แถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐยุติดำเนินคดีกับผู้ลี้ภัยเด็กที่หลบหนีความรุนแรง
เครือข่ายสิทธิผู้ลี้ภัยและคนไร้รัฐแถลงการณ์ขอเรียกร้องให้รัฐยุติการดำเนินคดีกับผู้ลี้ภัยเด็กที่หลบหนีความรุนแรง
ในวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559 ด.ช.โมฮัมหมัด (นามสมมติ) อายุ 16 ปี สัญชาติโซมาเลีย จะถูกอัยการฟ้องด้วยข้อหาละเมิดพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 ที่ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดเชียงราย แม้ว่าเด็กชายโมฮัมหมัดจะได้รับสถานะเป็นผู้ลี้ภัยแล้วก็ตาม
ด.ช.โมฮัมหมัด หลบหนีออกมาจากโประเทศโซมาเลียเข้ามาในประเทศไทย เมื่ออายุเพียง 13 ปี ด.ช.โมฮัมหมัดสูญเสียบิดาและมารดาเนื่องจากสงครามภายในประเทศโซมาเลีย และได้อาศัยอยู่กับย่า จนเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2556 กลุ่มติดอาวุธในประเทศโซมาเลียบุกเข้ามาในชุมชนที่เขาอาศัยอยู่และบังคับให้เขาต้องเข้าร่วมกลุ่ม เขาจึงตัดสินใจหนีออกจากโซมาเลียและถูกขบวนการนำพา นำเข้ามาในประเทศไทยอย่างผิดกฎหมาย แต่กระนั้น ด.ช. โมฮัมหมัด ได้ดำเนินการขอสถานะเป็นผู้ลี้ภัยจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ สำนักงานประเทศไทย และเข้าเรียนในโรงเรียนของไทยระหว่างรอการเดินทางไปตั้งถิ่นฐานในประเทศที่สาม จนกระทั่งถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559 ที่จังหวัดเชียงรายขณะเดินทางกลับจากการร่วมงานกิจกรรมฟุตบอลของโรงเรียน และถูกควบคุมตัวในสถานพินิจฯ เชียงราย ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2559
แม้ว่าประเทศไทยจะมิได้เป็นภาคีในอนุสัญญาและพิธีสารว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย แต่ประเทศไทยเป็นภาคีในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (“CRC”) และพิธีสารเลือกรับฯ เรื่อง ความเกี่ยวพันของเด็กในความขัดแย้งกันด้วยอาวุธ (“Op-CRC”) ซึ่งภายใต้พันธกรณีดังกล่าว คณะกรรมการสิทธิเด็ก (“คณะกรรมการ”) ได้ออกความเห็นทั่วไปฉบับที่ 11 (ค.ศ.2009) โดยเฉพาะย่อหน้า 68 ซึ่งให้คำแนะนำว่ารัฐภาคีต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษและให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมแก่เด็กซึ่งพลัดถิ่นหรือกลายเป็นผู้ลี้ภัย นอกจากนี้ตามรายงานของคณะกรรมการเกี่ยวกับสิทธิเด็กในบริบทของการย้ายถิ่นระหว่างประเทศ ปี พ.ศ. 2555 คณะกรรมการมีความเห็นว่าการควบคุมตัวหรือกักตัวเด็กอันเนื่องมาจากสถานภาพการเข้าเมืองของเด็กหรือของผู้ปกครองเด็กเท่ากับเป็นการละเมิดสิทธิเด็กและถือว่าเป็นการขัดต่อหลักประโยชน์สูงสุดของเด็กไม่ว่าในกรณีใด
ความเห็นของคณะกรรมการดังกล่าวสอดคล้องกับกรอบของกฎหมายในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 โดยมาตรา 22 และ มาตรา 32 กำหนดให้รัฐปฏิบัติต่อเด็กไม่ว่าในกรณีใดโดยคำนึงถึงหลักประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญ และเด็กที่สมควรได้รับการคุ้มครองสวัสดิภาพคือเด็กที่เสี่ยงต่อการได้รับอันตรายและเด็กที่อยู่ในสภาพยากลำบาก
ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายภายในประเทศดังกล่าว ด.ช.โมฮัมหมัด มีสิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองเนื่องจากเหตุผลและข้อเท็จจริงข้างต้น แต่ในทางตรงข้าม เขากลับกำลังถูกอัยการเชียงรายดำเนินคดีในวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559 นี้ ตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 อันเนื่องจากการเข้าเมืองที่ไม่ถูกต้อง
เครือข่ายสิทธิผู้ลี้ภัยและคนไร้รัฐ (CRSP) จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทย
1. ให้ยุติการจับกุม กักตัว กักขัง และดำเนินคดีกับผู้ลี้ภัยเด็กและเด็กต่างด้าว ดังเช่น ด.ช.โมฮัมหมัด ในข้อหาตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522
2. ให้หลักประกันทางกฎหมายในการคุ้มครองเด็กกลุ่มดังกล่าวตามหลักการในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กและพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิทธิที่จะได้รับการคุ้มครอง สิทธิในการได้รับการความเหลือทางมนุษยธรรม ประโยชน์สูงสุดของเด็ก และการกลมกลืนกับสังคมในชุมชน
3. ให้ทบทวนแก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 ให้มีความสอดคล้องกับหลักการที่ได้รับการยอมรับตามกฎหมายระหว่างประเทศโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับสิทธิเด็ก