เส้นทางอลวนก่อนจับ "ทีมบูดูบอมบ์" กับ 3 คำถามถึงบิ๊กสีกากี
คดีตระเตรียมการลอบวางระเบิดในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล เมื่อเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา ได้เดินทางมาถึงจุดหักเหสำคัญ เมื่อตำรวจจับกุมผู้ต้องหาชาว จ.นราธิวาส 3 คน พร้อมนำตัวไปชี้จุดซุกซ่อนและทิ้งอุปกรณ์ประกอบระเบิดใน จ.สมุทรปราการ
ผู้ต้องหา 3 คนนี้ ประกอบด้วย นายมูบารีห์ กะนะ อายุ 23 ปี นายอับดุลบาซิร สือกะจิ อายุ 19 ปี และ นายตาลมีซี โตะตาหยง อายุ 31 ปี ทั้งหมดมีภูมิลำเนาอยู่ที่ อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส ถูกพนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) ออกหมายจับในข้อหาร่วมกันมีวัตถุระเบิดไว้ในครอบครอง, อั้งยี่ และซ่องโจร ถูกตำรวจภูธรจังหวัดนราธิวาสจับกุมเมื่อวันอังคารที่ 29 พ.ย. ก่อนส่งตัวขึ้นมายังกองบังคับการปราบปรามเมื่อวันพุธที่ 30 พ.ย.
พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เดินทางเข้าสอบปากคำผู้ต้องหาทั้งหมดด้วยตนเอง จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้นำตัวไปชี้จุดที่ใช้เก็บอุปกรณ์ประกอบระเบิดที่เคหะบางพลีเมืองใหม่ จ.สมุทรปราการ
ทั้งนี้ สถานที่ที่เจ้าหน้าที่นำผู้ต้องหาไปชี้ เป็นจุดที่ใช้วางแผนและเก็บอุปกรณ์ประกอบระเบิด ได้แก่ห้องพักในเคหะเมืองใหม่บางพลี อ.บางเสาธง จ.สมุทรปราการ ซึ่งใช้เป็นสถานที่ซุกซ่อนอุปกรณ์ประกอบระเบิดใต้ฝ้าเพดานใกล้ห้องน้ำ รวมถึงจุดที่นำอุปกรณ์ไปทิ้งเมื่อแผนลอบวางระเบิดถูกเปิดโปง ทั้งบริเวณถังขยะและคูน้ำสาธารณะหลังตลาดสดเคหะบางพลี
ต่อมามีการส่งเจ้าหน้าที่ลงดำน้ำเพื่อหาอุปกรณ์ประกอบระเบิดที่ผู้ต้องหาอ้างว่าโยนทิ้งน้ำ แต่ไม่มีรายงานยืนยันว่าเจ้าหน้าที่พบวัตถุพยานตามที่ต้องการหรือไม่
เปิดเส้นทาง "ทีมศรีสาคร" อ้างวางแผนป่วนกรุง
สำหรับที่มาของการจับกุมผู้ต้องหาทั้ง 3 คนนี้ มาจากข่าวครึกโครมเมื่อเดือน ต.ค.ที่มีข้อมูลแจ้งเตือนให้เฝ้าระวังการวางระเบิด “คาร์บอมบ์” ตามห้างสรรพสินค้า ลานจอดรถ และสถานที่ท่องเที่ยว ในเขตกรุงเทพฯและจังหวัดใกล้เคียง ในช่วงที่มีการจัดประชุมสุดยอดกรอบความร่วมมือเอเชีย หรือ เอซีดี และวันครบรอบเหตุการณ์ตากใบ
จากข้อมูลการข่าว ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจนำกำลังเข้าปิดล้อมตรวจค้นสถานที่ต้องสงสัยหลายแห่ง เช่น รามคำแหง มีนบุรี พร้อมจับกุมผู้ต้องสงสัยเป็นชาวมุสลิมจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปหลายสิบคน บางส่วนได้รับการปล่อยตัว ขณะที่บางส่วนถูกดำเนินคดีครอบครองยาเสพติดประเภทกระท่อม
กลุ่มผู้ต้องสงสัยสำคัญที่ไม่ได้รับการปล่อยตัวมี 5 คน หนึ่งในนั้นคือ นายตาลมีซี โตะตาหยง
