ล้วงขั้นตอน ขรก.-จนท.รัฐโดน ม.44! ผิดจริงต้องฟัน-แต่หลายคนถูกดองจนเกษียณ?
“…สิ่งหนึ่งที่ไม่ว่า ‘บิ๊กตู่’ คตช. หรือ ศตอช. ยังไม่สามารถตอบให้ชัดเจนได้คือ มีอีกหลายคนที่ถูกคำสั่งดังกล่าว กระทั่งปัจจุบันเกษียณอายุราชการไปแล้ว แต่ก็ยังไม่รู้เลยว่าผิดอะไร ปัจจุบันกระบวนการถึงไหน ทำไมถึงไม่ชี้แจงให้ชัดเจน เพราะต้องไม่ลืมว่า เมื่อถูกโยกย้ายดังกล่าว อาจเรียกได้ว่า ‘ปิดฉาก’ ในชีวิตข้าราชการ-การเมือง รวมไปถึงเสื่อมเสียชื่อเสียงถึงวงศ์ตระกูลด้วย…”
ในช่วงเวลา 2 ปีเศษที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก้าวเข้ามาบริหารประเทศ ภายหลังยึดอำนาจจากรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อกลางปี 2557 สิ่งหนึ่งที่ ‘รัฐบาลทหาร’ ตั้งใจไว้คือ การปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น ที่กัดกินเนื้อในของประเทศในห้วงหลายปีที่ผ่านมา
เห็นได้ว่า มีการแต่งตั้งคณะทำงานที่เกี่ยวข้องกับการปราบปรามการทุจริตเต็มไปหมด ไม่ว่าจะเป็น คณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) ที่ ‘บิ๊กตู่’ กุมบังเหียนเอง หรือแม้แต่การบูรณาการองค์กรปราบปรามการทุจริตทั้งหลายให้เป็นเนื้อเดียวกันในชื่อ ‘ศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ’ หรือ ศอตช. ที่มี พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม นั่งหัวโต๊ะเป็นประธานฯ หรือล่าสุดที่ตั้งศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภายในกระทรวงต่าง ๆ (ศปท.)
เรียกได้ว่าดำเนินการเชิงรุกป้อง-ปรามกันตั้งแต่ ‘ต้นน้ำ’ ยัน ‘ปลายน้ำ’
แต่ไม่พ้นถูกกล่าวหาว่าดำเนินการ 2 มาตรฐานเหมือนกับองค์กรอิสระหลายแห่งอย่างที่ผ่านมา เพราะเห็นได้ชัดเจนว่า โครงการใดที่รัฐบาลทหารเป็นคนดำเนินการก่อสร้าง หรือทหารรายใด เมื่อเจอสื่อมวลชนขุดคุ้ยความไม่ชอบมาพากล พอไปถึงกระบวนการในชั้นองค์กรอิสระต่าง ‘ตีตก-ยกคำร้อง’ เสียหมด
แตกต่างจาก ‘นักการเมือง’ ที่ถูก ‘เชือด’ จนเกือบสูญพันธุ์ ?
ไม่ว่าข้อเท็จจริงดังกล่าวจะเป็นอย่างไร แต่สิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือ มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ที่เรียกได้ว่าให้อำนาจ ‘บิ๊กตู่’ ล้นฟ้า ถูกนำมาใช้ในกระบวนการปราบคอร์รัปชั่นด้วย ในชื่อคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่สั่งโยกย้ายบรรดา ‘ข้าราชการ-เจ้าหน้าที่รัฐ-นักการเมืองระดับชาติ-ท้องถิ่น’ เข้ากรุ เปิดโอกาสให้มีการตรวจสอบเชิงลึก เพื่อหาต้นตอความผิดปกติทั้งหลายแหล่
และอย่างที่ทราบกันว่า บางครั้งมันก็ได้ผล มีหลายรายเมื่อถูกคำสั่งดังกล่าวไปแล้ว ปิดทางไม่ให้เข้าไปยุ่งกับพยานหลักฐาน จนถูกชี้มูลความผิด ขึ้นโรงขึ้นศาลกันไป
แต่ก็มีอีกหลายรายเช่นกัน ที่ถูกคำสั่งดังกล่าว ‘พักงาน-ไม่ได้เงินเดือน’ กระทั่งปัจจุบันเกษียณอายุราชการไปแล้ว ก็ยังไม่รู้ว่า ตัวเองทำอะไรผิด ?
