เปิด พ.ร.บ.คอมพ์ฯ-ข้อสังเกต กมธ. ฉบับผ่าน สนช.ละเมิดสิทธิตรงไหน-ไฉนต้องแก้?
“…หากมองจากฝ่ายรัฐ นี่คือกฎหมายคุมเข้มด้านความมั่นคงที่อ้างว่า ป้องกันความปลอดภัยในโลกยุคใหม่ ที่ ‘อินเตอร์เน็ต’ เป็นใหญ่ นัยว่าป้องกันภัยการก่อการร้ายสากลที่เริ่มรุกคืบมาในย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย ส่วนอีกฝ่ายที่สวนว่า กฎหมายดังกล่าว โดยเฉพาะมาตรา 20 ละเมิดเสรีภาพทางอินเตอร์เน็ตในการวิพากษ์วิจารณ์ หรือแสดงความเห็นกับภาครัฐ โดยมองว่า กฎหมายนี้ไม่ได้ปกป้องคนที่ถูกละเมิด หรือความมั่นคง แต่มีไว้ปกป้องรัฐบาลโดยเฉพาะ…”
หลายคนอาจจะทราบกันไปแล้วว่า พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ฉบับที่ .. พ.ศ. …. ผ่านการลงมติด้วยเสียงเป็นเอกฉันท์จากที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ด้วยคะแนนเสียง 168 ต่อ 0 เสียง งดออกเสียง 6 ราย และเตรียมประกาศใช้เป็นกฎหมาย
(อ่านประกอบ : สนช.ผ่านฉลุย พ.ร.บ.คอมพ์ฯ เพิ่ม กก. กลั่นกรอง 9 คน-กมธ.ยันไม่ละเมิดสิทธิชัวร์)
ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมบางฝ่าย ที่มองว่า ร่าง พ.ร.บ.คอมพ์ฯดังกล่าว อาจเปิดช่องละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยเฉพาะมาตรา 20 ที่บสรุปได้ว่า รมว.ดิจิทัลและเศรษฐกิจเพื่อสังคม (DE) แต่งตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองฯ เพื่อพิจารณาข้อเท็จจริงในกรณีต่าง ๆ ที่อาจละเมิดตามกฎหมายฉบับนี้ จำนวน 9 ราย โดยเฉพาะประเด็นที่ขัดต่อศีลธรรมอันดีต่อประชาชน ซึ่งยังคงมีความคลุมเครือ และตีความได้ค่อนข้างกว้างขวาง
ล่าสุด เว็บไซต์สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เผยแพร่ร่าง พ.ร.บ.คอมพ์ฯ ฉบับดังกล่าวแล้ว สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สรุปรายละเอียดเฉพาะมาตราที่สำคัญให้สาธารณชนรับทราบ ดังนี้
มาตรา 8 ให้ยกเลิกความในมาตรา 14 แห่ง พ.ร.บ.คอมพ์ฯ ปี 2550 แล้วให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
มาตรา 14 ผู้ใดกระทำความผิดตามที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
(1) โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอม ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน อันมิใช่การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฏหมายอาญา
(2) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน ...
