เริ่มต้น "ประชารัฐเพื่อสังคม" กับภารกิจเพื่อคนพิการ-ผู้สูงอายุ
ชูแผนขับเคลื่อนประเทศ 5 ด้าน จ้างงานคนพิการ-ผู้สูงอายุ ส่งเสริมการออม ที่อยู่อาศัยและความปลอดภัยบนท้องถนน หมอประเวศ ชี้ไทยมีทรัพยากรมากกว่าสิงคโปร์ สวิตเซอร์แลนด์ แนะใช้ยุทธศาสตร์ถักทอทางสังคม ก้าวข้ามข้อจำกัด
เมื่อเร็วๆ นี้ มีการประชุมคณะทำงานประชารัฐเพื่อสังคม หรือกลุ่ม E6 ครั้งที่ 1/2559 ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ประเวศ วสี ที่ปรึกษาคณะทำงานประชารัฐเพื่อสังคม กล่าวถึงแนวทางการดำเนินงานประชารัฐเพื่อสังคมให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมว่า ประเทศไทยมีทรัพยากรในการพัฒนาประเทศมากกว่าสิงคโปร์ สวิตเซอร์แลนด์ ทั้งในส่วนของทรัพยากรภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมชุมชนท้องถิ่น หรือภาคการศาสนา แต่ที่ผ่านมาทรัพยากรเหล่านี้แยกกันอยู่ ไม่ได้ถูกเชื่อมโยง อีกทั้งมีบางคนบางพวกคิดว่า ประเทศไทยจะเจริญได้นั้นต่อเมื่อมีการทะเลาะกัน ตามทฤษฎี Deconstruction ของฝรั่ง นักปรัชญาที่ว่า การจะเจริญได้นั้นต้องทำลายของเก่าเสร็จก่อนแล้วจึงจะพัฒนา ซึ่งในกรณีของประชารัฐนั้นเป็นแนวคิดตรงกันข้าม เนื่องจากมีหลักคิดว่า การถักทอกันทางสังคม จะทำให้เกิดพลังงานทางสังคม (social energy) มหาศาลในการก้าวข้ามข้อจำกัดทุกเรื่อง ไม่ว่าด้านนโยบาย กฎระเบียบ ทั้งทางการเมืองหรือทางวิชาการต่างๆ ก็ตาม
"การถักทอกันทางสังคม จึงเป็นยุทธศาสตร์ในการก้าวข้ามข้อจำกัดที่สำคัญ และทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ให้เป็นไปได้"
ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเวศ กล่าวถึงการถักทอทางสังคมนั้น แบ่งเป็น 3 ประเภทคือ 1.เชิงพื้นที่ 2.เชิงองค์กร และ 3.เชิงประเด็น ซึ่งทั้งหมดนี้จะต้องยึดเชิงพื้นที่เป็นหลัก เพราะหากทำพื้นที่ให้ดีแล้ว จะสามารถแบ่งเบาภาระได้ถึง 80- 90% ประการสำคัญคือ ประเทศมีโครงสร้างในเรื่องนี้อยู่แล้ว เรามีท้องถิ่นมี อบต. ซึ่งหากสามารถขับเคลื่อนเป้าหมาย สร้างสัมมาชีพเต็มพื้นที่ สร้างสังคมเข้มแข็งที่คนไทยไม่ทอดทิ้งกัน โดยสำรวจว่า ในแต่พื้นที่มีเด็ก คนพิการ ผู้สูงอายุถูกทอดทิ้งจำนวนเท่าไหร่ และจัดให้มีอาสาสมัคร มีกองทุนเข้าไปดูและ รวมถึงทำเรื่องคุณภาพเด็กและเยาวชนเด็ก ที่เกิดประมาณปีละ 700,000 คน ให้ทุกคนเติบโตเป็นคนดี มีความรู้ เชื่อว่าสิ่งเหล่าจะทำให้สังคมเกิดความร่มเย็นเป็นสุข
