นักวิชาการแนะ “งานวิจัยเกษตร” จับโจทย์ใหม่ภัยพิบัติ
วช.เปิดเวทีถกงานวิจัยภาคเกษตร ยอมรับส่วนใหญ่ขึ้นหิ้งเพราะแยกส่วนดินน้ำพืช-ชาวบ้านไม่มีส่วนร่วม-ไม่ตอบสนองพื้นที่ แนะตั้งโจทย์ใหม่จากล่างขึ้นบน-บูรณาการปัญหาภัยพิบัติ
เมื่อเร็วๆนี้ ที่คณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัดเสวนา “รวมพลังงานวิจัยสร้างเกษตรไทยยั่งยืน” โดย นายจิรากร โกศัยเสวี กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่าเกษตรกรยังขาดองค์ความรู้ เช่น คนภาคใต้ทำสวนยางมาหลายชั่วอายุคน แต่บางคนยังกรีดยางผิดวิธี ลดศักยภาพในการผลิตและสูญเสียน้ำยางโดยใช่เหตุ ซึ่งสะท้อนว่าเกษตรกรยังเข้าไม่ถึงวิชาการ ดังนั้นงานวิจัยจึงทำหน้าที่เสมือนศูนย์ความรู้ที่เติมเต็มให้เกษตรกร
นายบุญลือนักวิชาการจากกรมการข้าว กล่าวว่างานวิจัยเกี่ยวกับข้าวที่ควรเน้นเป็นพิเศษต้องสนองต่อปัญหาที่มีความซับซ้อนมากขึ้น ไม่ใช่แค่เรื่องเก็บหรือพัฒนาพันธุ์พืชแบบพื้นๆ ควรคิดให้ครอบคลุมใน 7 ประเด็นคือ 1.การเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตข้าว เนื่องจากผลผลิตยังไม่สูงเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง 2.การรักษาเสถียรภาพการผลิต ซึ่งไทยมักสูญเสียไปกับปัญหาศัตรูพืชและภัยธรรมชาติ 3.การพัฒนาการผลิตข้าวให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ
“มีงานวิจัยชัดเจนระบุว่าหากอุณหภูมิโลกสูงขึ้น 1 องศา ผลผลิตข้าวจะลดลงประมาณร้อยละ 10 ซึ่งไทยทำนาปรังได้ประมาณ 12 ล้านตัน เท่ากับจะได้ผลผลิตลดลง 1.2 ล้านตัน สร้างความเสียหายค่อนข้างสูง”
นายบุญลือ กล่าวต่อไปว่า 4.การต่อยอดเรื่องการผลิตเพื่อสู้กับคู่แข่ง คุณภาพ และกระแสความปลอดภัยทางอาหาร 5.เทคโนโลยีทันสมัยในการพัฒนาข้าว เนื่องจากพฤติกรรมเกษตรกรเปลี่ยน มีการใช้นวัตกรรมใหม่ๆเพิ่มขึ้น งานวิจัยควรสอดคล้องกับวิถีในปัจจุบัน 6.เสริมสร้างความสามารถการผลิตเชิงพื้นที่เฉพาะ เช่น ที่ราบ ดินเค็ม ดินเปรี้ยว ให้ผลผลิตเพียงพอต่อการบริโภค 7.เพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถชาวนาและสถาบันเกษตรกร โดยการสร้างองค์ความรู้และความภาคภูมิใจให้เกษตรกร
นางสุกัญญา อธิปอนันต์ ผอ.กองวิจัยและพัฒนางานส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่าปัจจุบันมีงานวิจัยมากมายแต่ไม่เกิดประโยชน์ ดังนั้นต้องให้เกษตรกรมีส่วนร่วมกับงานวิจัย รวมทั้งถอดความวิชาการยากๆให้เข้าใจได้ง่ายๆ
“งานวิจัยที่เป็นประโยชน์กับเกษตรกรโจทย์ต้องมาจากพื้นที่ นักวิจัยไม่ต้องทำอะไรมาก แต่ให้เขาเคลื่อนด้วยตนเอง เพียงแต่ไปกระตุ้นให้ถูกจุดและสนับสนุนวิธีคิดให้เป็นระบบ จะต่อยอดให้วิจัยนั้นมีความสมบูรณ์และยั่งยืน แก้ปมแม้เทคโนโลยีทันสมัยแต่เกษตรกรไม่ยอมรับ” นางสุกัญญา กล่าว
ดร.พิทยากร ลิ่มทอง ผอ.สำนักผู้เชี่ยวชาญ กรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่าจุดอ่อนของงานวิจัยด้านดินคือขาดการบูรณาการเรื่องน้ำและพืชมาเป็นองค์ประกอบ ทั้งที่การพัฒนาการเกษตรให้ยั่งยืนปัจจัยทั้ง 3 ต้องเอื้อกันหมด อีกประเด็นที่น่าสนใจคือที่ดินในประเทศไทยยังขาดความอุดมสมบูรณ์ แม้มีการพัฒนาเทคโนโลยีมากพอควร แต่ไม่อาจต้านทานภัยพิบัติได้ จึงต้องคิดให้ไกลกว่านั้น เพราะที่มีอยู่ยังใช้งบประมาณสูง และไม่ยั่งยืน
“ยกตัวอย่างเช่นการตั้งหมอดินซึ่งเป็นเกษตรกรล้วนๆ คือแนวทางการพัฒนาที่ต่อมาจากงานวิจัยที่เจ้าหน้าที่ทำเพียงไม่กี่คน มาถ่ายทอดเชิงพื้นที่ สุดท้ายเขาก็ไปส่งต่อกันเอง เกิดมรรคผลเป็นเครือข่ายนำความรู้บนกระดาษสู่ผืนดิน ลักษณะเช่นนี้เป็นงานที่สำคัญในระดับพื้นที่ที่ควรส่งเสริม” ดร.พิทยากร กล่าว
นายปริญญา กมลสินธุ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมชลประทาน กรมชลประทาน กล่าวว่าโจทย์ใหญ่ที่ผู้ทำวิจัยด้านการเกษตรควรคำนึงถึงคือปัญหาภัยพิบัติ โดยเฉพาะเรื่องน้ำ ที่ต้องเน้นทั้งการจัดหาแหล่งน้ำ การบริหารจัดการ และที่เพิ่มเข้ามาคือการป้องกันภัย เป็น 3 ประเด็นเร่งด่วนที่นักวิจัยไทยต้องทำเพิ่มขึ้น เนื่องจากที่มีอยู่ไม่สามารถนำมาใช้ได้ทุกอย่าง และบางชิ้นก็ไม่ตอบโจทย์ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น.