โดยมาตรา 14 (1) และ (2) ดังกล่าว ถูกบางฝ่ายในสังคมวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก โดยเฉพาะ (1) ที่มีการเพิ่มข้อความในเรื่องการนำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอม ซึ่งยังคงกินความหมายค่อนข้างกว้าง และตีความยาก
อย่างไรก็ดีกรณีนี้ พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ ประธาน กมธ. ที่พิจารณากฎหมายฉบับนี้ เคยชี้แจงต่อที่ประชุม สนช. แล้วว่า สาเหตุที่เพิ่มคำว่าโดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง และมีคำว่าบิดเบือน หรือปลอมด้วยนั้น เจตนารมณ์ไว้ใช้ในการจับพวกหลอกหลวงประชาชน หรือฉ้อโกงประชาชน สำหรับคำว่าบิดเบือน หมายความว่า พูดความจริง แต่พูดไม่หมด มีการบิดคำพูดบางอย่าง ทำให้ความจริงเผยแพร่ออกมาไม่หมด ซึ่งอาจสร้างความเสียหายแก่ประชาชนได้ ที่สำคัญยังแก้ไขให้ไม่เกี่ยวกับการหมิ่นประมาทอีกต่อไป
ส่วนข้อสังเกตของ กมธ. ระบุด้วยว่า สาเหตุที่เพิ่มเติมการกระทำความผิดตามมาตรา 14 (1) อันมิใช่ความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา เพื่อให้เห็นเจตนารมณ์ที่ชัดเจนว่า กรณีที่การกระทำความผิดดังกล่าวเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฏหมายอาญาแล้ว ไม่ถือว่าเป็นความผิดตามมาตรา 14 (1)
ส่วนใน (2) ก่อนหน้านี้เคยมีคำว่า ‘บริการสาธารณะ’ อยู่ แต่ถูกสมาชิก สนช. หลายรายอภิปรายคัดค้าน เนื่องจากอาจตีความได้ยาก ทำให้ กมธ. ต้องตัดคำดังกล่าวทิ้งไป
ทั้งนี้หากพิจารณาจากการบังคับใช้ พ.ร.บ.คอมพ์ฯปี 2550 ที่บัญญัติมาตรา 14 (1) เดิม รวมถึงความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยนั้น เห็นได้ว่า เป็นการเปิดช่องให้มีการฟ้องร้องตาม พ.ร.บ.คอมพ์ฯ มาตราดังกล่าวเพื่อ ‘ปิดปาก’ ประชาชน รวมถึงสื่อมวลชน ไม่ให้นำเสนอข่าวตีแผ่ข้อเท็จจริงในเรื่องราวที่มี ‘กลิ่น’ ไม่ชอบมาพากลมาโดยตลอด และที่สำคัญโทษตามมาตรานี้กำหนดไว้สูงมาก ส่งผลให้ประชาชน รวมถึงสื่อบางแห่งต้อง ‘เซ็นเซอร์’ ตัวเองอยู่ตลอดเวลา
ต่อด้วย มาตรา 10 ให้ยกเลิกความในมาตรา 16 แห่ง พ.ร.บ.คอมพ์ฯปี 2550 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
มาตรา 16 ผู้ใดนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่ประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ปรากฏเป็นภาพของผู้อื่น และภาพนั้นเป็นภาพที่เกิดจากการสร้างขึ้น ตัดต่อ เติม หรือดัดแปลงด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์หรือวิธีการอื่นใด โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกิน 2 แสนบาท
… ถ้าการกระทำตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง เป็นการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์โดยสุจริต อันเป็นการติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งอื่นใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ ผู้กระทำไม่มีความผิด
ความผิดตามวรรคหนึ่งและวรรคสองเป็นความผิดอันยอมความได้
อธิบายให้ง่ายคือ กมธ. ยกความผิดฐานหมิ่นประมาทตามมาตรา 14 (1) มาใส่เพิ่มในมาตรา 16 เพื่อเปิดช่องให้มีการยอมความกันได้หากถูกฟ้องร้อง ที่สำคัญหากทำไปด้วยความสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรม ก็ไม่มีความผิดอีกด้วย ถือว่าเป็นการแก้ไขเปิดช่องให้ประชาชน รวมถึงสื่อมวลชน สามารถรายงานเหตุการณ์ความไม่โปร่งใสต่าง ๆ ได้มากยิ่งขึ้น ถ้ามีพยานหลักฐานเพียงพอ
อีกมาตราหนึ่งที่มีเสียงวิจารณ์มากที่สุดคือ มาตรา 14 ให้ยกเลิกความในมาตรา 20 แห่ง พ.ร.บ.คอมพ์ฯปี 2550 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
มาตรา 20 ในกรณีที่มีการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ ดังต่อไปนี้ พนักงานเจ้าหน้าที่โดยได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีอาจยื่นคำร้องพร้อมแสดงพยานหลักฐานต่อศาลที่มีเขตอำนาจ ขอให้ศาลมีคำสั่งระงับการทำให้แพร่หลาย หรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นออกจากระบบคอมพิวเตอร์ได้