สำหรับคณะทำงานประชารัฐเพื่อสังคมนั้น ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเวศ กล่าวว่า จะต้องทำงานเป็นหน่วยสัมฤทธิศาสตร์ คือเชื่อมโยง ทั้งนโยบาย ข้อมูล ความรู้ความเข้าใจและต้องสื่อสารกับทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน ผู้นำชุมชน ประชาชนในทุกๆ จังหวัด เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงกันทั้งประเทศ เพราะเมื่อเกิดการเชื่อมโยงกันแล้วต่อให้เปลี่ยนรัฐบาลการทำงานก็สามารถดำเนินต่อไปได้
แนะกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค แก้ปัญหาประเทศโตซีกเดียว
ขณะที่ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และที่ปรึกษาคณะทำงานประชารัฐเพื่อสังคม กล่าวถึงแนวนโยบายในการดำเนินงานว่า ที่ผ่านมาประเทศไทย มุ่งแต่พัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยละเลยพัฒนาการด้านทางสังคม ประเทศเลยโตซีกเดียว เน้นแต่การส่งออก จีดีพี แต่ในภูมิภาค ท้องถิ่น กลับไม่เจริญ เพราะไม่ได้กระจายไปถึง ฉะนั้นจะต้องมีโยบายที่เข้าไปเติมเต็มคุณค่าของท้องถิ่นดูแลท้องถิ่น โดยใช้กลุ่มจังหวัด เป็นตัวขับเคลื่อน เริ่มต้นจากการเอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง ตอบสนองให้ไวและในทุกทิศทาง
“นโยบายต่อจากนี้ต้องไม่ใช่มาจากส่วนกลาง กระทรวง กรม กอง เพราะไม่รู้ความต้องการที่แท้จริงของพื้นที่ ในทางกลับกัน เมื่อทุกอย่างถูกส่งไปจากส่วนกลาง และไม่ใช่สิ่งที่พื้นที่ต้องการ ก็เกิดทัศนคติที่ว่า ไม่อยากเอารัฐ อย่ามายุ่ง ยิ่งยุ่งยิ่งลำบาก และมองว่าภาครัฐไม่สนใจภาคประชาชน ผลก็คือ เดินคนละเส้น และเรื่องนี้ในภาคเอกชนก็คิดไม่ต่างกัน กลายเป็นประเทศแยกส่วน ไม่มีพลังที่แท้จริง ฉะนั้นต้องพยายามนำทุกส่วนมาโยงใยสานพลังขึ้นมา ทำให้สิ่งที่เป็นไปได้ เป็นไปได้"
ดร.สมคิด กล่าวถึงแผนขับเคลื่อนอีกว่า มีแนวคิดที่จะเสนอให้มีการลงขันจากทุกภาคส่วน และรัฐบาลจะสมทบให้อีกส่วนหนึ่ง ขณะเดียวกันจะมีการเชื่อมโยงการทำงานกับกลุ่มจังหวัด โดยยึดเอาแผนกลุ่มจังหวัดของสภาพัฒน์เป็นตัวตั้ง เพราะที่ผ่านจากส่วนกลางและข้ามไปท้องถิ่น ตรงกลางจึงแหว่ง โดยรัฐบาลจะผลักดันงบประมาณก้อนใหม่ เป็นงบประมาณกลุ่มจังหวัด เพื่อบริหารเชิงพื้นที่ และเสนอให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการคัดกรอง ประกอบด้วย ตัวแทนจากสำนักงบประมาณ เลขาธิการสภาพัฒน์ กพร. กระทรวงการคลัง ภาคเอกชน ภาคประชาชน เพื่อพิจารณาโครงการและอนุมัติงบประมาณที่กลุ่มจังหวัดเสนอเข้ามา รวมถึงมีระบบพี่เลี้ยงเข้าไปดูแล เพื่อให้กลุ่มจังหวัดสามารถพัฒนาได้ตามสภาพ เป็นการเปลี่ยนวิธีการขับเคลื่อนจากเดิม และต่อไปภูมิภาค ท้องถิ่นจะได้เจริญมากขึ้น
