ล้วงเบื้องหลัง กก.ป.ป.ช.เสียงแตก! ไฉนไม่ยอมแถลงข่าวกรณีชี้มูลความผิด?
“…ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้หารือปัญหานี้ โดยมีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง ความเห็นแตกเป็น 2 ฝ่าย กรรมการ ป.ป.ช. ฝ่ายหนึ่งเห็นว่า ในเมื่อมีการร้องขอเข้ามาก็ยังไม่ควรแถลงข่าว เพราะคดียังไม่สิ้นสุด อาจทำให้ผู้ถูกกล่าวหาเสื่อมเสียชื่อเสียงได้ อีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่า สมควรต้องเผยแพร่เพราะบุคคลเหล่านั้นเป็นบุคคลสาธารณะ และตามธรรมเนียมปฏิบัติของสำนักงาน ป.ป.ช. ก็มีการเผยแพร่ข่าวเป็นปกติอยู่แล้ว…”
ช่วงเดือน ธ.ค. 2559 ที่ผ่านมา เห็นได้ว่ามีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหลายราย ไม่ว่าจะเป็น นายยศวริศ ชูกล่อม หรือ ‘เจ๋ง ดอกจิก’ อดีตที่ปรึกษา รมช.เกษตรและสหกรณ์ พ.ต.ต.เสงี่ยม สำราญรัตน์ ข้าราชการการเมืองประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี นายเฉลิมรัฐ วิชัยดิษฐ และล่าสุดนายจรัล ดิษฐาอภิชัย อดีตที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี (น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) ที่ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดกรณีจงใจปกปิดบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน
(อ่านประกอบ :ป.ป.ช.ฟันเงียบ‘เจ๋ง ดอกจิก-เสงี่ยม’ คดีบัญชีทรัพย์สิน-ศาลฎีกาฯนัด 6 ธ.ค., ตามรอย‘เจ๋ง’! ป.ป.ช.ฟันเงียบ‘จรัล ดิษฐาอภิชัย’จงใจไม่ยื่นบัญชีฯนั่งปรึกษาฯยุคปู)
ทว่าประเด็นที่ถูกตั้งข้อสังเกตคือ คณะกรรมการ ป.ป.ช. กลับไม่แถลงข่าวกรณีชี้มูลความผิดผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่าง ๆ ข้างต้นแต่อย่างใด
แต่เลือกใช้วิธี ‘ฟันเงียบ’ พร้อมส่งรายงานการไต่สวนข้อเท็จจริง และความเห็นให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิจารณาในทันที
ทั้งที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเหล่านั้น เป็นบุคคลสาธารณะ นับเป็นเรื่องสำคัญที่ ป.ป.ช. จะต้องแถลงข่าวให้สังคมรับรู้ !
และนี่ไม่ใช่แค่ตัวอย่างแรกของการ ‘ฟันเงียบ’ ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. แต่ในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา ก็เป็นเช่นนี้เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นกรณีการลงมติตีตกคดีโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์
ที่ถ้าสื่อมวลชนไม่ถามประธานกรรมการ ป.ป.ช. ก็คงไม่มีใครได้รับรู้เช่นกัน ?
ยังไม่นับอีกหลายคดีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติตีตกข้อกล่าวหา หรือชี้มูลความผิด ทั้งที่ผู้ถูกกล่าวหาเป็นอดีตข้าราชการระดับสูง หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองสำคัญ
ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ?
