ก.เกษตรมอบทุเรียนพันธุ์พื้นบ้านชาวนนท์ หวังกู้วิกฤตสวนผลไม้
ก.เกษตรขยายพันธุ์ทุเรียน ส้มโอ กู้สวนผลไม้จมน้ำท่วม พร้อมส่งมอบเกษตรกรเมืองนนท์ –นครปฐม มิ.ย. 55 “โอฬาร”เผยตั้งคณะทำงานพัฒนาทุเรียน สั่งการกรมชลฯ สร้างคันกั้นน้ำระลอกหน้า
นายโอฬาร พิทักษ์ รองโฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (รองโฆษก กษ.) เปิดเผยว่า ผลกระทบจากอุทกภัยปี 54 ทำให้สวนไม้ผล เช่น ทุเรียนและส้มโอในพื้นที่จ.นนทบุรี นครปฐม และชัยนาท ได้รับความเสียหาย ซึ่งการสำรวจพบว่า สวนทุเรียนพันธุ์พื้นเมืองดั้งเดิมของจ.นนทบุรี เสียหายเกือบทั้งหมด จากเดิมมีพื้นที่ปลูก 2,900 ไร่ เหลือเพียง 40 ไร่ สวนส้มโอ จ.นครปฐม เช่น พันธุ์ทองดีและขาวน้ำผึ้งเสียหายกว่าร้อยละ 60 และสวนส้มโอ จ.ชัยนาท เช่น พันธุ์ขาวแตงกวา เสียหายกว่าร้อยละ 50
เพื่อกู้วิกฤตและฟื้นฟูแหล่งผลิตไม้ผลพันธุ์ดีของประเทศทั้งทุเรียนและส้มโอให้กลับคืนปรกติ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ทำโครงการกู้วิกฤตสวนไม้ผลพันธุ์ดีเฉพาะท้องถิ่นที่ประสบอุทกภัยขึ้น โดยดำเนินการ 3 จังหวัด ได้แก่ จ.นนทบุรี นครปฐม และชัยนาท งบประมาณ 5 ล้านบาท โดยตั้งเป้าหมายนำทุเรียนและส้มโอ ทั้งพันธุ์เศรษฐกิจและพันธุ์ดั้งเดิมที่สูญหายไปจากแหล่งเคยปลูกมาขยายพันธุ์ส่งคืนแก่เกษตรกร ซึ่งคาดว่าจะเริ่มส่งมอบพันธุ์ทุเรียนและส้มโอได้ใน มิ.ย. 55
รองโฆษก กษ. กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมากระทรวงเกษตรและสหกรณ์มอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรเก็บรวบรวมและขยายพันธุ์ไม้ผลในหลายชนิด ทั้งในช่วงก่อนเกิดอุทกภัยและในช่วงเกิดอุทกภัย ประกอบด้วย ทุเรียนสายพันธุ์เดิม 40 สายพันธุ์จากโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จำนวน 25,000 ต้น โดยมีเป้าหมายพื้นที่ปลูก 1,000 ไร่ นอกจากนี้ยังมีสวนส้มโออีกจำนวน 30,000 ต้น เป้าหมายพื้นที่ปลูก 750 ไร่
ขณะนี้ได้มีการสำรวจความต้องการของเกษตรกร และจัดทำทะเบียนเกษตรกร รวมทั้งทำแผนปฏิบัติการผลิตเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือจัดทำแปลงสาธิต โดยจะนำหลักวิชาการและเทคโนโลยีการผลิตที่เหมาะสมมาผสมผสานเข้ากับภูมิปัญญาท้องถิ่นถ่ายทอดสู่เกษตรกร เพื่อให้นำปฏิบัติ ซึ่งส่วนนี้กรมส่งเสริมการเกษตรจะเข้ามาเป็นพี่เลี้ยงดูแล และจัดฝึกอบรมให้กับเกษตรกร ซึ่งวิกฤตน้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้เป็นโอกาสดีที่จะนำทุเรียนพันธุ์ดีที่เป็นพันธุ์ดั้งเดิมและหายากเฉพาะถิ่น ซึ่งหลายพันธุ์ได้สูญหายไปแล้วจากแหล่งปลูก เช่น ทุเรียนพันธุ์กบแม่เฒ่า กบชายน้ำ เม็ดในยายปราง ย่ำมะหวาด จอกลอย กระดุมสีนาค กบพิกุล และสาวน้อย เป็นต้น มามอบให้กับเกษตรกรได้ปลูก เพื่อเป็นการอนุรักษ์และรักษาพันธุ์ทุเรียนไทย ซึ่งถือเป็นสิ่งที่บ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของไม้ผลที่สำคัญของไทยให้คงอยู่ และเพิ่มจำนวนสายพันธุ์จากเดิมที่เคยสูญหายไปให้เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย
“เพื่อให้การปรับปรุงสวนไม้ผลเป็นไปอย่างยั่งยืน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการให้มีการตั้งคณะทำงานพัฒนาทุเรียนนนทบุรีขึ้น 1 ชุด เพื่อดูแลและฟื้นฟูสวนทุเรียนอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งมอบหมายให้กรมชลประทานเข้ามาช่วยหาแนวทางการป้องกันน้ำท่วมให้กับพื้นที่ประสบภัย เพื่อให้การพัฒนาเป็นไปอย่างยั่งยืนต่อไป” นายโอฬาร กล่าว
ที่มาภาพ : http://www.muangboranjournal.com/modules.php?name=News&file=article&sid=2411