“SCG ธุรกิจพอเพียง” อยู่ยั่งยืน 103 ปี เมื่อได้กลับมาเอ็กซเรย์ตัวเอง
เศรษฐกิจพอเพียงไม่ใช่สอนให้จน แต่ให้รวยอย่างยั่งยืน ทำอย่างไรให้ธุรกิจไปเรื่อยๆ แต่ยั่งยืนตลอดไป ที่สำคัญคืออย่าประมาท ต้องสร้างภูมิคุ้มกัน ทุกบริษัทต้องมีการบริหารความเสี่ยง เพราะไม่รู้ว่าวันพรุ่งนี้จะเกิดอะไรขึ้น ดังนั้นต้องเตรียมพร้อมเผชิญเหตุ ผลกระทบจะได้ลดน้อยลง
เมื่อพูดถึง ‘หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง’ หลายคนมักคิดว่า เป็นเรื่องของภาคการเกษตรอย่างเดียว ปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ แต่ทว่าจากประสบการณ์ 35 ปีที่ทำงานรับใช้เบื้องพระยุคลบาท ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ปาฐกถา เนื่องในโอกาสที่เอสซีจีก่อตั้งมาครบรอบ 103 ปี เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2559 ยืนยันชัดเจนว่า เศรษฐกิจพอเพียงไม่ใช่แค่ปลูกผักอย่างเดียว
ที่สำคัญศาสตร์ของพระราชาในเรื่องนี้ ‘ไม่ได้สอนให้จน’
“ที่ผ่านมาพอพูดถึงเศรษฐกิจพอเพียงร้อยทั้งร้อยเห็นหน้าควายโผล่มาเลย หรือคิดไปว่าต้องนุ่งกางเกงขาก๊วย สวมเสื้อม่อฮ่อม คาดผ้าขาวม้า ต้องทำตัวจนกรอบ ขอที ไม่ใช่ แต่เพราะเราสื่อความกันไปอย่างนั้น”
ดร.สุเมธ อธิบายให้ฟังถึงหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เป็นเรื่องของหลักคิด ธรรมะ ที่ไม่ว่าจะยากดีมีจน ประกอบอาชีพใดก็ตามสามารถนำไปใช้ได้ทั้งนั้น กระบวนการคิดคือ ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม ให้ผ่านหลักธรรมะ 3 ประการ 1.พอประมาณ 2.มีเหตุผล และ 3.ภูมิคุ้มกันที่ดี
สำหรับคำว่า พอประมาณนั้น ดร.สุเมธ ชี้ว่าในเรื่องนี้ทุกคนต้องประเมินตน (Self-Assessment) และหาทางสายกลางของตัวเอง เพราะทางสายกลางของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ซึ่งแนวทางนี้บริษัทเอกชนก็สามารถนำไปใช้ได้
ดร.สุเมธ เทียบเคียงกับวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นกับบริษัทปูนซิเมนต์ไทย ปี 2540 แม้ในช่วงนั้นจะยังไม่มีพระราชดำรัสเรื่องหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง แต่บริษัทก็ปฏิบัติต่อเนื่องมาโดยไม่รู้ตัว กล่าวคือ ปีนั้นปูนซิเมนต์ไทยขาดทุนหนัก จนต้องหันกลับมาประเมินตนเอง ลดจำนวนบริษัทในเครือ ทำเฉพาะ Core Business หรือธุรกิจหลักที่ถนัด ซึ่งก็ไม่ใช่พิจารณาเฉพาะด้านเทคโนโลยี วัตถุดิบ หรือตลาดเท่านั้น แต่ลงลึกไปถึงทรัพยากรมนุษย์ เตรียมไว้ในด้านไหนอย่างไรบ้าง และเมื่อใช้เหตุผลนำทางเช่นนี้ ก็สามารถกำหนดขอบเขตของตัวเองที่พอดีพอควร และขยับการตัดสินใจไปตามสภาวะสิ่งแวดล้อมได้
ปรากฏว่า ไม่นานปูนซิเมนต์ไทยก็สามารถพลิกมามีกำไรได้ ฉะนั้น ดร.สุเมธ ย้ำชัดว่า เศรษฐกิจพอเพียงไม่ใช่สอนให้จน แต่ให้รวยอย่างยั่งยืน ทำอย่างไรให้ธุรกิจไปเรื่อยๆ แต่ยั่งยืนตลอดไป ที่สำคัญคืออย่าประมาท ต้องสร้างภูมิคุ้มกัน ทุกบริษัทต้องมีการบริหารความเสี่ยง เพราะไม่รู้ว่าวันพรุ่งนี้จะเกิดอะไรขึ้น ดังนั้นต้องเตรียมพร้อมเผชิญเหตุ ผลกระทบจะได้ลดน้อยลง
