ต้องตระหนักรับไม่ได้การโกงทุกแบบ! ป.ป.ช.จัดงานต้านคอร์รัปชั่นสากล
ป.ป.ช. ร่วมกับ รบ.-ภาคีต่าง ๆ จัดงานวันต่อต้านคอร์รัปชั่นสากล หัวข้อ ‘สุจริตตามรอยพ่อ ขอทำดีเพื่อแผ่นดิน’ เลขาธิการ ป.ป.ช. ลั่นถึงเวลาสังคมไทยต้องตระหนักรับไม่ได้กับการโกงทุกรูปแบบ น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำเนินชีวิต ‘พล.ต.อ.วัชรพล’ หวังประเทศไทยใสสะอาด ปราศจากคอร์รัปชั่น
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ร่วมกับรัฐบาล ภาคีเครือข่ายภาครัฐ ภาครัฐวิสาหกิจเอกชน และภาคประชาสังคม จัดกิจกรรมวันต่อต้านคอร์รัปชั่นสากล (ประเทศไทย) มีหัวข้อหลักในปีนี้คือ ‘สุจริตตามรอยพ่อ ขอทำดีเพื่อแผ่นดิน’ ที่หอประชุมมหิดลสิทธาคาร มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา จ.นครปฐม โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานในพิธี
เบื้องต้น นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวถึงวัตถุประสงค์ภายในงานว่า หัวข้อหลักอยู่ภายใต้แนวคิด ‘สุจริตตามรอยพ่อ ขอทำดีเพื่อแผ่นดิน’ คำนึงเสมอว่า การทุจริตโกงชาติ จะทำให้ประเทศเสียหาย ถึงเวลาแล้วที่คนไทยต้องมองว่า การทุจริตทุกรูปแบบ เป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ และน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้เป็นหลักในการดำเนินชีวิต สร้างความร่วมมือเครือข่าย ภาคีทุกภาคส่วน ตามแนวทางขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตอย่างเป็นรูปธรรม
ภายในงานดังกล่าวมีการนำเสนอวีดิทัศน์ พระบรมราโชวาท พระราชดำรัส และพระราชกรณียกิจ ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในเรื่องการยึดมั่นในความซื่อสัตย์สุจริต นอกจากนี้วงดนตรีจากวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ดำเนินการขับร้องประสานเสียงเพลงพระราชนิพนธ์ “บทเพลงของพ่อ เสียงเพลงแห่งความดี” ด้วย
|
หลังจากนั้นนายเจเรมี ดักลาส ผู้แทนระดับภูมิภาคของสำนักงานป้องกันยาเสพติดและปราบปรามอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ ได้กล่าว ยกย่องพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชที่ทรงให้ความสำคัญกับความซื่อสัตย์และการต่อต้านการทุจริตโดยยึดมั่นในหลักนิติธรรม และทรงให้การสนับสนุนงานของ UNODC เสมอมา
วันต่อต้านการคอรัปชั่นสากลปีนี้ทางสหประชาชาติเน้นการร่วมกันต่อต้านการทุจริตเพื่อการพัฒนาสันติภาพ และความมั่นคง เพื่อสะท้อนถึงความร่วมมืออย่างต่อเนื่องที่จะช่วยให้บรรลุในการต่อต้านอาชญากรรมส่งเสริมความยุติธรรมและเคารพสิทธิมนุษยชน
การทุจริตและการให้สินบนนั้นเป็นภัยร้ายแรงต่อการพัฒนาเป็นอุปสรรคของการบรรลุวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030 วันต่อต้านคอร์รัปชั่นสากลเป็นโอกาสสำคัญที่ทุกฝ่ายจะได้ดำเนินการต่างๆเพื่อต่อต้านการทุจริตและให้สินบน และวางแผนความพยายามในอนาคตเพื่อแก้ปัญหา ส่งเสริมความร่วมมือการต่อต้านการทุจริตในระดับภูมิภาค และในระดับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เพราะการเปลี่ยนแปลงไม่อาจเกิดขึ้นได้โดยปราศจากความร่วมมือกับภาคเอกชนในการสร้างวัฒนธรรมความไม่อดทนต่อการทุจริต และความร่วมมือของทุกภาคส่วนในสังคมซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการต่อสู้กับการทุจริตและอาชญากรรมในภูมิภาค
อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริตและเป็นความตกลงระดับสากลที่มีความเข้มแข็งบังคับใช้เพื่อการต่อต้านการทุจริตซึ่งทุกประเทศในภูมิภาคนี้ได้ให้สัตยาบันไว้แล้ว จึงถึงเวลาที่ทุกฝ่ายจะได้พิจารณาบทเรียนที่เกิดขึ้นและตระหนักถึงผลกระทบที่สำคัญของกลไกการประเมินตามอนุสัญญาที่ทุกคนล้วนมีบทบาทสำคัญเพื่อช่วยให้บรรลุเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของอนุสัญญาสหประชาชาติ ซึ่ง UNODC กับป.ป.ช. ได้ร่วมกำหนดจัดการประชุมระดับภูมิภาคหัวข้อการเร่งรัดกระบวนการอนุวัตรกานต์ตามสัญญา ในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในภูมิภาคเอเซีย ตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงปลายเดือนมกราคม 2560 ที่กรุงเทพมหานคร
พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. แถลงสารในวันต่อต้านคอร์รัปชั่นสากล (ประเทศไทย) ว่า การแก้ไขกฎหายพันธกรณีในอนุสัญญา UNCAC เพื่อให้กฎหมายป้องกันและปราบปรามการทุจริตมีประสิทธิภาพ เทียบเท่าสากล และได้รับการประเมินองค์กรความโปร่งใสนานาชาติ จากดัชนีรับรู้การทุจริตด้วยคะแนนที่สูง แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ค่า CPI หรือคะแนนการรับรู้การทุจริตระหว่างปี 2555-2558 ของประเทศไทย อยู่ในช่วง 35-38 คะแนน หรือเฉลี่ย 37 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน เป็นอันดับที่ 3 ในกลุ่มอาเซียน อันดับ 76 ในกลุ่มประเทศที่เข้ารับการประเมิน สะท้อนปัญหาทุจริตรุนแรง ต้องได้รับการแก้ไขจริงจัง และต่อเนื่อง ประเทศไทย ได้พยายามแก้ปัญหาการทุจริตในประเทศมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยยุทธศาสตร์ชาติ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ระยะที่ 1 ปี 2551 กระทั่งเรื่อยมาจนถึงระยะที่ 3 ปี 2560-2564 ตามความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ ไปใช้ทั่วประเทศ เพื่อให้ไทยลดการทุจริตได้อย่างมีนัยสำคัญ
ยุทธศาสตร์ชาติดังกล่าว มีผลในทางปฏิบัติตั้งแต่ 1 ต.ค. 2559 เป็นต้นไป กำหนดวิสัยทัศน์ว่า ประเทศไทยใสสะอาด ไทยทั้งชาติต้านทุจริต ไทยในระยะ 5 ปีข้างหน้ามุ่งสู่มาตรฐานคุณธรรม จริยธรรม เป็นสังคมมิติใหม่ ประชาชนจะไม่เพิกเฉยต่อการทุจริตทุกรูปแบบด้วยกระบวนการทุกภาคส่วน พิทักษ์ผลประโยชน์ชาติและประชาชน ให้ไทยมีศักดิ์ศรีในด้านความโปร่งใสทัดเทียน นานาอารยประเทศ เป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ ไทยได้รับการประเมินดัชนีการรับรู้ทุจริตสูงกว่าร้อยละ 50
ยุทธศาสตร์ชาติดังกล่าว ประกอบด้วย
1.สร้างสังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริต มุ่งเน้นให้ความสำคัญในกระบวนการปรับสภาพสังคมให้เกิดภาวะที่ไม่ทนต่อการทุจริต เริ่มตั้งแต่กระบวนการกล่อมเกลาทางสังคมในทุกช่วงวัย สร้างวัฒนธรรมต่อต้านการทุจริต ปลูกฝังความมีวินัย ซื่อสัตย์ พลเมืองดี มีจิตสาธารณะ และความเสียสละเพื่อส่วนรวม เสริมสร้างให้ทุกภาคส่วนมีพฤติกรรมที่ไม่ยอมรับ และต่อต้านการทุจริตในทุกรูปแบบ
2.ยกระดับเจตจำนงทางการเมืองในการต่อต้านการทุจริต มุ่งเน้นให้ประชาชนและรัฐบาลมีการนำเจตจำนงทางการเมือง การปกครอง ในเรื่องการต่อต้านทุจริตไปสู่การปฏิบัติในทุกภาคส่วนอย่างเป็นรูปธรรม ในการสร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมมีค่านิยมร่วมในการต่อต้านการทุจริต เจตจำนงทางการเมืองของรัฐธรรมนูญ ที่มุ่งแก้ปัญหาการเมืองไทยให้มีเสถียรภาพและสงบเรียบร้อย
3.สกัดกั้นการทุจริตเชิงนโยบาย มุ่งเน้นป้องกันการทุจริตในกระบวนการกำหนดนโยบาย กำหนดมาตรการกลไก เสริมสร้างธรรมาภิบาลตั้งแต่ขั้นก่อตัวนโยบาย จนถึงขั้นนำนโยบายไปปฏิบัติ ขั้นประเมินนโยบาย และขั้นป้อนข้อมูลกลับ
4.พัฒนาระบบป้องกันการทุจริตเชิงรุก มุ่งเน้นการพัฒนากลไกและกระบวนการด้านการป้องกันการทุจริตของไทยให้มีความเข้มแข็งและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
5.ปฏิรูปกลไกและกระบวนการปราบปรามการทุจริต มุ่งเน้นการปรับปรุงและพัฒนากลไกและกระบวนการต่าง ๆ ของการปราบปรามการทุจริตทั้งระบบ
6.ยกระดับดัชนีการรับรู้การทุจริตของประเทศไทย มุ่งเน้นการยกระดับมาตรฐานด้านความโปร่งใส และการจัดการ ยกระดับค่าดัชนีการทุจริตของไทย โดยการศึกษาวิเคราะห์ประเมิน วิธีการสำรวจตามแหล่งข้อมูล การเร่งรัด กำกับ ติดตาม ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติ หรือปรับปรุงการทำงาน รวมถึงการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม ภาคเอกชน และต่างประเทศ เพื่อยกระดับคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต
“ความสำเร็จในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตของไทยในอนาคต ย่อมเป็นไปได้จากความร่วมมือของทุกคนในที่นี้ จากทุกภาคส่วน และประชาชนทั่วไทย เพื่อสู่ธงชัยที่ปักไว้ว่า ประเทศไทยใสสะอาด ไทยทั้งชาติต้านทุจริต” พล.ต.อ.วัชรพล กล่าว
หลังจากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ได้กล่าวนำปฏิญาณตนในวันต่อต้านคอร์รัปชั่นสากล (ชมภาพบรรยากาศประกอบ)