เปิดอีก 3 โครงการ-ล้วงเบื้องหลังไฉนกรมชลฯตั้งราคากลางสูงกว่าประมูลจริงร้อยล.
“…สาเหตุที่กรมชลประทาน หรือหน่วยงานรัฐบางแห่ง มีการตั้งราคากลางไว้สูงเกินกว่าราคาที่อาจจะประมูลได้จริงนั้น อาจเป็นไปได้ว่า ในการจัดทำเอกสารขอบข่ายงาน (TOR) มีการสอดไส้ราคาวัสดุอุปกรณ์ที่ราคาสูงเกินกว่าความเป็นจริง และเป็นการช่วยให้บริษัทที่ขายวัสดุอุปกรณ์เหล่านั้นได้ผลประโยชน์เพิ่มขึ้นด้วย…”
การประกวดราคาแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Bidding) วงเงินเกินร้อยล้านบาทขึ้นไป ของกรมชลประทานกำลังถูกตั้งคำถามจากสังคม ?
เนื่องจากสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า ในช่วงปี 2559 มีอย่างน้อย 4 โครงการ ที่ประกาศราคากลางหลายร้อยล้านบาท แต่เอกชนผู้ชนะการประมูล ก็ชนะด้วยวงเงินต่ำกว่าราคากลางกว่าร้อยล้านบาทเช่นเดียวกัน
คำถามคือเหตุใดจึงการตั้งราคากลางให้สูงกว่าราคาที่อาจจะประมูลได้จริงถึงกว่าร้อยล้านบาท ?
กรมชลประทาน ทำหนังสือชี้แจงสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ถึงกรณีนี้ว่า การประกวดราคาทั้ง 4 โครงการตามที่ระบุในรายงานของสำนักข่าวอิศรานั้น ผ่านการพิจารณาเห็นชอบราคาค่าก่อสร้างจากสำนักงบประมาณแล้ว กรมชลประทานจึงได้ประกาศชื่อผู้ชนะการเสนอราคาในเวลาต่อมา ในส่วนของการที่ผู้ชนะการเสนอราคาประมูลได้ในวงเงินที่ต่ำกว่าราคากลางนับร้อยล้านบาทนั้น ถือว่าเป็นประโยชน์กับส่วนราชการเป็นอย่างมาก เพราะสามารถประหยัดงบประมาณ ทำให้นำงบประมาณส่วนที่เหลือไปใช้จ่ายด้านอื่น ๆ ที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศตามนโยบายของรัฐบาลต่อไป
แต่ไม่ได้ตอบคำถามที่ว่า เหตุใดจึงต้องตั้งราคากลางไว้สูง ‘เหยียบเมฆ’ ขนาดนี้ ?
(อ่านประกอบ : เป็น ปย.ต่อราชการ! กรมชลฯแจงปมเอกชนประมูลต่ำกว่าราคากลางร้อยล., เปิด 4 โครงการกรมชลฯตั้งราคากลางสูงกว่าราคาเอกชนประมูลหลายร้อยล.?)
ก่อนหน้านี้สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org เปิดเผยรายละเอียดหนึ่งในโครงการที่มีการตั้งราคากลางไว้ถึง 350 ล้านบาท โดยมีบริษัท บริษัท ศิริไพบูลย์ พัฒนาการ จำกัด เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุด เป็นเงินทั้งสิ้น 206,764,229 บาทหรือต่ำกว่าราคากลางประมาณ 42% ของราคากลาง หรือเกือบ 150 ล้านบาท
(อ่านประกอบ : เจาะโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำ 350 ล.กรมชลฯ-เอกชนฟันต่ำกว่าราคากลางร้อยล.)