“จะหาบก๋วยเตี๋ยวขาย ก็ต้องประเมินตลาด ต้องหาบไปขายในที่ชุมชม ไม่ใช่ถนนสายหลักที่รถวิ่งเร็วๆ หรือคนวัยเกษียณ จะกินอยู่ต้องรู้หมด กินสักแค่ไหน กินอะไรดี ถ้าใช้เหตุผลก็ไปที่ปลานิลตัวละ 40 บาท ถ้าตามกิเลสก็ไปกินสเต๊กจานละ 7,000 บาท และอีกวันก็ไปหาหมอให้จ่ายยาลดความดัน ลดโน่นลดนี่ การบริหารหลักความคิดตรงนี้เหมือนกันหมด”
นอกจากการประมาณตน ประเมินสถานการณ์ตลอดเวลาแล้ว เขาเห็นว่า ทุกคนจะต้องมีความรอบรู้ รอบคอบ ระมัดระวัง และประการสำคัญคือต้องมีธรรมภิบาล อย่าโกง เพราะสิ่งเหล่านี้จะทำให้เราอยู่กับคนทั้งโลกได้กลมกลืน ไม่เสียเปรียบและยั่งยืน ขณะที่บ้านเมืองก็จะเกิดความสงบสุขด้วย
นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เล่าย้อยกลับไปเมื่อปี 2540 เอสซีจีมีหนี้สินล้นพ้นตัว พร้อมกางตัวเลขให้เห็นชัดๆ ว่า "สมัยนั้นช่วงพีคสุดๆ ราวเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2541 มียอดหนี้สูงสุดเกือบ 250,000 ล้านบาท เพราะการขยายธุรกิจของเอสซีจีสมัยนั้น ใช้วิธีกู้เงินจากต่างประเทศมาขยายธุรกิจ เมื่อประกาศลอยตัวค่าเงินบาท ยอดหนี้จึงท่วมสูงเกินกว่ายอดขาย ที่ในช่วงนั้นมีรายได้ลดลง"
ขณะที่ความต้องการปูนซิเมนต์หายไปครึ่งหนึ่ง เหลือเพียง 17-18 ล้านตัน ความต้องการกระดาษลดลง 30% เม็ดพลาสติก 20% เขาเรียกว่า บริษัทเกือบเจ๊งจริงๆ มีหนี้สินเป็นอันดับต้นของเมืองไทยในช่วงนั้น ดังนั้น เพื่อความอยู่รอด ของใหม่ที่จะทำ ยกเลิกทั้งหมด และเดินหน้าเจรจากับเจ้าหนี้ ซึ่งก็สามารถหยุดแผลไว้ได้
"บริษัทฯ กลับมาเอ็กซเรย์ตัวเอง จาก 10 กลุ่มธุรกิจ เกือบ 200 บริษัท เรียกได้ว่าทำตั้งแต่ไม้จิ้มฟันยันเรือรบ แก้วไวน์ยังทำ ปรับลดเหลือแค่ 3 กลุ่มธุรกิจ ในส่วนของธุรกิจหลักที่เราทำและเก่ง หรือ core business ก็ทำให้ดีขึ้น ที่ไม่ชำนาญ หรือ non-core business ก็หาคนมาเทคโอเวอร์ ส่วนธุรกิจที่อยู่ตรงกลาง จะเก่งก็ไม่เชิง ไม่เก่งก็ไม่เชิง ก็ลองมาดูจริงๆว่า สามารถทำต่อในระยะยาวได้หรือไม่ และพยายามรีดไขมันออก นอกจากนี้ก็มีการปรับโครงสร้างเรื่องเงินกู้ ออกหุ้นกู้ด้วย
หลักคิดต่างๆ อยู่บนพื้นฐานที่เรามองว่า วิกฤตจะอยู่กับเราอีกนาน เพราะขณะนั้นยังมองไม่เห็นจุดต่ำสุด เปรียบให้เห็นภาพชัดๆ คือ คนเป็นไข้หวัดจะพอรู้ว่า 1-2 สัปดาห์อาการก็หาย แต่หากเป็นโรคเรื้อรังต้องใช้ระยะเวลานาน และยังไม่อาจประเมินได้ว่าจะหายจริงๆ เมื่อไหร่ เมื่อมองอย่างนั้น การแก้ปัญหาจึงเป็นแผนระยะยาว 5 ปีหลังจากนั้นจึงเริ่มเห็นกำไร" เขายังเล่าต่อไปถึงช่วงวิกฤตเศรษฐกิจแฮมเบอร์เกอร์ แม้เราจะรู้จักการบริหารจัดการความเสี่ยงแล้ว แต่ก็ยังต้องมาเอ็กซเรย์ตัวเองเรื่อยๆ โดยคิดบนหลักที่ว่า ไม่มีโครงการไหนที่ชัวร์