… (3) ข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่เป็นความผิดอาญาตามกฎหมายเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญหา หรือกฎหมายอื่น ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นมีลักษณะขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีต่อประชาชนและเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายนั้น หรือพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้ร้องขอ
ในกรณีที่มีการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่มีลักษณะขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์จะมอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่ยื่นคำร้องพร้อมแสดงพยานหลักฐานต่อศาลที่มีเขตอำนาจขอให้มีคำสั่งระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นออกจากระบบคอมพิวเตอร์ได้ ทั้งนี้ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยคณะกรรมการที่มีอำนาจดำเนินการพิจารณาทางปกครองตามกฏหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองมาใช้บังคับกับการประชุมของคณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยอนุโลม
ให้รัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์ตามวรรคสองขึ้นคณะหนึ่งหรือหลายคณะ แต่ละคณะให้มีกรรมการจำนวน 9 คน ซึ่ง 3 ใน 9 คนต้องมาจากผู้แทนภาคเอกชนด้านสิทธิมนุษยชน ด้านสื่อสารมวลชน ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือด้านอื่นที่เกี่ยวข้อง และให้กรรมการได้รับค่าตอบแทนตามหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีกำหนดโดยได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง
มาตรา 20 (3) และการแต่งตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองฯ นี่แหละที่ถูกต้านมากที่สุด โดยเฉพาะประเด็น ขัดต่อความสงบเรียบร้อยแล้วศีลธรรมอันดีของประชาชน ที่ยังไม่มีมาตรฐานใดมาวัดว่า อะไรคือการขัด หรือไม่ขัด รวมถึงคณะกรรมการกลั่นกรองฯ ที่แม้จะมี 3 ราย มาจากภาคสิทธิมนุษยชน สื่อสารมวลชน และด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ แต่นับเป็นแค่เสียงข้างน้อย และไม่มีอะไรการันตีถึงสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนได้
แม้ ‘บิ๊กตู่’ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะถามเสียงดังกลับไปยังบรรดาฝ่ายต้านทำนองว่า เมืองไทยเป็นเมืองพุทธ ถ้าไม่เข้าใจคำว่าศีลธรรม ก็ไม่ต้องทำอะไรแล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่มีคำอธิบายที่ชัดเจนอยู่ดีว่า ‘ศีลธรรม’ ตกลงแล้วมีขอบข่ายการตีความตามกฎหมายกว้าง มาก-น้อย แค่ไหน ?
(อ่านประกอบ : ‘บิ๊กตู่’ท้าทายฝ่ายต้าน พ.ร.บ.คอมพ์ฯ! ไร้ความเห็น ขรก.รับเงินที่ปรึกษาเอกชน)
ทั้งหมดคือสาระสำคัญในร่างกฎหมายดังกล่าว ที่สามารถมองได้ 2 ด้าน หากมองจากฝ่ายรัฐ นี่คือกฎหมายคุมเข้มด้านความมั่นคงที่อ้างว่า ป้องกันความปลอดภัยในโลกยุคใหม่ ที่ ‘อินเตอร์เน็ต’ เป็นใหญ่ นัยว่าป้องกันภัยการก่อการร้ายสากลที่เริ่มรุกคืบมาในย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย ส่วนอีกฝ่ายที่สวนว่า กฎหมายดังกล่าว โดยเฉพาะมาตรา 20 ละเมิดเสรีภาพทางอินเตอร์เน็ตในการวิพากษ์วิจารณ์ หรือแสดงความเห็นกับภาครัฐ โดยมองว่า กฎหมายนี้ไม่ได้ปกป้องคนที่ถูกละเมิด หรือความมั่นคง แต่มีไว้ปกป้องรัฐบาลโดยเฉพาะ
ไม่ว่าข้อเท็จจริงจะเป็นเช่นไร แต่ประชาชนคนไทยต้อง ‘ทำใจ’ เตรียมพร้อมรับกฎหมายดังกล่าว ที่อาจมีการประกาศใช้ในอีกเร็ว ๆ นี้ แล้ว !
(อ่านร่าง พ.ร.บ.คอมพ์ฯ ฉบับผ่าน สนช. ประกอบ : http://w3c.senate.go.th/bill/bk_data/221-3.pdf)
(อ่านข้อสังเกต กมธ. ร่าง พ.ร.บ.คอมพ์ฯ ฉบับผ่าน สนช. ประกอบ : http://w3c.senate.go.th/bill/bk_data/221-5.pdf)