ทำให้หลายคนเกิดความสงสัยว่า กระบวนการในการเสนอชื่อบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่าอาจมีส่วนพัวพันกับการทุจริต ให้ ‘บิ๊กตู่’ ลงนามคำสั่ง ‘เชือด’ นั้น เป็นอย่างไร
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า ในการประชุม คตช. ครั้งที่ 4/2559 เมื่อช่วงปลายเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา มีการสรุปกระบวนการขั้นตอนการเสนอชื่อข้าราชการ-เจ้าหน้าที่รัฐ-นักการเมือง ก่อนให้ พล.อ.ประยุทธ์ ลงนามคำสั่งหัวหน้า คสช. มีรายละเอียด ดังนี้
แหล่งข่าวจาก ศอตช. เล่าให้สำนักข่าวอิศราฟังว่า เบื้องต้น หน่วยงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตภายใต้ร่มเงาของ ศอตช. เช่น สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) หรือหน่วยงานรัฐต่าง ๆ จะเป็นผู้รวบรวมรายชื่อบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่าอาจกระทำความผิดฐานทุจริต และอาจมีอิทธิพลเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐานจนทำให้การตรวจสอบเกิดความล่าช้า นำเสนอต่อ พล.อ.ไพบูลย์ ในฐานะประธาน ศอตช. หลังจากนั้นมีการนำเสนอเข้าที่ประชุม คตช. ที่ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธานฯ คัดเลือกรายชื่อบุคคลที่อาจเข้าข่ายพัวพันกับการทุจริต ก่อนที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะลงนามคำสั่งโยกย้ายดังกล่าว
ขั้นตอนหลังจากนี้คือ เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ มีคำสั่งในลักษณะดังกล่าวแล้ว ศตอช. จะแจ้งพฤติกรรมบุคคลที่มีรายชื่อให้หน่วยงานต้นสังกัดรับทราบ เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่
หลังจากหน่วยงานต้นสังกัดรับทราบแล้ว ให้รายงานความคืบหน้าในการตรวจสอบให้กับ ศอตช. ทราบเป็นระยะ เพื่อส่งผลการดำเนินการให้หน่วยงานตรวจสอบ เช่น คณะกรรมการ ป.ป.ช. คณะกรรมการ ป.ป.ท. หรือ สตง. (หากเป็นบุคคลที่ถูกหน่วยงานเหล่านี้ตรวจสอบอยู่แล้ว ก็ให้ดำเนินการต่อไป แต่ต้องแจ้งผลให้ ศอตช. ทราบด้วย) เพื่อพิจารณา แบ่งเป็น 2 กรณี ได้แก่
หนึ่ง กรณีมีความเห็นสอดคล้องกัน และไม่อยู่ในระหว่างการดำเนินการของ ป.ป.ช. ศอตช. จะนำขึ้นเรียน พล.อ.ประยุทธ์ เพื่อพิจารณาต่อ
สอง กรณีมีความเห็นไม่สอดคล้องกัน และอยู่ระหว่างการดำเนินการของ ป.ป.ช. ให้รอ ป.ป.ช. ตรวจสอบแล้วเสร็จ จึงนำขึ้นเรียน พล.อ.ประยุทธ์ พิจารณา
ส่วนกรณีบุคคลรายใดที่มีชื่อพ้นจากตำแหน่ง ไม่ว่าจะด้วยเหตุใดก็ตาม จะไม่มีเหตุให้ระงับการปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งอีกต่อไป และหากมีการร้องทุกข์จากบุคคลตามคำสั่งให้ ศอตช. เป็นผู้แจ้ง และตอบข้อร้องเรียนนั้น ๆ
นี่คือกระบวนการเบื้องต้นที่ดำเนินการกันมานับตั้งแต่ ‘บิ๊กตู่’ ลงนามคำสั่งหัวหน้า คสช. โยกย้ายบุคคลที่อาจเข้าข่ายกระทำผิดฐานทุจริตตั้งแต่ฉบับแรก ยันฉบับล่าสุด หลายสิบฉบับแล้ว มีบุคคลที่ถูกกล่าวหา ถูกพักงาน-โยกย้าย เป็นจำนวนหลายร้อยคนแล้ว
แต่ในการประชุม คตช. ครั้งที่ 4/2559 ดังกล่าว ‘บิ๊กตู่’ มีข้อสั่งการเพิ่มเติมว่า ให้ ศอตช. เป็นกลไกในการตรวจสอบและกลั่นกรองรายงานผลการตรวจสอบของส่วนราชการ รวมทั้งให้พิจารณานำกระบววนการหรือแนวทางดังกล่าวสร้างให้เกิดความยั่งยืน
รวมถึงมอบหมายให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี พิจารณาตามกฎหมายกับผู้ปล่อยปละละเลยให้มีการกระทำผิดในพื้นที่ การกำหนดกรอบเวลา การตรวจสอบข้อเท็จจริง การคุ้มครองข้าราชการชั้นผู้น้อยที่กระทำโดยการสั่งการ และการลงโทษผู้สั่งให้กระทำผิด ให้เป็นกฎหมายเพื่อให้เกิดความยั่งยืน
พร้อมทั้งยังมอบหมายให้นายวิษณุ พิจารณากำหนดการบูรณาการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ในระดับกรม/กระทรวง ให้มีความสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และยุทธศาสตร์ชาติ ให้เป็นกฎหมาย หากมีความจำเป็นให้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ด้วย (ดูเอกสารประกอบ)
ล่าสุด ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการดำเนินการดังกล่าวของ คตช. เรียบร้อยแล้ว
ทั้งหมดนี้คือคำตอบที่หลายคนสงสัยกันมานานว่า ขั้นตอน/กระบวนการ ทั้งก่อน/หลังที่ ‘บิ๊กตู่’ ลงนามคำสั่งหัวหน้า คสช. โยกย้าย-พักงาน บุคคลที่ถูกกล่าวหาพัวพันการทุจริต เป็นอย่างไร
แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่ว่า ‘บิ๊กตู่’ คตช. หรือ ศตอช. ยังไม่สามารถตอบให้ชัดเจนได้คือ มีอีกหลายคนที่ถูกคำสั่งดังกล่าว กระทั่งปัจจุบันเกษียณอายุราชการไปแล้ว แต่ก็ยังไม่รู้เลยว่าผิดอะไร ปัจจุบันกระบวนการถึงไหน ทำไมถึงไม่ชี้แจงให้ชัดเจน
เพราะต้องไม่ลืมว่า เมื่อถูกโยกย้ายดังกล่าว อาจเรียกได้ว่า ‘ปิดฉาก’ ในชีวิตข้าราชการ-การเมือง รวมไปถึงเสื่อมเสียชื่อเสียงถึงวงศ์ตระกูลด้วย
และหากพบว่าไม่ผิดจริง แต่กลับปล่อยให้เรื่องผ่านไป แล้วจะคืน ‘ความยุติธรรม’ ให้กับพวกเขาอย่างไร ?
เป็นเรื่องที่ คสช. ต้องมีคำตอบ !