืน…"
ในที่สุดที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาให้ความเห็นชอบผลการศึกษาเรื่อง ‘การแก้ไขปัญหาระบบอุปถัมภ์ในระบบราชการไทยให้เป็นรูปธรรม’ ของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาการศึกษาการแก้ไขปัญหาระบบอุปถัมภ์ในระบบราชการไทยให้เป็นรูปธรรม ที่มี พล.ร.อ.ศักดิ์สิทธิ์ เชิดบุญเมือง สมาชิก สนช. เป็นประธานฯ และเตรียมนำเสนอต่อรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพื่อแก้ไขปัญหาต่อไป
(อ่านประกอบ : สนช.ชงล้างระบบอุปถัมภ์เสนอ รบ.-สกัดทุจริต)
ท่ามกลางเสียงชื่นชมไม่น้อย เนื่องจากปฏิเสธไม่ได้ว่า ระบอบอุปถัมภ์ ฝังรากลึกอยู่ในสังคมไทยมาอย่างยาวนาน และเป็นช่องเปิดโอกาสให้คนทำทุจริตได้ ในที่ประชุม สนช. มีการอภิปรายความเห็นส่วนใหญ่สนับสนุนผลการศึกษาดังกล่าวอย่างกว้างขวางด้วย
เพื่อให้สาธารณชนเข้าใจมากขึ้น สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำบทสรุปผลการศึกษาดังกล่าว นำเสนอดังนี้
การศึกษาของ กมธ. พบว่า ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ข้าราชการและวัฒนธรรมการทำงานของราชการยังคงถูกแทรกซึมด้วยระบบอุปถัมภ์มาโดยตลอด ข้าราชการไทยส่วนหนึ่งยังยึดโยงกับความเชื่อในเรื่อง “ผู้ใหญ่-ผู้น้อย” “การให้ความช่วยเหลือ” “การฝากเนื้อฝากตัว” “การทดแทนบุญคุณ” “ข้าเก่าเต่าเลี้ยง” จึงเกิดระบบที่เรียกว่า เจ้านายเก่าลูกน้องเก่าที่ต่างอุปถัมภ์ค้ำชูช่วยเหลือตอบแทนกันไป ทำให้ระบบอุปถัมภ์ยังคงฝังลึกไปทั้งระบบราชการไทย อีกทั้งยังพัฒนาการจากความสัมพันธ์ส่วนบุคคลมาเป็นความสัมพันธ์ในเชิงผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวพัน ประกอบกับปัจจุบันความสัมพันธ์ระหว่างการเมือง ธุรกิจ และข้าราชการประจำ เป็นไปในลักษณะไม่สมดุล ทำให้เกิดวงจรที่ข้าราชการชั้นผู้น้อยวิ่งเข้าหาข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ส่วนข้าราชการชั้นผู้ใหญ่วิ่งหานักการเมือง ในฐานะผู้ที่เข้ามาใช้อำนาจรัฐและมีอำนาจในการพิจารณาแต่งตั้ง โยกย้าย เลื่อนยศ เลื่อนตำแหน่ง และนักธุรกิจเข้ามาวิ่งเต้นในระบบราชการ เพื่อเสนอผลประโยชน์ตอบแทนให้กับข้าราชการ และนักการเมือง โดยแลกกับผลประโยชน์ทางธุรกิจหรือสิทธิพิเศษในการทำธุรกิจ
เมื่อวิเคราะห์ถึงความเสียหายที่มีผลต่อระบบราชการไทย พบว่า ระบบอุปถัมภ์ได้สร้างความเสียหายในหลายมิติ โดยความเสียหายที่ประเทศชาติต้องสูญเสียเหล่านั้นกลับไปสร้างประโยชน์ให้กับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ที่ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของบ้านเมือง ทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติ เกิดความไม่ถูกต้อง ไม่เป็นธรรม ซึ่งสามารถสรุปความเสียหายได้ 3 ด้าน
1.ด้านบริหารงานบุคคล
ผลเสียหายคือ ระบบราชการเสียโอกาสที่จะได้คนดี คนเก่งเข้ามาในระบบ แต่กลับได้บุคลากรที่มีคุณสมบัติ ความรู้ ความสามารถที่ไม่เหมาะสมกับตำแหน่ง ทำให้คนดีคนเก่งในระบบท้อแท้ ขาดขวัญกำลังใจ ขาดความมุ่งมั่นทำงาน จนทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของหน่วยงานราชการลดลง องค์กรไม่พัฒนาหรือพัฒนาไปได้ช้า ขาดความสามัคคีเกิดความขัดแย้งในองค์กร บุคลากรไม่มุ่งเน้นการสร้างผลงาน แต่มุ่งเน้นการเข้าหาผู้มีอำนาจ ประจบ สอพลอ ข้าราชการถูกใช้เป็นเครื่องมือของผู้มีอำนาจ เกิดการเลือกปฏิบัติต่อข้าราชการในหน่วยงาน
2.ด้านการบริการประชาชน
ผลเสียหายคือ ประชาชนมีค่านิยมที่ไม่ดีในการรับบริการจากภาครัฐ โดยมักหาช่องทางที่ดีต้องอาศัยเส้นสาย ความสนิทสนมความสัมพันธ์ส่วนตัว หรือการเสนอเงินให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ จนเกิดช่องทางการแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบด้วยกฎหมาย ทั้งจากเจ้าหน้าที่รัฐ และผู้มาติดต่อขอรับบริการ เกิดการเรียกรับสินบน เงินใต้โต๊ะ ส่วย เกิดการเลือกปฏิบัติ เกิดการบริการที่มีมาตรฐานไม่เท่าเทียม เกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคม จนเป็นผลให้ประชาชนหมดศรัทธาต่อข้าราชการ และระบบข้าราชการ และอาจไม่ให้ความร่วมมือกับทางราชการ
