ประวิทย์ยันคิดเป็นวินาที ไม่เกี่ยวค่าโทรแพง พร้อมช่วยผู้บริโภคได้นาทีคืนมา30%
นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการ กสทช. ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน โต้สุดตัวด้วยการยืนยันข้อมูลว่า การโทรในกลุ่มประเทศสมาชิกอียู ล้วนมีการคิดค่าโทรเป็นวินาที ตามนโยบายรวมทั้งมีการกำหนดอัตราขั้นสูงของค่าบริการ เพื่อป้องกันการแอบขึ้นราคาของผู้ให้บริการอีกด้วย
ตามที่ กทค. ได้มีมติเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ให้ผู้ชนะการประมูลคลื่น 1800 และ 900 MHz ต้องคิดค่าโทรตามจำนวนวินาทีที่โทรจริงโดยไม่ปัดเศษ เพราะเป็นเงื่อนไขที่กำหนดไว้ก่อนการประมูลอย่างชัดเจน อีกทั้ง เลขาธิการ กสทช. และประธาน กทค. เองก็เคยชี้แจงและยืนยันต่อสาธารณะมาโดยตลอด ว่าจะเร่งดำเนินการในเรื่องนี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ทั้ง สปช. และ สปท. ได้เคยเสนอไว้ ว่าผู้ประกอบการควรคิดค่าบริการตามการใช้งานจริง โดยผู้บริโภคไม่ต้องจ่ายค่าบริการส่วนที่ตนเองไม่ใช้บริการ เนื่องจากที่ผ่านมา ผู้ให้บริการพากันปัดเศษหน่วยนับ อย่างเช่น ค่าโทรปัดเศษให้ครบนาที ค่าเน็ตปัดเศษให้ครบเมกะไบต์หรือบางโปรปัดเป็น 100 เมกะไบต์ก็มี ทั้งที่ใช้งานจริงเพียง 1 กิโลไบต์ คือปัดเศษเพิ่มถึงหนึ่งแสนเท่าของการใช้งานจริง นับว่าเป็นการคิดค่าบริการที่ไม่เป็นธรรมอย่างชัดเจน
อย่างไรก็ตาม อีกทางหนึ่งก็ได้มีการพยายามทำให้สังคมสับสนว่า หากคิดค่าโทรเป็นวินาที จะทำให้ผู้บริโภคจ่ายแพงขึ้น ไม่มีประเทศไหนดำเนินการ ซึ่งเรื่องนี้ นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน โต้สุดตัวด้วยการยืนยันข้อมูลว่า การโทรในกลุ่มประเทศสมาชิกอียู ล้วนมีการคิดค่าโทรเป็นวินาที ตามนโยบาย digital single market รวมทั้งมีการกำหนดอัตราขั้นสูงของค่าบริการ เพื่อป้องกันการแอบขึ้นราคาของผู้ให้บริการอีกด้วย
นอกจากนั้น กสทช. ด้านการคุ้มครองผู้บริโภครายนี้ยังให้ข้อมูลเชิงสถิติเพิ่มเติมด้วยว่า หากคิดค่าโทรแบบปัดเศษเป็นนาที ในอียูพบว่า ผู้บริโภคต้องจ่ายเงินเพิ่มกว่าที่ใช้จริงอีกร้อยละ 24 และในแคนาดามีผู้บริโภคประมาณว่า ในแพ็กเกจหรือรายการส่งเสริมการขายแบบโทรฟรีที่ใช้ในแต่ละรอบบิล มีนาทีหายไปร้อยละ 30-40 จากการปัดเศษ แต่ถ้าคิดเป็นวินาที นาทีที่หายไปจะกลับมาให้ผู้บริโภคใช้โทรฟรีได้ โดยไม่ต้องถูกคิดค่าบริการแบบโทรเกินแพ็กเกจที่มีราคาแพงกว่าปกติ ซึ่งตรงกับปัญหาของผู้บริโภคไทย ตามที่ กสทช. ได้รับการร้องเรียนมาตลอด ว่าผู้บริโภคใช้งานไม่เกินโปร แต่กลับถูกเรียกเก็บค่าบริการส่วนเกินโปร เพราะผู้ให้บริการปัดเศษนาทีทุกครั้งที่โทรออก ทำให้ยอดการใช้งานที่ถูกเรียกเก็บสูงกว่าเวลาการโทรจริงที่บันทึกในมือถือผู้ร้องเรียน เดือนละหลายร้อยนาที
“ในเรื่องค่าโทรนั้น กสทช. มีหน้าที่กำกับดูแล โดยได้มีเงื่อนไขก่อนการประมูลชัดเจนว่า ค่าโทรเฉลี่ยจะเพิ่มขึ้นไม่ได้ ดังนั้น การคิดค่าโทรตามจริงเป็นวินาที และการกำกับดูแลราคา จะเป็นสองมาตรการที่ทำควบคู่กันเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ส่วนการอ้างว่าถ้าจะให้คิดเป็นวินาที ต้องโฆษณาค่าโทรเป็นวินาที ทำให้ยุ่งยาก เป็นเพียงความเข้าใจผิด เวลาเราเข้าปั๊มน้ำมัน ราคาหน้าปั๊มของทุกเจ้าประกาศเป็นลิตร แต่เมื่อเราเติม 1.2 ลิตร เขาก็คิดเงินแค่นั้น ไม่ปัดขึ้นเป็น 2 ลิตร ส่วนราคาน้ำมันจะถูกลงหรือแพงขึ้นเป็นเรื่องของกลไกตลาดน้ำมัน ไม่ใช่ว่าถ้าคิดเงินตามมิเตอร์หัวจ่าย ราคาน้ำมันจะแพงขึ้น การประกาศราคาจึงยังคงประกาศตามหน่วยวัดเดิมได้ ดังที่ในต่างประเทศสรุปว่า โฆษณาค่าโทรเป็นนาที แต่คิดค่าโทรเป็นวินาที ไม่ยากอย่างที่บางฝ่ายพยายามสร้างความสับสน เพื่อขอทบทวนไม่ให้คิดค่าบริการตามจริงเป็นวินาที” นายประวิทย์กล่าว
อนึ่ง ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในเรื่องนี้มีการพยายามขัดขวางการคิดค่าบริการตามจริงอย่างเป็นขบวนการ โดยมีการขอทบทวนมติคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) มีการพยายามทำความเห็นว่าการทบทวนมตินี้ ไม่ต้องดำเนินการตามข้อบังคับการประชุม กสทช. ที่เกี่ยวข้อง และมีการยื่นหนังสือโดยอ้างว่าผู้บริโภคจะเสียประโยชน์ จึงเป็นเรื่องน่ากังวลว่า อิทธิพลของธุรกิจได้แผ่เข้ามาในองค์กรอิสระอย่าง กสทช. อย่างเป็นระบบแล้วหรือไม่