ส.ส่งออกชี้แนวโน้มข้าวแพง แต่เกษตรยังจน หากไม่คุมต้นทุน
สมาคมส่งออกข้าว ระบุแนวโน้มราคาตลาดโลกดี แต่เกษตรกรไทยยังจนเพราะต้นทุนสูง แนะรัฐเร่งปรับชลประทานครอบคลุมพื้นที่เพาะปลูก ส.ปาล์มชี้ทางรอดต้องเพิ่มผลผลิตต่อไร่ ตัวแทนภาคปศุสัตว์มองลดภาษีนำเข้าอาหารสัตว์ยังไกล-ไม่ตอบโจทย์
วันที่ 3 เม.ย. 54 ที่พิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ จ.ปทุมธานี จัดสัมมนา “เกษตรไทยปลื้มใจอาหารแพง” เนื่องในโอกาสวันสถาปนากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) ครบ 119 ปี โดย นายสมเกียรติ มรรคยาธร ผู้แทนสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่าภาพรวมราคาข้าวที่ผ่านมาอยู่ในลักษณะขาขึ้น แนวโน้มก็สูงขึ้นเรื่อยๆ แต่ต้นทุนการผลิตภายในประเทศสูง ทำให้เกษตรกรไทยเสียเปรียบเพื่อนบ้านที่ต้นทุนต่ำกว่า
“สินค้าร้อยละ 50 ตลาดโลกกำหนดราคา ข้าวไทยจึงต้องแข่งขันกับข้าวประเทศเพื่อนบ้านในราคาเท่ากัน เกษตรกรบ้านเขาพอใจ แต่เกษตรกรบ้านเราอยู่ไม่ได้ อย่างข้าวขาวที่ความชื้น 15% เวียดนามได้กำไรตันละ 7 พันกว่าบาท ขณะที่ไทยได้ 2 พันกว่าบาท ได้เงินส่วนต่างจากรัฐอีกไม่เท่าไร” นายสมเกียรติ กล่าว
ผู้แทนสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวต่อไปว่าเราไม่สามารถคุมราคาขายได้ แต่คุมต้นทุนให้ลดลงได้ โดยอาจต้องอาศัยความร่วมมือจากเกษตรกรเองและรัฐช่วยดำเนินการ ที่เร่งด่วนที่สุดสำหรับรัฐคือการพัฒนาระบบชลประทานที่มีเพียงร้อยละ 30 ให้ครอบคลุมพื้นที่นาข้าวทั้งหมด เพราะทุกวันนี้ชาวนาส่วนใหญ่ยังทำนารอฝน ผลผลิตขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ ส่วนเกษตรกรต้องช่วยเหลือตนเองด้วยทั้งการดูแลพันธุ์ ฟื้นฟูดิน ควบคุมการใช้ปุ๋ย
นายกฤษดา ชวนะนันท์ นายกสมาคมโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม กล่าวว่าทุกครั้งที่ราคาอาหารแพง สุดท้ายนโยบายแก้ปัญหาก็จะเน้นให้เกษตรกรที่มีรายได้ต่ำต้องผลิตสินค้าราคาถูกให้ผู้มีรายได้สูงกว่าบริโภค ทำให้ภาคเกษตรกรรมไม่พัฒนา พื้นที่และปัจจัยต่างๆจึงถูกภาคอุตสาหกรรมรุกคืบอย่างหนัก
“วันนี้มีการพูดเรื่องความมั่นคงทางอาหาร ภาคเกษตรกรรมจึงถูกชูขึ้นมา แต่สุดท้ายต้องไปดูว่าเงินที่เหลือเข้ากระเป๋าเกษตรกรตัวเลขจริงมีเท่าไร ต้นทุนจะเป็นตัวชี้ ถ้าได้เงินเข้ากระเป๋าเท่าเดิมแสดงว่าขาดทุน” นายกสมาคมโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มกล่าว
