การแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย
วันที่ 29 พฤศจิกายน 2559 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่คณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน (กขป.) คณะที่ 5 (ด้านความมั่นคง ลดความเหลื่อมล้ำ การเกษตร ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และเรื่องที่เป็นวาระเร่งด่วนและการแก้ไขปัญหาการดำเนินการตามพันธกรณีระหว่างประเทศ) เสนอ ดังนี้
1. ให้เพิ่มเติมวัตถุประสงค์การกู้ให้แก่ชาวประมงที่ขอเปลี่ยนอาชีพภายใต้เงื่อนไข หลักเกณฑ์ และวงเงินในโครงการฯ ที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติ (8 มีนาคม 2559) เห็นชอบไว้
2. ให้ขยายเวลาในการดำเนินโครงการฯ จากสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2559 เป็น 30 เมษายน 2560
สาระสำคัญของเรื่อง
กขป. คณะที่ 5 รายงานว่า
1. โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการประมงตามโครงการประมงไทยก้าวไกลสู่สากล มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการประมงที่ได้รับผลกระทบจากการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย กรณีที่ต้องการปรับปรุงเรือประมงและ/หรือเปลี่ยนเครื่องมือทำการประมง เรือประมง รวมทั้งอุปกรณ์ส่วนควบ ให้ถูกกฎหมาย ตามมาตรการแก้ไขปัญหาของศูนย์บัญชาการการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย (ศปมพ.)/กรมประมง โดยให้กรมประมงและกรมเจ้าท่าเป็นผู้รับรองความเหมาะสมด้านราคา ตามลำดับ
2. ปัจจุบันมีผู้ประกอบการประมงจำนวนมากที่มีความประสงค์จะเข้าร่วมโครงการสินเชื่อฯ แต่มีวัตถุประสงค์ของการกู้เพื่อเปลี่ยนอาชีพ โดยเฉพาะชาวประมงที่ทำประมงโพงพางในพื้นที่ทะเลสาบสงขลา จังหวัดสงขลา และพื้นที่อำเภอแหลมสิงห์ อำเภอท่าใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี และพื้นที่ต่อเนื่อง ซึ่งหน่วยงานที่รับผิดชอบ ประกอบด้วย ศปมผ. ฝ่ายปกครอง (ผู้ว่าราชการจังหวัด) กรมเจ้าท่า และกรมประมง ได้ร่วมกันลงพื้นที่ตรวจสอบแล้วพบว่า ชาวประมงส่วนใหญ่จะขอเปลี่ยนอาชีพเป็น การเพาะปลูก การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในกระชัง การเลี้ยงสัตว์ทางการเกษตร เช่น วัว แพะ ไก่ไข่ หมู ฯลฯ การแปรรูปสัตว์น้ำ เช่น ปลาเค็ม ปลาหมึกตากแห้ง ฯลฯ ซึ่งส่วนราชการในพื้นที่อยู่ระหว่างพิจารณาความเหมาะสมของพื้นที่เพาะปลูก/เลี้ยงสัตว์ รวมทั้งพิจารณาความเหมาะสมของวงเงินในการกู้ยืมเงินจากธนาคารออมสินในลักษณะเดียวกับการรับรองความเหมาะสมของราคาเครื่องมือทำการประมงและเรือประมงของกรมประมง และกรมเจ้าท่า
3. วงเงินช่วยเหลือตามโครงการสินเชื่อฯ ดังกล่าว มีการอนุมัติสินเชื่อแก่ชาวประมงที่เข้าร่วมโครงการไปแล้ว จำนวน 129 ราย วงเงินกู้ 148 ล้านบาท ปัจจุบันคงเหลือ 352 ล้านบาท ซึ่งยังสามารถดำเนินการได้และพร้อมสนับสนุน แต่เนื่องจากวัตถุประสงค์การกู้เดิมที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติ (8 มีนาคม 2559) อนุมัติไว้ยังไม่ครอบคลุมกรณีชาวประมงจะขอเปลี่ยนอาชีพ จึงจำเป็นที่จะต้องเพิ่มเติมวัตถุประสงค์การกู้ให้ครอบคลุมกรณีชาวประมงขอเปลี่ยนอาชีพ ภายใต้เงื่อนไข หลักเกณฑ์ และวงเงินตามโครงการสินเชื่อฯ ที่คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบไว้ อีกทั้งเนื่องจากระยะเวลาในการดำเนินโครงการจะสิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2559 จึงมีความจำเป็นที่จะต้องขยายระยะเวลาในการดำเนินโครงการออกไปจนถึงวันที่ 30 เมษายน 2560