ชุมชนต้นแบบ “บ้านตองกาย” มรดกล้ำค่าสืบสานงานไม้
น่าเสียใจและเสียดายที่งานไม้กลึง ซึ่งต้องใช้คนที่มีความสามารถเชี่ยวชาญในอาชีพ ถือเป็นมรดกล้ำค่าทางอาชีพงานไม้กำลังจะสูญหายไป เพราะขาดคนรับช่วงสืบทอด น่าวิตกแม้กระทั้งคนในจังหวัดเชียงใหม่เองก็ยังไม่รู้จักชุมชนแห่งนี้ “บ้านตองกาย”
“บ้านตองกาย” ชุมชนเก่าแก่มีอาชีพกลึงไม้มากว่า 100 ปี ในตำบลหนองควาย อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตไม้กลึงสำคัญของจังหวัดเชียงใหม่ โดยผลิตภัณฑ์ที่ขึ้นชื่อและเป็นที่นิยมมีผู้สั่งสินค้ามากที่สุดคือ ขันโตก
ถึงวันนี้ น่าเสียใจและเสียดายที่งานไม้กลึง ซึ่งต้องใช้คนที่มีความสามารถเชี่ยวชาญในอาชีพ ถือเป็นมรดกล้ำค่าทางอาชีพงานไม้กำลังจะสูญหายไป เพราะขาดคนรับช่วงสืบทอด น่าวิตกแม้กระทั้งคนในจังหวัดเชียงใหม่เองก็ยังไม่รู้จักชุมชนแห่งนี้ “บ้านตองกาย”
“จุดเริ่มต้นของการทำให้ชุมชนบ้านตองกายเป็นที่รู้จัก เกิดจากการเข้าร่วมโครงการ Love Your Local Love Your City ของศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อมุ่งสนับสนุนเยาวชนในสถาบันอุดมศึกษา ให้รู้จักวิธีคิด ออกแบบ (Design Thinking) และสามารถนำไปพัฒนาพื้นที่ชุมชนของตนเองให้กลายเป็น “พื้นที่ชุมชนสร้างสรรค์” (Creative District) ดังนั้น จึงมาคิดว่าชุมชน ท้องถิ่นที่เราอยู่นั้น มีพื้นที่ใดที่ควรแก่การนำมาพัฒนาให้เป็นพื้นที่สร้างสรรค์ ซึ่งก็มานึกถึงเรื่องเล่าปากต่อปากของรุ่นพี่ในคณะถึงชุมชนบ้านตองกาย และเกิดเป็นความสงสัยในชื่อเป็นชุมชนที่อยู่ไม่ไกลจากตัวเมืองเชียงใหม่ อยู่ในแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ แต่กลับไม่มีคนรู้จัก รวมถึงคนในพื้นที่เชียงใหม่เอง อีกทั้ง ชุมชนบ้านตองกายเป็นชุมชนเก่าแก่คนในชุมชนมีอาชีพทำไม้กลึง ซึ่งเป็นเบื้องหลังของบ้านถวาย ทำสินค้าส่งไปขายบ้านถวาย แต่ก็ไม่มีใครรู้อีกเช่นกัน ในที่สุดโครงการ HEROs สอนหลาน สร้างสรรค์แรงบันดาลใจต่อยอดหัตถกรรมไม้กลึง จึงเกิดขึ้น”
เสียงบอกเล่าถึงที่มาที่ไปของนางสาวธาราทิพย์ อะติถะ หรือแนนนี่ เจ้าของผลงานโครงการ “HEROes สอนหลาน จากคณะวิจิตรศิลป์ สาขาวิชาการออกแบบ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
แนนนี่ เล่าต่อว่า เมื่อมาเลือกพื้นที่นี้แล้ว มี 2 ประเด็นหลักที่ตั้งเป้าเหมายไว้คือ 1)ต้องการให้คนรู้จักและคนที่สนใจงานไม้กลึงได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้ โดยจัดทำโปรแกรมเวิร์คช็อปสำหรับผู้ที่สนใจโดยให้ผู้เชี่ยวชาญในชุมชนสอนและฝึกหัดให้เพื่ออนุรักษ์ความเป็นเอกลักษณ์ของบ้านตองกายให้สมบูรณ์ที่สุด โดยทีมจะเข้าไปสนับสนุนและช่วยจัดทำคู่มือและอุปกรณ์สำหรับการเวิร์คช็อปและประชาสัมพันธ์กิจกรรมผ่านสื่อออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ก จัดทำโปสเตอร์ติดที่ร้านหนังสือร้านกาแฟ รวมถึงที่ miniTCDC เชียงใหม่ เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งได้รับความสนใจจากช่างฝีมือ นักออกแบบ นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติมากขึ้นทำให้บ้านตองกายมีรายได้เสริมจากกิจกรรมเวิร์คช็อปนี้ ซึ่งจัดกิจกรรมในลักษณะทริปท่องเที่ยว (One Day Trip) 2) การสร้างผู้สืบทอด ความหวังในรุ่นที่ 4 ปัจจุบันคนที่ทำงานไม้กลึงมีอายุในช่วง 60-70 ปี เป็นรุ่นที่ 3 จึงอยากให้มีคนสืบทอดต่อ