นายกฤษดา กล่าวต่อว่าแม้ความต้องการอาหารจะเพิ่มขึ้น แต่ภาคเกษตรไม่มีทางขยายตัวได้ เนื่องจากอุตสาหกรรมรุกพื้นที่จนแทบไม่เหลือแล้ว โอกาสเดียวที่เกษตรกรจะทำในภาวะที่อาหารแพงเช่นนี้ คือการปรับตัวเอง ผลิตแบบลดต้นทุนให้ได้มากที่สุด และเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้มากขึ้น
นางปภาวี สุธาวิวัฒน์ ประธานสภาอุตสาหกรรม จ.นครปฐม กล่าวว่านอกเหนือจากปัจจัยการผลิต ดินฟ้าอากาศ ต้นทุนการผลิตระบบขนส่ง และเศรษฐกิจประเทศผู้นำเข้าไม่ฟื้นตัวสิ่งที่เกษตรกรกำลังเผชิญอันเป็นผลจากการตื่นตัวเรื่องอาหารปลอดภัยคือการกำหนดมาตรฐานต่างๆที่เข้มงวดขึ้น ทำให้ถูกบีบเรื่องราคา บางกรณีถึงขั้นยกเลิกการส่งออก และแม้กระทั่งความเสียหายที่เกิดภายในประเทศเองก็ไม่ได้รับการดูแลจากรัฐบาล ผักผลไม้เป็นเพียงสินค้าเกษตรกลุ่มเดียวที่ไม่เคยมีนโยบายช่วยเหลืออย่างเป็นรูปธรรม
“เกษตรกรเองก็มีพฤติกรรมปลูกอะไรก็ปลูกซ้ำ สารอาหารในดินไม่มี พอไม่โตก็อัดปุ๋ยอย่างเดียว โรคแมลงก็ไม่มีการตัดวงจร ฉีดยาฆ่าจนดื้อยาอัดไปเท่าไรก็เอาไม่อยู่ ถ้าไม่แก้จริงๆอย่าว่าแต่โอกาสจะส่งออก แค่ผลิตเพื่อการบริโภคภายในต่อไปก็ลำบาก” นางปภาวี กล่าว
นายกิดดิวงค์ สมบุญธรรม เลขาธิการสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ กล่าวว่าฟันธงว่าราคาสุกรปีนี้จะสูงขึ้นแน่ แต่เกษตรกรอาจต้องประสบภาวะขาดทุนเนื่องจากต้นทุนสูง โรคระบาด อาหารสัตว์ปนเปื้อน โดยเฉพาะต้นทุนอาหารสัตว์ซึ่งต้องอาศัยการแก้ไขระดับรัฐบาล ทั้งนี้สัดส่วนการใช้วัตถุดิบอาหารสัตว์ปีนี้คาดว่าจะเกิน 14 ล้านตัน หากจัดการจุดนี้ได้จะช่วยเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ได้จำนวนมาก
“ต้นทุนร้อยละ 60 มาจากอาหารสัตว์ และส่วนใหญ่ก็เป็นพืชไร่ที่ไทยผลิตเองไมได้ อย่างถั่วเหลืองประสิทธิภาพการผลิตเรายังต่ำ และที่น่าสังเกตคือถ้าราคาพืชไร่สูง อาหารสัตว์ก็แพงไปด้วย คือวงจรที่โยงกันหมดและยังหาทางตัดวงจรไม่ได้ด้วยภาคการผลิตของเราเอง”
สำหรับแนวทางแก้ไขที่เคยมีผู้เสนอมาก่อนหน้านี้ เช่น การปรับตัวของผู้ผลิตไปสู่มาตรฐานสากล, การลดภาษีนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศมูลค่า 1,500 ล้านบาท หรือการเสริมปัจจัยการผลิตแหล่งน้ำและเทคโนโลยีเป็นโนบายชาตินั้น นายกิดดิวงค์ กล่าวว่ายังเป็นแนวทางที่ไกลเกินไป กว้างและยังทำไม่ได้จริง เห็นว่าอาจต้องเริ่มทำในลักษณะเกษตรกรรมครบวงจร ลดต้นทุนด้วยการเพิ่มมูลค่า เช่น มูลสุกรที่ทิ้งขว้างนำไปเข้าสู่กระบวนการผลิตปุ๋ย .