โชว์คำเตือน ก.คลัง-เบื้องหลัง! กรมทรัพยากรน้ำเลิกโครงการกำจัดผักตบ?
“…ในการยกเลิกสัญญากับผู้รับจ้างเห็นควรให้คำนึงถึงประโยชน์ของทางราชการและผลกระทบที่ได้รับ ตลอดจนให้ดำเนินการตามกฎหมายและระเบียบราชการที่เกี่ยวข้อง ประกอบกับการดำเนินโครงการเงินกู้ฯ มีต้นทุนที่เป็นภาระดอกเบี้ย ดังนั้นเพื่อเป็นการรักษาวินัยทางการเงินการคลัง เห็นควรให้หน่วยงานเจ้าของโครงการพิจารณาความจำเป็น ความพร้อม และความซ้ำซ้อนในการดำเนินโครงการก่อนเสนอขออนุมัติโครงการอื่น ๆ ในโอกาสต่อไป…”
โครงการกำจัดผักตบชวา กลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้ง !
ภายหลังกรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำหนังสือเสนอคณะรัฐมนตรีขอให้ยกเลิกการดำเนินโครงการอย่างน้อย 1 แห่ง เนื่องจากพบว่า เป็นการทำงานซ้ำซ้อนกับท้องถิ่น วงเงิน 1.8 ล้านบาท
ขณะที่มีการเปิดเผยชื่อโครงการดังกล่าวอย่างเป็นทางการ คือ กรมทรัพยากรน้ำ ได้รับงบประมาณไปกว่า 6.2 พันล้านบาท ดำเนินการแล้วอย่างน้อย 534 รายการ โดยสำนักงบประมาณ ‘ไฟเขียว’ อนุมัติทั้งหมดแล้ว
(อ่านประกอบ : เปิดงบกรมทรัพยากรน้ำกำจัดผักตบล็อตใหม่ยุค‘บิ๊กตู่’ 6.2 พันล.-เลิกแล้ว 1 โครงการ)
โครงการนี้ถูก ‘บิ๊กตู่’ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ‘รื้อฟื้น’ อีกครั้งหนึ่งในช่วงเดือน ก.ย. 2559 จากก่อนหน้านี้ที่เคยสั่งการไป มีกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เป็น ‘แม่งาน’ แต่ก็ ‘คว้าน้ำเหลว’ ไม่สามารถทำได้ทันตามกำหนด
ขณะเดียวกันสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้เข้าไปตรวจสอบการดำเนินโครงการกำจัดผักตบชวาดังกล่าว พบว่า มีปัญหาและอุปสรรคหลายประการที่อาจก่อให้เกิด ‘ความเสี่ยง’ การใช้งบประมาณแผ่นดินไม่คุ้มค่า และมีข้อเสนอถึง ‘บิ๊กตู่’ ให้เร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยเร็ว และจับตาดูอย่างใกล้ชิดแล้ว
(อ่านประกอบ : ชำแหละ 4 ปัญหากำจัดผักตบชวา! สตง. ชง‘บิ๊กตู่’เร่งแก้-ป้องใช้งบแผ่นดินไม่คุ้มค่า?, พบสารพัดปัญหากำจัดผักตบยุค'บิ๊กตู่'! สตง.จี้จับตาหน่วยงานรับผิดชอบใกล้ชิด)
ปัญหาตอนนี้ที่กรมทรัพยากรน้ำเจอคือ การทำงาน ‘ซ้ำซ้อน’ กับหน่วยงานท้องถิ่น ในการกำจัดผักตบชวา
ทั้งที่ สตง. เคยทำหนังสือเตือน และมีข้อเสนอแนะอย่างเป็นทางการไปยัง ‘บิ๊กตู่’ ให้ระมัดระวังแล้ว ?
