3องค์ปาฐกมอง “จัดการภัยพิบัติ” ภัยร้ายคุกคามสุขภาวะ 2 ทศวรรษนี้…อย่างไร?
นาทีนี้หัวข้อสนทนาที่ไทยทุกคนคุยต่อกันติดคือมหาอุทกภัย’54 และคำถามท้าทาย “เชื่อหรือว่ารัฐบาลจะช่วยไม่ให้เราอ่วมน้ำอีก?” ลองฟัง 3 มุมมองจัดการภัยพิบัติ นพ.ประเวศ วะสี-ปรีดา คงแป้น-วิชัย บรรดาศักดิ์
…………………..
วันที่ 2-4 ก.พ.55 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ภายใต้หัวข้อ “รับมือภัยพิบัติ จัดการภัยสุขภาวะ” โดยมี 3 องค์ปาฐกร่วมปาฐกถาในหัวข้อดังกล่าวได้อย่างน่าสนใจ ศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศรา ขอนำมาเสนอ
นพ.ประเวศ วะสี : ออก พ.ร.บ.ตั้งองค์กรอิสระ “คกก.ป้องกันภัยพิบัติชาติ”
ศ.นพ.ประเวศ วะสิ ราษฎรอาวุโส และประธานคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป(คสป.) สรุปว่าภัยพิบัติเป็นอันตรายต่อสุขภาวะรุนแรง เป็นการบรรจบของวิกฤติทุกด้าน เช่น สังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม การเมือง กลายเป็นวิกฤติอารยธรรม โลกต่อไปอีกอย่างน้อย 20 ปีต้องเผชิญภัยพิบัติรุนแรงในรูปแบบต่างๆ พายุรุนแรงขึ้น แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด สึนามิ ภัยแล้ง น้ำท่วมหนัก พื้นที่ผลิตอาหารน้อยลงบวกกับวิกฤติเศรษฐกิจทำให้ราคาอาหารโลกแพงขึ้น 30% นำไปสู่จราจลและสงคราม ทั้งหมดเกิดจากการคิดและทำแบบแยกส่วน การพัฒนาที่เอาเศรษฐกิจเป็นตัวตั้ง การศึกษาที่เอาวิชาเป็นตัวตั้งไม่ได้เอาชีวิตคนเป็นตัวตั้ง สังคมจึงขาดพลัง
“80ปีประชาธิปไตยไทยเป็นมิกสัญญียุค เพราะต่อสู้ทำลายล้างกันมาตลอด เพราะใช้สมองส่วนหลังแบบสัตว์เลื้อยคลาน ผมไม่เชื่อว่าเราจะไปสู่การเปลี่ยนแปลงใหญ่ได้โดยใช้การทะเลาะกัน ประเทศไทยต้องเข้าเกียร์ใหม่จากเกียร์หลังเป็นเกียร์หน้า ใช้สมองส่วนหน้าที่เป็นสติปัญญาและศีลธรรมมาทำงานร่วมกัน”
ราษฎรอาวุโส เสนอ 6 แนวทางจัดการภัยพิบัติ 1.คนไทยต้องเปลี่ยนวิธีคิดและจิตสำนึกเป็นสังคมที่ไม่ตั้งอยู่บนความประมาท ต้องตื่นตัวตรียมตัว ใช้ข้อมูลข่าวสารความรู้เพิ่มสมรรถนะตัวเอง 2.ทำให้เกิดชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็งทั้งประเทศ เป็นเครื่องมือเผชิญภัยพิบัติ สำรวจข้อมูลทุกพื้นที่ว่าเสี่ยงภัยพิบัติอะไร แล้ววางแผน สร้างเครื่องมือเทคโนโลยีที่จำเป็น ฝึกอาสาสมัคร ก็จะป้องกันภัยพิบัติได้หรือเมื่อเกิดขึ้นก็จะได้รับผลกระทบไม่รุนแรง และยังทำให้เกิดพลังชุมชนเข้มแข็งจัดการตนเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่ คสป.ขับเคลื่อนอยู่ทั้งท้องถิ่นจัดการตนเอง จังหวัดจัดการตนเอง ซึ่งไม่เฉพาะจัดการปัญหาพื้นที่ ยังรวมถึงการกำหนดนโยบายในพื้นที่เอง
