ผนึกพลังทุกภาคส่วนจัดงานวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล “สุจริตตามรอยพ่อ ขอทำดีเพื่อแผ่นดิน”
สำนักงาน ป.ป.ช. ขอน้อมนำพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงมีกระแสรับสั่งแก่ผู้ว่าราชการซีอีโอ เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2546 ว่า “ถ้าทุจริตแม้แต่นิดเดียวก็ขอแช่ง ให้มีอันเป็นไป พูดอย่างนี้หยาบคาย แต่ว่าต้องให้มีอันเป็นไป แต่ถ้าไม่ทุจริต สุจริต และมีความตั้งใจมุ่งมั่น สร้างความเจริญ ก็ขอต่ออายุให้ถึง 100 ปี ใครมีอายุมากอยู่แล้ว ก็ขอให้แข็งแรง ความสุจริตจะทำให้ประเทศไทยรอดพ้นอันตรายภายใน 10 ปี เมืองไทยน่าจะเจริญ ข้อสำคัญต้องยึดความสุจริตให้สำเร็จ และไม่ทุจริตเสียเอง'” มาเผยแพร่ต่อสาธารณชน
สำนักงาน ป.ป.ช. เป็นองค์กรอิสระที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2542 และต่อมาตั้งแต่ปี 2554 ต่อเนื่องถึงปี 2556 สำนักงาน ป.ป.ช. ได้มีการขยายสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดครบทุกจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อรองรับงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตออกสู่ส่วนภูมิภาค และนำภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในการต่อต้านการทุจริตเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับในวันที่ 9 ธันวาคมของทุกปีถือเป็นต่อต้านการทุจริตสากล ได้ก่อกำเนิดขึ้นหลังจากที่ประชุมใหญ่สมัชชาสหประชาชาติ (UN) มีมติเห็นชอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ค.ศ.2003 (United Nations Convention against Corruption-UNCAC, 2003) อย่างเป็นเอกฉันท์ เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2546 จากนั้นประเทศภาคีสมาชิก UN 191 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทย ได้เข้าร่วมลงนามในอนุสัญญาฯ ระหว่างวันที่ 9-11 ธันวาคม 2546 ณ เมืองเมอริด้า ประเทศเม็กซิโก จึงประกาศให้วันที่ 9 ธันวาคมของทุกปีเป็นวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล (International Anti-Corruption Day)
ในปี 2559 นี้ สำนักงาน ป.ป.ช. ต้องการจุดประกายความคิดให้กับคนในสังคมไม่ทนต่อการทุจริต นำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้เป็นหลักในการดำเนินชีวิต ด้วยการกระตุ้นจิตสำนึกและปลุกจิตสำนึกด้านจริยธรรมคุณธรรมในใจให้กลับคืนมา อันเป็นการตอบแทนคุณแผ่นดิน ถวายความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ด้วยการดำรงตนด้วยความซื่อสัตย์สุจริตตามรอยพ่อเพื่อพิทักษ์สมบัติชาติและประชาชน และที่สำคัญรัฐบาลชุดปัจจุบันให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันเป็นวาระเร่งด่วนที่ต้องแก้ไขและได้กำหนดให้ภารกิจในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งจะส่งผลให้สถานการณ์การทุจริตในสังคมไทยมีสัญญาณในทิศทางที่ดีขึ้นส่งผลให้ค่าดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) สูงขึ้นด้วย ดังนั้น รัฐบาลไทย สำนักงาน ป.ป.ช. ร่วมกับภาคีทุกภาคส่วนจัดงานวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล (ประเทศไทย) ภายใต้แนวคิด “สุจริตตามรอยพ่อ ขอทำดีเพื่อแผ่นดิน” ในวันที่ 9 ธันวาคม 2559 ณ หอประชุมมหิดลสิทธาคาร มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา จังหวัดนครปฐม ทั้งนี้ เป็นการจัดกิจกรรมพร้อมกันทั่วประเทศ มีรายละเอียดดังนี้
