เปิดปัญหาเผยที่มามาตรา 44 เด้ง ผอ.พอช.เซ่นโครงการบ้านริมคลองล่าช้า
กระบวนการจัดทำโครงการบ้านมั่นคงทั้งในเมืองและชนบทของ พอช. ต้องผ่านขั้นตอนหลายอย่าง โดยยึดหลักการให้ชาวบ้านหรือผู้ที่เดือดร้อนรวมกลุ่มกันแก้ไขปัญหา ซึ่งจะต้องใช้ระยะเวลาอย่างน้อยประมาณ 1 ปีในการเตรียมความพร้อมของชุมชน
หลังจากที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติได้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ปลด สั่งพักราชการ หรือย้ายข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐไปแล้วหลายหน่วยงาน ล่าสุดเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา คสช.ได้ใช้มาตรา 44 สั่งย้ายนายพลากร วงค์กองแก้ว ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนหรือ พอช.ไปปฏิบัติหน้าที่ที่สำนักนายกรัฐมนตรี โดยมีเนื้อหาคำสั่งดังต่อไปนี้...
คำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 11/2559 เรื่องให้เจ้าหน้าที่ของรัฐไปปฏิบัติหน้าที่ในสำนักนายกรัฐมนตรี ตามที่ได้มีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษษความสงบแห่งชาติที่ 68 /2559 เรื่องมาตรการการแก้ไขปัญหาเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานอื่นของรัฐและการกำหนดกรอบอัตรากำลังชั่วคราว ลงวันที่ 10 พฤศจิกายน 2559 เพื่อประโยชน์ในการปรับปรุงประสิทธิภาพของงานและแก้ไขข้อขัดข้องในการปฏิบัติงานหน่วยงานอื่นของรัฐนั้น
อาศัยอำนาจตามข้อ 2 แห่งคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 68/2559 เรื่องมาตรการการแก้ไขปัญหาเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานอื่นของรัฐและการกำหนดกรอบอัตรากำลังชั่วคราว ลงวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ.2559 นายกรัฐมนตรีจึงมีคำสั่งให้นายพลากร วงค์กองแก้ว ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ไปปฏิบัติหน้าที่เจ้าหน้าที่ของรัฐประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ตามกรอบอัตรากำลังชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษที่จัดให้มีขึ้นในสำนักนายกรัฐมนตรี สั่ง ณ วันที่ 9 ธันวาคม 2559 โดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
สำหรับโครงการสร้างเขื่อนและการจัดระเบียบชุมชนริมคูคลอง 1 ใน 18 นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ มีนโยบายแก้ไขปัญหาเรื่องการระบายน้ำในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลเพื่อป้องกันน้ำท่วม ไม่ให้เกิดเหตุการณ์เหมือนปี 2554 โดยมอบหมายให้ กทม.รับผิดชอบการสร้างเขื่อนในคลองลาดพร้าว ความยาวรวมทั้งสองฝั่งประมาณ 45 กิโลเมตร (บริษัทริเวอร์เอ็นจิเนียริ่ง ประมูลงานได้ในวงเงิน 1,645 ล้านบาท เริ่มก่อสร้างเขื่อนเดือนกุมภาพันธ์ 2559-มิถุนายน 2562)
