5 ปีคดีคืนภาษีฉาว 4.3 พันล. ป.ป.ช. ฟัน 3 ขรก.สรรพากรก่อน'สาธิต'โดนรวยผิดปกติ
5 ปี คดีคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม 4.3 พันล้าน ‘อิศรา’ เปิดโปงตั้งแต่ช่วงปี’55-56 ก่อนกระทรวงการคลัง-สรรพากร-ดีเอสไอ-ป.ป.ช. คุ้ยต่อ บทสรุปเชือด ‘สาธิต รังคสิริ-2 ขรก.สรรพากร’ ทั้งวินัยร้ายแรง-อาญา-รวยผิดปกติ ยังเหลือตามจับก๊วน ‘วีรยุทธ แซ่หลก’
ชื่อของ ‘สาธิต รังคสิริ’ อดีตอธิบดีกรมสรรพากร ตกเป็นที่สนใจจากสาธารณชนอีกครั้ง !
ภายหลังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติชี้มูลความผิดฐานร่ำรวยผิดปกติ 700 ล้านบาท โดยเป็นทรัพย์สินในส่วนของนายสาธิต และคู่สมรส และส่งสำนวนพร้อมความเห็นให้กับสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) ฟ้องคดีต่อศาลอาญา แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ เพื่อให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดินต่อไป
(อ่านประกอบ : ป.ป.ช.ฟัน‘สาธิต’รวยผิดปกติ 700 ล.ส่ง อสส.ฟ้องศาลฯให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน)
ขณะเดียวกันก่อนหน้านี้ นายสาธิต ตกเป็นหนึ่งในผู้ถูกกล่าวหาในคดีทุจริตคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม วงเงินกว่า 4.3 พันล้านบาท ในชั้นคณะอนุกรรมการไต่สวนฯ ป.ป.ช. ด้วย ก่อนที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะมีมติเป็นเอกฉันท์ชี้มูลความผิดนายสาธิต พร้อมกับนายศุภกิจ ริยะการ อดีตสรรพากร กทม. พื้นที่ 22 (บางรัก) โดยชี้มูลความผิดวินัยร้ายแรง และความผิดทางอาญาฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ปัจจุบันนายสาธิต ถูกไล่ออกจากราชการเรียบร้อยแล้ว
(อ่านประกอบ : ป.ป.ช.เชือด'สาธิต-ศุภกิจ'คดีทุจริตคืนภาษี-พบเอาเงินไปซื้อทองคำแท่ง 179 ล.)
เพื่อให้สาธารณชนเข้าใจข้อเท็จจริงอีกครั้ง สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ย้อนที่มาที่ไปในคดีนี้ให้ทราบ สรุปได้ดังนี้
การตรวจสอบของสำนักข่าวอิศรา
พบข้อเท็จจริงว่า ในช่วงปี 2555-2556 กรมสรรพากรได้คืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่บริษัทที่เพิ่งจดทะเบียนในช่วงเดือน พ.ค.-ธ.ค. 2555 รวม 63 บริษัท วงเงินกว่า 4,298 ล้านบาท โดยทั้งหมดประกอบธุรกิจประเภทเดียวกัน (ส่งออกเศษเหล็ก) เบื้องต้นพบว่ามีอย่างน้อย 30 บริษัท ใช้ที่ตั้งในอาคารพื้นที่สีลม เขตบางรัก กทม. และเบอร์โทรศัพท์เดียวกัน โดยบุคคลที่เป็นกรรมการแต่ละบริษัททำหนังสือมอบอำนาจให้นายสุรเชษฐ์ มหารำลึก หรือนายวิษณุ อสุนีย์ เป็นผู้ยื่นจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทด้วยต่อมาได้ตรวจสอบเพิ่มเติมพบว่า มีอีก 33 บริษัท ในพื้นที่เขตบางคอแหลม ทุ่งครุ กทม. อ.บางบัวทอง อ.เมืองนนทบุรี จ.นนทบุรี และ จ.สมุทรปราการ
ต่อมาได้ตรวจสอบข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่า กรรมการและผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่ มีภูมิลำเนาตามสำเนาบัตรประชาชนในต่างจังหวัดเกือบทั้งหมด โดยเฉพาะใน จ.พิจิตร ถึง 22 คน โดยจากการตรวจสอบบุคลที่เป็นกรรมการตามภูมิลำเนาใน อ.เมือง จ.พิจิตร อย่างน้อย 5 ราย ปฏิเสธไม่ทราบว่า มีชื่อเป็นกรรมการและผู้ถือหุ้นในบริษัทได้อย่างไร นอกจากนี้จากการตรวจสอบที่ตั้งของบริษัทที่แจ้งต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า เป็นห้องเช่าโล่ง ๆ ไม่ได้ตกแต่งเป็นสำนักงาน หรือประกอบธุรกิจแต่อย่างใด