แต่ยังมีอีกอย่างน้อย 3 โครงการ ที่ประมูลต่ำกว่าราคากลางกว่าร้อยล้านบาท สรุปได้ ดังนี้
หนึ่ง ประกวดราคาจ้างก่อสร้างประตูระบายน้ำปลายคลองสวนหมาก พร้อมอาคารประกอบ 4 กิจกรรม จ.กำแพงเพชร
ตั้งราคากลางไว้ 341,221,266.52 บาท
เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2559 มีผู้ยื่นซองประกวดราคาทั้งหมด 8 ราย
1.บริษัท แสงชัยโชค จำกัด
2.ห้างหุ้นส่วนจำกัด ณัฐพลการโยธา
3.ห้างหุ้นส่วนจำกัด สามเพชร
4.ห้างหุ้นส่วนจำกัด อึ้งแซเฮง
5.ห้างหุ้นส่วนจำกัด พินิจอุดรก่อสร้าง
6.หจก.เล็กเจริญก่อสร้าง
7.บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน)
8.บริษัท อุตสาหกรรมไทยพนาภัณฑ์ จำกัด
กระทั่งกรมชลประทาน ประกาศว่า บริษัท อุตสาหกรรมไทยพนาภัณฑ์ จำกัด เป็นผู้ชนะการประกวดราคา โดยเสนอราคาต่ำสุด เป็นเงินทั้งสิ้น 231,000,000.00 บาท หรือต่ำกว่าราคากลางประมาณ 33% หรือประมาณ 110 ล้านบาท
สอง ประกวดราคาจ้างก่อสร้างระบบระบายน้ำพานทอง จังหวัดฉะเชิงเทรา
ตั้งราคากลางไว้ 734,466,350.60 บาท
เมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2559 มีผู้ยื่นซองประกวดราคาทั้งหมด 10 ราย ได้แก่
1.บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด
2.บริษัท บางแสนมหานคร จำกัด
3.บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน)
4.ห้างหุ้นส่วนจำกัด ตั้งเจริญ
5.บริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน)
6.บริษัท เอส เทค ซีวิล แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด
7.ห้างหุ้นส่วนจำกัด สามประสิทธิ์
8.บริษัท ริเวอร์ เอนจิเนียริ่ง จำกัด
9.บริษัท สยามพันธุ์วัฒนา จำกัด (มหาชน)
10.ห้างหุ้นส่วนจำกัด อึ้งแซเฮง
กระทั่งกรมชลประทาน ประกาศว่า บริษัท ริเวอร์ เอนจิเนียริ่ง จำกัด เป็นผู้ชนะการประกวดราคา โดยเสนอราคาต่ำสุดเป็นเงินทั้งสิ้น 514,002,898.20 บาท หรือต่ำกว่าราคากลางประมาณ 30% หรือประมาณ 220 ล้านบาท
สาม ประกวดราคาจ้างก่อสร้างสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า พร้อมระบบส่งน้ำ ทุ่งทะเลหลวง (แก้มลิง) 5 แห่ง ต.บ้านกล้วย อ.เมือง จ.สุโขทัย ด้วยวิธี e-Bidding
ตั้งราคากลางไว้ 223,994,616.90 บาท
เมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2559 มีผู้ยื่นซองประกวดราคาทั้งหมด 10 ราย ได้แก่
1.บริษัท จักรวาลบุรีรัมย์ จำกัด
2.ห้างหุ้นส่วนจำกัด สามเพชร
3.บริษัท พีซีเอ็น คอร์ป จำกัด
4.บริษัท เทิดไท แอนด์ โค จำกัด
5.ห้างหุ้นส่วนจำกัด ชโนทัย
6.ห้างหุ้นส่วนจำกัด พิษณุโลกวิวัฒน์พัฒนา
7.บริษัท กฤษดากร คอนสตรัคชั่น จำกัด
8.บริษัท พงษ์ไพศาลอุตสาหกรรม จำกัด
9.ห้างหุ้นส่วนจำกัด อึ้งแซเฮง
10.บริษัท ริเวอร์ เอนจิเนียริ่ง จำกัด
กระทั่งกรมชลประทาน ประกาศว่า บริษัท กฤษดากร คอนสตรัคชั่น จำกัด เป็นผู้ชนะการประกวดราคา โดยเสนอราคาต่ำสุดเป็นเงินทั้งสิ้น 112,480,000,000 บาท หรือต่ำกว่าราคากลางประมาณ 50% หรือประมาณ 110 ล้านบาท
ทั้งนี้ แหล่งข่าวจากบริษัทเอกชนที่คร่ำหวอดในการยื่นซองประมูลกับราชการ เปิดเผยสำนักข่าวอิศราถึงกรณีนี้ว่า สาเหตุที่กรมชลประทาน หรือหน่วยงานรัฐบางแห่ง มีการตั้งราคากลางไว้สูงเกินกว่าราคาที่อาจจะประมูลได้จริงนั้น อาจเป็นไปได้ว่า ในการจัดทำเอกสารขอบข่ายงาน (TOR) มีการสอดไส้ราคาวัสดุอุปกรณ์ที่ราคาสูงเกินกว่าความเป็นจริง และเป็นการช่วยให้บริษัทที่ขายวัสดุอุปกรณ์เหล่านั้นได้ผลประโยชน์เพิ่มขึ้นด้วย ดังนั้นให้ไปตรวจสอบรายละเอียดในเอกสาร TOR ว่า มีวัสดุอุปกรณ์ใดราคาแพงเกินจริงหรือไม่
อย่างไรก็ดี 3-4 โครงการข้างต้นของกรมชลประทาน เป็นเพียง ‘ยอดภูเขาน้ำแข็ง’ เท่านั้น แต่ยังมีอีกหลายโครงการที่ยังมีลักษณะตั้งราคากลางไว้สูงกว่าความเป็นจริงอีก
สำนักข่าวอิศรา จะนำมาเสนอในคราวต่อไป !
อ่านประกอบ : เปิดมติ ครม.หลักเกณฑ์ราคากลาง! กรมชลฯตั้งสูงกว่าประมูลจริงร้อยล. ทำได้หรือ?