เปิดแบบฟอร์ม มท.ควานหาตัวผู้รับผิดชอบชดใช้คดีจำนำข้าวร่วม‘ยิ่งลักษณ์’?
“…นับเป็นอีกหนึ่งขั้นตอนที่น่าจับตา เนื่องจากในเอกสารมีการระบุถึงตำแหน่งสูงสุดในแต่ละจังหวัด คือ ผู้ว่าราชการจังหวัด และรองผู้ว่าฯ ด้วย ดังนั้นหากพบว่า มีผู้บริหารระดับสูงในจังหวัดรายใดร่วมกระทำความผิด ก็จะเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไต่สวนต่อ และอาจไต่สวนเพิ่มเติมในประเด็นร่ำรวยผิดปกติด้วย ?...”
กำลังอยู่ในความสนใจจากสาธารณชนอย่างต่อเนื่อง !
กรณีศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ควานล่าหาตัวข้าราชการ-เจ้าหน้าที่รัฐ-บุคคลอื่น ที่ร่วมกันกระทำความผิดในการทุจริตโครงการรับจำนำข้าว สมัยรัฐบาล ‘นารีขี่ม้าขาว’ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ปัจจุบันตกเป็นจำเลยในคดีไม่ระงับยับยั้งความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
เบื้องต้น พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม ในฐานะประธาน ศอตช. เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ที่เป็นหน่วยงานหลักในการตรวจสอบ พบว่า มีชื่อของข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐ บุคลอื่น และเอกชน ที่อาจเข้าข่ายร่วมกันทุจริตในโครงการนี้ประมาณ 6,000 ราย
โดยกรณีนี้สืบเนื่องจากที่กระทรวงการคลัง มีคำสั่งทางแพ่งให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชดใช้ค่าเสียหายในโครงการรับจำนำข้าวประมาณ 3.5 หมื่นล้านบาทเศษ หรือคิดเป็น 20% จากความเสียหายทั้งหมดประมาณ 1.7 แสนล้านบาท ที่ปัจจุบัน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้ยื่นหนังสืออุทธรณ์ต่อปลัดกระทรวงการคลังแล้ว
(อ่านประกอบ : โชว์หนังสือ'ปู'ยื่นโนติสปลัดคลัง ถอนคำสั่งชดใช้คดีข้าว3.5หมื่นล.ภายใน7วัน, ‘ปู’ร้องปลัดคลังเพิกถอนค่าเสียหายจำนำข้าว อ้าง‘บิ๊กตู่’สั่งสอบไม่สนความยุติธรรม)
ส่วนที่เหลืออีก 80% จะเรียกเก็บจากข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐ บุคคลอื่น หรือเอกชน ที่มีส่วนพัวพันในการทุจริตโครงการรับจำนำข้าวในระดับปฏิบัติ ซึ่งก็คือประมาณ 6,000 ราย ตามที่ พล.อ.ไพบูลย์ ระบุนั่นเอง
โดยปัจจุบันขั้นตอนดังกล่าว กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ได้สั่งการไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ให้ส่งรายชื่อบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการรับจำนำข้าวทุกตำแหน่ง มาให้กระทรวงมหาดไทย เพื่อรวบรวมส่งต่อไปยัง ป.ป.ท.
แต่ขณะนี้ก็ยังรวบรวมได้ไม่ครบ แม้จะสั่งการไปหลายครั้งแล้วก็ตาม ?
ล่าสุด กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย มีคำสั่งไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดให้ส่งรายชื่อดังกล่าวมาอีกครั้ง เนื่องจากได้รับแจ้งจาก ป.ป.ท. ว่า เอกสารที่รวบรวมส่งไปครั้งแรก มีบางส่วนไม่ถูกต้อง และไม่ครบถ้วน และให้ดำเนินการตาม ‘แบบฟอร์ม’ ที่จัดมาให้
(อ่านประกอบ : เอกสารไม่ครบ! มท.สั่งผู้ว่าฯทุก จว. ส่งชื่อคนพันคดีข้าวใหม่-15 ธ.ค.ต้องเสร็จ, โชว์คำสั่ง มท.ให้ผู้ว่าฯทุก จว.ส่งข้อมูลชื่อ-พฤติการณ์คนพันคดีข้าวใน 16 พ.ย.)
แบบฟอร์มดังกล่าวเป็นอย่างไร สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำมาเปิดเผยให้เห็นกันชัด ๆ ดังนี้
แบบฟอร์มดังกล่าว แบ่งเป็น 2 ส่วน
ส่วนแรก เป็นแบบสรุปหน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องในโครงการรับจำนำข้าวประจำปีการผลิตต่าง ๆ โดยระบุถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เจ้าหน้าที่ที่มีความเกี่ยวข้องกับการดำเนินการ (ชื่อ-ตำแหน่ง) อำนาจหน้าที่/วิธีการดำเนินการ และคำสั่งที่มอบหมายหน้าที่ความรับผิดชอบ
ส่วนที่สอง เป็นแบบสรุปหน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องประจำแต่ละจังหวัด ในโครงการรับจำนำข้าวประจำปีการผลิตต่าง ๆ โดยระบุถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งระดับจังหวัด เบื้องต้นคือชื่อของผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าฯ และพาณิชย์จังหวัด และระดับอำเภอ เบื้องต้นคือชื่อของนายอำเภอ และเกษตรอำเภอ โดยให้เปิดเผยว่าเกี่ยวข้องกับการดำเนินการ (ชื่อ-ตำแหน่ง) อำนาจหน้าที่/วิธีการดำเนินการ และคำสั่งที่มอบหมายหน้าที่ความรับผิดชอบ (ดูเอกสารประกอบ)
ขั้นตอนหลังจากนี้ เมื่อได้ชื่อ-ตำแหน่ง ครบทุกรายแล้ว จะส่งให้กับ ป.ป.ท. เพื่อดำเนินการตรวจสอบต่อไปว่า มีรายใดเข้าไปเกี่ยวข้องกับการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวบ้าง ก่อนที่ ป.ป.ท. จะลงมติชี้มูลความผิด และส่งให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการเรียกความเสียหายต่อไป
นับเป็นอีกหนึ่งขั้นตอนที่น่าจับตา เนื่องจากในเอกสารมีการระบุถึงตำแหน่งสูงสุดในแต่ละจังหวัด คือ ผู้ว่าราชการจังหวัด และรองผู้ว่าฯ ด้วย ดังนั้นหากพบว่า มีผู้บริหารระดับสูงในจังหวัดรายใดร่วมกระทำความผิด ก็จะเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไต่สวนต่อ และอาจไต่สวนเพิ่มเติมในประเด็นร่ำรวยผิดปกติด้วย ?
อย่างไรก็ดีในตอนนี้ คงต้องรอให้กรมการปกครองรวบรวมรายชื่อให้เรียบร้อยเสียก่อน ตามกำหนดการคือ 15 ธ.ค.นี้
จะเสร็จทัน หรือจะเลื่อนออกไปอีก ต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิด !