“หมอเจตน์” นำกมธ.สธ. ดูงาน สปสช. ห่วงปัญหางบบัตรทองไม่พอได้ต่ำกว่าที่ขอทุกปี
“หมอเจตน์” นำทีม กมธ.สธ. ดูงาน สปสช. แลกเปลี่ยนความเห็นบริหารงบกองทุนบัตรทอง ห่วงปัญหางบประมาณไม่พอ งบที่ได้รับต่ำกว่าที่ยื่นคำขอทุกปี ส่งผลกระทบคุณภาพบริการรักษา ปชช. แนะจัดทำตัวชี้วัดสะท้อนปัญหางบไม่พอ ชี้ความร่วมมือ สปสช. สธ. ในรูปแบบ คกก.7x7และ5x5ทำงานได้ผลดี
เมื่อวันที่23พฤศจิกายน2559ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข (กมธ.สธ.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นำคณะ กมธ.สธ.ศึกษาดูงาน สปสช. พร้อมแลกเปลี่ยนความเห็นการบริหารงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปัญหาและอุปสรรค โดยมี นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา รักษาการเลขาธิการ สปสช.และผู้บริหาร สปสช.ให้การต้อนรับ พร้อมให้ข้อมูลการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
นพ.เจตน์ กล่าวว่า นับเป็นครั้งแรกที่ กมธ.สธ. ได้เดินทางมาศึกษาดูงานที่ สปสช. จากการติดตามระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ายอมรับว่าเป็นระบบที่ใช้งบประมาณจำนวนมาก ซึ่งการจะทำให้ระบบสมบูรณ์คงเป็นเรื่องที่ยาก ขณะที่ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545และการตรวจสอบของหน่วยงานต่างๆ อย่างสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ที่ผ่านมาไม่ไปด้วยกันจึงทำให้เกิดปัญหาขึ้น รวมทั้งตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในมาตรา55ยังกำหนดให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึง ดังนั้นเรื่องคุณภาพจึงเป็นหัวใจสำคัญ ซึ่งเรื่องนี้ กมธ.สธ.ได้เสนอให้เตรียมยุทธศาสตร์และสร้างเกณฑ์คุณภาพเพิ่มเพื่อรองรับรัฐธรรมนูญ
ทั้งนี้ด้วยงบประมาณที่ไม่เพียงพอต่อการดำเนินระบบที่เป็นปัญหาสำคัญ ที่ผ่านมาจึง กมธ.สธ.จึงได้เสนอให้มีการแยกเงินเดือนออกจากงบเหมาจ่ายรายหัว เพราะมองว่าน่าจะเป็นประโยชน์ ทำให้เห็นตัวเลขที่ชัดเจนรวมถึงการนำเสนอเพิ่มเติมงบประมาณ เพื่อให้ระบบสามารถดำเนินไปอย่างมีคุณภาพต่อไป เพราะไม่เช่นนั้นจะการจะทำเรื่องใดเพื่อเป็นการพัฒนาระบบบริการคงเป็นไปได้ยาก เช่น การสนับสนุนโครงการคลินิกชุมชนอบอุ่นเพื่อช่วยกระจายผู้ป่วยนอกออกจาก รพ. แต่หากงบประมาณไม่เพียงพอ การจะดึงคลินิกชุมชนอบอุ่นร่วมบริการในระบบคงเป็นเรื่องที่ยาก รวมถึงการสร้างความยั่งยืนให้กับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
“ในการจัดทำงบประมาณในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า พบว่าอัตราเหมาจ่ายรายหัวและงบประมาณที่ได้รับต่ำกว่าที่ยื่นคำขออย่างมาก ในปี2557ขอ189,720ล้านบาท แต่ได้รับเพียง154,258ล้านบาท ขณะเดียวกันควรมีการจัดทำตัวชี้วัดที่ชัดเจน เพื่อสะท้อนให้เห็นปัญหาจากงบประมาณไม่เพียงพอ แต่ที่ผ่านมามักมีการบริหารภายใน รวมถึงการช่วยเหลือจากหน่วยงานต่างๆ จนไม่สะท้อนปัญหาที่เป็นจริง คณะกรรมการ7x7และ5x5ที่เป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง สปสช.และ สธ.ก็ทำงานได้ผลดี มีการคุยกับ สธ.มากขึ้น นอกจากนั้น” นพ.เจตน์ กล่าว
ด้าน นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า เป้าหมายสำคัญของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า คือการสร้างหลักประกันให้กับคนทุกคนให้สามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพได้ตามความจำเป็น และไม่ล้มละลายจากการเจ็บป่วย ด้วยบริการที่มีคุณภาพมาตรฐาน ประชาชนและผู้ให้บริการมีความพึงพอใจ โดยคำนึงถึงเกียรติและศักดิ์ศรีของทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ที่ผ่านมา สปสช.ได้มีการปรับปรุงการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงที่ผ่านมาภายใต้นโยบายของ รมว.สาธารณสุข ซึ่งได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการ7x7และคณะทำงาน5x5ส่งผลให้ สปสช.และกระทรวงสาธารณสุขมีการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดมากขึ้น ในการจัดสรรและแก้ไขปัญหางบประมาณของหน่วยบริการ ซึ่งจะส่งผลแก้ไขปัญหา
ทั้งนี้จากการทำงานได้มีข้อสรุปร่วมกัน คือ การปรับจัดสรรเงินแบบขั้นบันได การกำหนดตัวชี้วัดในการติดตามและประเมินผล การปรับปรุงแนวทางการจ่ายเงินให้แก่หน่วยบริการเพื่อให้สอดคล้องกับข้อเสนอแนะ สตง. คตร. และคำสั่ง คสช. และแนวทางการพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารงบค่าบริการผู้ป่วยในในระดับพื้นที่