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบอีกว่า ก่อนที่คณะรัฐมนตรีจะมีมติอนุมัติให้กรมทรัพยากรน้ำยกเลิกโครงการกำจัดผักตบชวา 1 แห่ง ที่ ต.เชียงรากน้อย อ.สามโคก จ.ปทุมธานี วงเงินประมาณ 1.8 ล้านบาทนั้น
กระทรวงการคลังได้ทำหนังสือความเห็นไปยังคณะรัฐมนตรีด้วยเช่นกัน ระบุว่า จากการพิจารณาพบว่า การดำเนินโครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำแยกคลองเปรม-ประตูน้ำพระอินทร์ ต.เชียงรากน้อย อ.สามโคก จ.ปทุมธานี ในช่วงแรกเกิดปัญหาความคลาดเคลื่อนจากแบบแปลน โดยพบว่า ด้านขวาของแนวคลองมีกำแพงป้องกันน้ำท่วมตลอดความยาวคลอง ตั้งแต่กิโลเมตรที่ 10+000-14+000 หากทำการก่อสร้างตามแบบแปลนอาจส่งผลให้กำแพงเกิดการทรุดตัว ประกอบช่วงกิโลเมตรที่ 10+1000 มีรางรถไฟพาดผ่านขนาดไม่ตรงกับแบบแปลน การขุดลอกอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของตอม่อสะพานทางรถไฟได้
อีกทั้งองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เชียงรากน้อย ร้องขอให้กรมทรัพยากรน้ำขุดลอกคลองเพิ่มเติม เนื่องจากตื้นเขินและมีเศษวัชพืชปกคลุมเป็นจำนวนมาก ทำให้การระบายน้ำติดขัด ส่งผลให้ไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ให้กับผู้รับจ้างเพื่อเข้าดำเนินการได้
ต่อมาเมื่อกรมทรัพยากรน้ำได้ดำเนินการสำรวจ ออกแบบ และแก้ไขแบบแปลนตามที่ อบต.เชียงรากน้อย ร้องขอแล้ว จึงได้แจ้งให้ผู้รับจ้างเข้าดำเนินการ แต่ปรากฏว่าพื้นที่ดังกล่าวได้ดำเนินการโดยที่ทำการ อ.สามโคก จ.ปทุมธานี แล้ว กรมทรัพยากรน้ำจึงได้ดำเนินการบอกเลิกสัญญากับผู้รับจ้าง โดยผู้รับจ้างไม่เป็นผู้ทิ้งงานของทางราชการ ซึ่งผู้รับจ้างยินยอมให้ดำเนินการยกเลิกสัญญา โดยไม่เรียกร้องค่าเสียหาย หรือฟ้องร้องใด ๆ จากทางราชการ
นอกจากนี้กระทรวงการคลัง ยังมีความเห็นเพิ่มเติมว่า เพื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินกู้ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารโครงการเงินกู้เพื่อการพัฒนาระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และระบบขนส่งทางถนน ระยะเร่งด่วน พ.ศ.2558 หมวดที่ 1 บททั่วไป ข้อที่ 4 กระทรวงการคลังจึงเห็นควรให้ความเห็นชอบการยกเลิกรายการอนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำแยกคลองเปรม-ประตูน้ำพระอินทร์ ดังกล่าว
ทั้งนี้ในการยกเลิกสัญญากับผู้รับจ้างเห็นควรให้คำนึงถึงประโยชน์ของทางราชการและผลกระทบที่ได้รับ ตลอดจนให้ดำเนินการตามกฎหมายและระเบียบราชการที่เกี่ยวข้อง ประกอบกับการดำเนินโครงการเงินกู้ฯ มีต้นทุนที่เป็นภาระดอกเบี้ย ดังนั้นเพื่อเป็นการรักษาวินัยทางการเงินการคลัง เห็นควรให้หน่วยงานเจ้าของโครงการพิจารณาความจำเป็น ความพร้อม และความซ้ำซ้อนในการดำเนินโครงการก่อนเสนอขออนุมัติโครงการอื่น ๆ ในโอกาสต่อไป (ดูเอกสารประกอบ)