และมอบหมายให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. รับผิดชอบการจัดหาที่อยู่อาศัยเพื่อรองรับชาวบ้านที่ปลูกสร้างบ้านเรือนรุกล้ำลำคลอง ซึ่ง พอช.ได้จัดทำโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองตามโครงการบ้านมั่นคง เพื่อรองรับนโยบายของรัฐบาล ระยะเวลา 3 ปี (พ.ศ.2559-2561)ในคลองลาดพร้าว บางซื่อ และเปรมประชากร มีเป้าหมาย 74 ชุมชน รวม 11,004 ครัวเรือน จำนวน 64,869 คน ใช้งบประมาณรวม 4,061 ล้านบาทเศษ
นโยบายดังกล่าวนี้ ถือเป็นนโยบายเร่งด่วนที่สำคัญ 1 ใน 18 โครงการที่รัฐบาล คสช.ต้องการจะสร้างให้เห็นผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว (โครงการอื่น เช่น โครงการประชารัฐ การแก้ไขปัญหาบุกรุกพื้นที่ป่า การแก้ไขปัญหาค้ามนุษย์ ประมงผิดกฎหทมาย ฯลฯ)
โครงการดังกล่าวนี้ มีพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะอนุกรรมการอำนวยการจัดระเบียบสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำลำคลอง มีกระทรวงต่างๆ เข้าร่วมเป็นกรรมการ
ประเด็นที่สำคัญ คือ พลเอกประวิตรมีภารกิจมากมาย และยังเป็นประธานอนุกรรมการแก้ไขปัญหาต่างๆ ของรัฐบาลไม่ต่ำกว่า 20 ชุด ดังนั้นที่ผ่านมา อนุกรรมการชุดนี้จึงมีการประชุมกันน้อยครั้งมาก (ประมาณ 1 ครั้ง) การขับเคลื่อนงานพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองจึงดำเนินการผ่าน พอช.มี พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.กำกับ ใช้ระบบคิดและมีวิธีการทำงานแบบตำรวจ เช่น การจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการในแต่ละพื้นที่ มีชุดมวลชนสัมพันธ์ ฯลฯ ขณะที่ กทม.บทบาทที่ผ่านมาจะพยายามไม่ยุ่งเกี่ยวกับปัญหาการรื้อย้ายหรือสร้างชุมชนใหม่
ฉะนั้นภารกิจที่หนักหน่วงจึงตกมาอยู่ที่ พอช.แทบจะทั้งหมด
“บ้านประชารัฐริมคลอง”
พอช.ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมธนารักษ์ ในฐานะหน่วยงานที่ดูแลที่ดินริมคลอง จัดทำสัญญาเช่าที่ดินระยะยาว 30 ปีให้แก่ชุมชนในอัตราถูก (ประมาณ 1.50-1.75 บาทต่อตารางวาต่อเดือน เมื่อหมดสัญญา 30ปีจะต้องต่อสัญญาใหม่) โดยชาวชุมชนจะต้องรวมกลุ่มกันจัดตั้งสหกรณ์เคหสถานขึ้นมาเพื่อทำสัญญาเช่าและบริหารโครงการ และสำนักงานเขต กทม.ในแต่ละพื้นที่จะออกใบอนุญาตการก่อสร้างแก่ชาวชุมชนเพื่อให้การก่อสร้างเป็นไปอย่างถูกต้อง เปลี่ยนสถานะของชาวบ้านจากผู้บุกรุกเป็นผู้อยู่อาศัยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
และเรียกโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยนี้ว่า “บ้านประชารัฐริมคลอง” โดยในช่วงปี 2559-2560 จะเริ่มที่คลองลาดพร้าวก่อน
ในช่วงปี 2559 กรมธนารักษ์ได้มอบสัญญาเช่าที่ดินให้แก่ชาวบ้านไปแล้ว 7 ชุมชน คือ