ปัจจุบันเอสซีจีมีสัดส่วนการลงทุนธุรกิจในประเทศไทย 60% และธุรกิจในต่างประเทศ 40% ขณะที่การขยายธุรกิจอย่างยั่งยืน จะเน้นธุรกิจที่มีความรู้ ไม่ใช่ของใหม่ ตลาดใหม่ ใหม่ทุกเรื่อง แต่ต้องพัฒนาสินค้าที่ตอบโจทย์ผู้บริโภค สำรวจพฤติกรรมลูกค้า เข้าใจตลาดก่อน จนเริ่มมั่นใจระดับถึงเข้าไปลงทุน โดยเฉพาะต้องศึกษาเรื่องกฎระเบียบ มาตรฐานเรื่องการลงทุน ไม่ก่อให้เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม
ไปอยู่ที่ไหนให้มีคนรัก
กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี ยอมรับว่า ธุรกิจที่เอสซีจีทำเป็นอุตสาหกรรม ซึ่งใช้ทรัพยากรธรรมชาติ มีความล่อแหลมในการทำธุรกิจ และอาจก่อให้เกิดปัญหากับสิ่งแวดล้อมและชุมชน ฉะนั้นธุรกิจจะยั่งยืนได้ ขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมองค์กรด้วยคือ ไปอยู่ที่ไหนมีคนรัก เพราะหากคนไม่ต้อนรับ ก็ไม่สามารถขยายธุรกิจได้
ในเรื่องนี้เขาจึงมองว่า วัฒนธรรมองค์กร เป็นสิ่งที่ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งอุดมการณ์ 4 ของเอสซีจีคือ ตั้งมั่นในความเป็นธรรม มุ่งมั่นในความเป็นเลิศ เชื่อมั่นในคุณค่าของคน และถือมั่นในความรับผิดชอบต่อสังคมมาถูกทางแล้ว
ขณะเดียวกันองค์กรจะยั่งยืนได้ พนักงานจะต้องยั่งยืนด้วยคือ องค์กรต้องดึงศักยภาพของพนักงานออกมาใช้ ดึงความดีให้แสดงออก บวกกับเปิดโอกาสให้แสดงความเห็น ทำเรื่องที่ยากมีความท้าทายได้ ทั้งหมดนี้จะทำให้องค์กรสามารถพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไปได้
ส่วนจะการสานต่อปณิธานหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงได้นั้น เขามองว่า เมื่อเอสซีจีเป็นองค์กรด้านธุรกิจก็หวังว่าจะแบ่งปันประสบการณ์และทำประโยชน์ให้กับภาคธุรกิจอื่น เพื่อนในอุตสาหกรรม และคนที่อยู่ทั้งในและนอกซัพพลายเชน เพราะต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า การเรียนรู้ที่ดีคือได้เห็นตัวอย่าง ซึ่งเกิดจากคนที่มีประสบการณ์ ภาระในเรื่องการแข่งขัน ต่อสู้ทางธุรกิจในภาวะคล้ายๆ กัน
ส่วน นายยุทธนา เจียมตระการ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ การบริหารกลาง เอสซีจี กล่าวเสริมในเรื่องนวัตกรรมและการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลเพิ่มเติมว่า การสร้างมูลค่าเพิ่ม หรือพัฒนาสินค้าใหม่ ต้องตอบสนองความต้องการลูกค้าในทุกส่วน รวมถึงต้องมองโอกาส แนวโน้มโลก เช่น ยุค ageing society สินค้าต้องตอบโจทย์ผู้สูงอายุ ทั้งหมดนี้ต้องคิดอย่างเป็นระบบ
ที่ผ่านมา เอสซีจี ส่งเสริมเรื่องการวิจัยและพัฒนาสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม (HVA) ซึ่งใน 9 เดือนแรกของปี 2559 เรามียอดขายสินค้า HVA สูงถึง 120,000 ล้านบาท คิดเป็น 38% ของยอดขายทั้งหมดของเอสซีจี แต่เขาก็ยอมรับว่า การสร้างนวัตกรรม หรือวิจัยพัฒนาต่างๆ นั้น ไม่ใช่ทุกเรื่องจะประสบความสำเร็จ เนื่องจากมีคู่แข่งและพฤติกรรมผู้บริโภคก็เปลี่ยนแปลงเร็ว สิ่งที่เกิดขึ้นคือได้เรียนรู้ และเราได้ถอดบทเรียนตลอดเวลา