อย่างไรก็ดี ดร.สมคิด กล่าวด้วยว่า ทุกอย่างที่เป็นความคิดใหม่ มักจะมีคำติชม แต่หากเป็นสิ่งที่จริง เชื่อว่าจะเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน ที่ผ่านมารัฐบาลก็ทำทั้งเรื่องประเทศไทย 4.0, Digital Economy, Thailand Startup รวมถึงประชารัฐ ซึ่งจริงๆ ก็ไม่ใช่เป็นเรื่องใหม่ถอดด้าม แต่เชื่อว่า สิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวสร้างโครงร่างอนาคตประเทศไทย และไม่ว่าจะผิดหรือถูกประวัติศาสตร์จะเป็นตัวตัดสิน หากมัวแต่หวั่นไหวกับคำวิจารณ์ สิ่งต่างๆก็จะไม่เกิดขึ้น
Quick Win
ด้าน ดร.สุปรีดา อดุลย์ยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ในฐานะเป็นหัวหน้าทีมคณะทำงานประชารัฐ ภาคประชาสังคม กล่าวถึงการดำเนินงานของคณะทำงานประชารัฐเพื่อสังคมว่า จะเน้นขับเคลื่อนประเด็นที่เห็นผลได้ภายในระยะสั้น หรือ Quick Win ใน 5 ประเด็นคือ 1.การจ้างคนพิการ 2. การจ้างงานผู้สูงอายุ 3.การออมเพื่อการเกษียณอายุ 4.ที่อยู่อาศัยเพื่อผู้สูงอายุ และ 5.ความปลอดภัยทางถนน โดยกระบวนการทั้งหมดนี้จะเน้นการขับเคลื่อนเชิงพื้นที่ ผ่านการสร้างเครือข่ายชุมชน
สำหรับการจ้างงานคนพิการนั้น ดร.สุปรีดา กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีคนพิการประมาณ 1.9 ล้านคน ลงทะเบียนผู้พิการแล้ว 1.59 ล้านคน ไม่ลงทะเบียน 3 แสนคน และยังพบอีกว่า มีคนพิการไม่มีงานทำถึง 423,650 คน หรือคิดเป็น 56% จากจำนวนคนพิการวัยทำงานทั้งหมด ทั้งที่ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 กำหนดว่า จะต้องมีการจ้างงานคนพิการตามมาตรา 33 อัตราการจ้างงานส่วน 100 คนต่อ คนพิการ1 คน หรือไม่ก็ส่งเงินสมทบกองทุนฯ ตามมาตรา 34 หรือส่งเสริมอาชีพ ตามมาตรา 35
"ข้อเท็จจริงภาคเอกชนส่วนใหญ่ จะเลือกส่งเงินเข้ากองทุนฯ มากกว่าจ้างงาน ดังนั้น เพื่อให้เกิดการจ้างงานมากขึ้น คณะทำงานจะพยายามหารูปแบบการทำงานที่เหมาะสม matching คนพิการกับนายจ้าง รวมถึงสร้างตำแหน่งงานใหม่ในภาคประชาสังคม เพื่อให้เกิดการจ้างงาน โดยตั้งเป้าว่า ในภาครัฐจะจ้างงานคนพิการให้ครบ 15,000 อัตราจากปัจจุบันที่จ้างงานเพียง 20% หรือ 3,000 อัตราเท่านั้น ส่วนภาคเอกชน ในปี 2560 ต้องจ้างงานให้ครบ 10,000 อัตรา นอกจากนี้ยังจะมีการแก้ไขความไม่ชัดเจน ในประเด็นเรื่องการหักลดหย่อนภาษีมาตรา 35 อีกด้วย"
ส่วนประเด็นการจ้างงานและการออมของผู้สูงอายุ ดร.สุปรีดา กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้สูงอายุประมาณ 10.5 ล้านคน แบ่งเป็นดูแลตัวเองได้ดีประมาณ 9 ล้านคน พึ่งพิงบางส่วนประมาณ 1 ล้านกว่า คน และพึ่งพิง 100% อีกประมาณ 1 แสนกว่าคน และในอีก 12 ปีข้างหน้าคาดการณ์ว่า ประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเป็น 14.4 ล้านคน สิ่งสำคัญคือ ข้อมูลพบว่า ผู้สูงอายุในบ้านเรา 34.3% รายได้ต่ำกว่าเส้นยาวจน หรือ 2,572 บาทต่อคนต่อเดือน ฉะนั้น จะต้องส่งเสริมเรื่องการจ้างงานผู้สูงอายุ และการออมเพื่อการเกษียณอายุ โดยในส่วนของการจ้างงานผู้สูงอายุจะมีแผนและกฎระเบียบที่สอดคล้อง
“ส่วนเรื่องการออม พบว่า คนไทย 57.3% มีการออมไว้ยามสูงอายุ ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มข้าราชการ ประมาณ 2 ล้านคน ขณะที่กลุ่มแรงงานในระบบ 10 ล้านคน และแรงงานนอกระบบอีก 25 ล้านคน จะต้องส่งเสริมการออมเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มแรงงานที่อยู่ในระบบไม่ต่อเนื่อง และปัจจุบันแม้ว่ารัฐบาลจะจัดตั้งกองทุนการออมแห่งชาติขึ้น โดยตั้งเป้าให้ประชาชนเข้าร่วมประมาณ 24 ล้านคน แต่ข้อเท็จจริงพบว่า ขณะนี้มีสมาชิกเพียง 518,455 คนเท่านั้น ฉะนั้น จะต้องหาแนวทางขับเคลื่อนต่อไป นอกจากนี้จะต้องส่งเสริมการออมรูปแบบต่างๆ เพิ่มขึ้น”
ดร.สุปรีดา กล่าวถึงแผนงานเรื่องความปลอดภัยทางถนนด้วยว่า จากข้อมูลพบว่าคนไทยตายจากอุบัติเหตุสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก สาเหตุ 60%มาจากการขับขี่รถจักรยานยนต์ และผู้เสียชีวิตเกือบทั้งหมดไม่สวมใส่หมวกกันน็อก
“ทุกๆ ชั่วโมง มีคนไทยต้องตายบนท้องถนน 3 คน ป่วยเจ็บสาหัสอีก 200 คน ในจำนวนนี้ 6 คนกลายเป็นผู้พิการ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นวัยหนุ่มสาว จึงกลายเป็นภาระให้กับครอบครัว ทั้งนี้ มีการประมาณการณ์ด้วยว่า การตายจากอุบัติเหตุ 1 คนสร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ เท่ากับ 5.3 ล้านบาท กรณีพิการ 1คน สูญเสียทางเศรษฐกิจเท่ากับ 6.2 ล้านบาท ดังนั้น ในเรื่องนี้จะมีนโยบายสวมหมวกกันน็อก 100% ทั้งผู้ขับขี่และผู้โดยสาร รวมถึงสนับสนุนการบังคับใช้กฎหมายของตำรวจ กระตุ้นให้เอกชนออกนโยบายส่งเสริมพนักงานให้ใช้รถใช้ถนนด้วยความปลอดภัย และที่น่าตกใจคือ จากการได้หารือกับภาคเอกชนพบว่า พนักงานเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนมากกว่าอุบัติเหตุจากการทำงานหลายเท่าตัว
ตั้งเป้าปี 60 จ้างงานผู้สูงอายุ – ซ่อมแซมบ้าน 2,500 หลัง
สุดท้าย นายไมตรี อินทุสุต ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวถึงแนวทางประชารัฐเพื่อสังคมด้านผู้สูงอายุเพิ่มเติมว่า ใน ปี 2560 นอกจากตั้งเป้า ให้ผู้สูงอายุมีงานทำเพิ่มขึ้น 1% จากจำนวนผู้สูงอายุที่สามารถทำงานได้ หรือคิดเป็น 39,000 คนแล้ว ยังมีแผนซ่อมแซมบ้านผู้สูงอายุจำนวน 2,500 หลัง ปรับปรุงสถานที่สาธารณะ 200 แห่ง และการสร้างที่พักสำหรับผู้สูงอายุโดยภาคเอกชนอีกด้วย