เบื้องหลัง‘วัชรพล’ปฏิบัติการขันน็อต ป.ป.ช. เร่งรัดคดี-ทำไม่ได้ตามเป้าโดนเด้ง
“…มีการสั่งการไปยังสำนักบริหารงานบุคคล สำนักงาน ป.ป.ช. เพื่อให้พิจารณาโครงสร้างองค์กรใหม่ โดยจะมีการเปิดตำแหน่งใหม่ เพื่อเตรียมรองรับบุคคลที่ถูกการโยกย้ายดังกล่าวด้วย ส่งผลให้บุคลากรหลายคนใน ป.ป.ช. เกิดความตื่นตัวมากยิ่งขึ้น และพร้อมที่จะเร่งรัดคดีเพื่อให้ตรงตามเป้าหมายของ พล.ต.อ.วัชรพล วางไว้ และแม้ว่าจะเร่งรัดคดีก็ตาม แต่การทำคดีก็ต้องปฏิบัติตามหลักกฎหมาย และให้ความเป็นธรรมกับผู้ถูกกล่าวหาอย่างเต็มที่เหมือนเดิมเช่นกัน…”
นับเป็นการ ‘ขันน็อต’ การทำหน้าที่ของบุคลากรภายในสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) อย่างเป็นทางการครั้งแรก นับตั้งแต่ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ เข้ามาดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช. เมื่อช่วงต้นปี 2559 ในการประชุมมอบนโยบายแผนการปฏิบัติหน้าที่ของสำนักงาน ป.ป.ช. ในปี 2560
คือการเร่งรัดให้ทุกสำนักคดี ทั้งส่วนกลาง และ ป.ป.ช. ประจำจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ ‘ปิดจ็อบ’ คดีให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี สำหรับคดีใหม่ และให้เสร็จภายใน 2 ปี สำหรับคดีเก่า พร้อมทั้งให้คณะอนุกรรมการไต่สวนฯ หรือคณะพนักงานไต่สวนฯ สรุปคดีเพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณามากขึ้นจากเดิมประมาณ 500 คดีในปี 2559 เป็น 900 คดีในปี 2560
นอกจากนี้ยังพูดชัดเจนในที่ประชุมดังกล่าวด้วยว่า หากสำนักคดีใด หรือ ป.ป.ช. ประจำจังหวัดไหน ดำเนินการไม่ได้ตามเป้าหมาย ผู้อำนวยการสำนัก หรือผู้บริหารประจำหน่วยงานนั้น ๆ อาจต้องถูก ‘เด้ง’ ไปดำรงตำแหน่งที่ไม่เกี่ยวกับการบริหาร แต่ให้ดูงานด้านการไต่สวนอย่างเดียว เปิดทางให้คนรุ่นใหม่ที่อาจมีศักยภาพมากกว่าเข้ามาบริหารงานแทน
(อ่านประกอบ : 'วัชรพล'ลงแส้! ผอ.จังหวัด-สำนักเร่งคดีค้าง ป.ป.ช.ทำไม่ได้ตามเป้าโดนเด้ง)
เพื่อให้สาธารณชนเห็นภาพมากขึ้น สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สรุปแผนปฏิบัติงานในปี 2560 ของสำนักงาน ป.ป.ช. ดังนี้
เดิมในช่วงปี 2559 แต่ละสำนักคดี ในสำนักงาน ป.ป.ช. ทำเรื่องไต่สวนแล้วเสร็จ 363 เรื่อง โดยเป็นเรื่องที่อยู่ระหว่างการเสนอคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อลงมติแล้วประมาณ 100 เรื่อง รวมดำเนินการแล้วเสร็จประมาณ 463 เรื่อง
ขณะที่ในปี 2560 มีการคาดหวังว่าจะดำเนินการเรื่องแสวงหาข้อเท็จจริงให้ได้ 3,700 เรื่อง โดยเป็นของส่วนกลาง 740 เรื่อง ส่วนสำนักงาน ป.ป.ช. จังหวัด 2,960 เรื่อง
ส่วนเรื่องการไต่สวนข้อเท็จจริงคาดหวังว่าทำได้ 900 เรื่อง เป็นส่วนกลาง 350 เรื่อง ส่วนสำนักงาน ป.ป.ช. จังหวัด 540 เรื่อง
พร้อมทั้งให้รายงานสถิติ และผลการดำเนินงานแสวงหาข้อเท็จจริง และรวบรวมพยานหลักฐาน และการไต่สวนข้อเท็จจริง พร้อมทั้งปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ให้ทราบ เพื่อจะได้ดำเนินการแก้ไข และพิจารณาดูว่า เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ตามแผนยุทธศาสตร์การบริหารชาติ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ฉบับที่ 4 ที่ลงนามไว้กับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไว้หรือไม่
แหล่งข่าวจากสำนักงาน ป.ป.ช. เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ถึงกรณีนี้ว่า นอกเหนือที่ พล.ต.อ.วัชรพล ได้พูดในที่ประชุมเพื่อเร่งรัดให้ทุกสำนัก และ ป.ป.ช. จังหวัด ปิดคดีใหม่ให้ได้ภายใน 1 ปี และคดีค้างเก่าให้ได้ภายใน 2 ปี หากไม่ตรงตามเป้า อาจจะต้องดำเนินการโยกย้ายผู้อำนวยการ หรือผู้บริหาร ของสำนัก หรือ ป.ป.ช. จังหวัดนั้น ๆ ให้ดำรงตำแหน่งที่ไม่เกี่ยวกับการบริหาร ให้ทำแต่งานไต่สวนอย่างเดียวนั้น
ปัจจุบัน พล.ต.อ.วัชรพล ยังไม่ได้ทำเป็นหนังสือเวียนภายในแต่อย่างใด เป็นการพูดเพื่อให้ทุกฝ่ายรับทราบแค่ในการประชุมเท่านั้น อย่างไรก็ดีมีการสั่งการไปยังสำนักบริหารงานบุคคล สำนักงาน ป.ป.ช. เพื่อให้พิจารณาโครงสร้างองค์กรใหม่ โดยจะมีการเปิดตำแหน่งใหม่ เพื่อเตรียมรองรับบุคคลที่ถูกการโยกย้ายดังกล่าวด้วย ส่งผลให้บุคลากรหลายคนใน ป.ป.ช. เกิดความตื่นตัวมากยิ่งขึ้น และพร้อมที่จะเร่งรัดคดีเพื่อให้ตรงตามเป้าหมายของ พล.ต.อ.วัชรพล วางไว้ และแม้ว่าจะเร่งรัดคดีก็ตาม แต่การทำคดีก็ต้องปฏิบัติตามหลักกฎหมาย และให้ความเป็นธรรมกับผู้ถูกกล่าวหาอย่างเต็มที่เหมือนเดิมเช่นกัน
นี่คือเบื้องหลังการ ‘ขันน็อต’ ของ ‘บิ๊กกุ้ย’ พล.ต.อ.วัชรพล ที่ต้องการปรับแผนการทำงานของสำนักงาน ป.ป.ช. ให้รวดเร็วยิ่งขึ้น
ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในรอบปี 2559 ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นกรณีพิจารณาขอถอนฟ้องคดีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรเมื่อปี 2551 หรือหลาย ๆ คดีที่สังคมยัง ‘กังขา’ ว่าอาจเข้าข่าย 2 มาตรฐาน ที่ถูกสังคมตั้งคำถามมาโดยตลอด ?