ทั้งนี้พบบุคคลที่เกี่ยวข้อง (เฉพาะเอกชน-สำนักงานบัญชี) แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่
1.กลุ่มของนายวีรยุทธ แซ่หลก เจ้าของบริษัท ซีเอ็นบีซี เมทัล เทรด จำกัด ได้แก่ น.ส.สายธาร แซ่หลก นายสุรเชษฐ์ มหารำลึก นายประสิทธิ์ อัญญโชติ และนายกิตติศักดิ์ อัญญโชติ
2.กลุ่มนายสุรพล เมฆะอำนวยชัย เจ้าของสำนักงานบัญชีเมฆพลชัย มีเครือญาติเป็นผู้สอบบัญชีให้ธุรกิจชิปปิ้ง รวมถึงยังปรากฏชื่อเป็นผู้สอบบัญชีให้บริษัทกลุ่มนายวีรยุทธทั้งหมด ได้แก่ นายสุเทพ วุฒิพาณิชย์กุล นายวิษณุ อสุนีย์ นายบูชา คงพะเนา นายธนัช ปฏิมาวดี นายธวัชชัย ตั้งเลิศธนาทรัพย์ น.ส.สุชาดา เมฆอัคคี ซึ่งทั้งหมดมีความเชื่อมโยงกับสำนักงานบัญชีของนายสุรพล และมีบางคนเป็นผู้ร่วมจดทะเบียนบริษัทในเครือของนายวีรยุทธด้วย
กระทั่งพบว่าอาจมีความเชื่อมโยงกับกลุ่มข้าราชการกรมสรรพากร เนื่องจากนายสุรพล มีความเชื่อมโยงในทำธุรกิจร่วมกับนายสุวัฒน์ จารุมณีโรจน์ ข้าราชการระดับ 8 หัวหน้าทีมกำกับตรวจสอบภาษี สำนักงานสรรพากร กทม. พื้นที่ 27 และนายอุกฤษฎ์ จารุมณีโรจน์ ข้าราชการกรมสรรพากร สำนักงานสรรพากร กทม. พื้นที่ 22 (บางรัก) และนายสุวัฒน์ ยังเป็นคนจองชื่อจัดตั้งบริษัทในเครือนายวีรยุทธอย่างน้อย 1 แห่งด้วย
(อ่านประกอบ : ขมวดปมคืนภาษีฉาว 4 พันล.“จุดเริ่มต้น-เด้งอธิบดี”ก่อนถึงมืออัยการ-ป.ป.ช.)
การตรวจสอบของหน่วยงานของรัฐ
ในช่วงเวลาเดียวกับที่สำนักข่าวอิศราตรวจสอบข้อมูลและรายงานข่าวการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มอันเป็นเท็จกว่า 4.3 พันล้านบาทนั้น มีการเคลื่อนไหวเชิงตรวจสอบจากกระทรวงการคลัง กรมสรรพากร กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ด้วย
โดยเบื้องต้นเมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 2556 นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ รองปลัดกระทรวงการคลัง (ขณะนั้น) ลงนามคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ทำงานควบคู่ไปกับดีเอสไอ ต่อมาเมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2556 คณะกรรมการสอบฯ ได้สรุปผลเบื้องต้นว่า มีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง จำนวน 18 ราย แบ่งเป็นข้าราชการอำนวยการระดับสูง (ซี 9) จำนวน 4 ราย และข้าราชการระดับปฏิบัติงานอีกจำนวน 14 ราย แต่ไม่มีการเปิดเผยรายชื่อบุคคลดังกล่าว และไม่มีชื่อของนายสาธิตแต่อย่างใด
ส่วนกรมสรรพากร นายสาธิต อธิบดีกรมสรรพากร (ขณะนั้น) ลงนามย้ายนายศุภกิจ ริยะการ สรรพากร กทม. พื้นที่ 22 (บางรัก) และนายพายุ สุขสดเขียว สรรพากรพื้นที่สมุทรปราการ 2 มาช่วยราชการที่กรมสรรพากร ต่อมาเมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2556 (วันเดียวกันกับที่คณะกรรมการสอบฯ กระทรวงการคลังแถลง) นายสาธิต ได้แถลงข่าวระบุกว้าง ๆ ว่า มีเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรเกี่ยวข้องจำนวน 10 ราย แต่ไม่สามารถระบุได้ว่าทั้ง 10 ราย มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตหรือไมโดยให้เหตุผลว่าต้องรอข้อมูลการสอบสวนของดีเอสไออีกครั้ง