1.ศาลเจ้าพ่อสมบุญ เขตสายไหม จำนวน 64 หลัง ขณะนี้ก่อสร้างบ้านแล้วเสร็จ 100 เปอร์เซ็นต์ ชาวบ้านพร้อมเข้าอยู่ได้ภายในเดือนธันวาคมนี้
2.ชุมชนสะพานไม้ 2 เขตหลักสี่ จำนวน 206 หลัง ขณะนี้ก่อสร้างเสร็จแล้ว 24 หลัง กำลังก่อสร้าง 74 หลัง และอีก 15 หลังกำลังเตรียมการรื้อย้ายเพื่อสร้างบ้านใหม่
3.ชุมชนวังหิน จำนวน 82 หลัง กำลังก่อสร้างใกล้จะแล้วเสร็จ 7 หลัง หลังจากนั้นจะทยอยรื้อถอนและสร้างบ้านใหม่
4.ชุมชนรุ่นใหม่พัฒนา เขตบางเขน จำนวน 192 หลัง กำลังก่อสร้าง 22 หลัง
5.ชุมชนเพิ่มสิน เขตสายไหม จำนวน 77 หลัง กำลังรื้อถอน
6.ชุมชนหลังกรมวิทย์ เขตบางเขน จำนวน 122 หลัง อยู่ในระหว่างการรื้อถอน
7.หลังโรงเรียนสมาคมไทย-ญี่ปุ่น เขตห้วยขวาง จำนวน 65 หลัง กำลังเริ่มก่อสร้าง ฯลฯ
หลักการสำคัญในการดำเนินโครงการบ้านมั่นคงชุมชนริมคลองก็คือ
1. หากชุมชนใดสามารถอยู่ในที่ดินเดิมได้ (หลังจากสำรวจและวัดแนวเขตว่าพ้นจากแนวเขื่อนแล้ว) ก็จะต้องทำสัญญาเช่าที่ดินจากกรมธนารักษ์ และยื่นขออนุญาตก่อสร้างจากสำนักเขตในพื้นที่ หลังจากนั้นจึงจะเริ่มปลูกสร้างบ้าน (โดยใช้วิธีจ้างผู้รับเหมา) โดยก่อนหน้านี้ชาวบ้านจะต้องมีการสำรวจข้อมูลชุมชน จำนวนบ้านเรือน ออกแบบผังชุมชน ออกแบบบ้าน ฯลฯ และเนื่องจากพื้นที่ชุมชนริมคลองมีจำกัด ดังนั้นครอบครัวใดที่เคยครอบครองที่ดินมากก็จะต้องเสียสละแบ่งปันที่ดินให้ครอบครัวอื่นๆ ได้อยู่อาศัยร่วมกัน โดยการแบ่งที่ดินให้แต่ละครอบครัวเท่ากัน โดย พอช.จะสนับสนุนเรื่องสินเชื่อระยะยาวและดอกเบี้ยต่ำ (ไม่เกิน 300,000 บาทต่อครัวเรือน) รวมทั้งสนับสนุนงบประมาณสร้างสาธารณูปโภคให้แก่ชุมชน เงินอุดหนุนและช่วยเหลือสร้างบ้าน ประมาณ 140,000 บาทต่อครัวเรือน)
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากพื้นที่ชุมชนริมคลองมีจำกัด ที่สำคัญคือ สำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร ซึ่งรับผิดชอบการก่อสร้างเขื่อน ได้กำหนดรูปแบบความกว้างของเขื่อนตลอดแนวคลองลาดพร้าวให้มีความกว้าง 38 เมตร ดังนั้นพื้นที่ที่แต่ละชุมชนเหลืออยู่จึงมีไม่มากนัก การออกแบบบ้านจึงต้องออกแบบให้คนทั้งชุมชนได้อยู่ร่วมกันทั้งหมด และต้องมีพื้นที่ส่วนกลาง ทางเดินเลียบคลอง บ่อบำบัดน้ำเสีย ฯลฯ ชุมชนต่างๆ ส่วนใหญ่จึงออกแบบบ้านเป็นบ้านแถว 2 ชั้น ขนาดความกว้างประมาณ 4x6 - 4x8 ตารางเมตร ราคาค่าก่อสร้างประมาณ 300,000 บาทต่อหลัง โดยชาวบ้านจะต้องออมทรัพย์เพื่อเป็นทุนในการสร้างบ้านให้ได้ 5 % ของวงเงินสร้างบ้าน หลังจากนั้นจึงยื่นขอใช้สินเชื่อจาก พอช.เพื่อนำมาสร้างบ้านในนามสหกรณ์เคหสถานที่ชาวบ้านจัดตั้งขึ้นมา และผ่อนชำระคืน พอช.ระยะเวลา 15 ปี อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 บาทต่อปี
2. หากชุมชนใดมีพื้นที่ไม่เพียงพอ ชาวบ้านอาจจะรวมตัวกันไปหาที่ดินแปลงใหม่ที่อยู่ไม่ไกลจากชุมชนเดิม เพื่อความสะดวกในการประกอบอาชีพ การเดินทาง สถานศึกษา เช่น ที่ดินของบรรษัทสินทรัพย์ในสังกัดกระทรวงการคลัง หรือที่ดินของเอกชน โดย พอช.จะให้การสนับสนุนชาวบ้านเช่นเดียวกับข้อ 1
3. หากไม่มีที่ดินที่เหมาะสม พอช.อาจจะประสานกับการเคหะแห่งชาติเพื่อหาที่อยู่อาศัยรองรับชาวบ้าน เช่น โครงการบ้านเอื้ออาทร แฟลตการเคหะ ฯลฯ ในลักษณะการเช่าซื้อ พอช.จะสนับสนุนชาวบ้านเหมือนกับข้อ 1
ส่วนรูปแบบการทำงานนั้น พอช.ได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองขึ้นมา มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆ ลงไปทำงานในพื้นที่ เช่น สถาปนิกชุมชน เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการพื้นที่ ร่วมกับเจ้าหน้าที่สำนักงานเขต กรมธนารักษ์ ตำรวจ ทหาร (ชุดมวลชนสัมพันธ์) ฯลฯ สร้างความเข้าใจกับชาวบ้านในชุมชน นำไปสู่การจัดทำโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยในชุมชนริมคลองต่างๆ
รมว.พม.เร่งโครงการให้เสร็จก่อน คสช.หมดอายุโชว์ผลงาน
เดิม พอช.วางเป้าหมายในการพัฒนาบ้านประชารัฐริมคลองลาดพร้าว คลองบางซื่อ และคลองเปรมประชากร จำนวน 74 ชุมชน รวม 11,004 ครัวเรือน ใช้ระยะเวลาทั้งหมด 3 ปี คือ ตั้งแต่ปี 2559-2561
แต่ต่อมาในช่วงเดือนเมษายน 2559 พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้กล่าวในงานยกเสาเอกสร้างบ้านใหม่ชุมชนศาลเจ้าพ่อสมบุญ ซอยพหลโยธิน 54 เขตสายไหม โดยมีพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ เป็นประธานในงานนั้นว่า จะปรับแผนให้เร็วขึ้นจากเดิม 3 ปี เป็น 1 ปี 6 เดือน หรือจะให้การก่อสร้างบ้านใหม่ของชุมชนริมคลองทั้งหมดแล้วเสร็จภายในช่วงสิ้นปี 2560 ซึ่งเป็นระยะที่รัฐบาล คสช.จะหมดวาระ และมีรัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง
การปรับแผนเร่งก่อสร้างครั้งนี้มีการวิเคราะห์กันว่า พล.ต.อ.อดุลย์ต้องการสร้างผลงานให้เข้าตาพล.อ.ประวิตร เนื่องจากในขณะนั้นมีกระแสข่าวการปรับคณะรัฐมนตรี รวมทั้งนโยบายเรื่องการจัดระเบียบชุมชนริมคูคลองเพื่อก่อสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมเป็นนโยบายสำคัญเร่งด่วน 1 ใน 18 โครงการของรัฐบาล พล.ต.อ.อดุลย์จึงต้องการสร้างผลงานชิ้นโบว์แดงนี้ขึ้นมาเพื่อสนองนโยบายของรัฐบาล โดยไม่คำนึงถึงความเป็นไปได้ในเรื่องของระยะเวลา และกระบวนการขั้นตอนในการเตรียมความพร้อมของชุมชน ถือเป็นการใช้อำนาจสั่งการลงมาแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดตามแบบฉบับของทหารหรือตำรวจในยุคที่ คสช.มีอำนาจอยู่เต็มมือ
ขณะที่ผู้บริหารของ พอช.ก็ไม่กล้าคัดค้านหรือโต้แย้งเนื่องจากกลัวว่าจะมีผลกระทบต่อองค์กร
อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมาได้มีการสำรวจข้อมูลครัวเรือนชุมชนที่ชัดเจนอีกครั้ง ทั้งจากข้อมูลของ พอช. กทม. และเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหาร นำไปสู่การวางแผนงานใหม่ โดยมีเป้าหมายในปี 2559 จำนวน 3,782 ครัวเรือน และปี 2560 ดำเนินการอีก 4,696 ครัวเรือน รวมทั้งหมด 8,478 ครัวเรือน
แต่ข้อเท็จจริงในขณะนี้ (กลางเดือนธันวาคม 2559) มีชุมชนที่ก่อสร้างเสร็จไปแล้ว คือ 1.ศาลเจ้าพ่อสมบุญ เขตสายไหม จำนวน 64 หลัง 2.ชุมชนสะพานไม้ 2 เขตหลักสี่ ขณะนี้ก่อสร้างเสร็จแล้ว 24 หลัง กำลังก่อสร้าง 74 หลัง 3.ชุมชนวังหิน ก่อสร้างใกล้จะแล้วเสร็จ 7 หลัง ฯลฯ
รวมแล้วจนถึงสิ้นปี 2559 นี้จะมีบ้านที่ก่อสร้างเสร็จรวมกันไม่เกิน 200 หลัง หากคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ตามเป้าหมายในปี 2559 ที่วางเอาไว้จำนวน 3,782 หลัง จะมีบ้านที่สร้างแล้วเสร็จไม่ถึง 10 %
ที่ผ่านมา กระบวนการจัดทำโครงการบ้านมั่นคงทั้งในเมืองและชนบทของ พอช. ต้องผ่านขั้นตอนหลายอย่าง โดยเฉพาะกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน โดยยึดหลักการให้ชาวบ้านหรือผู้ที่เดือดร้อนรวมกลุ่มกันแก้ไขปัญหา พอช.หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีหน้าที่สนับสนุน เช่น การรวมกลุ่มผู้ที่เดือดร้อนจัดตั้งเป็นคณะทำงานขึ้นมา มีการสำรวจข้อมูลชุมชน ครัวเรือนที่มีสิทธิ์ การร่วมกันออกแบบและวางผังชุมชน การออมทรัพย์ร่วมกัน (เดือนละ 200-300-500 หรือ 1,000 บาท ตามกำลังทรัพย์ของชาวบ้าน) ซึ่งชาวบ้านจะต้องออมเงินให้ได้จำนวน 10 % ของวงเงินที่จะขอใช้สินเชื่อจาก พอช. ฯลฯ
ขั้นตอนต่างๆ เหล่านี้จะต้องใช้ระยะเวลาอย่างน้อยประมาณ 1 ปีในการเตรียมความพร้อมของชุมชน จึงจะสามารถดำเนินโครงการได้ เช่น ชุมชนบางบัวเขตบางเขน จัดทำโครงการบ้านมั่นคงริมคลองมาตั้งแต่ปี 2547 แต่กว่าจะสร้างความเข้าใจและรวมกลุ่มชาวบ้านเข้ามาร่วมโครงการได้ต้องใช้เวลากว่า 2 ปีจึงจะสร้างบ้านหลักแรกได้
โครงการบ้านประชารัฐริมคลองเป็นโครงการเร่งด่วนของรัฐบาล พอช.จึงผ่อนปรนให้ชาวบ้านออมเงินให้ได้เพียง 5 % และร่นระยะเวลาในการเตรียมความพร้อมของชุมชนอย่างน้อย 1 ปีเหลือเพียง 6 เดือนเท่านั้น
ปัญหาอุปสรรคและความล่าช้า
กระนั้นก็ตาม แม้ว่า พอช.จะมีมาตรการผ่อนปรนเพื่อให้ชาวบ้านสามารถขอสนับสนุนสินเชื่อและเงินอุดหนุนเพื่อสร้างบ้าน สร้างชุมชนใหม่ได้เร็วแล้วก็ตาม แต่ยังมีอุปสรรคหลายประการ ทั้งข้อจำกัดด้านระเบียบ ข้อกฎหมายการก่อสร้าง การขาดความร่วมมือ ขาดการบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กทม., มหาดไทย, พม. ฯลฯ ขาดการสื่อสารประชาสัมพันธ์ ชี้แจงสร้างความเข้าใจกับประชาชน (ในภายหลังจึงมีการจัดชุดมวลชนสัมพันธ์ลงชุมชน)
