เปิดตัวเลขทุจริตเงินอุดหนุนนักเรียนชายแดนใต้ 3 ปี 134 ล้าน!
ข้อกล่าวหาหนึ่งที่พูดกันมานานเกี่ยวกับแวดวงการศึกษาที่ชายแดนใต้ ก็คือการทุจริตเงินอุดหนุนรายหัวโรงเรียนเอกชน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนา
ฝ่ายความมั่นคงมักชอบให้ข่าวแบบลับๆ ว่ามีการทำกำไรจนกลายเป็น “ธุรกิจการศึกษา” คือรับเงินอุดหนุนรายหัวจากรัฐแล้ว ยังไปเก็บค่าเล่าเรียนจากพ่อแม่ผู้ปกครองซ้ำอีก ยิ่งไปกว่านั้นยังพบปัญหาการแย่งชิงเด็กนักเรียน เพื่อเพิ่ม “จำนวนหัว” หรือยอดนักเรียนของโรงเรียน อันจะส่งผลถึงยอดเงินอุดหนุนซึ่งจะสูงตามไปด้วย
ซ้ำรายยังมีการนำชื่อนักเรียนไปวน หรือที่เรียกว่า “เวียนเทียน” โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ เคยตรวจสอบเรื่องนี้ และพบนักเรียนบางคนมีชื่อในโรงเรียนถึง 7 แห่ง หรือนักเรียนบางคนมีแต่ชื่อ แต่ไม่มีตัวตน
จึงเรียกกันว่า “นักเรียนผี”
ทั้งยังมีการกล่าวหาเชิงตั้งสมมติฐานน่า อาจมีการผ่องถ่ายเงินไปสนับสนุนขบวนการก่อความไม่สงบอีกด้วย
เหล่านี้ล้วนเป็น “ข้อกล่าวหา” แต่ไม่เคยมีการตรวจสอบอย่างจริงจังและเป็นระบบ ทำให้ไม่มีใครทราบข้อเท็จจริงที่ “จริงแท้” ส่งผลให้โรงเรียนเอกชนในพื้นที่เสียภาพพจน์
ล่าสุดมีรายงานว่ากระทรวงศึกษาธิการ โดย พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยฯ ได้สั่งการให้ตรวจสอบเรื่องนี้อย่างจริงจังตามระเบียบกฎหมาย และเปิดช่องทางแก้ไขปัญหาไว้ให้โรงเรียนที่เข้าข่ายกระทำผิด ไม่ได้มุ่งหักดั้มพร้าด้วยเข่า
1.4 หมื่นบาทต่อคนต่อปี
เม็ดเงินงบประมาณที่ใช้อุดหนุนรายหัวนักเรียนของโรงเรียนเอกชนในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น แต่ละปีมีจำนวนไม่น้อย เพราะยอดเงินอุดหนุนต่อหัวสูงถึงกว่า 14,000 บาท ขณะที่นักเรียนโรงเรียนเอกชนประเภทต่างๆ ในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีมากกว่า 200,000 คน
ข้อมูลจากการตรวจสอบของกระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน พบว่าหลายปีที่ผ่านมามีปัญหาโรงเรียนเอกชนบางแห่งใช้เงินอุดหนุนจากรัฐบาลอย่างผิดวัตถุประสงค์ มีการตกแต่งชื่อและจำนวนนักเรียน พบนักเรียนจำนวนมากมีชื่อซ้ำซ้อนกันในหลายโรงเรียน และหลายๆ ครั้งก็มีการเบิกเงินอุดหนุนซ้ำซ้อน
“ยกตัวอย่างกันชัดๆ เด็กมีชื่ออยู่หลายโรงเรียน ชื่อซ้อน เบิกซ้อน เบิกซ้ำ การตรวจสอบอะไรต่างๆ ก็ไม่เข้มแข็ง ไม่เรียบร้อย ผมจึงตั้งคณะกรรมการไปตรวจสอบ ก็ได้ผล สามารถใช้งบประมาณของทางราชการได้ถูกต้องตามนโยบาย บางแห่งที่ใช้ผิดวัตถุประสงค์ รัฐให้ไปอุดหนุนรายหัวนักเรียน แต่กลับนำเงินที่เบิกซ้อนไปใช้อย่างอื่น แบบนี้ก็สั่งให้คืนตามระเบียบ” พล.อ.สุรเชษฐ์ ระบุ
เรียกเงินคืน 3 ปี 134 ล้าน!