“ความจริงชาวบ้านตองกายต้องการแลกเปลี่ยนความรู้กับคนนอก เพราะผลิตสินค้าในรูปแบบเดิม ซ้ำๆ ลูกหลานก็ไม่สนใจอยากจะเรียนรู้สืบทอด ด้วยกำลังของนักศึกษา และเรียนด้านการออกแบบ จากการที่ได้สื่อสารออกไป อย่างน้อยนักศึกษาก็ยังได้รู้จักชุมชนแห่งนี้ ดังนั้น ณ ตอนนี้ ต้องการให้คนทั่วไปได้รู้จักก่อน และด้วยวิถีวัฒนธรรมของคนในชุมชน ไม่ต้องการดึงคนในพื้นที่ออกจากหมู่บ้าน แต่เพียงต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ เพื่อเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ เพิ่มช่องทางการสื่อสารเพื่อให้เกิดทางเลือกที่มากขึ้น มีการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่มีรูปแบบหลากหลาย ทันสมัย เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน วิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อเพิ่มช่องทางการตลาดได้มากขึ้น ซึ่งเป็นผลทำให้เด็กรุ่นหลานอายุ 11-12 ปี เมื่อเห็นไม้กลึงทำเป็นตุ๊กตาญี่ปุ่นก็สนใจอยากทำบ้าง จากเดิมที่ไม่สนใจทำเลย”
นายศรีลา คุ้มภัย หัวหน้าช่างกลึงไม้บ้านตองกาย อายุ 64 ปี เล่าว่า บ้านตองกายเป็นหมู่บ้านที่ประกอบอาชีพหัตถกรรมไม้กลึงเก่าแก่ของเชียงใหม่ สืบทอดทักษะฝีมือแบบรุ่นต่อรุ่น สำหรับเขาเริ่มทำงานไม้กลึงมาตั้งแต่อายุ 12 ปี และปัจจุบันเป็นช่างกลึงไม้รุ่นที่ 3 ของหมู่บ้านตองกาย
"ปัญหาที่พบ คือ คนทำงานไม้กลึงลดน้อยลง แต่เดิมหมู่บ้านจะรับทำงานตามคำสั่งซื้อเป็นการผลิตที่เน้นปริมาณมากแต่ก็จะเป็นงานรูปแบบเดียวกัน เช่น โตก โกศ และชุดชากาแฟ ทำให้ขาดทักษะการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่แปลกใหม่"
สำหรับโครงการฮีโร่สอนหลานฯ ของนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นายศรีลา บอกว่า ทำให้ชุมชนเป็นที่รู้จักและได้รับความสนใจจากคนภายนอกมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้ทำงานฝีมือและนักออกแบบรุ่นใหม่ ช่วยให้ชุมชนได้ทำงานที่เกิดความคิดสร้างสรรค์ และได้แสดงทักษะการกลึงไม้ พร้อมการพัฒนาฝีมือให้ชำนาญมากขึ้นด้วย รวมทั้งได้มีโอกาสเรียนรู้และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับนักสร้างสรรค์รุ่นใหม่
ที่สำคัญทำให้มีรายได้เสริมเพิ่มจากการจัดโปรแกรมเวิร์คช็อปด้วย อย่างไรก็ดี โครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่ดีในการนำเสนอคุณค่า และต่อยอดทักษะหัตถกรรมไม้กลึงของชุมชนโดยผ่านกระบวนการคิดสร้างสรรค์และสื่อต่างๆ ให้เกิดประโยชน์ เขาหวังว่า การดำเนินโครงการดังกล่าวจะทำให้ชุมชนสามารถเป็นที่รู้จัก และได้รับการสืบต่อจากคนรุ่นใหม่เพื่อให้ไม้กลึงอยู่คู่กับคนไทยตลอดไป