3.ตั้ง “ศูนย์ภัยพิบัติศึกษา” ในมหาลัยทุกแห่งทั่วประเทศ จะทำให้มีข้อมูล ความรู้ เทคโนโลยีที่จำเป็น และแผนเต็มไปหมดสนับสนุนท้องถิ่น 4.มีระบบสื่อสารที่ทำให้รู้ความจริงทั่วถึง ไม่ใช่สื่อสารสับสนอย่างที่ผ่านมา ต้องนำเอาเทคโนโลยีการสื่อสารซึ่งขณะนี้ทำให้ทั่วถึงกันหมดมาใช้ประโยชน์ให้ได้ 5.เครื่องมือการตัดสินใจทางนโยบายและยุทธศาสตร์ระดับชาติ เป็นปัญหาที่สุดเพราะต้องอาศัยการมืองกับระบบราชากร ซึ่งเป็นระบบอำนาจ แต่ปัจจุบันปัญหาหลากหลายซับซ้อนใช้อำนาจไม่ได้ผล ต้องใช้ความรู้ปัญญา ควรตั้ง “คณะกรรมการป้องกันภัยพิบัติแห่งชาติ” นอกจากนายกฯเป็นประธาน และตัวแทนส่วนราชการ ควรมีกรรมการส่วนใหญ่ที่รู้จริงจากชุมชน นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญการสื่อสาร และมีสำนักงานเป็นองค์กรอิสระ ทำให้ได้ใช้คนเก่งจริง
“6.ออก พ.ร.บ.ปัองกันภัยพิบัติแห่งชาติ ที่เยอรมันเคยน้ำท่วมหนัก เขารวบรวมความรู้ทุกชนิดออกกฏหมาย ใครให้ข้อมูลไม่จริงทำให้คนไขวเขวจะถูกตำรวจจับ เราลองรวบรวมความรู้ทุกชนิดมาบัญญัติกฏหมาย ระบุว่าใครต้องทำอะไรไม่ควรทำอะไร ดึงคนทุกภาคส่วนเข้ามาเคลื่อนไหวทางปัญญาและสังคมไปทั้งประเทศ ให้คนไทยร่วมกันยกร่าง พ.ร.บ.นี้ ทั้ง 6 ข้อนอกจากเพิ่มสมรรถภาพเผชิญภัยพิบติ ยังเพิ่มสมรรถนะคนไทยในการเผชิญภัยทุกชนิด สมัชชาสุขภาพต้องขับเคลื่อนให้คนไทยร่วมคิดร่วมทำ”
ปรีดา คงแป้น : “เครือข่ายชุมชนจัดการภัยพิบัติ” บทเรียนจากสึนามิ
ปรีดา คงแป้น กรรมการสมัชชาปฏิรูป สะท้อนว่าภัยพิบัติที่เกิดขึ้นเป็นห้องเรียนใหญ่ให้คนไทยเรียนรู้ร่วมกัน ธรรมชาติมาเตือนไม่ให้โลภหลงกับการพัฒนา ไม่ให้ใช้ทรัพยากรอย่างทารุณ ก่อสร้างขวางทางน้ำ เอาที่นาบรรพบุรุษไปสร้างโรงงานอุตสาหกรรม จนเกิดภัยพิบัติที่สร้างความเสียหายอย่างหนัก ซึ่งกลุ่มคนเปราะบางได้รับผลกระทบหนักที่สุด ในขณะที่การช่วยเหลือจากภาครัฐไม่ทั่วถึง ไม่มีประสิทธิภาพ ขาดความยืดหยุ่น
ปรีดา นำเสนอบทเรียนจากภัยพิบัติสึนามิเมื่อ 7 ปีก่อน ว่าผู้ประสบภัยจะรอเฉพาะความช่วยเหลือจากหน่วยงานไม่ได้ ชุมชนที่เดือดร้อนต้องลุกขึ้นมา เป็นกระบวนการจัดการภัยพิบัติชุมชนที่ลึกซึ้งและคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ชาวบ้านดูแลกันเอง กระจายความช่วยเหลือสู่ผู้เดือดร้อนอย่างรวดเร็ว ตัดวงจรทุจริต เกิดเครือข่ายความร่วมมือของชุมชน เกิดกระบวนการเยียวยาจิตใจซึ่งกันและกัน นอกจากนี้ยังเป็นการพลิกวิกฤติเป็นโอกาสจากผู้ประสบภัยมาสู่ผู้พัฒนา สร้างศักยภาพผู้นำชุมชน สร้างสำนึกสาธารณะที่ร่วมกันแก้ปัญหา เป็นการพัฒนาแนวราบจากล่างโดยประชาชน แทนแนวดิ่งแบบสั่งการจากรัฐที่เป็นต้นตอทุกปัญหา
“7 ปี สีนามิ 400 ชุมชนได้รับผลกระทบ แต่มี 105 ชุมชนรวมตัวเป็นเครือข่ายผู้ประสบภัย นอกจากจัดการปัญหาภัยพิบัติ ยังพลิกวิกฤติเป็นโอกาสสู่การพัฒนาและแก้ปัญหาอื่นๆ เช่น ดูแลปัญหาที่ดิน ทรัพยากร คนชายขอบ ผลักดันจนเกิดมติ ครม.ฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวแล และล่าสุดคือร่าง พ.ร.บ.สัญชาติที่ทำให้คนไทยพลัดถิ่นมีสิทธิความเป็นไทย ทั้งนี้การจัดการภัยพิบัติชุมชนควรเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของรัฐและทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หวังว่างบภัยพิบัติ 1.4 แสนล้านของรัฐบาลจะคำนึงถึงเรื่องพวกนี้” เธอ กล่าว
วิชัย บรรดาศักดิ์ : “ปากเกร็ดโมเดล” ต้นแบบท้องถิ่นจัดการอุทกภัย