ผลการซักถามในเบื้องต้นมีรายงานว่า นายตาลมีซี ให้การรับสารภาพ และซัดทอด นายมูบารีห์ และ นายอับดุลบาซิร ซึ่งพำนักอยู่ที่ อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส ตำรวจจึงประสานให้เจ้าหน้าที่ทหารทำการจับกุมเข้ากระบวนการซักถามที่หน่วยข่าวกรองทางทหารส่วนหน้า จังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายในค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 18 ต.ค. พร้อมกับส่งตัวนายตาลมีซีกับพวกรวม 5 คนที่ถูกจับที่กรุงเทพฯ ไปเข้ากระบวนการซักถามที่ค่ายเดียวกัน
ต่อมาวันที่ 18 พ.ย. ฝ่ายทหารได้ปล่อยตัวผู้ต้องสงสัยบางส่วน เพราะไม่พบความเชื่อมโยง เหลือเพียง 3 คน คือ นายตาลมีซี นายมูบารีห์ และนายอับดุลบาซิร ที่ถูกควบคุมตัวต่อเนื่อง และเพิ่งได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 29 พ.ย.ก่อนถูกตำรวจนราธิวาสเข้าจับกุมตามหมายจับของกองบังคับการปราบปราม
ผู้ต้องหากลุ่มนี้ ข้อมูลจากฝ่ายความมั่นระบุว่าคือ “ทีมศรีสาคร” ซึ่งเป็นอำเภอหนึ่งของ จ.นราธิวาส และเป็นภูมิลำเนาของผู้ต้องหาทั้ง 3 คน ทั้งสามพยายามวางแผนก่อวินาศกรรมในกรุงเทพฯ โดยมีเครือข่ายเพื่อนและญาติพี่น้องที่เดินทางมาทำงานและศึกษาต่อในย่านปริมณฑลจัดหาที่พักและสถานที่เก็บซุกซ่อนอุปกรณ์ประกอบระเบิด
จาก "น้ำบูดู" สู่หลักฐานวางแผนบึ้มกรุง
การจับกุมกลุ่มผู้ต้องหาและผู้ต้องสงสัยช่วงเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา ถูกตั้งคำถามจากหลายฝ่ายถึงน้ำหนักของพยานหลักฐาน เพราะห้องพักในเคหะเมืองใหม่บางพลีที่เจ้าหน้าที่นำตัวไปชี้จุดนั้น ก่อนหน้านี้ก็เคยถูกตรวจค้นมาแล้ว แต่พบเพียง "น้ำบูดู" และข้าวของเครื่องใช้อื่นๆ จนกลายเป็นประเด็นวิจารณ์ล้อเลียนอย่างกว้างขวางว่า น้ำบูดูกลายเป็นอุปกรณ์ประกอบระเบิดไปแล้วหรือ จนบางฝ่ายขนานนามกลุ่มคนที่ถูกควบคุมตัวว่า "ทีมบูดูบอมบ์"
ขณะที่การควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยกลุ่มแรก คือ นายตาลมีซีและพวก ก็ถูกคัดค้านจากกลุ่มนักศึกษา กลุ่มเคลื่อนไหว และองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะเจ้าหน้าที่ไม่มีการแจ้งข้อหา และไม่มีความชัดเจนว่าใช้อำนาจตามกฎหมายใดในการควบคุมตัว กระทั่งมีการส่งตัวไปยังสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ควบคุมตัวต่อ ก่อนส่งเข้าสู่กระบวนการซักถาม
คดีนี้เงียบหายไปราวๆ 1 เดือน จึงมีการขอหมายจับและจับกุมผู้ต้องหา 3 คน โดยข้อมูลจากตำรวจระบุว่า นายมูบารีห์ และนายอับดุลบาซิร ที่ถูกจับใน จ.นราธิวาสนั้น ช่วงเดือน ต.ค.ก็เคลื่อนไหวอยู่ในกรุงเทพฯและ จ.สมุทรปราการ เป็นผู้ที่เข้าไปในห้องพักเคหะเมืองใหม่บางพลีเพื่อเคลื่อนย้ายอุปกรณ์ประกอบระเบิดไปทิ้ง หลังจากนายตาลมีซีและพวกถูกควบคุมตัวจากปฏิบัติการปูพรมตรวจค้นย่านรามคำแหง สุดท้าย นายตาลมีซี นายอับดุลบาซิร และนายมูบารีห์ ถูกจับกุมตามหมายจับในคดีครอบครองวัตถุระเบิด
ตำรวจย้ำไม่เกี่ยวกลุ่มป่วนใต้ขยายพื้นที่