ขณะที่นายอภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล ผู้อำนวยการศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ถึงโครงการต่อยอดการสร้างพื้นที่ชุมชนสร้างสรรค์ด้วยพลังเยาวชน ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 เพื่อต่อยอดความสำเร็จจากครั้งแรกในปี 2557 ที่ผ่านมา ซึ่งในปีนี้มีนักศึกษาเข้าร่วมโครงการทั้งหมด 15 ทีมจากสถาบันการศึกษาที่เป็นเครือข่ายโครงการกระจายโอกาสสร้างแหล่งเรียนรู้ด้านการออกแบบสู่ภูมิภาค (miniTCDC) และมี 3 ทีมดีเด่นจาก 15 ทีมดังกล่าวที่สามารถสะท้อนถึงการใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการแก้ปัญหา พัฒนาชุมชนของตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพและได้รับทุนสนับสนุนให้ดำเนินการทดลองในพื้นที่จริง
โครงการฮีโร่สอนหลานฯ เป็น 1 ใน 3 ทีมที่มีผลงานดีเด่น สถาบันการศึกษาภายใต้โครงการ miniTCDC จะได้รับการสนับสนุนส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ผ่านช่องทางต่างๆ อาทิ แหล่งบริการหนังสือด้านการออกแบบ วัสดุเพื่อการออกแบบ ฐานข้อมูลออนไลน์ด้านการตลาด การออกแบบ และข้อมูลที่เป็นประโยชน์มากมาย ตลอดจนได้เข้าร่วมกิจกรรมสร้างสรรค์ต่างๆ เพื่อพัฒนาศักยภาพด้านการออกแบบ ตลอดจนสามารถนำความรู้ความสามารถไปประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาธุรกิจ ชุมชน และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ต่อไป อย่างเป็นรูปธรรม
นางเพ็ญพรรณ จิตตะเสนีย์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. กล่าวถึงกระบวนการทำงานด้านเด็กและเยาวชน คือกลุ่มเป้าหมายสำคัญของ สสส. โดยการพัฒนาเชิงความคิดสร้างสรรค์นั้น ในฐานะหน่วยงานสนับสนุนการทำงานเรามีงบประมาณให้ แต่เครื่องมือในการพัฒนาที่ทำให้เด็กมีวิธีคิดมีแนวคิดต่างๆ ได้รับความร่วมมือจาก TCDC ดังนั้น ในการทำงานของ สสส.และผลงานที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ จะให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะของนักศึกษา ร่วมกับอาจารย์ที่ปรึกษา ร่วมกับความรู้ที่ได้จาก TCDC และกระบวนการมีส่วนร่วมของนักศึกษากับชุมชนท้องถิ่น ฉะนั้น ประเด็นสำคัญของการทำงานร่วมกันและเห็นตรงกันในเรื่องของความยั่งยืนที่จะทำอย่างไรให้แต่ละโครงการสามารถทำให้กิจกรรมเหล่านี้อยู่ในระบบของการจัดการเรียนการสอนและเข้าสู่ระบบการจัดการของท้องถิ่น เพื่อความยั่งยืน เนื่องจากโครงการนี้เป็นระยะที่ 2 จึงมองถึงอนาคตการทำงานโครงการที่ดีให้เป็นการสร้างสรรค์สิ่งที่ดีสู่สังคมต่อไป
Love Your Local Love Your City ร่วมกันสร้างชุมชนสร้างสรรค์ ด้วยพลังจากทุกคน ช่วยกันกระจายพลังและสรรสร้างบ้านเมืองให้น่าอยู่อย่างยั่งยืนตลอดไป