กสทช.อนุมัติกองทุนวิจัยฯ72ล้านบาทสนับสนุน12โครงการ
ผลการประชุม กสทช. เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2559 นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) กล่าวว่า วันนี้ (14 ธ.ค.2559) ที่ประชุม กสทช. มีมติเห็นชอบแนวทางการดำเนินการการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงของส่วนราชการ
รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐ ดังนี้
ในกรณีคลื่นความถี่วิทยุของ อสมท บนคลื่นเอฟ.เอ็ม. 105.5 เมกะเฮิรตซ์ เนื่องจากยังอยู่ภายใต้สัญญาสัมปทานกับบริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด สามารถที่จะมีการใช้งานได้ถึงวันที่ 31 ม.ค. 2563 สำหรับในกรณีคลื่นวิทยุในส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐ 21 หน่วยงาน จำนวน 537 คลื่น ให้มีกำหนดระยะเวลาการคืนคลื่นสูงสุดไว้ 5 ปี คือจะครบกำหนดในการที่จะส่งคืนคลื่นในเดือน เม.ย. 2560 แต่หากส่วนราชการรัฐวิสาหกิจ หรือ หน่วยงานใดประสงค์จะคืนคลื่นความถี่ก่อนเดือน เมษายน 2560 ก็สามารถดำเนินการส่งคืนได้
จากนั้นที่ประชุม กสทช. มีมติเห็นชอบร่างแก้ไขประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการใช้สิทธิในการปักหรือตั้งเสาหรือเดินสาย วางท่อ หรือติดตั้งอุปกรณ์ประกอบใดในการให้บริการโทรคมนาคมและให้นำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป โดยในการแก้ไขร่างฉบับดังกล่าวส่งให้เกิดผลดีขึ้น ดังนี้
1.มีการกำหนดให้ผู้ประกอบการต้องมีการจัดระเบียบสาย
2.ร่นระยะเวลาในการพิจารณาให้ความเห็นชอบกรณีผู้ประกอบการเข้ามาขอใช้สิทธิในการปักหรือตั้งเสาหรือเดินสาย วางท่อ หรือติดตั้งอุปกรณ์ประกอบใดในการให้บริการโทรคมนาคมจากเดิม 60วัน ให้เร็วขึ้นเป็น 30 วัน
3.อำนวยความสะดวกในการขอใช้สิทธิโดยมีการเชื่อมโยงฐานข้อมูลระหว่างสำนักงาน กสทช.
กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ทำให้สามารถยื่นขอดำเนินการที่ใดก็ได้
4.อำนวยความสะดวกในการยื่นขอปักหรือตั้งเสา หรือเดินสาย วางท่อ หรือติดตั้งอุปกรณ์ประกอบใดในการให้บริการโทรคมนาคมให้สามารถส่งเอกสารแบบอิเล็คทรอนิกส์ได้เลย
ต่อจากนั้นที่ประชุม กสทช. ได้อนุมัติโครงการที่ขอรับการส่งเสริมและสนับสนุนเงินจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) โครงการประเภทที่
2 ประจำปี 2558 จำนวน 12 ราย วงเงินรวมทั้งสิ้น 72,223,782 บาท ดังนี้
1.โครงการอากาศยานไร้นักบินเพื่องานด้านการแพทย์ฉุกเฉิน(สำหรับผู้ที่มีภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน) ของสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนามมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี วงเงิน 5,788,700 บาท
2.โครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในพื้นที่ชนบทด้วยการใช้เทคโนโนโลยีดิจิทัลเพื่อยกระดับการเรียนการสอนและการบริหารจัดการสถานศึกษาของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง วงเงิน 7,276,200 บาท
3.โครงการศึกษาการใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่ของกิจการโทรทัศน์ที่ไม่มีการใช้งานในแต่ละพื้นที่(TV white space)ของสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย Asian Institude of Tecnology(AIT) วงเงิน 3,784,461.60 บาท
4.โครงการศึกษาวิธีบูรณาการข้อมูลการตรวจสอบคลื่นความถี่ของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง วงเงิน 9,570,000 บาท
5.โครงการวิจัยและพัฒนาระบบการวัดสัญญาณรบกวนอันมีสาเหตุมาจากสถานีวิทยุกระจายเสียงของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี วงเงิน 8,625,296 บาท
6.โครงการพัฒนาต้นแบบของเทคโนโลยีที่ช่วยในการพัฒนาคุณภาพการให้บริการทางการแพทย์ฉุกเฉินทางไกลในชนบทโดยผ่านเครือข่ายดิจิทัลความเร็วสูงของมหาวิทยาลัยนเรศวร วงเงิน 9,493,910 บาท
7.โครงการขยายผล NETPIE IoTPlatform สภาอุตสาหกรรมของศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ วงเงิน 8,788,385.21 บาท
8.โครงการศึกษาเพื่อเสนอแนะการใช้คลื่นความถี่สำหรับการพัฒนาระบบไฟฟ้าให้มีความฉลาดหรือระบบโครงข่ายสมาร์ทกริด (SmartGrid) ของประเทศไทย ของศูนย์เชี่ยวชาญพิเศษเฉพาะด้านเทคโนโลยีไฟฟ้ากำลังจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วงเงิน 2,500,889.60 บาท
9.โครงการสำรวจพฤติกรรมการใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 3Gของประชากรไทยและประเมินผลกระทบของการมี 3G ต่อเศรษฐกิจไทย ของคณะวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วงเงิน 4,170,860 บาท
10.โครงการศึกษาและพัฒนาบุคลากรเพื่อปรับปรุงการปฏิบัติงานและพัฒนาเครื่องมือในการเฝ้าระวังความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์สำหรับองค์กรขนาดเล็กในระดับชุมชนของมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา วงเงิน 2,614,300 บาท
11.โครงการสร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชนเกี่ยวกับภัยคุกคามและอาชญากรรมไซเบอร์ของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ วงเงิน 3,143,125 บาท
12.โครงการพัฒนาองค์ความรู้สื่อมวลชนด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ของสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย วงเงิน 6,467,654.59 บาท