เปิดมติ ครม.หลักเกณฑ์ราคากลาง! กรมชลฯตั้งสูงกว่าประมูลจริงร้อยล. ทำได้หรือ?
“…หากคำนวณคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ในแต่ละโครงการแล้ว ราคาที่ผู้ชนะการประกวดราคาเสนอนั้น ประมาณ 50-70% ของราคากลางเท่านั้น ซึ่งค่อนข้างผิดปกติวิสัยในการตั้งราคากลาง ตามหลักเกณฑ์การคำนวณราคากลางงานก่อสร้างของทางราชการเมื่อปี 2555 ที่กรมชลประทานอ้างถึง ?...”
“การประกวดราคาทั้ง 4 โครงการตามที่ระบุในรายงานของสำนักข่าวอิศรานั้น ผ่านการพิจารณาเห็นชอบราคาค่าก่อสร้างจากสำนักงบประมาณแล้ว กรมชลประทานจึงได้ประกาศชื่อผู้ชนะการเสนอราคาในเวลาต่อมา ในส่วนของการที่ผู้ชนะการเสนอราคาประมูลได้ในวงเงินที่ต่ำกว่าราคากลางนับร้อยล้านบาทนั้น ถือว่าเป็นประโยชน์กับส่วนราชการเป็นอย่างมาก เพราะสามารถประหยัดงบประมาณ ทำให้นำงบประมาณส่วนที่เหลือไปใช้จ่ายด้านอื่น ๆ ที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศตามนโยบายของรัฐบาลต่อไป”
เป็นคำชี้แจงจากกรมชลประทาน ภายหลังสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า ในช่วงวันที่ 1 ม.ค.-30 พ.ย. 2559 มีอย่างน้อย 4 โครงการ ที่ตั้งราคากลางไว้เกินร้อยล้านบาท ขณะที่เอกชนผู้ชนะการประกวดราคาเสนอราคาต่ำกว่าราคากลางกว่าร้อยล้านบาท
โดยกรมชลประทานยืนยันว่า เอกชนที่ประมูลต่ำกว่าราคากลางร้อยกว่าล้านบาทนั้น ทำให้ราชการได้ประโยชน์
(อ่านประกอบ : เป็น ปย.ต่อราชการ! กรมชลฯแจงปมเอกชนประมูลต่ำกว่าราคากลางร้อยล. , เปิด 4 โครงการกรมชลฯตั้งราคากลางสูงกว่าราคาเอกชนประมูลหลายร้อยล.?)
โดยในการชี้แจงของกรมชลประทานนั้น มีการอ้างถึงหลักเกณฑ์การคิดคำนวณราคากลางงานก่อสร้างของทางราชการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อปี 2555 ด้วย ซึ่งยืนยันว่าดำเนินการอย่างเคร่งครัด และถูกต้อง โปร่งใส
จริงหรือไม่ ?
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า ตามหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เรื่องหลักเกณฑ์การคำนวณราคากลางงานก่อสร้างของทางราชการเมื่อปี 2555 ที่นำเรียนต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ขณะนั้น) มีมติอนุมัติปรับปรุงหลักเกณฑ์คำนวณราคากลางงานก่อสร้างของทางราชการใหม่ โดยมีสาระสำคัญคือ ให้ยกเลิกหลักเกณฑ์การคำนวณราคากลางงานก่อสร้างของทางราชการเมื่อปี 2550 และให้ใช้หลักเกณฑ์ใหม่โดยมีผลภายใน 30 วัน ถัดจากวันที่คณะรัฐมนตรีมีมติ โดยหน่วยงานของรัฐทั้งส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ จะต้องถือปฏิบัติด้วย
นอกจากนี้ในการคำนวณราคากลางงานก่อสร้างของทางราชการที่จะใช้ในการดำเนินการจัดจ้างก่อสร้างนั้น ให้คำนวณราคากลางตามความเป็นจริง โดยไม่นำวงเงินเผื่อเหลือเผื่อขาดร้อยละ 5 มารวมคำนวณเป็นราคากลางด้วย (ดูเอกสารประกอบ)
หากพิจารณาจากข้อเท็จจริงตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อปี 2555 ข้างต้นแล้ว จะเห็นได้ว่า ในการคำนวณราคากลางต้องคำนวณตามความเป็นจริง และไม่มีการนำวงเงินเผื่อเหลือเผื่อขาดร้อยละ 5 มารวมคำนวณเป็นราคากลาง
แต่ข้อเท็จจริงที่พบใน 4 โครงการของกรมชลประทานคือ มีการตั้งราคากลางไว้สูงกว่าราคาที่เอกชนผู้ชนะการประมูลเสนอจริงกว่าร้อยล้านบาท ได้แก่
1.ประกวดราคาจ้างก่อสร้างระบบส่งน้ำและอาคารประกอบ โครงการระบบส่งน้ำอ่างเก็บน้ำคลองพระพุทธ ระยะที่ 3 จ.จันทบุรี โดยวิธีการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-Bidding)
มีการตั้งราคากลางไว้ที่ 350,326,403.69 บาท
บริษัท ศิริไพบูลย์ พัฒนาการ จำกัด เป็นผู้ชนะการประกวดราคาด้วยวงเงิน 206,764,229 บาท หรือประมาณ 58% จากราคากลาง
เท่ากับว่ามีการตั้งราคาไว้สูงกว่าราคาประมูลเกือบ 150 ล้านบาท
2.ประกวดราคาจ้างก่อสร้างประตูระบายน้ำปลายคลองสวนหมาก พร้อมอาคารประกอบ 4 กิจกรรม จ.กำแพงเพชร โดยวิธี e-Bidding
มีการตั้งราคากลางไว้ที่ 341,221,266.52 บาท
บริษัท อุตสาหกรรมไทยพนาภัณฑ์ จำกัด เป็นผู้ชนะการประกวดราคาด้วยวงเงิน 231 ล้านบาท หรือประมาณ 67% จากราคากลาง
เท่ากับว่ามีการตั้งราคาไว้สูงกว่าราคาประมูลเกือบ 110 ล้านบาท
3.ประกวดราคาจ้างก่อสร้างระบบระบายน้ำพานทอง จ.ฉะเชิงเทรา โดยวิธี e-Bidding
มีการตั้งราคากลางไว้ที่ 734,466,350.60 บาท
บริษัท ริเวอร์ เอนจิเนียริ่ง จำกัด เป็นผู้ชนะการประกวดราคาด้วยวงเงิน 514,002,898.20 บาท หรือประมาณ 70% จากราคากลาง
เท่ากับว่ามีการตั้งราคาไว้สูงกว่าราคาประมูลเกือบ 220 ล้านบาท
4.ประกวดราคาจ้างก่อสร้างสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า พร้อมระบบส่งน้ำ ทุ่งทะเลหลวง (แก้มลิง) 5 แห่ง ต.บ้านกล้วย อ.เมือง จ.สุโขทัย ด้วยวิธี e-Bidding
มีการตั้งราคากลางไว้ที่ 223,994,616.90 บาท
บริษัท กฤษดากร คอนสตรัคชั่น จำกัด เป็นผู้ชนะการประกวดราคาด้วยวงเงิน 112,480,000 บาท หรือประมาณ 50% จากราคากลาง
เท่ากับว่ามีการตั้งราคากลางไว้สูงกว่าราคาประมูลเกือบ 110 ล้านบาท
รวมวงเงินราคากลางทั้งหมดประมาณ 1,650,008,635 บาท โดยมีการตั้งราคากลางไว้สูงกว่าราคาที่ผู้ชนะประกวดราคาประมาณ 590 ล้านบาท
หรือหากคำนวณคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ในแต่ละโครงการแล้ว ราคาที่ผู้ชนะการประกวดราคาเสนอนั้น ประมาณ 50-70% ของราคากลางเท่านั้น
ซึ่งค่อนข้างผิดปกติวิสัยในการตั้งราคากลาง ตามหลักเกณฑ์การคำนวณราคากลางงานก่อสร้างของทางราชการเมื่อปี 2555 ที่กรมชลประทานอ้างถึง ?
แน่นอนว่า การที่เอกชนผู้ชนะการประมูล เสนอราคาต่ำกว่าราคากลางค่อนข้างมาก ถือว่าเป็นประโยชน์ต่อทางราชการอย่างไม่ต้องสงสัย
แต่การที่หน่วยงานรัฐตั้งราคากลางไว้สูงเกินกว่าเป็นจริงเช่น กรมชลประทาน ตรงนี้ยังเป็นปริศนาว่า เหตุใดจึงทำเช่นนั้น และหนังสือที่กรมชลประทานส่งมาชี้แจงสำนักข่าวอิศราก็ไม่ได้ตอบไว้อย่างชัดเจนเช่นเดียวกัน
นับเป็นอีกหนึ่งเงื่อนปมที่กรมชลประทานต้องตอบให้กระจ่างชัด เพื่อให้สาธารณชนคลายข้อสงสัยลงไปได้
นอกจากนี้รัฐบาล กระทรวงการคลัง รวมถึงกรมบัญชีกลาง และสำนักงบประมาณเอง จำเป็นต้องขยายผลตรวจสอบไปยังหน่วยงานรัฐอื่นด้วยว่า มีลักษณะการตั้งราคากลางเช่นนี้เกิดขึ้นอีกหรือไม่ด้วย !