วิชัย บรรดาศักดิ์ นายกเทศมนตรีนครปากเกร็ด มองว่าหากส่วนราชการท้องถิ่นไม่ว่าจะเป็นกรุงเทพมหานคร(กทม.) องค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) องค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) เทศบาล สามารถบรรเทาปัญหาในพื้นที่ของตนเองด้ ก็จะช่วยบรรเทาปัญหาโดยภาพรวมของประเทศไปด้วย ทั้งนี้ท้องถิ่นมีศักยภาพที่จะทำได้ เพราะมีผู้แทนซึ่งเป็นคนในพื้นที่เข้าใจปัญหาและความต้องการในพื้นที่ตนเองอย่างดี นอกจากนี้โดยโครงสร้างกฏหมายก็กำหนดภารกิจให้ท้องถิ่นดูแลจัดการสาธารณภัยอยู่แล้ว มีทั้งงบประมาณ กำลังคน เครื่องไม้เครื่องมือ ดังนั้นหากท้องถิ่นบริหารจัดการทรัพยากรเองได้ จะป้องกันภัยพิบัติได้ระดับหนึ่ง
“เทศบาลนครปากเกร็ดอยู่ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนปลาย น้ำท่วมทุกปี โดยเฉพาะฤดูน้ำเหนือ เราจึงมีแผนและเตรียมงบจัดการน้ำไว้ทุกปี พอปี 54 เราคาดว่าน้ำจะมามาก จึงวางแผนเพิ่มเติมจากเดิม 2 ชั้น เช่น เพิ่มกำลังคน จึงสามารถป้องกันได้ ต้องยอมรับว่าดูแลพื้นที่ 36.04 ตารางกิโลเมตรได้ไม่ทั้งหมด แต่ก็ทำให้พื้นที่เสียหายน้อยที่สุด เราได้ชุมชนคนรักบ้านเกิดที่เสียสละช่วยกัน เพราะมีวัตถุประสงค์และเป้าหมายชัดเจนร่วมกัน อย่างน้อยได้พื้นที่แห้งไว้ช่วยเยียวยาพื้นที่น้ำท่วม” วิชัย กล่าวถึงปากเกร็ดโมเดลป้องกันน้ำท่วม
เขายังสะท้อนว่า ช่วงอุทกภัยไม่ใช่เพียงครัวเรือนที่ถูกน้ำท่วมจะเกิดปัญหาสุขภาพ แต่ชาวบ้านที่ไม่โดนท่วมก็วิตกกังวลว่าเมื่อไรน้ำจะมา จะมาเท่าไร จึงเป็นอีกประเด็นที่หน่วยงานในพื้นที่ต้องดูแล ซึ่งเทศบาลนครปากเกร็ดได้ตั้งศูนย์สื่อสารทำความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำท่วม มีการรับเรื่องราวร้องทุกข์ผ่านเครือข่ายประชาชน ผ่านเสียงตามสาย และระบบออนไลน์ เพื่อให้ข้อมูลที่ถูกต้องและสร้างขวัญกำลังใจให้ชาวบ้านในพื้นที่ ทั้งนี้นอกจากส่วนราชการท้องถิ่นเอง เครือข่ายชุมชนในฐานะจิตอาสาได้เข้ามามีบทบาทอย่างมากในความสำเร็จของ “ปากเกร็ดโมเดล” ซึ่งจัดการภัยพิบัติโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน หน่วยงานรัฐ เอกชน และวัด
“ความไว้วางใจระหวางภาคส่วนต่างๆมีความจำเป็นในการบริหารจัดการภัยพิบัติ รัฐไม่สามารถทำได้สำเร็จทุกอย่าง ท้องถิ่นก็เช่นกัน เรามีกฏหมาย มีคน มีงบประมาณ แต่ภัยพิบัตินับวันรุนแรงยิ่งขึ้น ดังนั้นรัฐบาลต้องกระจายอำนาจจัดการ และปรับการทำงานให้ท้องถิ่นสามารถใช้ทรัพยากรจัดการตนเอง โดยรัฐบาลสนับสนุนข้อมูลและการทำงานที่เป็นเอกภาพ และต้องไม่ลืมศักยภาพชุมชน”
……………………
ถึงเวลาที่รัฐบาลต้องยอมรับว่า การจัดการภัยพิบัติที่เป็นวาระแห่งชาตินั้น ต้องมีทั้งโครงสร้างระดับประเทศที่แข็งแรง และกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น-ชุมชนจัดการตนเองในระดับพื้นที่
ดังนั้นข้อเสนอตั้งองค์กรอิสระ “คณะกรรมการภัยพิบัติชาติ” โดยภาคประชาชนร่วมยกร่าง พ.ร.บ. ตลอดจนรูปธรรม “เครือข่ายผู้ประสบภัยสึนามิ” และ “ปากเกร็ดโมเดล” จึงเป็นเสียงสะท้อนที่ต้องรับฟัง .