รวมทั้งปัญหากลุ่มคนที่คัดค้านโครงการ ฯลฯ เช่น กลุ่มผู้คัดค้านโครงการ ซึ่งนำโดยนักการเมืองในเขตหลักสี่ เจ้าของร้านอาหารริมคลอง (บุกรุกที่ดินกรมธนารักษ์) เจ้าของบ้านหลังใหญ่หรือครอบครองที่ดินมาก เจ้าของบ้านเช่าที่จะเสียผลประโยชน์ (การจัดผังชุมชนใหม่จะทำให้ชาวบ้านได้สิทธิ์เท่ากัน เช่น ครอบครัวละ 1 สิทธิ์) รวมทั้งชาวบ้านที่มีฐานะยากจนจริง ไม่อยากรื้อย้ายบ้าน ไม่อยากเป็นหนี้เพื่อสร้างบ้าน เพราะรัฐบาลไม่ได้สร้างบ้านให้ฟรี แต่จะสนับสนุนงบประมาณบางส่วนและให้สินเชื่อระยะยาวผ่าน พอช. จึงร่วมกันคัดค้านการเข้าร่วมโครงการบ้านมั่นคง โดยอ้างว่าที่ผ่านมาคณะกรรมการบางชุมชนมีการทุจริต ไม่โปร่งใส ฯลฯ จึงไม่เข้าร่วมโครงการ
แกนนำชาวบ้านเครือข่ายพัฒนาชุมชนและสิ่งแวดล้อมคูคลอง (คพสค.) รายหนึ่งบอกว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่อยากเข้าร่วมโครงการบ้านประชารัฐริมคลอง เพราะอยากจะมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคงให้ครอบครัวและลูกหลาน ไม่ต้องกลัวว่าจะถูกไล่รื้ออีกต่อไป นอกจากนี้ชาวบ้านยังได้รับงบสนับสนุนการก่อสร้างบ้านจากรัฐบาลผ่าน พอช.ครัวเรือนหนึ่งประมาณ 140,000 บาท และยังได้สินเชื่อจาก พอช.เพื่อนำมาสร้างบ้านใหม่ในวงเงินไม่เกิน 300,000 บาท ระยะเวลาผ่อนชำระคืน 15 ปี หรือประมาณเดือนละ 2,000 บาท ถือว่าเป็นภาระที่ชาวบ้านสามารถผ่อนส่งได้
แต่ก็มีชาวบ้านบางกลุ่มที่ไม่อยากจะรื้อย้ายสร้างบ้านใหม่ เพราะบ้านที่อยู่ปัจจุบันมีขนาดใหญ่ บางหลังมีขนาด 40-50 ตารางวา หากจะให้รื้อสร้างใหม่แล้วได้บ้านขนาด 4x7 ตารางเมตรก็จะไม่เอา แถมยังต้องผ่อนชำระเงินสร้างบ้านอีก ชาวบ้านกลุ่มนี้จึงคัดค้าน ไม่ยอมรื้อย้าย ทำให้บ้านที่จะสร้างใหม่สร้างไม่ได้ เพราะติดปัญหาเรื่องพื้นที่มีไม่พอ
บ้านบางหลังที่ไม่ยอมรื้อย้ายตั้งอยู่ระหว่างทางเข้าออกของชุมชน ทำให้เป็นอุปสรรคในการขนวัสดุก่อสร้าง
“แต่ปัญหาความล่าช้าที่เป็นประเด็นสำคัญก็คือ กฎระเบียบขั้นตอนต่างๆ ของทางราชการ เช่น ขนาดความกว้างของคลองที่ทางสำนักการระบายน้ำ กทม.กำหนดเอาไว้ 38 เมตรเพื่อสร้างเขื่อนนั้น ชาวบ้านหลายชุมชน โดยเฉพาะในคลองเปรมประชากรที่มีแนวคลองกว้างประมาณ 20-25 เมตร จะไม่สามารถอยู่อาศัยในชุมชนเดิมได้ เพราะเหลือพื้นที่ไม่พอเพียง ต้องไปหาที่อยู่อาศัยใหม่ ต้องเดินทางไกล ห่างจากที่ทำมาหากินและโรงเรียนของลูกหลาน นอกจากนี้ที่ดินก็ยังมีราคาแพง ทำให้การสร้างบ้าน สร้างชุมชนใหม่มีความล่าช้า” แกนนำชาวบ้านรายนี้ ชี้แจง