ส่วนกลาง แสดงความมุ่งมั่นของผู้นำประเทศในการแก้ไขปัญหาการทุจริต ด้วยการประกาศเจตนารมณ์และรณรงค์สร้างประเทศไทยให้โปร่งใสพร้อมกันทั้งประเทศในวันที่ 9 ธันวาคม 2559 โดยถ่ายทอดสดสัญญาณไปทุกจังหวัดพร้อมเพรียงกันผ่านสถานีโทรทัศน์ THAI PBS และ NBT ในช่วงเวลา 09.30 – 10.30 น. และรับชมการถ่ายทอดสดผ่านทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย สถานีวิทยุชุมชนเครือข่ายสมาคมสื่อช่อสะอาด 421 สถานีทั่วประเทศ และทางระบบอินเตอร์เน็ต www.cateentertainment.com และ www.cattelecom.com ในช่วงเวลา 09.30 – 12.00 น. นอกจากนี้ยังมีการจัดกิจกรรมและการแสดงนิทรรศการฯ “สุจริตตามรอยพ่อ ขอทำดีเพื่อแผ่นดิน”
ส่วนภูมิภาค สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทย โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งเป็นประธานศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตประจำจังหวัด ได้จัดเป็นวาระสำคัญในการแสดงพลังต่อต้านการทุจริตในระดับพื้นที่ ร่วมกับส่วนราชการในจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ในการจัดรณรงค์ต่อต้านการทุจริตที่ศาลากลางจังหวัด หรือสถานที่สำคัญของจังหวัด
ตลอดระยะเวลา 17 ปีที่ผ่านมาสำนักงาน ป.ป.ช. จับมือร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และสื่อมวลชน ภาคการศึกษา และองค์กรศาสนาเพื่อสร้างกระแสรณรงค์ต่อต้านการทุจริตและปลูกจิตสำนึกด้านคุณธรรม จริยธรรมให้กลับคืนมาสู่สังคมไทย ด้วยการไม่ยอมจำนนต่อการทุจริตและกล้าที่จะยืนหยัดลุกขึ้นมาต่อต้านการทุจริตอย่างจริงจังภายใต้แผนการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ในระยะที่ 1 และ 2 ที่ผ่านมา ซึ่งได้ผลในระดับหนึ่ง แต่ยังขาดการมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่างๆ ในสังคม
จากบทเรียนที่ผ่านมาพบว่า การแก้ไขปัญหาการทุจริตไม่สามารถดำเนินงานโดยลำพังเพียงสำนักงาน ป.ป.ช. ได้ ต้องมีการดำเนินงานในลักษณะบูรณาการ โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช.และสำนักงาน ป.ป.ช.เป็นองค์กรและหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ที่จะสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนร่วมดำเนินการและมีเป้าหมายอันเดียวกันภายใต้กรอบข้อตกลง (MOU) ที่มีความชัดเจน คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรัฐบาลได้กำหนดให้ภารกิจในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตเป็นวาระแห่งชาติ โดยพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 เป็นต้นมา ได้กำหนดให้มีแผนบูรณาการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในภาครัฐ ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
สำหรับ ยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ระยะที่ 3 (พ.ศ.2560 - 2564) มีวิสัยทัศน์ว่า “ประเทศไทยใสสะอาด ไทยทั้งชาติต้านทุจริต (Zero Tolerance and Clean Thailand)” มีเป้าประสงค์เชิงยุทธศาสตร์ ในการเพิ่มระดับคะแนนของดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index: CPI) ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 โดยมียุทธศาสตร์ในการดำเนินงาน 6 ยุทธศาสตร์ คือ 1) สร้างสังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริต 2) ยกระดับเจตจำนงทางการเมืองในการต่อต้านการทุจริต 3) สกัดกั้นการทุจริตเชิงนโยบาย 4) พัฒนาระบบป้องกันการทุจริตเชิงรุก 5) ปฏิรูปกลไกและกระบวนการการปราบปรามการทุจริต 6) ยกระดับดัชนีการรับรู้การทุจริตของประเทศไทย ซึ่งมีกลไกในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติฯ ระยะที่ 3 คือ
1. คณะกรรมการระดับนโยบายและปฏิบัติการ (Policy integration) ประกอบด้วย
1.1 คณะกรรมการบูรณาการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตระดับชาติ
1.2 คณะอนุกรรมการอำนวยการและบริหารงบประมาณแบบบูรณาการ ตามยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
1.3 คณะอนุกรรมการบริหารยุทธศาสตร์ชาติฯ ระดับกระทรวง หรือหน่วยงานที่เทียบเท่า
1.4 คณะอนุกรรมการการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ชาติฯ ระดับจังหวัด
1.5 ส่วนปฏิบัติการพิเศษ
2. คณะกรรมการระดับสนับสนุนการดำเนินงาน (Support) ประกอบด้วย
2.1 คณะอนุกรรมการวิชาการและนวัตกรรมป้องกันและปราบปรามการทุจริต
2.2 คณะอนุกรรมการกองทุนต่อต้านการทุจริตและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน
2.3 คณะอนุกรรมการอื่น ๆ
3. คณะอนุกรรมการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ระยะที่ 3
ในอนาคต สำนักงาน ป.ป.ช. มุ่งหวังที่จะเห็นสถานการณ์การทุจริตในสังคมไทยมีสัญญาณในทิศทางที่ดีขึ้นส่งผลให้ค่า CPI สูงขึ้น คนในชาติมีทัศนคติ ค่านิยม และจิตสำนึกในทางที่ถูกต้อง ไม่ทนต่อการทุจริต และน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้เป็นหลักในการดำเนินชีวิตให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี รวมทั้งการสร้างความร่วมมือกับเครือข่ายภาคีทุกภาคส่วนในการทำหน้าที่ตรวจสอบ ป้องกันและปราบปรามการทุจริต หรือพิทักษ์รักษาสาธารณสมบัติของแผ่นดิน รวมทั้งการอนุวัติกฎหมายที่สำคัญฉบับต่าง ๆ เพื่อให้เป็นไปตามมาตรการสากล ซึ่งประเทศไทยได้ให้สัตยาบันในอนุสัญญาเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต (United Nations Convention Against Corruption – UNCAC) ซึ่งภายใต้อนุสัญญานี้ มีกลไกความร่วมมือทางด้านอาญาระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นความร่วมมือทางกฎหมายระหว่างประเทศ เพื่อที่ประเทศรัฐภาคีต่างๆ สามารถร่วมมือกันในการสืบสวนสอบสวน หาพยานหลักฐาน หาตัวผู้กระทำผิด หรือแม้แต่การส่งผู้ร้ายข้ามแดน และการติดตามเรียกทรัพย์สินคืน คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงกำหนดนโยบายที่จะทำให้การทำงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ก็คือการสร้างความร่วมมือในการต่อต้านการทุจริตในรูปแบบต่างๆ รวมทั้งการพัฒนาบุคลากรผู้ปฏิบัติงานให้มีความรู้ความสามารถทัดเทียมในระดับสากล ที่ผ่านมา ป.ป.ช.ได้มีการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านการทุจริตทั้งในระดับประเทศและนานาชาติมาอย่างต่อเนื่อง อันมีเป้าหมายยกระดับคุณธรรมสังคมไทยในการต่อต้านการทุจริตและสร้างภาพลักษณ์ที่ดี ตลอดจนการสร้างความเชื่อมั่นและการยอมรับแก่นานาประเทศ อันแสดงให้เห็นถึงความพยายามในการสร้างเครือข่ายต่อต้านการทุจริตของ ป.ป.ช. เพื่อให้สามารถรับมือกับรูปแบบการทุจริตที่เปลี่ยนแปลงไป
จะเห็นได้ว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. และบุคลากรของสำคัญงาน ป.ป.ช.ทุกระดับ มีความมุ่งมั่นในการปฏิบัติหน้าที่ด้วยการยึดหลักค่านิยมของสำนักงาน ป.ป.ช. 3 ประการ คือ “ซื่อสัตย์ เป็นธรรม มืออาชีพ” นั่นหมายถึง “ดำรงความซื่อสัตย์ ยืนหยัดความเป็นธรรม มุ่งมั่นเป็นมืออาชีพ” เพื่อให้สังคมได้ประจักษ์ถึงความตั้งใจในการทำหน้าที่รักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน รวมทั้งสร้างแนวร่วมจากทุกภาคส่วนให้มีความตระหนักในการต่อต้านการทุจริต เพราะปัญหาการทุจริตเป็นปัญหาที่มีผลกระทบกับทุกคนในประเทศ จึงเป็นปัญหาของคนไทยทุกคนที่ต้องร่วมมือกันแก้ไข ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ถึงเวลาแล้วที่คนไทยทุกคน และทุกภาคส่วนจะต้องร่วมกันขจัดคอร์รัปชัน ไม่ต้องรอให้ถึงวันที่คนโกงทำลายจนไม่เหลืออะไรให้รุ่นลูกหลาน โดยพึงระลึกเสมอว่า “ประเทศไทยใสสะอาด ไทยทั้งชาติต้านทุจริต” หากพบเห็นการทุจริตของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือเจ้าหน้าที่รัฐ ให้โทรแจ้งสายด่วน ป.ป.ช. 1205 หรือร้องเรียนผ่านเว็ปไซต์ สำนักงาน ป.ป.ช. WWW.NACC.GO.TH หรือติดต่อสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัด