โดนคาร์บอมบ์แต่ไม่ท้อ เซาท์เทิร์นวิวสู้ต่อ เปิดบริการต้นปีหน้า
เหตุระเบิด “คาร์บอมบ์” เมื่อวันที่ 23 ส.ค.59 ก่อความเสียหายใหญ่หลวงแก่โรงแรมเซาท์เทิร์น วิว ปัตตานี ที่เปิดบริการมาตั้งแต่ปี 48
แรงระเบิดทำให้โรงแรมต้องปิดบริการตั้งแต่วันนั้นเพื่อปรับปรุงและตกแต่งใหม่ คาดว่าจะเปิดบริการได้ช่วงต้นปีหน้า
สิ่งดีๆ ท่ามกลางความรุนแรงที่เลวร้ายก็คือ โรงแรมยังจ้างพนักงานทุกคนเช่นเดิมมาตลอด ขณะที่ผู้บริหารก็ยืนยันสู้ต่อ พร้อมเข้มงวดเรื่องความปลอดภัยมากขึ้น
“ด้วยกำลังใจที่ดี เป็นพลังให้ก้าวต่อไป และนำสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นบทเรียน” เป็นเสียงจาก เอกชัย โลจนาภิวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการโรงแรมเซาท์เทิร์น วิว ปัตตานี ที่ตอกย้ำอีกครั้งหลังควันระเบิดจางว่าเขายังยืนหยัดทำธุรกิจต่อ และปิดจุดอ่อนทั้งหมดเพื่ออยู่ให้ได้ในสถานการณ์เช่นนี้
“เราต้องมองไปข้างหน้า เน้นย้ำเรื่องระบบรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวดมากขึ้น รวมทั้งการบริการของโรงแรม และดูแลชุมชนรอบโรงแรม เพราะเราอยู่กันเป็นชุมชน ไม่ใช่เฉพาะโรงแรม เคยคุยกันมาตลอดเรื่องระบบการรักษาความปลอดภัย จนมาเกิดเหตุ กระทบกันไปหมด เพื่อนบ้านต้องใช้เส้นทางเข้าออกทุกวันเช่นกัน ต้องให้ความสะดวกกันทุกฝ่าย ทำมาหากินกันได้ จึงต้องมาคุยเพื่อหาทางป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำ”
การจับมือกับชุมชนเพื่อสร้าง “ชุมชนเข้มแข็ง” คือคาถาต่อสู้กลุ่มก่อความไม่สงบที่ประสบความสำเร็จมาแล้วทั่วโลก เพราะเจ้าหน้าที่ไม่มีทางดูแลใครได้ตลอด 24 ชั่วโมง ฉะนั้นชุมชนต้องดูแลตัวเอง
การร่วมมือกันทำงานระหว่างโรงแรมและชุมชนโดยรอบจึงเป็นโมเดลที่ก้าวหน้าและสำคัญอย่างยิ่ง
“จากปกติเคยมีทางเข้า-ออกถึง 7 เส้นทาง ตอนนี้เราปิด 5 ทาง เหลือเพียง 2 ทางที่ใช้เป็นหลัก คือทางด้านหน้าโรงแรม อาจไม่สะดวกบ้างแต่ปลอดภัยมากขึ้น เหมือนหมู่บ้าน มีป้อม รปภ.ตรวจเหมือนหน้าห้างบิ๊กซี ชะลอตรงด่าน มีกล้องจับ ชะลอเปิดกระจกเพื่อจับทะเบียนรถและหน้าคนขับ”
นี่คือมาตรการรักษาความปลอดภัยรูปแบบใหม่ที่ช่วยกันวางระบบ
สำหรับในทางธุรกิจ ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากแรงระเบิดนั้น ภาครัฐประเมินค่าเสียหายราวๆ 50 ล้านบาท โดยห้องพักด้านหน้าเสียหาย 70 เปอร์เซ็นต์ ตั้งแต่ชั้น 1 ถึง 9 ห้องประชุมสัมมนาเสียหายทั้งหมด ต้องปรับปรุงใหม่ แต่โครงสร้างอาคารยังดีอยู่
“ตอนเกิดเหตุอาจเห็นว่าเสียหายแค่ภายนอก เพราะไม่ได้อนุญาตให้เข้าที่เกิดเหตุ ต้องเก็บหลักฐาน เมื่อเข้าไปจริงๆ พบว่าด้านในเสียหายหนัก ส่วนค่าเสียโอกาสประเมินไม่ได้ ตั้งแต่วันที่ 23 ส.ค. จนกว่าจะเปิดบริการต้นปีหน้า ประมาณเกือบ 5 เดือน มีค่าใช้จ่ายทุกเดือน ประมาณเดือนละ 1 ล้านบาทเพราะยังจ้างพนักงานประมาณ 150 คนตามปกติ”
“หลังเกิดเหตุได้ให้ความมั่นใจพวกเขาว่าไม่เลิกจ้างแน่นอน ดูแลเหมือนเดิม ให้ช่วยกันในเรื่องต่างๆ ไม่อยากให้พวกเขาเดือดร้อน เมื่อเขาขาดรายได้หมายถึงครอบครัวเดือดร้อนด้วย ตกลงกันว่าในช่วงนี้ต้องช่วยงานกันเท่าที่มี เพื่อให้เข้าสู่ภาวะปกติเร็วที่สุด” เป็นเสียงที่สะท้อนถึงความตั้งใจของนักธุรกิจรุ่นใหม่อย่าง เอกชัย
เขาประเมินสถานการณ์ว่า เมื่อเปิดบริการต้นปีหน้า ลูกค้าน่าจะน้อยลง เพราะการทำธุรกิจบริการ ไม่ใช่แค่ตกแต่งสถานที่ใหม่แล้วลูกค้าจะกลับมาเหมือนเดิม หรือเหมือนการชอปปิ้งแล้วได้คืนมา สิ่งสำคัญคือต้องให้ความเชื่อมั่นและเชื่อใจ เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา อาจประมาณ 6 เดือนถึง 1 ปีเพื่อให้ลืมภาพเดิมในบรรยากาศใหม่ๆ
“เราเน้นย้ำให้ รปภ.เข้มงวดมากขึ้น แต่ไม่สามารถการันตีได้ ก็พยายามทำในส่วนที่ทำได้ให้มากที่สุด ผมจะมองว่าจะทำการตลาดอย่างไรมากกว่า มองถึงอนาคต เร่งให้เสร็จ คืนสู่สภาวะปกติ เพื่อเปิดบริการให้เร็วที่สุด เพื่อจะได้มีรายได้ช่วยเหลือพนักงานและสร้างฐานให้ลูกค้ามั่นใจ”
“เมื่อเกิดเหตุคาดไม่ถึง เป็นบททดสอบว่าจะก้าวข้ามได้อย่างไรด้วยความอดทนและพยายามให้มาก สู้ปัญหา ทุกอย่างมีทางออก มีกำลังใจที่ดีจากครอบครัว เพื่อนที่เข้าใจและเห็นใจ ช่วยเหลือกันในยามเกิดเหตุร้าย”
เอกชัย บอกด้วยว่า คนที่ใช้ชีวิตในพื้นที่นี้ไม่ได้มีชีวิตปกติ ทุกคนระมัดระวังในการใช้ชีวิตประจำวันตามสถานที่ต่างๆ แต่สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้เลย คือทุกคนยังต้องมีชีวิตต่อไป
“มองว่าไม่มีแนวโน้มที่เรื่องราวจะจบ ไม่รู้เหมือนกันว่าเพราะอะไร เราทำธุรกิจที่นี่ต้องรับความเสี่ยงที่ต้องรับให้ได้ จัดการกับทุกเรื่องให้ได้ ตั้งแต่ปี 2548 ที่เริ่มกิจการที่รู้ว่ามีความเสี่ยง แต่ด้วยความคุ้นเคยพื้นที่ ทำให้ทำต่อมาจนทุกวันนี้ 11 ปีกว่าแล้ว เราช่วยในเรื่องของการกระจายรายได้ ถ้าทุกคนย้ายออกไปหมด ที่นี่ก็กลายเป็นเมืองร้าง ไม่มีเงินหมุนเวียน มีแต่คนอาศัยก็อยู่ไม่ได้ ต้องมีธุรกิจทั้งเล็กและใหญ่อยู่ทุกพื้นที่ ถ้าผมออกไปอีก พนักงานอีกกว่าร้อยคนก็ต้องตกงาน ครอบครัวก็ต้องเดือดร้อน ตอนนี้งานมีจำกัด มีคนว่างงานมากมาย การให้พี่น้องในพื้นที่จำนวนหนึ่งพอมีกินมีใช้ จะช่วยลดปัญหาการว่างงาน การลักขโมย ยาเสพติด และอื่นๆ ได้จำนวนหนึ่ง”
“สังคมต้องมีความหลากหลายของผู้คนจึงจะไปด้วยกันและดำรงอยู่ได้ อยู่ที่การจัดการว่าจะอยู่ร่วมกันได้อย่างไร” เป็นข้อคิดทิ้งท้ายจากเอกชัย
แม้ “พื้นที่ปลอดภัย” ที่ชายแดนใต้จะยังเป็นเพียงแค่วาทกรรม แต่กำลังใจและหัวใจที่ไม่ท้อ สุดท้ายจะช่วยลดทอนน้ำหนักแห่งเจตนาของผู้ก่อเหตุลงได้
ระเบิดอย่างไรก็ไม่ไป...อาจกลายเป็นคาถาสู้คนที่คิดร้ายได้ดีที่สุด!
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : เอกชัย และความคืบหน้าการซ่อมแซมโรงแรมเซาท์เทิร์น วิว