เปิดสารพัดมาตรการดูแลช่วยเหลือ 'ศิลปินแห่งชาติ' ยุค 'บิ๊กตู่'
"..เงินตอบแทนรายเดือนศิลปินแห่งชาติ มีการปรับเพิ่มจากเดือนละ 20,000 บาท เป็นเดือนละ 25,000 บาท ส่วนเงินช่วยเหลือการประสบสาธารณภัยจ่ายเท่าที่เสียหายจริงรายละไม่เกิน 5 หมื่นบาทต่อครั้ง เงินช่วยเหลือ เมื่อเสียชีวิตเพื่อรวมบำเพ็ญกุศลศพ รายละ20,000 บาท ค่าเครื่องเคารพศพตามประเพณีที่เหมาะสมเท่าที่จ่ายจริง รายละไม่เกินสามพันบาท.."
"ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยเหลือ และจัดตั้งสมาคมดูแลศิลปินแห่งชาติ" คือ ข้อสั่งการสำคัญของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความแห่งชาติ (คสช.) เกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ของกลุ่มศิลปินแห่งชาติ ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 1 ก.ย.2558 ที่ผ่านมา
"ผมเป็นห่วงเรื่องศิลปะวัฒนธรรม เช่น เรื่องการดูแลและช่วยเหลือศิลปินแห่งชาติ จึงได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการจัดตั้งสมาคมเพื่อดูแลศิลปินแห่งชาติ ทุกแขนงทั้ง ลิเก ลำตัด นักร้อง นักเขียน จิตรกร ว่าจะช่วยเหลือพวกเขาได้อย่างไร เมื่อตอนเขาป่วยไข้แก่ชราและมีชีวิตลำบากจะหาเงินมารักษาตัวและช่วยเหลือดูแลกันอย่างไร"พล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์ยืนยันกับสื่อมวลชน ถึงที่มาและเป้าหมายสำคัญในเรื่องนี้
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า ในช่วงกลางเดือน พ.ย.2559 ที่ผ่านมา กระทรวงวัฒนธรรม ได้สรุปรายงานการดำเนินงานตามข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี เรื่องมาตรการดูแลช่วยเหลือส่งเสริมและสนับสนุนศิลปินแห่งชาติ ซึ่งมีทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และยาว โดยมีรายละเอียดดังนี้
มาตรการระยะสั้น กำหนดว่า ในปี 2560 กรมส่งเสริมวัฒนธรรม จะจัดตั้งสมาคมศิลปินพื้นบ้าน เพิ่มขึ้นเป็น 7 สมาคม จากเดิมที่มีอยู่ 4 สมาคม คือ สมาคมศิลปินขับซอล้านนา สมาคมลิเกประเทศไทย สหพันธ์สมาคมโนราแห่งประเทศไทย และสมาคมหมอลำอีสาน
โดย 3 สมาคมที่จะตั้งขึ้นใหม่ ได้แก่ สมาคมเพลงพื้นบ้าน สมาคมกลองล้านนา และสมาคมหนังตะลุง
ซึ่งในขั้นตอนการดำเนินการจะมีการจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมในการอุดหนุนศิลปินแห่งชาติและศิลปินพื้นบ้านเพื่อสร้างสรรค์ และเผยแพร่ผลงานจากเงินดอกผลกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม ส่งเสริมและถ่ายทอดการแสดงพื้นฐาน ดนตรีพื้นบ้าน เพื่อให้ศิลปินได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับเด็ก เยาวชนและประชาชนทั่วไปทั้งในกรุงเทพมหานครและส่วนภูมิภาค ไม่น้อยกว่า 15 ประเภท
ส่วนระยะกลาง จะมีการนำศิลปินแห่งชาติ ศิลปินพื้นบ้าน เผยแพร่ผลงานให้เป็นที่รู้จักในต่างประเทศ และดำเนินการขอลดหย่อนภาษีสำหรับการจ้างศิลปินพื้นบ้านการทำแสดงด้วย
ส่วนระยะยาว จะมีการจัดหาพื้นที่ และตลาด ในการจ้างงานสำหรับศิลปิน และจัดตั้งองค์กรดูแลศิลปินโดยเฉพาะ
สำหรับการสนับสนุนด้านงบประมาณนั้น กระทรวงวัฒนธรรม ระบุว่าในช่วงที่ผ่านมา ได้มีการสนับสนุนงบประมาณให้สมาคมเครือข่ายศิลปินพื้นบ้าน จำนวน 7 แห่งๆละ 5 แสนบาท เพื่อจัดกิจกรรมอบรม การถ่ายทอดสดการแสดงพื้บ้าน โดยมีศิลปินพื้นบ้านแขนงต่างๆ เป็นผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้ สู่เยาวชนในภูมิภาคต่างๆ อาทิ สมาคมศิลปินขับซอล้านนา สมาคมลิเกประเทศ สหพันธ์สมาคมโนราแห่งประเทศไทย สมาคมหมอลำอีสาน สมาคมศิลปินตลก (ประเทศไทย) สมาคมนักเพลงลูกทุ่งแห่งประเทศไทย เป็นต้น
สำหรับการจัดทำกฎหมายเพื่อกำหนดมาตรการในการดูแช่วยเหลือ ส่งเสริมและสนับสนุนศิลปินแห่งชาติ นั้น ได้มีการเพิ่มวงเงินสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลส่วนเกินจากสิทธิการเบิกค่ารักษาพยาบาลเฉพาะตัว จาก 40,000 บาท เป็น 100,000 บาท ต่อปีงบประมาณ โดยกำหนดให้ศิลปินแห่งชาติมีสิทธิได้รับค่ารักษาพยาบาลเฉพาะตัว ตั้งแต่วันที่ พ.ค.2555 เป็นต้นมา และกำหนดให้ศิลปินแห่งชาติที่ยังไม่ได้เบิกค่ารักษาพยาบาลเฉพาะตัว ให้ขอเบิกต่อกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ภายใน 120 วัน
ส่วนเงินตอบแทนรายเดือนศิลปินแห่งชาติ มีการปรับเพิ่มจากเดือนละ 20,000 บาท เป็นเดือนละ 25,000 บาท ส่วนเงินช่วยเหลือการประสบสาธารณภัยจ่ายเท่าที่เสียหายจริงรายละไม่เกิน 5 หมื่นบาทต่อครั้ง เงินช่วยเหลือเมื่อเสียชีวิตเพื่อรวมบำเพ็ญกุศลศพ รายละ20,000 บาท ค่าเครื่องเคารพศพตามประเพณีที่เหมาะสมเท่าที่จ่ายจริง รายละไม่เกินสามพันบาท
สำหรับการกำหนดมาตรการลดหย่อนภาษีจำนวน 2 เท่า สำหรับผู้บริจาคเงินหรือทรัพย์ให้แก่กองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม ขณะนี้ได้มีพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 615) พ.ศ.2559 กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับการบริจาคให้กองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม
โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ได้จัดทำแผนให้ภาคเอกชน มีส่วนร่วมในการสนับสนุนการบริจาคเงินเข้ากองทุนเพื่อสนับสนุนศิลปินดำเนินการงานด้านวัฒนธรรมด้วย
ทั้งหมดนี่ คือ สรุปภาพรวมเกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือชีวิตความเป็นอยู่ของศิลปินแห่งชาติ ภายใต้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ที่กำลังเกิดขึ้นเป็นรูปธรรมในห้วงเวลานี้