หากพิจารณาจากข้อเท็จจริงจากกรมทรัพยากรน้ำ และกระทรวงการคลัง จะเห็นได้ว่า
หนึ่ง กรมทรัพยากรน้ำ ไม่ได้มีการบูรณาการร่วมกันกับหน่วยงานท้องถิ่นอื่น ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการทำงานซ้ำซ้อนกัน ซึ่งเรื่องนี้ สตง. เคยทำหนังสือไปถึง พล.อ.ประยุทธ์ ให้ดำเนินการแก้ไขแล้ว แต่ก็ยังเกิดปัญหานี้ขึ้นอีก ที่สำคัญอีกในการดำเนินการอย่างน้อย 534 รายการ เกิดปัญหาเหล่านี้ในโครงการอื่น ๆ ด้วยหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องตรวจสอบโดยด่วน
สอง กรมทรัพยากรน้ำ ระบุว่า มีการจ้างเอกชนให้เข้าไปดำเนินงาน หมายความว่า นอกเหนือจากที่กรมทรัพยากรน้ำจัดซื้อจัดจ้างเรือ-วัสดุอุปกรณ์กำจัดผักตบชวาแล้ว ยังจ้างให้เอกชนเข้าไปดำเนินการกำจัดแทนด้วย ซึ่งแตกต่างกับ กทม. ที่ยืนยันว่า จัดซื้อจัดจ้างแค่เรือ-วัสดุอุปกรณ์ ส่วนการทำงานใช้เจ้าหน้าที่ของตัวเองไปทำ
สาม งบประมาณเบื้องต้นที่ตรวจสอบพบในโครงการนี้คือ กรมทรัพยากรน้ำได้ประมาณ 6.2 พันล้านบาท แต่หน่วยงานอื่น ๆ โดยเฉพาะหน่วยงานหลัก คือ กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ยังไม่ได้มีการเปิดเผยงบประมาณว่าได้เท่าไหร่ และนำไปใช้อะไรบ้าง รวมถึงเกิดปัญหาเช่นเดียวกับกรมทรัพยากรน้ำหรือไม่
นับเป็นเงื่อนปมสำคัญที่รัฐบาล ‘บิ๊กตู่’ จำเป็นต้องเข้าไปตรวจสอบ เนื่องจากงบประมาณในการดำเนินโครงการนี้ไม่ใช่น้อย ๆ แต่สูงหลายพันล้านบาท
จะปล่อยให้กลายเป็น ‘ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ’ เหมือนที่เคย ‘เหลว’ มาแล้วในช่วงปลายปี 2558-ต้นปี 2559 ไม่ได้ !
อ่านประกอบ :
ขมวด 3 เงื่อนปมปัญหากำจัดผักตบชวายุค ‘บิ๊กตู่’ จับตาลิ่วหรือร่วง?
เปิดปฏิบัติการกำจัดผักตบยุค‘บิ๊กตู่’ ก่อนเหลว! สั่งทำใหม่-สตง.พบปัญหาเพียบ?
5 ปีล่าสุด 2.5 พันล.! เปิดงบ 5 หน่วยงานรัฐกำจัดผักตบ-กทม.แชมป์ใช้ 1.5 พันล.
เปิดหมดงบ ก.มหาดไทย‘แม่งาน’ กำจัดผักตบชวา 2 ปี 59 โครงการ 362 ล.
ปภ.จ้าง อผศ.วิธีพิเศษกำจัดผักตบชวาด้วย 8.1 ล.-ยอดรวม มท.ใช้งบพุ่ง 370 ล.
เอกชนขายเรือผักตบ กทม. 116ล.!รายใหญ่ค้าอาวุธกองทัพ-คู่เทียบ บ.ลูกปรีชา
กทม.ยัน บ.ขายเรือผักตบ 116 ล. คุณสมบัติเหมาะสม-สตง.ตรวจละเอียดแล้ว!
บ.ไทยแอโร่ฯแจ้งทำธุรกิจเรือปี’57 ก่อนขายเรือกำจัดผักตบกรมโยธาฯ-อปท. 62 ล.
‘ไทย แอโร่มารีน’ขายเรือกำจัดผักตบกรมโยธาฯ 51 ล.-อปท.ด้วย เบ็ดเสร็จ 62 ล.
สารพัดอุปสรรค-ปัญหากำจัดผักตบฉบับ กทม.! ไขคำตอบไฉน 5 ปีใช้งบ 1.5 พันล.
กรมโยธาฯซื้อเรือ-อุปกรณ์กำจัดผักตบ 177.6 ล.ก่อน สตง.ชง‘บิ๊กตู่’สางปัญหา