ต่อมาก่อนที่นายสาธิตจะพ้นจากตำแหน่งอธิบดี เมื่อวันที่ 5 ก.ย. 2556 กรมสรรพากร ได้ลงนามในคำสั่งย้ายข้าราชการระดับสูง 3 ราย ในพื้นที่เกิดปัญหาคดีคืนภาษีมูลค่าเพิ่มอันเป็นเท็จ ได้แก่ นายศุภกิจ ริยะการ ให้ปฏิบัติหน้าที่ผู้ตรวจราชการกรม งานตรวจราชการ 1 นายพายุ สุขสดเขียว ให้ปฏิบัติหน้าที่ผู้ตรวจราชการกรม งานตรวจราชการ 2 และนายกู้ศักดิ์ จันทราช สรรพากรพื้นที่นนทบุรี ให้ปฏิบัติหน้าที่ผู้ตรวจราชการกรม งานตรวจราชการ 6
ขณะที่ดีเอสไอ เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. 2556 นางศิวาพร ชื่นจิตต์ศิริ รองอธิบดีดีเอสไอ (ขณะนั้น) ทำหนังสือถึง ผอ.สำนักข้อมูลธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ขอให้ระงับการแจ้งเลิกและเสร็จการชำระบัญชีของนิติบุคคลจำนวน 49 แห่ง ต่อมาเมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2556 ศาลอาญา อนุมัติหมายจับผู้ที่เกี่ยวข้องในคดีนี้ตามข้อเสนอของดีเอสไอ จำนวน 5 ราย ได้แก่ นายวีรยุทธ แซ่หลก หรือนายธนยุทธ ดลธนโกเศศ 2.น.ส.สายธาร แซ่หลก 3.นายสุรเชษฐ์ มหารำลึก 4.นายประสิทธิ์ อัญญโชติ และ 5.นายกิตติศักดิ์ อัญญโชติ ในข้อหาร่วมกันฉ้อโกง เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนโดยเจตนาหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงภาษีมูลค่าเพิ่ม กระทำการใดๆโดยความเท็จโดยฉ้อโกง หรืออุบาย หรือโดยวิธีการอื่นใดในทำนองเดียวกัน อันเป็นความผิดตามมาตรา 90/4(6) แห่งประมวลรัษฎากร และมาตรา 341 ประกอบมาตรา 83 แห่งประมวลกฎหมายอาญา
ต่อมาเมื่อวันที่ 27 ส.ค. 2556 คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบย้ายนายสาธิต ไปดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง พร้อมแต่งตั้งให้นายสุทธิชัย สังขมณี ผู้ตรวจราชการฯ เป็นอธิบดีกรมสรรพากรคนใหม่แทน
ทั้งนี้ในช่วงต้นปี 2556 มีบุคคลร้องเรียนไปยังคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อให้ตรวจสอบกรณีดังกล่าวด้วย โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ติดตามกรณีนี้อย่างใกล้ชิด กระทั่งมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน แบ่งเป็น 2 กรณีคือ กรณีทุจริตการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มอันเป็นเท็จ 4.3 พันล้านบาท และกรณีร่ำรวยผิดปกติ โดยขอข้อมูลไปยังดีเอสไอ และกระทรวงการคลังเพื่อนำมาประกอบสำนวนการไต่สวน โดยเบื้องต้นได้แจ้งข้อกล่าวหานายสุวัฒน์ จารุมณีโรจน์ และนายศุภกิจ ริยะการ และมีการสั่งอายัดทรัพย์สินของนายสุวัฒน์ และนายศุภกิจ เพื่อตรวจสอบเส้นทางการเงินในกรณีดังกล่าว
ต่อมาคณะอนุกรรมการไต่สวนฯ ป.ป.ช. ได้เพิ่มชื่อและแจ้งข้อกล่าวหาแก่นายสาธิต ทั้งในส่วนกรณีทุจริตคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม 4.3 พันล้านบาท และกรณีร่ำรวยผิดปกติด้วย เนื่องจากพบข้อเท็จจริงเบื้องต้นว่า นายสุวัฒน์ ได้นำเงินที่ได้รับประโยชน์จากการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มอันเป็นเท็จดังกล่าว ไปซื้อทองคำแท่งมูลค่า 179 ล้านบาท และมีนายสาธิตเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ครอบครอง