นอกจากนี้ยังติดข้อบังคับเรื่องการก่อสร้างบ้านที่ต้องเว้นระยะห่างจากแนวคลองไม่น้อยกว่า 6 เมตร ทำให้ชุมชนต่างๆ เหลือพื้นที่ไม่เพียงพอที่จะสร้างบ้าน ขณะเดียวกันทางราชการก็อยากจะให้ชาวบ้านเปลี่ยนรูปแบบที่อยู่อาศัยจากเดิมแนวราบ ขนาด 2 ชั้น เป็นอาคารสูง 4-5 ชั้นเหมือนแฟลตการเคหะ แต่ชาวบ้านไม่ต้องการ เพราะขนาดห้องมีความแคบ ไม่สอดคล้องกับอาชีพของชาวบ้าน และราคาแพงกว่าบ้าน 2 ชั้น รวมทั้งการกำหนดให้ต้องมีการจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในการสร้างบ้านริมคลอง ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการจัดทำนานหลายเดือน รวมทั้งการขออนุญาตก่อสร้างจากสำนักงานเขตก็ทำไม่ได้ หากไม่ผ่านขั้นตอนเหล่านี้ จึงทำให้โครงการบ้านมั่นคงริมคลองเดินหน้าต่อไปไม่ได้ หรือทำได้เฉพาะบางชุมชน
“ที่ผ่านมาชาวบ้านเคยรวมกลุ่มกันไปยื่นหนังสือถึงสำนักการระบายน้ำ และยื่นที่สำนักนายกรัฐมนตรีแล้ว แต่ก็ไม่ได้รับการตอบรับ ทางสำนักการระบายน้ำยืนยันว่าแนวเขื่อนจะต้องกว้าง 38 เมตรเท่านั้น ถ้าอย่างนั้นชาวบ้านก็จะไม่มีที่อยู่ ทั้งๆ ที่พวกเราก็พร้อมที่จะทำตามนโยบายของรัฐบาล ช่วยกันรื้อบ้านออกจากคลองแล้ว แต่สร้างบ้านไม่ได้” แกนนำชาวบ้านอีกคนเล่าเสริม
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน คือ ชุมชนคนรักถิ่นและชุมชนแจ้งวัฒนะซอย 5 เขตหลักสี่ ได้รื้อบ้านออกจากแนวคลองและสร้างบ้านใหม่ประมาณ 15 หลัง ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2559 ที่ผ่านมา แต่ถูกกลุ่มคัดค้านไปแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจและสำนักงานเขตหลักสี่ว่าก่อสร้างบ้านโดยไม่ได้รับอนุญาต ทำให้การก่อสร้างบ้านที่สร้างไปแล้วกว่า 50 % ต้องถูกคำสั่งระงับ ชาวบ้านเกิดความเดือดร้อน เพราะไม่มีที่อยู่อาศัย ต้องเช่าหรืออาศัยบ้านคนอื่นอยู่
“ข้อติดขัดและระเบียบต่างๆ ทั้งหมดนี้ เครือข่ายชาวบ้านริมคลองได้เสนอความเห็นไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนานหลายเดือนแล้ว โดยเฉพาะกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ก็ยืนยันว่า ได้เสนอให้รัฐบาลใช้มาตรา 44 เพื่อผ่อนปรนการใช้กฎหมายและข้อบังคับ เพื่อให้ชาวบ้านก่อสร้างบ้านได้เร็วตามแผนงาน แต่จนถึงวันนี้รัฐบาลก็ยังไม่ได้ใช้มาตรา 44 เพื่อแก้ไขระเบียบแต่อย่างใด แต่กลับใช้มาตรา 44 โยกย้ายผู้อำนวยการ พอช. ซึ่งหากรัฐบาลยังไม่แก้ปัญหาทั้งหมดนี้ โครงการนี้ก็จะเดินหน้าต่อไปไม่ได้” แกนนำชาวบ้านกล่าว
ทั้งหมดนี้คือภาพสะท้อนการใช้อำนาจการบริหารราชการในยุค คสช.ในกรณีการแก้ไขปัญหาชุมชนริมคลอง ที่มุ่งแต่การสร้างผลงานให้เป็นไปตามเป้าหมาย โดยไม่ได้คำนึงถึงข้อเท็จจริง ทั้งในเรื่องระยะเวลา อุปสรรคปัญหา และความเป็นไปได้ในการรื้อย้ายและสร้างชุมชนใหม่ ซึ่งจะต้องมีกระบวนการในการทำงานกับชาวบ้าน การสร้างการมีส่วนร่วม เพราะเรื่องบ้านหรือเรื่องที่อยู่อาศัยของคนจนเป็นเรื่องใหญ่ ไม่ใช่ก้อนอิฐหรือก้อนหินที่จะสั่งให้ใครหยิบจับไปวางที่ไหนก็ได้ !!