นักวิชาการชี้ สวัสดิการเกษตรเป็นเบี้ยหัวแตก ไร้ประโยชน์ ไม่ถึงมือชาวบ้าน
เลขาฯ สปกช.ชี้งบสวัสดิการเกษตรกรปีละกว่า 5 พันล้านผ่าน ก.คลัง-เกษตร แต่ไร้ประสิทธิภาพ ผิดตั้งแต่ฐานคิดยึดเงินละเลยทรัพยากร-วัฒนธรรม-ความรู้ พ.ร.บ.สวัสดิการชาวนาก็ไร้ประโยชน์ แนะยั่งยืนต้องเน้นมั่นคงในปัจจัยการผลิต
วันที่ 24 มี.ค. สมัชชาปฏิรูประดับชาติครั้งที่ 1 ที่อิมแพคเมืองทองธานี จัดประชุมวิชาการ “การปฏิรูประบบสวัสดิการสำหรับเกษตรกร” มีผู้เข้าร่วมได้แก่ ผศ.ดร.จิตติ มงคลชัยอรัญญา เลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการปฏิรูประบบเพื่อคุณภาพชิวิตเกษตรกร ชุมชนและสังคม(สปกช.), นายสำเริง เสกขุนทด ผู้จัดการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(พอช.) สำนักงานปฏิบัติการภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, นายบำรุง คะโยธา นายกองค์การบริหารส่วนตำบลสายนาวัง จ.กาฬสินธุ์ และ ดร.มาฆะสิริ เชาวกุล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
ดร.จิตติ กล่าวว่า นอกจากสวัสดิการในฐานะที่เป็นคนไทย ปัจจุบันเกษตรกรได้รับสวัสดิการเยอะมาก แต่หลายคนอาจไม่รู้เพราะไม่ถึงมือ แต่เป็นแบบเบี้ยหัวแตกไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้ไม่เกิดประโยชน์แท้จริง
“แต่ละปีรัฐบาลจัดสรรเงินเยอะมาก มีหลายร้อยกองทุน ปี 2554 มากถึง 5,280 ล้านบาทผ่านกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร กระทรวงการคลัง และ 6 กองทุนผ่านกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ งบผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธกส.) 5,200 ล้านบาท เช่น ดอกเบี้ยโครงการจำนำผลิตผลการเกษตร ชดเชยส่วนต่างราคาโครงการประกันรายได้ ชดเชยผู้ประสบภัยธรรมชาติ” ดร.จิตติ กล่าว
ดร.จิตติ กล่าว สวัสดิการสังคมต้องเกิดจาก 4 ฐานคือ ทรัพยากรธรรมชาติ วัฒนธรรม เงิน ความรู้ แต่ปัจจุบันกำลังตกกับดักเงินมากไป ละเลยฐานอื่น โดยเฉพาะฐานทรัพยากรที่มีผลต่อความกินดีอยู่ดีของเกษตรกรในชนบท ทั้งนี้กฏหมายต่างๆไม่เอื้อให้คนเข้าถึงสวัสดิการ เช่น พ.ร.บ.สวัสดิการชาวนา ที่กระทรวงเกษตรฯ ผลักดันก็ลอกมาจากกฏหมายประกันสังคม วิธีคิดช่วยเหลือแต่เจ็บป่วยตาย เหมาะสมกับวิถีชีวิตแรงงานไม่ใช่เกษตรกร วงเงินสะสมที่คำนวณไว้ยังต่ำกว่าประกันสังคมอีก จึงไม่ช่วยให้เกิดสวัสดิการชาวนาอย่างแท้จริง
เลขาธิการ สปกช. กล่าวว่าเหตุผลที่ต้องให้สิทธิพิเศษแก่เกษตรกรเพราะ 1.เป็นกลุ่มที่จนที่สุด รายได้เฉลี่ยเดือนละแค่ 500 บาทเท่ากับแรงงานทำงานสองวัน ยิ่งทำยิ่งจนเป็นหนี้ 2.ถ้าไม่มีเกษตรกรประเทศอยู่ไม่ได้ ภาคเกษตรกรรมยังเป็นฐานสำคัญของไทยที่จะแข่งขันในเวทีโลก ดังนั้นรัฐต้องสร้างแต้มต่อตรงนี้ ยกระดับคุณภาพชีวิตปรับปรุงสวัสดิการเกษตรกรให้ดีขึ้นโดย 1.ปรับปรุงสวัสดิการเดิมที่มีอยู่ให้ดีขึ้น 2.แก้กฏหมายต่างๆให้เอื้อ 3.ตั้งกองทุนพัฒนาให้ทัดเทียมอาชีพอื่น ส่งเสริมทั้งภูมิปัญญาดั้งเดิมและความรู้ในการประกอบการและการตลาด ส่วนเกษตรกรเองก็ต้องรวมกลุ่มสร้างพลังอำนาจในการต่อรอง เช่น วิสาหกิจชุมชน
