กางกฏหมาย-ขมวดปม‘ศานิตย์’ รับเงินที่ปรึกษา‘ไทยเบฟ’ทำได้จริงหรือ?
เปิดหมดข้อกฏหมาย-ขมวดข้อเท็จจริง ‘พล.ต.ท.ศานิตย์’ รับเงินที่ปรึกษา ‘ไทยเบฟ’ 5 หมื่น/เดือน ทั้งที่เป็น ขรก.ตำรวจ-เจ้าหน้าที่รัฐ-ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ทำได้จริงหรือ ?
ชื่อของ พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ใหม่แกะกล่อง กำลังได้รับการจับตาจากสาธารณชนเป็นอย่างมาก !
ภายหลังแจ้งต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กรณีเข้ารับตำแหน่ง สนช. ว่า ได้รับเงินเดือนเป็นค่าที่ปรึกษาจากบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เดือนละ 50,000 บาท นับตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา
ส่งผลให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างหนาหูว่า การรับเงินเดือนค่าที่ปรึกษาดังกล่าวเหมาะสมหรือไม่ ?
เพราะต้องไม่ลืมว่า พล.ต.ท.ศานิตย์ คือข้าราชการตำรวจชั้นผู้ใหญ่ มีอำนาจในการบริหารงานกองบัญชาการตำรวจนครบาลทั้งหมด
ประเด็นต่อมาคือ พล.ต.ท.ศานิตย์ ให้คำปรึกษาแก่ ‘ไทยเบฟ’ ในเรื่องอะไร ?
แม้ว่า พล.ต.ท.ศานิตย์ จะเป็นข้าราชการตำรวจ และมีความเชี่ยวชาญด้านกฎหมาย แต่ถ้าหากไม่อยากให้เกิดข้อครหาดังกล่าว บริษัทเอกชนชั้นนำของประเทศอย่าง ‘ไทยเบฟ’ สามารถจ้างนักกฏหมาย-เนติบริกร ซึ่งในประเทศนี้มีเป็นจำนวนมากได้อยู่แล้ว
ปัจจุบัน ทั้ง พล.ต.ท.ศานิตย์ และ ‘ไทยเบฟ’ ยังไม่ออกมาชี้แจงกรณีดังกล่าว
ไม่ว่าข้อเท็จจริงเรื่องนี้จะเป็นเช่นไร ?
แต่นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ได้ร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดินให้ตรวจสอบกรณีดังกล่าว และจี้ให้ พล.ต.ท.ศานิตย์ ลาออกจากการเป็น ผบช.น. และ สนช. เรียบร้อยแล้ว
(อ่านประกอบ : บี้‘ศานิตย์’ไขก๊อก ผบช.น.-สนช.! ร้องผู้ตรวจฯสอบปมรับเงินที่ปรึกษาไทยเบฟฯ)
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รวบรวมข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย ประมวลจริยธรรม ที่เกี่ยวข้องมาสรุปให้สาธารณชนรับทราบ ดังนี้
พล.ต.ท.ศานิตย์ ดำรงตำแหน่งเป็น ผบช.น. เมื่อช่วง ก.ย. 2559 และเพิ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิก สนช. เมื่อช่วง ต.ค. 2559 ที่ผ่านมา จึงถือเป็นทั้งข้าราชการตำรวจ และเจ้าหน้าที่ของรัฐ รวมถึงเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542)
ขณะที่ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 มาตรา 18 ให้มีคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กทม. ประกอบด้วย ผู้ว่าฯ กทม. เป็นประธานฯ ปลัด กทม. เป็นรองประธานฯ ผู้แทนกองบัญชาการตำรวจนครบาล ผู้แทนกรมสรรพาสามิต หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. ผอ.สำนักพัฒนาสังคม ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาใน กทม. ซึ่งผู้ว่าฯ กทม. แต่งตั้ง 1 คน ผอ.สำนักการศึกษา ผอ.สำนักการแพทย์ เป็นกรรมการ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 4 คน ซึ่งผู้ว่าฯ กทม. แต่งตั้งจากผู้มีความรู้ความสามารถ และประสบการณ์ด้านสังคมสงเคราะห์ การแพทย์ จิตวิทยา และกฎหมายด้านละ 1 คน
(อ่าน พ.ร.บ. ดังกล่าวประกอบ : http://bit.ly/2hoHn6K)
นอกจากนี้ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อปฏิบัติการตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 (แก้ไขเพิ่มเติม) พ.ศ.2555 สมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ระบุว่า ให้ข้าราชการสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ซึ่งเป็นข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตร ผู้มียศตั้งแต่ร้อยตำรวจตรี หรือผู้ดำรงตำแหน่งรองสารวัตรขึ้นไป เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 เฉพาะในท้องที่ที่มีอำนาจหน้าที่ดูแล และรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการ
(อ่านประกาศดังกล่าวประกอบ : http://bit.ly/2hoHn6K)
ขณะที่ประมวลจริยธรรมและจรรยาบรรณของตำรวจ พ.ศ.2551 มีข้อกำหนดบางข้อที่เกี่ยวข้องกับกรณีนี้ ไม่ว่าจะเป็น
ข้อ 5 ข้าราชการตำรวจต้องปฏิบัติตามค่านิยมหลักของมาตรฐานจริยธรรมสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐตามที่ผู้ตรวจการแผ่นดินกำหนด ดังนี้
(3) การยึดถือประโยชน์ของประเทศชาติเหนือกว่าประโยชน์ส่วนตน และไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน
(4) การยืนหยัดทำในสิ่งที่ถูกต้อง เป็นธรรม และถูกกฎหมาย
(9) การยึดมั่นในหลักจรรยาวิชาชีพขององค์การ
ข้อ 12 ข้าราชการตำรวจต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตและยึดมั่นในศีลธรรม โดยยึดถือประโยชน์ส่วนรวมเหนือประโยชน์ส่วนตน ซึ่งต้องประพฤติปฏิบัติ ดังนี้
(1) ไม่ใช้ตำแหน่ง อำนาจหรือหน้าที่ หรือไม่ยอมให้ผู้อื่นใช้ตำแหน่ง อำนาจหรือหน้าที่ของตนแสวงหาผลประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น
(4) ไม่ใช้เวลาราชการหรือทรัพย์ราชการเพื่อธุรกิจหรือประโยชน์ส่วนตน
(5) ไม่ประกอบอาชีพเสริมซึ่งมีลักษณะเป็นผลประโยชน์ทับซ้อน หรือเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์ส่วนรวม
(6) ดำรงชีวิตส่วนตัวไม่ให้เกิดมลทินมัวหมองต่อตำแหน่งหน้าที่ ไม่ทำผิดกฎหมายแม้เห็นว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย ไม่หมกมุ่นในอบายมุขทั้งหลาย ไม่ฟุ้งเฟ้อหรูหรา และใช้จ่ายประหยัดตามฐานะแห่งตน
ขณะที่ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยประมวลจริยธรรมของข้าราชการการเมือง พ.ศ.2551 มีบางข้อกำหนดเกี่ยวข้องกับกรณีนี้ ไม่ว่าจะเป็น
ข้อ 6 ข้าราชการการเมืองมีหน้าที่ดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย รักษาประโยชน์ส่วนรวม ยึดถือหลักธรรมาภิบาล โดยจะต้องยึดมั่นในค่านิยมหลัก ดังนี้
(4) ยึดประโยชน์ของประเทศชาติเหนือว่าประโยชน์ส่วนตน และไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน
(5) ยืนหยัดทำในสิ่งที่ถูกต้อง เป็นธรรม และถูกกฏหมาย
(9) ยึดมั่นในหลักจรรยาของการเป็นข้าราชการการเมืองที่ดี
ข้อ 14 ข้าราชการการเมืองต้องไม่ใช้หรือยินยอมให้ผู้อื่นใช้สถานะหรือตำแหน่งการเป็นข้าราชการการเมือง ไปแสวงหาผลประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฏหมาย สำหรับตนเองหรือผู้อื่นไม่ว่าจะเป็นประโยชน์ในทางทรัพย์สินหรือไม่ก็ตาม
ข้อ 22 ข้าราชการการเมืองจะต้องไม่เรียกร้องของขวัญ ของกำนัล หรือประโยชน์อื่นใดจากบุคคลอื่นเพื่อประโยชน์ต่างๆ อันอาจจะเกิดขึ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ของตน และจะต้องดูแลให้คู่สมรส ญาติสนิท หรือบุคคลในครอบครัวของตนปฏิบัติเช่นเดียวกันด้วย
ข้อ 27 ข้าราชการการเมืองต้องไม่ประพฤติตนอันอาจก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติภูมิของชาติ
ส่วน พ.ร.บ.ป.ป.ช. มาตรา 100 ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดดำเนินกิจการดังต่อไปนี้
(4) เข้าไปมีส่วนได้ส่วนเสียในฐานะเป็นกรรมการ ที่ปรึกษา ตัวแทน พนักงานหรือลูกจ้างในธุรกิจของเอกชนซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับ ดูแล ควบคุม หรือตรวจสอบของหน่วยงานของรัฐที่เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นสังกัดอยู่ หรือปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งโดยสภาพของผลประโยชน์ของธุรกิจของเอกชนนั้น อาจขัดหรือแย้งต่อประโยชน์ส่วนรวม หรือประโยชน์ทางราชการ หรือกระทบต่อความมีอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้น
และมาตรา 103 ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากบุคคลนอกเหนือจากทรัพย์สินหรือประโยชน์อันควรได้ตามกฎหมาย หรือกฎ หรือข้อบังคับที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เว้นแต่การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยาตามหลักเกณฑ์และจำนวนที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด
โดยตามประกาศคณะกรรมการ ป.ป.ช. เรื่องหลักเกณฑ์การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด โดยธรรมจรรยาของเจ้าหน้าที่ของรัฐ พ.ศ.2543 ข้อ 4 ระบุว่า ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากบุคคลนอกเหนือจากทรัพย์สินหรือประโยชน์อันควรได้ตามกฏหมาย หรือกฎ หรือข้อบังคับ ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เว้นแต่การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด โดยธรรมจรรยาตามที่กำหนดไว้ในประกาศนี้
ข้อ 5 เจ้าหน้าที่ของรัฐจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยาได้ ดังต่อไปนี้ (2) รับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากบุคคลอื่นซึ่งมิใช่ญาติ มีราคาหรือมูลค่าในการรับจากแต่ละบุคคล แต่ละโอกาสไม่เกินสามพันบาท
ทั้งหมดคือข้อเท็จจริง-ข้อกฎหมาย เกี่ยวกับกรณีดังกล่าว เพื่อให้สาธารณชนเข้าใจความเป็นมามากยิ่งขึ้น
ท้ายสุดจะเข้าข่ายฝ่าฝืน-ผิดจริยธรรมอย่างที่ถูกร้องเรียนหรือไม่ คงต้องรอการพิจารณาจากผู้ตรวจการแผ่นดินอีกครั้ง !
อ่านประกอบ :
เก็บเงินสดให้ลูกน้องทำงานทางลับ! ‘ศานิตย์’ แจงปมรายได้-ทรัพย์สินรวม 93 ล.
สมบัติ 93 ล.‘ศานิตย์’ส่วนใหญ่‘แม่-น้า’ ยกให้-รับเงินที่ปรึกษา‘ไทยเบฟ’ด้วย