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org มีคำตอบ ดังนี้
แหล่งข่าวจากสำนักงาน ป.ป.ช. เล่าถึงกรณีนี้ว่า ปกติแล้วคณะกรรมการ ป.ป.ช. ประชุมกันทุกวันอังคาร และวันพฤหัสบดี เพื่อพิจารณาสำนวนการไต่สวน ถามความคืบหน้าคดีความต่าง ๆ หากคดีไหนสิ้นสุด คณะอนุกรรมการไต่สวนฯ นำเสนอความเห็นพร้อมหลักฐาน จึงจะลงมติชี้มูลความผิด หรือตีตกคดีต่าง ๆ จากนั้นจะส่งเรื่องให้สำนักประชาสัมพันธ์ ป.ป.ช. เพื่อเผยแพร่ข่าวแก่สาธารณะ หรือเชิญสื่อมวลชนมารับฟังการแถลงข่าว เป็นต้น
สำหรับขั้นตอนการเผยแพร่ข่าวสารของสำนักประชาสัมพันธ์ ป.ป.ช. จะรวบรวมมติของคณะกรรมการในรอบรายสัปดาห์ หรืออย่างช้าที่สุดในรอบเดือน เพื่อจัดทำเอกสารเผยแพร่ข่าว (Press Release) แก่สาธารณะ หรือสื่อมวลชน โดยส่วนใหญ่เป็นคดีเกี่ยวกับการทุจริต หรือจงใจปกปิดบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของบรรดาข้าราชการ หรือผู้บริหารองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ส่วนคดีใหญ่ที่มีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองสำคัญ หรือข้าราชการระดับสูง จะเชิญสื่อมวลชนมารับฟังการแถลงข่าว
แต่ในช่วงเดือน ก.ย.-ต.ค. 2559 ที่ผ่านมา ภายหลังคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดผู้บริหาร อปท. จำนวนหนึ่ง ในคดีเกี่ยวกับการทุจริตจัดซื้อจัดจ้างโครงการต่าง ๆ พบว่า มีเครือญาติผู้บริหาร อปท. รายหนึ่งที่ถูก ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด ได้ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ขอให้ยกเลิกการเผยแพร่ข่าวเกี่ยวกับการชี้มูลความผิด เนื่องจากเห็นว่า เป็นคดีอาญา เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดแล้ว คดียังไม่จบ ต้องรอให้อัยการสูงสุด (อสส.) ส่งฟ้องต่อศาลที่มีอำนาจพิจารณา และรอศาลพิพากษาเสียก่อน จึงอาจทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงได้
“นอกจากทำเรื่องถึงคณะกรรมการ ป.ป.ช. แล้ว เครือญาติผู้บริหาร อปท. รายนี้ ยังทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อขอความเป็นธรรมด้วย ทำให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. รับเรื่องดังกล่าวมาพิจารณา เพื่อหาทางออกเกี่ยวกับปัญหานี้โดยเร่งด่วน”
แหล่งข่าวรายนี้ เล่าอีกว่า กระทั่งในช่วงเดือน ธ.ค. 2559 ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้หารือปัญหานี้ โดยมีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง ความเห็นแตกเป็น 2 ฝ่าย กรรมการ ป.ป.ช. ฝ่ายหนึ่งเห็นว่า ในเมื่อมีการร้องขอเข้ามาก็ยังไม่ควรแถลงข่าว เพราะคดียังไม่สิ้นสุด อาจทำให้ผู้ถูกกล่าวหาเสื่อมเสียชื่อเสียงได้ อีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่า สมควรต้องเผยแพร่เพราะบุคคลเหล่านั้นเป็นบุคคลสาธารณะ และตามธรรมเนียมปฏิบัติของสำนักงาน ป.ป.ช. ก็มีการเผยแพร่ข่าวเป็นปกติอยู่แล้ว
กระทั่งจนถึงปัจจุบันก็ยังถกเถียงกันไม่จบ !
ท้ายสุด เมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ส่งเรื่องไปยังสำนักประชาสัมพันธ์ ป.ป.ช. เพื่อพิจารณาหาทางแก้ไขว่า ต้องทำอย่างไรให้ทุกฝ่ายพึงพอใจมากที่สุด
ล่าสุด สำนักประชาสัมพันธ์ ป.ป.ช. ได้พิจารณาเรื่องดังกล่าวแล้ว เบื้องต้นมีหลักการในการแถลงข่าวอย่างน้อย 2 แนวทาง ได้แก่
1.เผยแพร่ผลการชี้มูลความผิดตามปกติ โดยจะเขียนแนบท้ายทำนองว่า คดีดังกล่าวยังไม่สิ้นสุด ผู้ถูกกล่าวหายังมีสิทธิ์ต่อสู้คดีในชั้นศาล ซึ่งคล้ายคลึงกับแนวทางของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)
2.อาจใช้ชื่อย่อ แต่ระบุตำแหน่ง ของบุคคลที่ถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด
ส่วนกรณีการตีตกคดีต่าง ๆ ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. นั้น มีหลายสำนักใน ป.ป.ช. เสนอความเห็นว่า นอกเหนือจากการเผยแพร่ข้อมูลผ่านหน้าเว็บไซต์สำนักงาน ป.ป.ช. แล้ว ควรลงรายละเอียดความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ด้วย ไม่ใช่แค่ลงว่า “ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป” เนื่องจากประชาชนจะไม่สามารถทราบรายละเอียดได้เลย โดยเรื่องนี้มีการหารือกันอยู่
นับเป็นอีกหนึ่งความคืบหน้าในการเผยแพร่ข่าวสารของ ป.ป.ช. ให้สังคมได้รับทราบ ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงความ ‘ดำมืด’ ในการทำงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยุคนี้ ?
ท้ายสุดจะมีบทสรุปออกมาเช่นไร ต้องติดตามกันต่อไปอย่างใกล้ชิด !
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก ฐานเศรษฐกิจ