(อ่านประกอบ : ป.ป.ช.เชือด'สาธิต-ศุภกิจ'คดีทุจริตคืนภาษี-พบเอาเงินไปซื้อทองคำแท่ง 179 ล., ป.ป.ช.อายัดทอง“สาธิต” 179 ล.ยันชัดพันคดีคืนภาษี-เปิดโอกาสชี้แจงเต็มที่)
ต่อมาคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเอกฉันท์ชี้มูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง และความผิดทางอาญาเฉพาะคดีทุจริตคืนภาษีมูลค่าเพิ่มแก่นายสาธิต และนายสุวัฒน์ และดำเนินการไต่สวนกรณีร่ำรวยผิดปกติควบคู่ไปด้วย หลังจากนั้นมีการชี้มูลความผิดแก่นายศุภกิจ และดำเนินการไต่สวนกรณีร่ำรวยผิดปกติเช่นเดียวกัน
หลังจากนั้นคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดว่า นายสุวัฒน์ และนายศุภกิจ ร่ำรวยผิดปกติ ทั้งในชื่อของนายศุภกิจอดีตคู่สมรส บุตร และบุคคลที่เกี่ยวข้อง รวมมูลค่า 31,754,337.38 บาท และนายสุวัฒน์ รวมมูลค่า 597,728,229 บาท
(อ่านประกอบ : เชือดรายสอง‘ซี 8’สรรพากร! ป.ป.ช.ชี้มูลรวยผิดปกติเฉียด 600 ล.พันคดีคืนภาษี, เชือด‘อดีตซี 9’สรรพากร! ป.ป.ช.ชี้มูลรวยผิดปกติ 31 ล.พันคดีคืนภาษี)
ต่อมาเว็บไซต์สำนักงาน ป.ป.ช. เผยแพร่ข้อมูลคดีร่ำรวยผิดปกติของนายสาธิต ระบุข้อกล่าวหาว่า ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้ถูกกล่าวหา (นายสาธิต) ได้นำเงินจำนวนประมาณ 641,136,000 บาท ไปซื้อทองคำแท่ง กรณีนี้จึงมีเหตุอันควรสงสัยว่า ผู้ถูกกล่าวหาร่ำรวยผิดปกติ
(อ่านประกอบ : 641.1 ล.ซื้อทองคำแท่ง! ป.ป.ช.โชว์ข้อกล่าวหาทางการ ‘อธิบดีสรรพากร’ รวยผิดปกติ)
กระทั่งล่าสุด คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดนายสาธิต กรณีร่ำรวยผิดปกติ 700 ล้านบาท โดยเป็นทรัพย์สินของนายสาธิต และคู่สมรส ที่ไม่สามารถชี้แจงที่มาที่ไปได้ ปัจจุบันได้ส่งสำนวนพร้อมความเห็นให้กับสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) ฟ้องต่อศาลอาญา แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ เพื่อให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดินแล้ว
ดังนั้นนายสาธิต ยังเหลือโอกาสต่อสู้ในชั้นศาลอาญา แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบอยู่
นับเป็นกรณีที่อาจเรียกได้ว่า ‘อื้อฉาว’ ที่สุดในกรมสรรพากร ที่ลากยาวมาถึง 5 ปี ตั้งแต่ช่วงปี 2555-2559 ที่ปัจจุบันก็ยังไม่เสร็จสิ้นกระบวนความ
เพราะกลุ่ม ‘วีรยุทธ แซ่หลก’ ปัจจุบันยังคงหลบหนีหมายจับศาลอาญาในคดีดังกล่าวอยู่ และยังเหลือข้าราชการกรมสรรพากรอีกจำนวนมาก ที่ยังไม่เข้าสู่กระบวนการไต่สวนของ ป.ป.ช. ตามที่กระทรวงการคลังเคยแถลงว่า มีถึง 18 ราย แต่มีเพียง 3 รายเท่านั้นที่ถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด
ดังนั้นสิ่งที่ต้องจับตาดูหลังจากนี้คือ จะมีข้าราชการในกรมสรรพากรคนไหนเข้าไปเกี่ยวข้องอีกบ้าง และเส้นทางการเงินจะไปสิ้นสุดลงที่ใครกันแน่ ?
อ่านประกอบ :
อัพเดท ไล่เชือด ขรก.พันคดีทุจริตคืนภาษี 4.3 พันล. ไฮไลต์ สอบยึดทรัพย์ ‘อดีตอธิบดี’
ป.ป.ช.ไต่สวน 5 ขรก.สรรพากรร่วม'วีรยุทธ'คดีคืนภาษี 4.3 พันล. สมุทรปราการ
จนท.ระดับ 6 ม.มหิดล ร่วมหุ้น ‘สุวัฒน์’ ซี 8 ก่อนถูก ไต่สวน‘รวยผิดปกติ’
ป.ป.ช.ไต่สวน จนท.ระดับ6 ม.มหิดล รวยผิดปกติ โยงคดีคืนภาษี 4.3 พันล.
หมายเหตุ : ภาพประกอบนายสาธิต จากเจ้าพระยานิวส์ออนไลน์