3.ด้านการทุจริตคอร์รัปชั่น
ผลเสียหายคือ มีการประกาศใช้กฎหมาย กฎ และระเบียบที่เอื้ออำนายต่อผลประโยชน์ของตนหรือของพวกพ้อง ซึ่งส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อการบริหารและการปกครองประเทศโดยรวม เกิดการจัดสรรการใช้งบประมาณแผ่นดินและทรัพยากรในโครงการต่าง ๆ อย่างไม่เหมาะสม เกิดการผูกขาดในการผลิตสินค้าและบริการ การแข่งขันทางการค้าไม่เป็นธรรม ประเทศชาติและประชาชนได้รับสินค้า สาธารณูปโภค และการบริการที่มีคุณภาพต่ำ แต่ราคาสูงเกินความเป็นจริง เนื่องจากได้มีการจ่ายเงินสินบนหรือเงินค่าเจรจาในการดำเนินธุรกิจให้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งจะถูกนำไปรวมเป็นต้นทุนในการผลิตสินค้าและบริการของภาคธุรกิจ และส่งผลต่อราคาสินค้า ค่าครองชีพ และภาวะเศรษฐกิจโดยรวมที่ประชาชนต้องได้รับผลกระทบไปในที่สุด
นอกจากนี้ระบบอุปถัมภ์เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการทุจริตการเลือกตั้ง และเป็นที่มาของการซื้อสิทธิขายเสียง ผลเสียคือ ได้นักการเมืองที่ไม่มีความรู้ความสามารถและมีจริยธรรมเพียงพอที่จะเข้ามาบริหารประเทศ และมีโอกาสที่จะเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์จากการใช้อำนาจหรือการกำหนดนโยบายโดยมิชอบ เพื่อถอนทุนคืนจากการซื้อสิทธิขายเสียง ท้ายที่สุดต่างชาติขาดความเชื่อมั่นในระบบราชการ ไม่เข้ามาลงทุน ขาดการยอมรับและเชื่อถือจากนานาประเทศ ส่งผลเสียที่ใหญ่หลวงต่อภาพลักษณ์และชื่อเสียงของประเทศชาติ
กมธ. มีความเห็นว่า การที่จะเปลี่ยนแปลงระบบราชการที่มีความคุ้นชินกับระบบอุปถัมภ์ให้กลับมายึดถือระบบคุณธรรม ต่อต้านการใช้ระบบอุปถัมภ์ สนับสนุนยกย่องคนดีคนเก่ง มีความรู้ความสามารถ มากกว่ายกย่องสรรเสริญผู้มีเงิน มีอำนาจบารมีนั้น จะต้องเปลี่ยนแปลงหรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของบุคคลและองค์กร
โดยอาศัยหลักการสำคัญคือ “การสร้างความรู้ความเข้าใจ ด้วยการชี้ให้เห็นโทษและพิษภัยของระบบอุปถัมภ์” “การรณรงค์ในการสร้างทัศนคติให้ประชาชนและข้าราชการมีจิตสำนึก รักคุณธรรม มีจริยธรรม และให้ความสำคัญแก่ค่านิยมความกตัญญูกตเวทีต่อประเทศชาติ” และ “การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตั้งแต่ระดับบุคคล ระดับกลุ่ม จนถึงพฤติกรรมระดับองค์กร” โดยการสร้างพฤติกรรมในการปฏิเสธการให้อุปถัมภ์และการรับอุปถัมภ์ ด้วยการทำให้เกิดความละอายใจที่จะให้หรือรับการอุปถัมภ์ เกิดความเกรงกลัวผลที่จะตามมา
นอกจากหนทางสู่ความเป็นรูปธรรมดังกล่าวแล้ว การแก้ไขปัญหาระบบอุปถัมภ์ยังจำเป็นต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน หรือที่เรียกว่า “ประชารัฐ” การแก้ไขปัญหาระบบอุปถัมภ์ยังจำเป็นต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของทุกภาคในสังคมไทย ไม่แยกฝ่ายและไม่กันบุคคลใดออกไป ทุกคนจะต้องร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหาทีเกิดขึ้น ร่วมกันพัฒนาชุมชนท้องถิ่นและประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้ามั่นคงและยั่งยืน โดยรัฐจะเป็นผู้อำนวยความสะดวก สนับสนุน เปิดช่องทางให้ภาคราชการ ภาคการเมือง ภาควิชาการ ภาคเอกชน ภาคประชาชน และสื่อมวลชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบ กำกับ ดูแล ติดตามการบริหารราชการแผ่นดิน
เมื่อทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการรับรู้ ช่วยกันสอดส่อง และแจ้งเบาะแสพฤติกรรมที่เป็นพิษภัยต่อระบบราชการ ก็ยิ่งทำให้การแก้ไขปัญหาระบบอุปถัมภ์ในระบบราชการไทยเป็นรูปธรรมขึ้นได้ อีกทั้งเป็นผลให้ระบบการบริหารราชการแผ่นดินมีประสิทธิภาพ มีความโปร่งใส ประชาชนเกิดความศรัทธาและเชื่อมั่น
นี่คือบทสรุปเบื้องต้นของ กมธ. ที่เชื่อว่า ระบบอุปถัมภ์คือภัยร้ายแรงที่กัดกินประเทศไทย จนเกิดผลเสียหายอื่น ๆ ตามมา และสิ่งที่จะช่วยแก้ไขได้นั่นคือนโยบาย ‘ประชารัฐ’ ตามแนวทางของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์
ส่วนจะแก้ไขได้จริงหรือ ต้องติดตามผลกันต่อไป !