ส่วนเรื่องการบริหารทรัพยากรบุคคลนั้น นายยุทธนา ชี้ว่า ต้องเริ่มต้นรับคนจากจุดประสงค์ทางธุรกิจ เช่น จะไปลงทุนในต่างประเทศ ขายสินค้า HVA ต้องการคนจำนวนเท่าไหร่ มีประสบการณ์วุฒิการศึกษาอย่างไร เป็นโจทย์ ขณะเดียวกันบริษัทต้องสร้างหลักสูตรต่อยอด หาวิทยากรทั้งจากภายในและภายนอกมาถ่ายทอดประสบการณ์ โดยเฉพาะองค์ความรู้จากความผิดพลาด ซึ่งเกิดวัฒนธรรมพี่สอนน้อง
สำหรับสิ่งท้าทายในการบริหารคนรุ่นใหม่ หรือ Gen Y นั้น นายยุทธนา ยอมรับวิธีคิดของคนเจนนี้ ต่างจากคนยุคก่อน ดังนั้นต้องเริ่มต้นจากการทำความเข้าใจ และสิ่งที่เขาค้นพบคือ คน Gen Y ชอบกิจกรรมที่มีส่วนร่วม เป็นส่วนหนึ่งของสังคม อย่างกิจกรรมสร้างฝาย หรือหากให้เสนอโครงการเพื่อพัฒนาสังคม คนเจนนี้จะให้ความสนใจเข้าร่วมมาก
"คนเจนวายอยากทำสิ่งที่มี Agility อย่างเห็นองค์กรที่มี Agility กล่าวคือมีความสามารถในการปรับตัว หรือมีกระบวนการในการทำงานที่มีการสร้างภูมิคุ้มกัน เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลง อยากเห็นองค์กรที่ทันสมัย ปรับตัวเร็ว ซึ่งเรื่องนี้บริษัทต้องเรียนรู้ ปรับตัว สร้างภูมิคุ้มกัน ดูแลพนักงานได้ครบทุกเจน"
เข้าใจ ‘หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง’ แค่เลข 3 ตัว
ด้าน ดร.อัจฉรา โยมสินธุ์ อาจารย์ภาควิชาการเงิน คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ และที่ปรึกษาศูนย์สถานศึกษาพอเพียง มูลนิธิยุวสถิรคุณ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ แปลความหมายของคำว่า ‘หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง’ แบบสั้นที่สุดว่าคือ หลักคิด หลักปฏิบัติ เพื่อความยั่งยืน
"คนพอเพียง ไม่ใช่คนธรรมดา แต่ต้องเป็นคนคิดเยอะๆ และเดินตามหลักคิด 2 เงื่อนไขคือความรู้และคุณธรรม ไปที่กระบวนการ 3 หลักการ -พอประมาณ -มีเหตุผล -ภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี ผลคือจะสามารถสร้างความสมดุลได้ใน 4 มิติ กล่าวคือ วัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม"
ทั้งนี้ หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ไม่กำหนดว่าต้องเริ่มจาก 2 ก่อนแล้วจะเห็น 3 หลักการเป็นขั้นบันไดแบบเป๊ะๆ เราอาจจะเริ่มจาก 2 เงื่อนไขพอไปดูที่เหตุผล ความรู้อาจไม่พอก็ย้อนกลับมาใหม่ คือหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เป็น dynamic มีความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
สิ่งสำคัญที่ดร.อัจฉรา ระบุช่วงท้าย คือ ธรรมชาติของคนไทยเราเป็นคนคิดน้อย เพราะเราโชคดีที่บ้านเมืองอุดมสมบูรณ์ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว เดินออกไปก็หาผัก เด็ดผักบุ้งมาแกงส้มกินได้ ต่างจากประเทศเมืองหนาว จะทำอย่างไรให้มีผักกินในหน้าหนาว ให้อยู่รอด เช่นเดียวกับธุรกิจก็ทำตามกระแส ต้องเติบโตไปเรื่อยๆ มีโอกาสมีจังหวะก็ทำไป ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่เมื่อเกิดวิกฤตขึ้นแล้วเราก็ต้องคิดมากขึ้น หลักการสอดรับร้อยเรียงกันหมด และสุดท้ายต้องคิดถึงเป้าหมายด้วยว่า จะอยู่อย่างสมดุลและยั่งยืนได้อย่างไร...