จากการตรวจสอบของกระทรวงศึกษาธิการ พบว่าในปีงบประมาณ 2556 มีโรงเรียนเอกชนจาก 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ต้องคืนเงินอุดหนุนจำนวน 256 โรง จำนวนเงินทั้งสิ้น 43,300,000 บาท
ขณะที่ปีงบประมาณ 2557 มีโรงเรียนที่ต้องคืนเงินอุดหนุน 227 โรง จำนวนเงินที่ต้องส่งคืน 82,300,000 บาท รวมเพียง 2 งบประมาณ ยอดเงินเรียกคืนสูงถึงกว่า 125 ล้านบาท
ล่าสุดปีงบประมาณ 2558 ที่เพิ่งสิ้นสุดไปเมื่อวันที่ 30 ก.ย.ที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการได้สรุปตัวเลขออกมาแล้วพบว่า มีโรงเรียนเอกชนชายแดนใต้ต้องคืนเงินอุดหนุนทั้งสิ้น 8,800,000 บาท
รวม 3 ปีงบประมาณสูงกว่า 134 ล้านบาท
ปัตตานีครองแชมป์
สำหรับโรงเรียนที่ต้องส่งคืนเงินอุดหนุน แยกรายจังหวัด พบว่า ปีงบประมาณ 2556 จ.นราธิวาส มี 58 โรง จ.ปัตตานี 92 โรง จ.ยะลา 57 โรง จ.สงขลา 32 โรง และ จ.สตูล 17 โรง
ปีงบประมาณ 2557 จ.นราธิวาส 43 โรง จ.ปัตตานี 81 โรง จ.ยะลา 54 โรง จ.สงขลา 33 โรง และ จ.สตูล 16 โรง
รวม 2 ปีงบประมาณ โรงเรียนเอกชนใน จ.ปัตตานี มีปัญหาต้องส่งคืนเงินอุดหนุนมากที่สุด ส่วนตัวเลขสำหรับปีงบประมาร 2558 ยังสรุปไม่เรียบร้อย
เบี้ยวส่งคืนไม่ต่อใบอนุญาต
สำหรับการดำเนินการกับโรงเรียนที่พบปัญหา รมช.ศึกษาธิการ บอกว่า ใช้วิธีเจรจาและบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งเป็นไปตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการกำหนดมาตรการช่วยเหลือนักเรียนในโรงเรียนเอกชนเป็นเงินอุดหนุนรายบุคคล พ.ศ.2555
“ไม่ว่าจะเจตนาหรือไม่เจตนา แต่ถ้าคณะกรรมการชี้มูลแล้วเห็นว่าผิด ก็ต้องคืน ส่วนที่จะพยายามไม่คืน หรือมีปัญหาอะไรก็ชี้แจงมา ปรากฏว่าก็ได้รับความร่วมมือที่ดี แต่ก็มีบางส่วนเหมือนกันที่ส่งคืนช้า ก็จะมีมาตรการเรื่องการต่อใบอนุญาตประกอบกิจการโรงเรียนเอกชนในปีถัดๆ ไป”
ส่วนคำถามที่ติดอยู่ในใจใครหลายคนว่า งบประมาณที่ถูกส่งลงไปเพื่อช่วยเหลือเด็กๆ ได้ถูกเบี่ยงเบนไปใช้เพื่อการก่อความไม่สงบหรือไม่นั้น ประเด็นนี้แม้ในทางการข่าวจะมีการรายงานมาเป็นระยะ แต่ รมช.ศึกษาธิการ ไม่ตอบคำถามตรงๆ
“ผมมองเป็นเรื่องของความเข้าใจผิด ก็สร้างความเข้าใจ และสร้างการรับรู้กับประชาชน มันเป็นเงินอุดหนุนรายหัวที่ต้องเป็นไปตามวัตถุประสงค์ เช่น ค่าอุปกรณ์การเรียนการสอน ถ้าใช้ผิดวัตถุประสงค์ก็ต้องใช้ให้ตรง ถือเป็นการปฏิบัติตามระเบียบราชการ ไม่ได้ไปมีปัญหาอะไรกับใคร” รมช.สุรเชษฐ์ กล่าว
โบ้ยตรวจสอบโรงเรียนรัฐบ้าง
ด้านท่าทีของฝั่งโรงเรียนเอกชนในพื้นที่ นายขดดะรี บินเซ็น ประธานสมาพันธ์โรงเรียนเอกชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวเรื่องนี้ด้วยน้ำเสียงไม่พอใจนัก
นายขดดะรี เรียกปัญหารายชื่อนักเรียนซ้ำซ้อนจนกลายเป็นการได้รับเงินอุดหนุนรายหัวจากรัฐบาลเกินจำนวนนักเรียนว่า “ปัญหารายชื่อผี” และว่าเรื่องรายชื่อผีนั้นยอมรับว่ามีจริง แต่ตอนนี้ไม่มีแล้ว และได้จ่ายคืนครบทุกคนแล้ว
“ที่ผ่านมามีการตรวจรองเท้าเด็กนักเรียนทุกคนที่เข้าโรงเรียน การตรวจสอบโดยเจ้าหน้าที่บางครั้งก็มากเกินไป ทำเหมือนกับพวกเราเป็นโจรไปปล้นเขา สิ่งที่ผมอยากถามก็คือ โรงเรียนรัฐที่เจอเด็กผีมากกว่าโรงเรียนเอกชนต้องจ่ายคืนไหม เพราะคือเงินอุดหนุนที่มาจากภาษีของประชาชนเหมือนกัน ปัญหาเด็กผีของโรงเรียนเอกชนจริงๆ แล้วคือไม่ได้เจตนา แต่เป็นปัญหาเรื่องสภาพพื้นที่ บางทีไปตรวจตอนเด็กหายไปจากโรงเรียนหรือไม่อยู่ที่โรงเรียนพอดี เมื่อพบก็ยอมรับและจ่ายคืนเงินอุดหนุน แต่ถามว่ารายชื่อผีที่อยู่ในโรงเรียนรัฐ ภาครัฐได้แก้ไขอย่างไรบ้าง” นายขดดะรี ถามกลับ
ชาวบ้านร้องสอบ “นมโรงเรียน”
จากการตรวจสอบเพิ่มเติมของ “ทีมข่าวอิศรา” พบว่าแม้ประเด็นเงินอุดหนุนรายหัวโรงเรียนเอกชนจะถูกตรวจสอบจากกระทรวงศึกษาธิการมากขึ้นแล้ว แต่ก็ยังมีเรื่องร้องเรียนจากประชาชนในพื้นที่ไปยังศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด ให้ตรวจสอุบปัญหานี้อยู่อย่างต่อเนื่อง มีการระบุชื่อโรงเรียน หรือชื่ออำเภอที่ตั้งของโรงเรียนด้วย
นอกจากนั้นยังมีการเรียกร้องให้ตรวจสอบการทุจริตเรื่อง “นมโรงเรียน” ซึ่งได้รับเงินอุดหนุนจากภาครัฐเช่นกัน