มสธ.มากสุด174ล.! เปิดชื่อ18 มหาลัยฯ รับงานที่ปรึกษาแต่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนก.คลัง
เปิดชื่อครบ18 มหาลัยฯ สตง.สอบพบรับงานที่ปรึกษาหน่วยงานรัฐ ทั้งที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับก.คลัง เผย 'มสธ.' มากสุด 63 โครงการ 174 ล. -ม.สงฆ์ 2 แห่ง -ที่เหลือ 'ราชภัฏ' เพียบ
ในการตรวจสอบข้อมูลกรณี มหาวิทยาลัย จำนวน 90 แห่ง ปรากฎชื่อเข้าไปรับงานที่ปรึกษาของหน่วยงานรัฐ นับตั้งแต่ปี 2555-2559 จำนวน 4,219 โครงการ รวมวงเงินตามสัญญา 14,027.14 ล้านบาท ซึ่งสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ชี้ว่า อาจส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ตามปกติของอาจารย์โดยเฉพาะการสอน ซึ่งไม่เป็นไปตามมติของคณะรัฐมนตรี (ครม.) และยังพบว่ามีมหาวิทยาลัย จำนวน 18 แห่ง ที่เข้าไปรับงานที่ปรึกษา จำนวน 200 โครงการ คิดเป็นวงเงิน 334.46 ล้านบาท ทั้งที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นที่ปรึกษาไทยกับกระทรวงการคลัง ซึ่งไม่เป็นไปตามระเบียบสำนักนายกฯ ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
พร้อมเสนอขอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พิจารณาสั่งการให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่น ๆ ของรัฐชะลอการว่าจ้างมหาวิทยาลัยรัฐที่อาจเข้าข่ายประกอบวิชาชีพวิศวกรรม โดยในการว่าจ้างเป็นที่ปรึกษาให้ปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกฯ ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยเฉพาะการตรวจสอบการขึ้นทะเบียนที่ปรึกษาไทย
ทั้งนี้ ในส่วนของข้อมูลมหาวิทยาลัย จำนวน 90 แห่ง ที่ปรากฎชื่อเข้าไปรับงานที่ปรึกษาของหน่วยงานรัฐ นับตั้งแต่ปี 2555-2559 จำนวน 4,219 โครงการ รวมวงเงินตามสัญญา 14,027.14 ล้านบาท สาธารณชนคงได้รับทราบกันไปแล้ว ว่า มีมหาวิทยาลัย ที่ได้รับงานที่ปรึกษา วงเงินเกิน1,000 ล้านบาท ขึ้นไป มีจำนวน 3 แห่ง คือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
โดย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้รับงานรวมวงเงินมากที่สุด จำนวน 3,063,428,569 บาท จากจำนวนโครงการทั้งสิ้น 629 โครงการ ตามมาด้วย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จำนวน 1,202,898,736 บาท จากจำนวนโครงการทั้งสิ้น 300 โครงการ และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จำนวน 1,049,778,995 บาท จากจำนวนโครงการทั้งสิ้น 298 โครงการ
(อ่านประกอบ :เผย3ชื่อม.ดัง! รับงานที่ปรึกษารัฐ เกษตรฯ มากสุด3พันล.-อธิการฯมธ.ยันกม.รองรับ )
แต่สาธารณชนอาจจะยังไม่ทราบว่า มหาวิทยาลัย จำนวน 18 แห่ง ที่ถูกสตง.ตรวจสอบพบว่าไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นที่ปรึกษาไทยกับกระทรวงการคลัง ซึ่งไม่เป็นไปตามระเบียบสำนักนายกฯ ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ว่ามีมหาวิทยาลัยไหนบ้าง
สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบข้อมูลรายชื่อมานำเสนอแบบชัดๆ ณ ที่นี้
1. มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย จำนวน 1 โครงการ วงเงิน 425,150 บาท
2. มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จำนวน 2 โครงการ วงเงิน 1,067,000 บาท
3. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า จำนวน 1 โครงการ วงเงิน 240,000 บาท
4. มหาวิทยาลัยนครพนม จำนวน 13 โครงการ วงเงิน 26,980,000 บาท
5. มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมธิราช 63 โครงการ วงเงิน 174,663,516 บาท
6. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก 1 โครงการ วงเงิน 3,225,000 บาท
7. มหาวิทยาลัยราชภัฏกาฬสินธุ์ 1 โครงการ วงเงิน 60,000 บาท
8.มหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ 5 โครงการ วงเงิน 7,380,000 บาท
9.มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย 18 โครงการ วงเงิน 31,094,000 บาท
10.มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี 6 โครงการ วงเงิน 7,983,000 บาท
11.มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ 10 โครงการ วงเงิน 12,185,100 บาท
12. มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ 19 โครงการ วงเงิน 14,616,740 บาท
13.มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี 9 โครงการ 7,708,000 บาท
14.มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์ 6 โครงการ วงเงิน 5,983,000 บาท
15.มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม 11 โครงการ 15,071,400 บาท
16.มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย 20 โครงการ วงเงิน 10,552,000 บาท
17.มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร 6 โครงการ วงเงิน 8,188,716 บาท
18.มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ 8 โครงการ วงเงิน 7,004,040 บาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงเย็นวันที่ 19 ธ.ค.2559 ได้ติดต่อไปยัง รศ.ดร.สมจินต์ สันถวรักษ์ กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ รักษาการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมธิราช ซึ่ง สตง.ระบุว่าเป็น 1 ใน 18 มหาวิทยาลัย ไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นที่ปรึกษาไทย และได้รับงานที่ปรึกษาไปมากที่สุดในกลุ่มนี้ จำนวน 63 โครงการ วงเงิน 174,663,516 บาท เพื่อสอบถามข้อเท็จจริง
เบื้องต้น รศ.ดร.สมจินต์ สันถวรักษ์ ระบุว่า "ยังไม่ทราบข้อมูลในเรื่องนี้ ขอเวลาตรวจสอบก่อนว่ามีข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร"
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการตรวจสอบข้อมูลการรับงานที่ปรึกษาของมหาวิทยาลัยดังกล่าว เกิดขึ้นจาก สตง.ได้รับการร้องเรียนจากเอกชนว่าถูกมหาวิทยาลัยเข้าไปแย่งงาน โดยผลการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่ามีมหาวิทยาลัย จำนวน 18 แห่ง ที่เข้าไปรับงานที่ปรึกษา จำนวน 200 โครงการ คิดเป็นวงเงิน 334.46 ล้านบาท ทั้งที่ไม่ได้ ขึ้นทะเบียนเป็นที่ปรึกษาไทยกับกระทรวงการคลัง ซึ่งไม่เป็นไปตามระเบียบสำนักนายกฯ ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
โดยปัจจุบัน สตง.อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อมูลขั้นตอนการเข้าไปรับงานที่ปรึกษาของมหาวิทยาลัยทั้ง 90 แห่ง รวมถึงกลุ่มมหาวิทยาลัยทั้ง 18 แห่ง ที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นที่ปรึกษาไทยกับกระทรวงการคลังด้วย