สำรวจ"คดีคาใจ"ชายแดนใต้...แนะรัฐปลดเงื่อนไข "รื้อ-เร่ง-เยียวยา"
เหตุการณ์ร้ายที่กำลังบานปลายและส่งผลต่อการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือเหตุการณ์ทหารพรานยิงรถกระบะต้องสงสัยจนมีผู้เสียชีวิตถึง 4 ราย บาดเจ็บอีก 4 ราย และรอดคมกระสุนหวุดหวิด 1 คน ที่ ต.ปุโละปุโย อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เมื่อคืนวันอาทิตย์ที่ 29 ม.ค.ที่ผ่านมานั้น ไม่ใช่ครั้งแรกที่การกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐกลายเป็น "น้ำผึ้งหยดเดียว" ที่สร้างกระแสความไม่พอใจและหวาดระแวงในหมู่ชาวบ้าน
เพราะตลอด 8 ปีที่ผ่านมายังมี "คดีคาใจ" ที่เป็นคดีใหญ่ๆ และเป็นการกระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐทั้งเจตนาและไม่เจตนา จนสถานการณ์บานปลายกลายเป็นความขัดแย้งอีกอย่างน้อย 8 คดี
กระนั้นก็ตาม รายงานชิ้นนี้ไม่ได้มีเจตนาสรุปว่าคดีต่างๆ ดังกล่าวเจ้าหน้าที่รัฐเป็นฝ่ายผิด แต่พยายามชี้ให้เห็นถึงความล้มเหลวในเรื่องการจัดการหลังเกิดเหตุร้าย ทั้งเรื่องการทำความเข้าใจ การเยียวยา และการดำเนินคดีตามกฎหมายโดยกระบวนการยุติธรรม ซึ่งทั้งหมดส่งผลให้สถานการณ์ที่ชายแดนใต้ยังคงตึงเครียด และรัฐยังไม่อาจเอาชนะจิตใจประชาชนในพื้นที่ได้
"คดีคาใจ" เฉพาะที่สำคัญ เท่าที่รวบรวมได้มีดังนี้
1.เหตุการณ์ทหารพราน กองร้อยทหารพรานที่ 4302 และ 4306 (หน่วยเดียวกับที่ก่อเหตุยิง 4 ศพ) ยิง นายฮัสซัน มามะ อายุ 16 ปี และ นายอับดุลเลาะ แวเยะ อายุ 19 ปีเสียชีวิต เหตุเกิดขณะเจ้าหน้าที่ออกติดตามจับกุมคนร้ายที่ก่อเหตุใช้อาวุธสงครามยิงฐานทหารพราน เมื่อค่ำวันที่ 18 เม.ย.2554 ในท้องที่ ต.ปุโลปะโย อ.หนองจิก จ.ปัตตานี โดยฝ่ายทหารอ้างว่าวัยรุ่นทั้ง 2 คนเป็นคนร้าย เนื่องจากพบระเบิดซ่อนอยู่ในตัว แต่ชาวบ้านไม่เชื่อ เหตุการณ์นี้ไม่มีการดำเนินคดีกับทหารพราน ขณะที่กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพจ่ายเงินเยียวยา 1 แสนบาทให้กับครอบครัวของผู้เสียหายรายหนึ่ง ขณะที่อีกรายหนึ่งยังไม่ได้รับเงินเยียวยา
2.เหตุการณ์ นายสุไลมาน แนซา อายุ 25 ปี เสียชีวิตขณะถูกควบคุมตัวอยู่ในศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ ค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 30 พ.ค.2553 โดยนายสุไลมานถูกพบเป็นศพมีผ้าผูกคอติดกับเหล็กดัดหน้าต่าง ฝ่ายทหารยืนยันว่านายสุไลมานผูกคอตายเอง แต่บิดาของเขาไม่เชื่อ และยื่นฟ้องคดีต่อศาลทั้งแพ่งและอาญา โดยในส่วนของคดีแพ่ง เรียกค่าเสียหายทางละเมิด 2 ล้านบาท ขณะที่คดีอาญายังอยู่ในขั้นตอนไต่สวนการตาย ทั้ง 2 คดียังไม่ยุติ จนถึงปัจจุบัน นายเจ๊ะแว แนซา บิดาของนายสุไลมาน บอกว่า ได้เงินช่วยเหลือเยียวยาจากรัฐเบื้องต้นแค่ 2 หมื่นบาทเท่านั้น
3.เหตุการณ์กำลังทหารพรานจากกรมทหารพรานที่ 44 (ทพ.44) เข้าตรวจค้นจับกุมกลุ่มวัยรุ่นและชายฉกรรจ์ขณะกำลังเสพยาเสพติดในท้องที่บ้านปาตาบาระ หมู่ 1 ต.ปะเสยะวอ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี ทำให้มีผู้เสียชีวิต 1 ราย และบาดเจ็บอีก 2 คน เมื่อคืนวันที่ 22 ส.ค.2552 โดยฝ่ายทหารอ้างว่ากลุ่มวัยรุ่นและชายฉกรรจ์ยิงใส่ก่อน แต่ภายหลังผู้บังคับบัญชายอมรับว่าเป็นการกระทำเกินกว่าเหตุ จึงจ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยาเบื้องต้นให้กับครอบครัวผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ ขณะเดียวกันผู้เสียหายได้แจ้งความดำเนินคดีกับกลุ่มทหารพรานที่ สภ.สายบุรี แต่คดีไม่มีความคืบหน้า
4.คดี อิหม่ามยะผา กาเซ็ง ถูกทำร้ายร่างกายจนเสียชีวิตระหว่างถูกควบคุมตัวที่ฐานปฏิบัติการหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส 39 ตั้งอยู่ภายในวัดสวนธรรม หมู่ 2 ต.รือเสาะออก อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 21 มี.ค.2551 คดีนี้ในทางแพ่งมีการไกล่เกลี่ยยอมความกัน โดยฝ่ายรัฐยินยอมจ่ายเยียวยาให้ครอบครัวของอิหม่ามยะผาเป็นเงิน 5.2 ล้านบาท เมื่อวันที่ 20 ก.ค.2554 พร้อมแถลงต่อศาลว่าอิหม่ามยะผาไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ความไม่สงบ ส่วนคดีอาญาได้มีการไต่สวนการตายเรียบร้อยแล้ว และกำลังฟ้องคดีต่อศาลทหาร
5.คดี นายอัสฮารี สะมะแอ เสียชีวิตหลังถูกจับกุมและควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงจากท้องที่ ต.สะเอะ อ.กรงปินัง จ.ยะลา เมื่อวันที่ 22 ก.ค.2550 โดยคดีนี้ นางแบเดาะ สะมะแอ มารดาของนายอัสฮารี ได้ยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายทางละเมิดต่อศาลปกครองสงขลา ล่าสุดเมื่อวันที่ 30 ม.ค.2555 ศาลสั่งให้รัฐจ่ายชดใช้เป็นเงิน 5 แสนบาท ส่วนคดีอาญายังอยู่ในขั้นตอนไต่สวนการตาย
6.เหตุการณ์ทหารยิงเด็กและเยาวชนเสียชีวิต 2 ราย บาดเจ็บอีก 3 รายขณะกำลังเล่นซ่อนหา เหตุเกิดที่ ต.บานา อ.เมือง จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 13 เม.ย.2550 กรณีนี้ฝ่ายทหารยอมจ่ายเงินเยียวยาหลักล้านให้กับครอบครัวผู้เสียหาย ส่วนคดีอาญายังอยู่ในศาลทหาร
7.คดีตากใบ หรือเหตุการณ์สลายการชุมนุมและเคลื่อนย้ายผู้ชุมนุมที่หน้า สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ต.ค.2547 ทำให้มีผู้เสียชีวิตรวม 85 ราย คดีนี้รัฐยอมจ่ายชดใช้ทางแพ่งให้กับครอบครัวผู้เสียชีวิตเป็นเงิน 47 ล้านบาท และยอมถอนฟ้องคดีอาญาที่จะดำเนินคดีกับกลุ่มแกนนำผู้ชุมนุม แต่คดีไต่สวนการตายศาลชี้ว่าไม่พบผู้กระทำให้ตาย และอัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง ทำให้คดีถึงที่สุด
8.คดียิงอาวุธสงครามเข้าไปในมัสยิดกรือเซะ หลังเกิดเหตุกลุ่มวัยรุ่นและชายฉกรรจ์ใช้มีดกับไม้โจมตีป้อมจุดตรวจนับสิบแห่งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยกลุ่มที่โจมตีจุดตรวจกรือเซะ บางส่วนได้หลบหนีเข้าไปในมัสยิด และภายหลังเจ้าหน้าที่ทหารได้ใช้ปืนอาร์พีจียิงถล่มเข้าไป ทำให้มีผู้เสียชีวิตเฉพาะจุดนี้กว่า 30 ราย เหตุเกิดเมื่อวันที่ 28 เม.ย.2547 หลังเหตุการณ์ในครั้งนั้นรัฐจ่ายเงินเยียวยาแค่ 2 หมื่นบาทกับครอบครัวผู้เสียชีวิต ส่วนคดีอาญาอัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง ทำให้คดีถึงที่สุด
เงื่อนไขปลุกระดม
เป็นที่น่าสังเกตว่า คดีเหล่านี้ประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะครอบครัวผู้เสียหายรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรม และหลายกรณีได้กลายเป็นเงื่อนไขการปลุกระดมแนวร่วมในพื้นที่ของกลุ่มก่อความไม่สงบที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดน เช่น คดีกรือเซะ ตากใบ แต่ฝ่ายรัฐกลับไม่ยอมดำเนินการใดๆ เพื่อเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมา โดยเฉพาะข้อเรียกร้องให้รื้อคดีและนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ
ขณะเดียวกันการช่วยเหลือเยียวยาครอบครัวผู้สูญเสียกลับไม่ดำเนินการอย่างเป็นระบบ หลายครอบครัวได้แค่เงินเยียวยาเบื้องต้น 2 หมื่นบาท แล้วไม่ได้รับการช่วยเหลือจากรัฐอีกเลย เพราะถูกมองว่าผู้เสียชีวิตเป็นฝ่ายคนร้ายหรือเป็นแนวร่วมก่อความไม่สงบ ส่วนการดำเนินคดีตามขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรม ส่วนใหญ่ไม่มีความคืบหน้า โดยเฉพาะคดีอาญา ยกเว้นคดีแพ่งบางคดีที่มีการไกล่เกลี่ยยอมความและจ่ายค่าเสียหายทดแทน
ฆ่านอกกระบวนการยุติธรรม
นางอังคณา นีละไพจิตร ประธานมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ กล่าวว่า กรณีการเสียชีวิตจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ในทางสิทธิมนุษยชนสากลเรียกว่าเป็น "การฆ่านอกกระบวนการยุติธรรม" ซึ่งรวมถึงการวิสามัญฆาตกรรมด้วย
ทั้งนี้ ตามกระบวนการเมื่อเกิดการเสียชีวิตจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ หรือระหว่างการควบคุมของเจ้าหน้าที่ จะต้องมีการไต่สวนการตายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 150 เพื่อถ่วงดุลการทำงานกับพนักงานสอบสวน (ตำรวจ) ด้วยการให้อัยการทำคำร้องไต่สวนการตายเสนอต่อศาล เพื่อให้ศาลสั่งว่าผู้ตายเป็นใคร อยู่ที่ไหน ตายอย่างไร และใครทำให้ตาย เท่าที่พอจะชี้ชัดได้ จากนั้นพนักงานสอบสวนและอัยการก็จะใช้ดุลพินิจสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องคดี แต่ไม่ตัดสิทธิผู้เสียหายที่จะยื่นฟ้องเอง
ละเลย "ไต่สวนการตาย"
อย่างไรก็ดี นางอังคณา บอกว่า ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ละเลยกระบวนการไต่สวนการตาย อย่างคดีวิสามัญฆาตกรรมที่เกิดขึ้นราว 242 รายที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปรากฏว่ามีการทำคำร้องไต่สวนการตายเพียง 20-30 คดี โดยส่วนใหญ่เจ้าหน้าที่อ้างว่าญาติไม่ติดใจ ก็ใช้วิธีจ่ายเงินเยียวยาแล้วจบไป แต่ผลอีกด้านก็คือไม่มีการนำคดีขึ้นสู่ศาล และไม่อาจพิสูจน์ความผิดได้
"อย่างกรณีวัยรุ่น 2 คนที่ถูกทหารพรานยิงในท้องที่ อ.หนองจิก เมื่อเดือน เม.ย.ปีที่แล้ว จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีการทำคดี ส่วนเงินเยียวยาเบื้องต้นก็ได้แค่แสนเดียว และได้เพียงรายเดียว เพราะอีกรายหนึ่งไม่มีบิดาของผู้ตายมาทำเรื่องและเซ็นรับรอง ขณะที่ฝ่ายความมั่นคง 3 ฝ่ายก็ลงนามเห็นพ้องกันว่าเป็นการกระทำของกลุ่มก่อความไม่สงบ ทั้งๆ ที่ข้อเท็จจริงในที่เกิดเหตุไม่ได้เป็นเช่นนั้น"
ยูเอ็นจับตา-จี้รื้อคดี
นางอังคณา กล่าวด้วยว่า องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) มีผู้รายงานพิเศษด้านการฆ่านอกกระบวนการยุติธรรม ซึ่งในช่วงที่มีการรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยเมื่อปลายที่แล้ว ก็มีการตั้งข้อสังเกตในเรื่องนี้ และเรียกร้องให้รัฐบาลไทยเร่งค้นหาความจริงในคดีลักษณะดังกล่าว ซึ่งไม่ใช่เฉพาะภาคใต้ แต่รวมไปถึงคดีฆ่าตัดตอนในสงครามยาเสพติดด้วย
"อยากเรียกร้องให้มีการตรวจสอบย้อนหลังกลับไปทุกคดีที่ยังเป็นปัญหาคาใจ เพื่อคืนความเป็นธรรมให้กับชาวบ้าน อย่างน้อยก็เยียวยาทั้งในแง่ตัวเงินและความรู้สึก คิดว่าถ้าฝ่ายความมั่นคงทำได้ จะช่วยคลี่คลายสถานการณ์ที่ชายแดนใต้ได้มากทีเดียว" ประธานมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ ระบุ
ทหารย้ำ"เป็นธรรมแน่"
พ.อ.ปริญญา ฉายดิลก โฆษกประจำตัวแม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวว่า ที่ผ่านมา พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 ได้ประกาศนโยบาย "คืนความเป็นธรรม" และ "พาคนกลับบ้าน" เพื่อยืนยันเรื่องการเคารพสิทธิมนุษยชนและรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง ขอย้ำว่ากองทัพได้เน้นตลอดมาให้กำลังพลระมัดระวังปัญหาการละเมิดสิทธิของประชาชน ส่วนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นล่าสุด (ยิง 4 ศพที่ อ.หนองจิก) จะมีการสอบสวนอย่างโปร่งใส และไม่ปกป้องผู้กระทำความผิดอย่างแน่นอน
"เรื่องการรื้อคดีคาใจ เราก็พยายามทำตามกรอบที่สามารถดำเนินการได้ โดยเฉพาะการส่งทหารเข้าไปเยี่ยมเยียนครอบครัวผู้สูญเสีย และพยายามช่วยเหลือเยียวยาทุกอย่างเพื่อให้เห็นว่าเราไม่เคยทอดทิ้ง ระยะหลังสถานการณ์ในพื้นที่ก็ดีขึ้นมาก แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ขึ้นมาก็ทำให้ทุกอย่างต้องนับหนึ่งใหม่หมด" พ.อ.ปริญญา ระบุ
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
หมายเหตุ : รายงานชิ้นนี้ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ หน้าโฟกัส ฉบับวันพุธที่ 1 ก.พ.2555 ด้วย
ขอบคุณ : กราฟฟิกประกอบจากแผนกกราฟฟิกดีไซน์ หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