2 องศา: THAILAND AGENDA ไม่ใช่เรื่องยาก ?
อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้น 1.5 องศา 18% ของสิ่งมีชีวิตเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ -เผชิญกับการละลายของแผ่นน้ำแข็งขั้วโลก น้ำทะเลสูงขึ้น 7 เมตร การที่อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้น 2 องศา ทั้งโลกต้องเผชิญกับปะการังฟอกขาวถึง 97% แปลว่า 2 องศา เรายังเผชิญกับหายนะที่ไม่อยากเจอ
ในการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ครั้งที่ 21 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อปี 2558 ทุกประเทศได้ให้คำมั่นว่า จะร่วมกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตามข้อตกลงปารีส ที่ตั้งเป้าควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 2 องศาเซลเซียส
ขณะเดียวกันสำหรับประเทศไทย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศแสดงเจตจำนงชัดเจนว่า เราจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 20-25% ภายในปี 2573
"ตัวเลข 20% คือศักยภาพที่บ้านเราทำได้ โดยเฉพาะในแผนพลังงาน การขนส่ง อุตสาหกรรม ส่วน 25% กรณีที่ได้รับความช่วยเหลือจากประเทศพัฒนาแล้ว"
ดร.วิจารย์ สิมาฉายา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวในงานสัมมนา “2 องศา: THAILAND AGENDA รับวิกฤตโลกร้อน” เพื่อร่วมหาทางออกปัญหาโลกร้อน และแนวทางสู่สังคมคาร์บอนต่ำ จัดโดย บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ร่วมกับหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ และสถานีโทรทัศน์ ช่อง NOW26 เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า เป้าหมายของไทย ยังไม่ได้รวมภาคป่าไม้ และภาคของเสีย น้ำเสีย ขยะ ซึ่งรัฐบาลตั้งเป้าว่า เพื่อรักษาสมดุลของระบบนิเวศ ไทยต้องมีป่าไม้ 40% ของพื้นที่ทั้งประเทศ แต่ปัจจุบันเพียง 32% จึงมีนโยบายทวงคืนพื้นป่าและปลูกป่าเพิ่มเติม
ส่วนเรื่องของเสีย ขยะ เป็นผลประโยชน์ร่วมที่ต้องทำ เพราะกระทบต่อสุขภาพอนามัย สิ่งแวดล้อม ในปี 2559-2560 ตั้งเป้าประเทศไทยไร้ขยะ ส่งเสริมลดขยะที่ต้นทาง 5% ในทุก sector และบริหารจัดการอย่างถูกต้อง ทั้งหมดนี้ต้องทำควบคู่กัน เพื่อลดก๊าซให้ได้ตามเป้า
ในส่วนของภาคเอกชน นายยอดพจน์ วงศ์รักมิตร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริหารและพัฒนาความยั่งยืนองค์กร บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ระบุว่า บางจากฯ ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืนควบคู่ไปกับสิ่งแวดล้อมและสังคม โดยปี 2560 บางจากฯ มีนโยบายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ไม่ต่ำกว่า 550,000 ล้านตัน และในอีก 5 ปีข้างหน้าจะขยายไปสู่เป้าหมาย Neutral Carbon Company
สำหรับการขยายธุรกิจพลังงานต่อจากนี้ บางจากจะเน้นเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น ธุรกิจพลังงานจากเซลล์แสงอาทิตย์ ไบโอแก๊ส ไบโอแมส และพลังงานจากใต้พื้นพิภพ
ในอดีตการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ทั่วโลก ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของภาวะโลกร้อนอยู่ที่ประมาณ 300 พีพีเอ็ม แต่ในปีนี้เพิ่มขึ้นถึง 400 พีพีเอ็ม ดร.ทรงวุฒิ ไกรภัสสร์พงษ์ คณะทำงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กกร. ให้ข้อมูลว่า 10 ประเทศแรกของโลก รวมจีน สหรัฐฯ ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมกัน 70% ส่วนไทยอยู่อันดับที่ 23 จาก 100 กว่าประเทศ ซึ่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณ 300 ล้านตัน มาจากภาคพลังงาน 73% เกษตรกรรม 17% อุตสาหกรรม 6% และของเสีย 4 %
“ภาคพลังงานนั้น ไทยต้องไม่แก้ปัญหาแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่ต้องเปลี่ยนวิธี (transform) ไปสู่พลังงานโซลาร์ ชีวมวล หรือการใช้พลังงานที่ยั่งยืน” ดร.ทรงวุฒิ เสนอแนะ ขณะเดียวกันภาครัฐเองก็ต้องชี้นำให้เอกชน ประชาชนปรับตัว และหามาตรการที่ได้ผลมาช่วยภาคอุตสาหกรรม พาณิชย์ การท่องเที่ยวในการลดก๊าซเรือนกระจกด้วย
ส่วนดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ผอ.สถาบันธรรมรัฐ เพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม บอกว่า ปัจจุบันโลกอยู่ในความเสี่ยง
พร้อมกับยกข้อมูลทางวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่า อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้น 1.5 องศา 18% ของสิ่งมีชีวิตเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ และเผชิญกับการละลายของแผ่นน้ำแข็งขั้วโลก ซึ่งส่งผลให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น 7 เมตร
การที่อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้น 2 องศา ดร.บัณฑูร ชี้ว่า ทั้งโลกต้องเผชิญกับปะการังฟอกขาวถึง 97% แปลว่า 2 องศา เรายังเผชิญกับหายนะที่ไม่อยากเจอ แต่ 2 องศาเป็นตัวเลขที่ตกลงกันได้ในทางเศรษฐศาสตร์การเมืองโลก ถ้ามากไปกว่านี้ความตกลงปารีสอาจไม่เกิดขึ้น
การประเทศไทยตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 20-25% เขาเห็นว่า ไม่ใช่เรื่องยาก เพราะตัวเลขดังกล่าวคิดบนฐานConservative ที่สุดแล้ว ปัจจุบันกระทรวงพลังงานยืนยันว่า เราลดการปล่อยก๊าซได้แล้ว 11% แต่อยากชี้ว่า การบ้านจริงของไทยคือปี 2563 ที่ต้องส่งรายงานการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (NDC) รอบแรก และต้องส่งทุกๆ 5 ปี โดยสิ่งที่กำหนดไว้ในกติกาความตกลงปารีสคือต้องเป็น progressive target ที่สะท้อนถึงความพยายามที่สูงที่สุด ดังนั้น ต้องคิดให้ถี่ถ้วนว่า ตัวเลขเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซ ที่ต้องส่ง NDC ครั้งต่อไปจะต้องมากขึ้นๆ จาก 20% เพิ่มเป็น 22% เป็นสิ่งที่ยอมรับได้หรือไม่
ปัจจุบันนี้ ผอ.สถาบันธรรมรัฐ ฯ เชื่อว่า ที่ผ่านมาทุกประเทศยังกั๊ก และมีช่องว่างในลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้มากกว่านี้
ประเทศไทยวันนี้ได้ทำอะไรไปบ้างแล้ว เรามีแผนแม่บท climate change ระยะยาวปี 2593 ซึ่งผ่านมติ ครม. แล้วเป็นหลัก มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 มุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ และปัจจุบันกำลังทำยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ระบุถึง climate change impacts เพื่อเป็นหลักประกันว่า ไม่ว่ารัฐบาลใด พรรคการเมืองใดเข้ามาต้องเดินหน้าในเรื่องนี้
ปัญหาเรื่องโลกร้อน แท้ที่จริงประเทศไทยทำเรื่องนี้มานานแล้ว นายสากล ฐินะกุล อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม บอกว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีวิสัยทัศน์กว้างไกล พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสของเกี่ยวกับเรื่องนี้ ตั้งแต่ปี 2532
“…แต่ก่อนนี้เคยพูดถึงสิ่งแวดล้อมชั้นประเทศ เดี๋ยวนี้ถึงขั้นโลก ก็เป็นความรับผิดชอบที่เรามี ความจริงต้องพูดถึงขั้นโลก เพราะประเทศไทยนี้ก็เติบโตขึ้นมาจะมีหน้ามีตาในโลกว่า เป็นประเทศที่มั่งคง เป็นประเทศที่ดีอย่างนั้นอย่างนี้ เราจึงต้องมีความรับผิดชอบในโลกมากขึ้น”
อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม เห็นว่า ประเทศไทย ประชาชนไทยเราอยู่ในวิถีพอเพียง น้อมนำพระราชดำรัสของพระองค์ท่านมาใช้ เป้าหมายเรื่องการลดก๊าซเรือนกระจก หรือการทำธุรกิจโลว์คาร์บอนก็ทำได้ไม่ยาก ทั้งนี้ อาจต้องส่งเสริมการสร้างจิตสำนึก ความรู้ความเข้าใจ การมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ตลอดจนงานวิจัยต่างๆ ให้มีบทบาทมากขึ้น เพื่อช่วยขับเคลื่อนให้เป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นทุกๆ 5 ปี
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
บางจากฯ รณรงค์ลดการปล่อย CO2 เยียวยาภาวะโลกร้อน
เวิลด์แบงก์คาดประเทศกำลังพัฒนาใช้เงิน 70-100 พันล้านเหรียญ/ปี ปรับตัวรับมือโลกร้อน