“กองทุนใดถ้าจะมีขึ้น ต้องรองรับจุดที่เกษตรกรเสี่ยงมากที่สุด เช่น การเข้าถึงปัจจัยการผลิต ความมั่นคงในที่ดิน ความมั่นคงในการปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ ต้องทำให้ชาวบ้านเท่าทันไม่ถูกหลอกซื้อปุ๋ยเมล็ดพันธุ์ปลอม ส่งเสริมให้ชาวบ้านผลิตเมล็ดพันธุ์เองไม่ต้องไปซื้อเอกชน และสาธารณูปโภคพื้นฐานที่เกินกำลังชุมชน รัฐต้องทำให้ เช่น ห้องเย็น ความรู้เรื่องการประกอบการ และต้องเลิกปลูกพืชเชิงเดี่ยว ไม่ใช่ทางรอด” ดร.จิตติ กล่าว
นายบำรุง กล่าวว่า ทุกวันนี้คนอยากหนีจากอาชีพชาวนาเพราะต้อยต่ำ และรัฐใช้เงินแก้ปัญหาให้เกษตรกรมาโดยตลอดแต่กลับมีชีวิตยากจนไม่ต่างจากเดิม เนื่องจากถูกโกงจากระบบ เช่น การประกันราคาสินค้าเกษตรและการรับจำนำข้าวที่ถูกโรงสีโกงด้วยวิธีการต่างๆ ซึ่งอาจมองได้ว่าเป็นแหล่งหากินของส่วนราชการด้วยเช่นกัน ทั้งนี้การจัดสวัสดิการที่เข้มแข็งต้องเริ่มจากความต้องการและการจัดการโดยชาวบ้าน และรัฐวางบทบาทช่วยหนุนเสริมอำนวยความสะดวก
ดร.มาฆะสิริ กล่าวว่าประเทศไทยมีสวัสดิการครอบคลุมครบเกือบทุกด้านตั้งแต่เกิด การศึกษา เจ็บป่วย ผู้สูงอายุ เงินชดเชยน้ำท่วมภัยแล้งแผ่นดินถล่ม แต่ปัญหาความเหลื่อมล้ำยังคงมีอยู่ เนื่องจากกองทุนที่กระจัดกระจายไม่เชื่อมโยงกัน ทั้งนี้การจัดสวัสดิการชาวบ้านควรมีความแตกต่างกันไปตามความต้องการและความหลากหลายของแต่ละพื้นที่ และระวังไม่ให้เป็นดาบสองคม เช่น สวัสดิการช่วยเหลือน้ำท่วมด้วยการจ่ายเงินชดเชยรายได้ในพื้นที่ อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก ทำให้ชาวบ้านซึ่งเคยปลูกข้าวในช่วงเดือนพฤศจิกายน หันไปปลูกเดือนมิถุนายน เพื่อจะได้เงินช่วยเหลือน้ำท่วมทุกปี
“ถ้ากระบวนการดี ผลก็จะออกมาดี ฉะนั้นเรามาพูดถึงกระบวนการกันให้ชัดเจนก่อนดีไหม แล้วค่อยมาว่ากันอีกทีว่าใครจะกำเงินหรือเงินจะบริหารยังไง ไม่ใช่ใครกำเงินคนนั้นมีอำนาจ ชาวบ้านขาดการมีส่วนร่วม” รศ.ดร.มาฆะสิริ กล่าว
นายสำเริง กล่าวว่าข้อเท็จจริงในพื้นที่หลายแห่งพบว่าในหนึ่งหมู่บ้านมีไม่น้อยกว่า 60 กองทุน ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากรัฐบาลและราชการส่วนกลางเอาลงไปยัดเยียดให้ โดยขาดการสำรวจข้อมูลทำให้ล้มเหลว ตรงกันข้ามกับสวัสดิการที่ชุมชนดำเนินการเองแล้วประสบความสำเร็จ เพราะสอดคล้องกับความต้องการและมีระบบการจัดการที่ดี ไม่เป็นเบี้ยหัวแตกอย่างราชการ
“สวัสดิการต่างๆต้องมาจากพื้นฐานของชาวบ้านเท่านั้น ตราบใดที่หน่วยงานส่วนกลางคิดให้ ไม่ว่าจะบูรณาการอย่างไรก็ไม่สำเร็จ เพราะมันเป็นระบบคิดของคนข้างบนไปใส่คนข้างล่าง” นายสำเริง กล่าว.