อย่างไรก็ดี การที่บุคคลจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้พยายามขึ้นมาก่อเหตุรุนแรงในกรุงเทพฯและปริมณฑลนั้น ตำรวจยังไม่สามารถอธิบายเหตุผลได้ว่ามี "แรงจูงใจ" อะไรถึงต้องปฏิบัติการ เพราะในขณะเดียวกันก็ยืนยันว่าไม่ใช่การขยายพื้นที่ก่อเหตุของกลุ่มก่อความไม่สงบที่เคลื่อนไหวอยู่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้แต่ประการใด
พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนยืนยันว่าไม่ใช่การขยายพื้นที่ของการก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ แต่เป็นกลุ่มที่มีความคิดสุดโต่ง พยายามหาช่องทางการเคลื่อนไหว ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจและฝ่ายความมั่นคงได้สืบสวนติดตามกลุ่มนี้และกลุ่มอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง เจ้าหน้าที่ได้ขีดกรอบ ปิดกั้น กดดันคนกลุ่มนี้ไว้แล้ว ไม่ว่าจะกระจายไปยังจังหวัดไหนก็ไม่สามารถก่อเหตุได้ ขอให้ประชาชนอย่างกังวล ให้มั่นใจในการดูแลรักษาความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่
ด้าน พล.ต.อ.ศรีวราห์ และทีมสอบสวนอ้างว่าผู้ต้องหาให้การรับสารภาพ และเชื่อว่ามีผู้ร่วมขบวนการอีกหลายคน แต่ขณะนำตัวผู้ต้องหา 3 คนไปฝากขังต่อศาล ปรากฏว่านายมูบารีห์ ได้ออกมายืนยันว่าไม่เคยรับสารภาพ และไม่ได้เกี่ยวข้องกับแผนก่อวินาศกรรมในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลตามที่ตำรวจกล่าวอ้าง
3 ข้อสังเกตที่ตำรวจต้องตอบ
ปฏิบัติการของตำรวจ นำโดย พล.ต.อ.ศรีวราห์ ในครั้งนี้ มี 3 ประเด็นที่ต้องตอบให้สังคมคลายความข้องใจ เนื่องจากสมมติฐานที่ตำรวจตั้งขึ้นถือว่าร้ายแรง เพราะหมายความว่ามีกลุ่มบุคคลหัวรุนแรงที่มีศักยภาพพอสมควร ต้องการลอบวางระเบิดครั้งใหญ่ในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศ
คำถามและข้อสังเกตที่ตำรวจต้องตอบมี 3 ข้อ คือ
1.หลักฐานที่เป็นวัตถุพยานมีความหนักแน่นมั่นคงแค่ไหน หรือมีเพียงคำรับสารภาพตามที่ตำรวจกล่าวอ้าง ขณะที่ผู้ต้องหาทั้งสามพยายามให้ข่าวว่าตนเองไม่ได้รับสารภาพ และเชื่อได้ว่าเมื่อคดีถึงชั้นศาล ทั้งหมดก็จะยืนยันว่าไม่ได้รับสารภาพ
2.กระบวนการควบคุมตัวในช่วงแรกเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเป็นประเด็นสำคัญในการดำเนินคดี หากการควบคุมตัวในช่วงแรกไม่ชอบด้วยกฎหมาย คำให้การต่างๆ ย่อมไม่ถือเป็นการให้ปากคำโดยชอบของผู้ที่ถูกควบคุมตัว ไม่สามารถนำมาใช้เป็นหลักฐานในศาลได้
ที่สำคัญมีการส่งตัวผู้ต้องสงสัยกลุ่มแรก 5 คน นำโดย นายตาลมีซี ไปควบคุมตัวต่อที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายหลังถูกองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนกดดันอย่างหนักว่าเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายใด จุดนี้ถูกมองว่าการส่งตัวผู้ต้องสงสัยกลับไปยังสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งๆ ที่ไม่ใช่พื้นที่เกิดเหตุ (กรุงเทพฯและปริมณฑล) เป็นการใช้เทคนิคกฎหมาย เพื่ออาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ควบคุมตัวแทนหรือไม่ ซึ่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ให้อำนาจควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยโดยไม่ต้องตั้งข้อหาเป็นเวลา 30 วัน ขณะที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาให้อำนาจตำรวจควบคุมตัวได้เพียง 48 ชั่วโมง
3.การตั้งประเด็นว่าผู้ต้องหากลุ่มนี้วางแผนลอบวางระเบิด “คาร์บอมบ์” ในกรุงเทพฯและปริมณฑล โดยไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่ามีมูลเหตุจูงใจอะไร หรือเกี่ยวโยงกับกลุ่มขบวนการที่เคลื่อนไหวก่อเหตุรุนแรงอยู่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้หรือไม่ อาจทำให้เกิดความคลุมเคลือต่อการจัดการปัญหา เพราะ
3.1 หากผู้ต้องหาชุดนี้เป็นกลุ่มเดียวกัน หรือมีความเชื่อมโยงกับผู้ก่อเหตุรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งอ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดน ย่อมสะท้อนว่าปัญหาความไม่สงบ ณ ดินแดนปลายด้ามขวานที่มีจุดมุ่งหมายทางการเมือง (แยกดินแดน / เรียกร้องเรื่องการปกครอง) ได้มีพลวัตมากขึ้น ่และย่อมส่งผลต่อกระบวนการจัดการปัญหาในภาพรวม ตลอดจนการพูดคุยเพื่อสันติสุขที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่กับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ โดยเฉพาะเงื่อนไขการกำหนด “พื้นที่ปลอดภัย” เพราะพื้นที่ปฏิบัติการของกลุ่มเคลื่อนไหวได้ขยายมาถึงกรุงเทพฯและจังหวัดอื่นๆ แล้ว
3.2 หากผู้ต้องหากลุ่มนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องหรือเป็นคนละกลุ่มกับผู้ก่อเหตุรุนแรงที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดน แต่เป็น “กลุ่มหัวรุนแรงสุดโต่ง” ที่ตำรวจพยายามอธิบาย และไม่ได้เชื่อมโยงกับการรับจ้างกลุ่มการเมืองภายในประเทศเพื่อสร้างสถานการณ์หวังผลดิสเครดิตรัฐบาล นั่นอาจจะเป็นโจทย์ที่น่าหนักใจยิ่งกว่า เพราะเท่ากับว่าประเทศไทยกำลังเผชิญกับกลุ่มคนที่พร้อมก่อเหตุโจมตีที่ไหนก็ได้ ไม่ต่างอะไรกับการเผชิญสถานการณ์การก่อการร้ายในพื้นที่อื่นๆ ของโลก เพียงแต่ประเทศไทยกำลังพบกับ “ผู้ก่อการร้ายภายใน” หรือที่เรียกกันว่า “โฮมโกรว์น” เหมือนที่ชาติตะวันตกหลายประเทศกำลังกุมขมับอยู่นั่นเอง
ทั้งหมดเป็นคำถามที่ต้องการความกระจ่างอย่างเร่งด่วน!
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 กราฟฟิกแสดงลำดับการจับกุมผู้ต้องสงสัยหลายราย กระทั่งเหลือผู้ต้องหา 3 คน (ขอบคุณกราฟฟิกบางส่วนจากสถานีโทรทัศน์ NOW26)
2 ภาพการตรวจค้นสถานที่ที่อ้างว่าซุกซ่อนอุปกรณ์ประกอบระเบิดแล้วเจอน้ำบูดู เมื่อเดือน ต.ค.
3-4 ภาพล้อเลียนที่แชร์กันอย่างกว้างขวาง