สตรอว์เบอร์รี่พระราชทาน 88 เป็นพันธุ์สุดท้ายของในหลวงร.9
ช่วงก่อนหน้า พ.ศ.2512 พื้นที่บนเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ เต็มไปด้วยการปลูกฝิ่นของชาวไทยภูเขา แต่หลังจากที่พระราชาผู้ยิ่งใหญ่ได้เดินทางมาถึง ต้นฝิ่นเหล่านั้นกลับกลายเปลี่ยนเป็นต้นสตรอว์เบอร์รี่ ที่ออกผลผลิตสร้างรายได้มหาศาลแก่ชาวเขาพื้นที่แห่งนี้
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) และมูลนิธิโครงการหลวง พาสื่อมวลชนชมการปรับปรุงพันธุ์สตรอว์เบอร์รี่พันธุ์พระราชทาน โดยโครงการพัฒนานักวิจัยและงานวิจัยเพื่ออุตสาหกรรม (พวอ.) ณ มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก และแปลงสาธิต เขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์
ดร.ณรงค์ชัย พิพัฒน์ธนวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด มูลนิธิโครงการหลวง เล่าว่า การปลูกสตรอว์เบอร์รี่ในพื้นที่เขาค้อ เกิดจากมูลนิธิโครงการหลวงของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ต้องการให้ชาวไทยภูเขาปลูกพืชอื่นทดแทนการปลูกฝิ่นเมื่อปีพ.ศ.2512
ช่วงเริ่มแรกของโครงการในหลวง ร.9 พระราชทานพันธุ์สตรอว์เบอร์รี่ที่ชื่อว่า 16 มาให้ทดลองปลูก ซึ่งเป็นสตรอว์เบอร์รี่ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ จนผ่านไป 20 กว่าปีจึงมีการคิดค้นผสมพันธุ์สตรอว์เบอร์รี่ของไทยขึ้นมาเองเพื่อไม่ต้องไปนำเข้ามา
ยกตัวอย่างเช่น พันธุ์พระราชทาน 50 ก็เป็นพันธุ์ที่ตรงกับช่วงในหลวงครองราชครบ 50 ปี แล้วยังมีพันธุ์พระราชทาน 60,70,72 ล่าสุดเป็นพันธุ์พระราชทาน 80 ที่ตอนนี้ถือว่า เป็นพันธุ์สตรอว์เบอร์รี่ที่ดีที่สุดของไทย ลักษณะเด่นคือ ผลใหญ่ ผิวสวย และมีรสหวาน
ผอ.ฝ่ายการตลาด มูลนิธิโครงการหลวง เล่าต่อว่า แม้ตอนนี้โครงการจะมีสตรอว์เบอร์รี่พันธุ์ดีอยู่เยอะแล้ว แต่ก็ยังไม่หยุดค้นคว้าพัฒนาเพื่อให้ได้สตรอว์เบอร์รี่สุดยอดสายพันธุ์ต่อไป ล่าสุดมีสตรอว์เบอร์รี่อีกสายพันธุ์หนึ่งที่พึ่งกราบบังคมทูลขอพระราชทานชื่อพันธุ์ไปเมื่อปีที่แล้ว และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานชื่อให้ว่า "พันธุ์พระราชทาน 88"
"พันธุ์นี้เป็นพันธุ์ที่พิเศษ มีลักษณะพิเศษในเรื่องของกลิ่นหอมมาก ผิวค่อนข้างคงทนต่อการขนส่ง เนื้อผลละเอียดอ่อนเวลากินแล้วแทบะละลายในปาก ที่สำคัญเป็นสายพันธุ์สุดท้ายในรัชกาลที่ 9 โดยคาดว่าจะออกจำหน่ายปลายปีนี้ และจะมีการให้ชาวบ้านนำไปปลูกในอีก 1-2 ปีข้างหน้า"
ถึงแม้สตรอว์เบอร์รี่พันธุ์พระราชทาน 88 จะเป็นสตรอว์เบอร์รี่พันธุ์สุดท้ายในรัชกาลที่ 9 แต่เขายืนยันว่า โครงการนี้ยังเดินหน้าพัฒนาสตรอว์เบอร์รี่ของไทยต่อไป ตามพระราชดำริ โดยในอนาคต สตรอว์เบอร์รี่จะมีส่วนช่วยในการลดการเกิดมะเร็งในร่างกาย
"ตอนนี้มีงานวิจัยร่วมกับทางมหาวิทยาลัยนเรศวร อนาคตน่าจะมีพันธุ์สตรอเบอร์รี่ที่รับประทานแล้วมีประโยชน์และคุณค่าต่อร่างกายเพิ่มขึ้น ซึ่งงานวิจัยจะทำให้สตรอว์เบอร์รี่มีสารแอนโทไซยานินมาก สารนี้จะช่วยในการต่อต้านสารอนุมูลอิสระที่เป็นสาเหตุหนึ่งของโรคมะเร็ง"
ขณะที่หลายคนที่คิดว่า สตรอว์เบอร์รี่ที่ไหนๆ ก็เหมือนกัน สำหรับผศ.ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์เกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ยืนยันว่าสตรอว์เบอร์รี่จากโครงการหลวงมีคุณภาพดีกว่าและปลอดภัยต่อผู้บริโภค
"ก่อนอื่นทุกคนต้องรู้อย่างหนึ่งว่าการปลูกสตรอว์เบอร์รี่ใช้ยาฆ่าแมลงค่อนข้างเยอะ เพราะประเทศเราเป็นประเทศเขตร้อนจึงมีแมลงเยอะโรคเยอะ แต่โครงการหลวงเป็นแหล่งผลิตสตรอว์เบอร์รี่ที่มีคุณภาพดี เพราะมีการตรวจสอบสารพิษตกค้างในสตรอว์เบอร์รี่ เพื่อให้ปลอดภัยแก่ผู้บริโภคอันนี้ถือเป็นจุดเด่น"
ผศ.ดร.พีระศักดิ์ ให้ความรู้เกี่ยวกับสตรอว์เบอร์รี่อีกว่า สตรอว์เบอร์รี่เป็นพืชเขตหนาวที่เป็นไม้ผลเศรษฐกิจชนิดหนึ่งที่นิยมปลูกมากที่สุดในโลก ซึ่งเมื่อก่อนประเทศไทยนำเข้าสายพันธุ์มาปลูกเพื่อการค้า แต่ต่อมามีการปรับปรุงสายพันธุ์จนได้พันธุ์ที่ดีและเข้ากับสภาพแวดล้อมของประเทศไทย ตัวอย่างเช่น พันธุ์พระราชทาน 80 ซึ่งเป็นสายพันธุ์หนึ่งที่เหมาะสมให้เกษตรกรในโครงการพระราชดำริปลูก เพราะสามารถต้านทานโรคและทนทานต่อศัตรูพืช
ก่อนจะอธิบายคร่าวๆ ถึงวิธีการปรับปรุงสายพันธุ์สตรอว์เบอร์รี่ในโครงการหลวง โดยเริ่มจากการผสมเกษร คือเอาปลายยอดของเกษรตัวผู้ที่แก่เต็มที่ไปแตะบนยอดเกษรตัวเมีย หลังจากนั้นละอองเรณูของเกษรตัวผู้จะไปอยู่ในหลอดของเกษรตัวเมีย และเข้าไปผสมในรังไข่เกิดการพัฒนากลายเป็นเมล็ด
เมล็ดของสตรอว์เบอร์รี่จะอยู่ข้างนอก คือ เมล็ดสีเหลืองเล็กๆที่ติดอยู่รอบๆของผลสตรอว์เบอร์รี่ โดยสตรอว์เบอร์รี่ 1 ผลจะมีเมล็ดประมาณ 300 เมล็ด หลังจากที่ติดลูกจากการผสมเกษรแล้วจะเอาเมล็ดมาเพาะให้เป็นต้นใหม่ พอได้ต้นใหม่ก็จะมีการปลูกทดสอบในแปลงปลูกและจะเอาลูกผสมที่ได้ที่ดีที่สุดมาตรวจสอบในเรื่องของการแสดงออกของยีนที่เป็นแอนโทไซยานิน และนำไปเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ
วิธีการแบบนี้จะสามารถลดระยะเวลาและขั้นตอนจากเดิมได้มาก โดยโรงเรือนที่ใช้ทดสอบการปรับปรุงสายพันธุ์มีเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาช่วยในเรื่องของการรดน้ำ ที่สามารถสั่งการผ่านสมาร์ทโฟนได้ ทำให้ลดการใช้แรงงาน และยังสามารถสั่งงานจากที่ไหนก็ได้ ทั้งยังได้ผลลัพธ์ที่มีความแม่นยำกว่าการใช้แรงงานคน
ปัจจุบันประเทศไทยมีการปลูกสตรอว์เบอร์รี่ประมาณ 1 หมื่นไร่ ให้ผลผลิตไร่ละ 3 ตันสามารถนำไปขายได้กิโลกรัมละประมาณ 200 บาท สร้างรายได้ให้เกษตรกรในมูลนิธิโครงการหลวง เฉลี่ยอยู่ที่ไร่ละ 3-5 แสนบาท
ข้อมูลนี้ได้รับการยืนยันจาก ร้อยตรี ยุทธนา บำรุงคีรี ชาวเขาม้ง อายุ 56 ปี เจ้าของไร่สตรอว์เบอร์รี่จำนวน 2 ไร่บนเขาค้อ บอกว่า การปลูกสตรอว์เบอร์รี่นั้นรายได้ดีกว่าการปลูกข้าวโพด และผักอื่นเป็นไหนๆ ราคาของสตรอว์เบอร์รี่จะตกอยู่ที่กิโลกรัมละ 400-500 บาท โดยพันธุ์ที่นิยมปลูกกันตอนนี้จะเป็นพันธุ์พระราชทาน 80 มีรสชาติหวานสามารถเด็ดกินสดๆจากต้นได้เลย แต่ติดปัญหาตรงที่ว่า สตรอว์เบอร์รี่พันธุ์นี้จะเสียเร็วทำให้ขนส่งไปขายที่อื่นลำบาก
ด้านนายนิรันดร์ วุฒนะผาสุข ชาวเขาเผ่าม้ง อายุ 57 ปี ที่หันมาประกอบอาชีพทำไร่สตรอว์เบอร์รี่บนเขาค้อ แทนการทำไร่ข้าวโพด เนื่องจากรายได้ที่ดีกว่าได้ให้ข้อมูลว่า "ปลูกมาได้ 3 ปีแล้ว เมื่อก่อนปลูกข้าวโพดทั้งภูเขาได้ 5 แสน แต่พอเปลี่ยนมาเป็นสตรอว์เบอร์รี่ได้ไร่ละ 5 แสนต่างกันมาก ช่วงไฮซีซั่นสามารถขายได้โลละ 700 บาท ปีที่แล้วปลูกสองไร่กว่าได้ผลผลิตมาประมาณ7-8 ตัน ขายได้เงินมา 1 ล้านบาท ใช้เวลาปลูกแค่สามเดือน โดยที่สวนมีการเปิดให้นักท่องเที่ยวสามารถเข้ามาเก็บกินได้สดๆจากต้น"
นี่คือเรื่องราวหนึ่งในโครงการหลวง ที่เกิดขึ้นจากสายพระเนตรอันก้าวไกลของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ต้องการพัฒนาความเป็นอยู่ของชาวไทยภูเขา พลิกฟื้นจากการปลูกฝิ่น ข้าวโพด กลายมาเป็นการปลูกสตรอว์เบอร์รี่ที่สร้างรายได้มหาศาล รวมถึงการต่อยอดพัฒนาสายพันธุ์สตรอว์เบอร์รี่ให้ประเทศไทยของเรามีสตรอว์เบอร์รี่เป็นของตัวเองไม่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